เรื่อง กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
ภาพ ณภัทร เวชชศาสตร์
>> “หากได้กินชิ้นส่วนของสิ่งใดแล้ววิญญาณของสิ่งนั้นจะอยู่ในตัวเราตลอดไป”
>> ความเชื่อของญี่ปุ่นสมัยโบราณสอดคล้องกับสุภาษิตคุ้นหู “You are what you eat.” - กินอะไรก็เป็นอย่างนั้น
>> สูดอากาศดี ๆ เข้าไป ร่างกายเราก็จะดี กินอาหารดี ๆ เข้าไป ร่างกายเรา
ก็จะดี
>> แต่ในชีวิตคนเมืองแสนสะดวกทุกวันนี้ เรารู้ว่ากินอะไร แต่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่กินนั้นมาจากไหน ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง
>> เราไม่เคยรู้เลยว่าการเดินทางของมันยาวนานแค่ไหน จากแหล่งผลิต แปรรูป จนมาถึงปากและกระเพาะของเรา >>
๑
ฉันเติบโตมาในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีของโปรดเป็นอาหารทะเลที่ไม่เคยหายไปจากสำรับกับข้าวในครัวของบ้าน จนเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ฉันถึงได้รับรู้รสชาติการห่างหายจากอาหารทะเลเป็นครั้งแรก
กับข้าวโรงอาหารนั้นส่วนใหญ่มักประกอบจากหมูหรือไก่ อาหารทะเลไม่ว่าปลา ปู หมึก กุ้ง กลายเป็นของหายากและมีราคาแพง ส่วนความสดนั้นไม่ต้องพูดถึง กินเพียงแค่บรรเทาความอยาก เพราะยิ่งสดราคาก็ยิ่งแพง ด้วยงบประมาณนักศึกษา อาหารทะเลดี ๆ จึงเป็นสิ่งที่แทบจับต้องไม่ได้
แต่มากกว่านั้น อ่าวไทย อู่ปลาและอาหารทะเลของประเทศไทย ไล่เรื่อยเลียบชายฝั่งตั้งแต่ทะเลแถบภาคตะวันออกจนจดทะเลภาคใต้ ที่เป็นเสมือนแหล่งปากท้องด้านอาหารทะเลของทั้งโลกก็กำลังห่างหายจากปริมาณสัตว์น้ำ
จากปลาทูตัวใหญ่ ๆ ราคาไม่แพงเมื่อครั้งฉันยังเด็ก ทุกวันนี้อย่าว่าแต่ปลาทูตัวใหญ่ แค่ปลาทูธรรมดาก็นับว่าเป็นของหายาก
“อนุรักษ์กินได้”
เมื่อได้ฟังคำนี้เป็นครั้งแรกจาก สุไลมาน ดาราโอะ หัวหน้าชุมชนประมงพื้นบ้านปะนาเระ ฉันก็ได้แต่ตั้งคำถามในใจ
ปรกติแล้วฉันมักได้ยินแต่คำว่าอนุรักษ์ และมักคิดถึงแค่การรักษาไว้ แต่ไม่ค่อยได้ยินใครโยงกับเรื่องการกินได้หรือไม่ได้สักเท่าไร
“เราอยากให้มันเป็น…อนุรักษ์กินได้ บางคนพอพูดถึงคำว่าอนุรักษ์ก็กลัวแล้ว ต้องห้ามแน่ ๆ”
สุไลมาน หนุ่มมุสลิมร่างเล็กยิ้มกว้างขณะพูดคำนี้กับฉัน ผู้เดินทางตามทางรถไฟมายังตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนประมงพื้นบ้านที่เข้มแข็งอีกแห่งหนึ่งของไทย
ภาพวาดปลาทะเลมากมายหน้าอาคารทรงเพิงหมาแหงนระบายสีฟ้าราวกับท้องทะเล มีทั้งรูปวาดปลากระโทง ปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า ปลาฉลามหัวค้อน ปะการังต่าง ๆ
แต่ภาพที่ฉันประทับใจที่สุดคือ ภาพวาดปลากระโทงข้างผนังที่ภายในท้องมีทั้งปลาตัวเล็กใหญ่ ปะการัง สาหร่าย ราวกับว่าปลาตัวนั้นไม่ได้กินเพียงแค่ปลาหรือสัตว์ต่าง ๆ เข้าไปเท่านั้น แต่กินระบบนิเวศทะเลทั้งหมดเข้าไปด้วย ฉุกให้ตั้งคำถามว่าแล้วถ้ามนุษย์เรากินปลาเข้าไป เราจะกินระบบนิเวศของปลาชนิดนั้นเข้าไปด้วยหรือเปล่า
อาคารขนาดราวห้าห้องหลังนี้เป็นที่ตั้งของ “ชมรมประมงพื้นบ้าน ตำบลปะนาเระ” อยู่ข้างโรงน้ำชาซึ่งชาย
ในชุดโต๊ปมักมานั่งล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวคราวสถานการณ์การประมง เบื้องหน้าอาคารเป็นหาดทรายยาวสุดลูกหูลูกตา หลังอาคารคือเวิ้งปากน้ำปะนาเระที่มีเรือกอและสีสันสดใสนับร้อยลำจอดเรียงราย
ชุมชนปะนาเระสืบทอดวิถีการทำประมงมายาวนาน เคยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ จนแม้แต่ชื่ออำเภอหรือตำบลก็ยังบ่งบอกถึงวิถีการหาปลาของชาวบ้าน เพราะคำว่า “ปะนาเระ” แผลงมาจากคำว่าปะตาตาเระ ปะตาแปลว่าชายหาด ส่วนตาเระแปลว่าการลากอวนปลา เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายถึงการลากอวนปลาขึ้นฝั่ง
แต่เพราะการใช้เรือคราดหอย เรืออวนลาก เรืออวนรุน จนอาหารใน “ทะเลหน้าบ้าน” หายไปจนแทบไม่เหลือ ชาวปะนาเระจึงรวมตัวกันไปเรียกร้องที่ตัวอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และต่อมาก็ก่อตั้งเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน
“ทะเล ถ้าเราลากอวนไปมันไม่มีอะไรเหลือ บนบกเราเห็นชัด แต่ข้างล่างเรามองไม่เห็น เราไม่รู้เลยว่ามันเสียหายตรงไหนบ้าง”
ในที่สุดก็เกิดสิ่งที่สุไลมานเรียกว่า “ความสำเร็จของปัตตานี” เมื่อปี ๒๕๕๑ เขตพื้นที่ปัตตานีประกาศนโยบายห้ามใช้อวนลาก คืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาสู่ปะนาเระ และต่อมาจุดประกายให้ขยายเป็นกฎหมายระดับประเทศ ยกเลิกการใช้อวนรุนทั่วประเทศไทยในปี ๒๕๖๑
จากที่แต่ก่อน “ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแก้ปัญหา มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น”
เมื่อรวมตัวกัน ชาวปะนาเระจึงพบจุดยืนที่แข็งแกร่งด้านการประมง และยังทำงานร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่าง ๆ นับสิบหน่วยงาน เช่น กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมเจ้าท่า เป็นต้น
ภายใต้เมฆฝนที่อ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือประมงพื้นบ้านกำลังขน “ซั้งกอ” หรือบ้านปลา ไปวางในทะเลตามเขตอนุรักษ์ชายฝั่งเพื่อให้ปลาที่เคยหายไปกลับเข้ามา
๒
สุไลมานมีภารกิจว่า “ทำอย่างไรให้คนรู้จักปะนาเระในด้านอาหารทะเลให้มากที่สุด”
อาจเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีข่าวความรุนแรงมาตลอดในช่วง ๑๐ ปีนี้ ความเป็นหมู่บ้านประมงปะนาเระและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลจึงถูกกลบหายใต้ข่าวควันปืนและเสียงระเบิด
ตลอดการเดินทางของฉันในปะนาเระ เมื่อมีใครทักทายก็มักได้ยินคำถามพ่วงมาด้วยเสมอว่า เดินทางมาที่นี่ไม่กลัวหรือ จากนั้นก็ตามด้วยเสียงหัวเราะว่า ภาพในข่าวกับภาพความเป็นจริงมันไม่เหมือนกัน
ปะนาเระเป็น “สถานที่” และ “ผู้คน” สถานที่ที่มีปลา และผู้คนที่อยากอยู่กับปลาอย่างยั่งยืน
อาคารที่ตั้งของชมรมประมงพื้นบ้านแห่งนี้เป็นโรงรับซื้อปลาเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กลุ่มประมงจึงขอความร่วมมือจากเทศบาลสนับสนุนงบประมาณตั้งกลุ่มขึ้น ต่อมาชมรมฯ ก็ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่าง ๆ ชื่อเสียงของปะนาเระแพร่หลายมากขึ้น และเกิดเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มประมงในพื้นที่อื่น
ถึงวันนี้การประมงเชิงอนุรักษ์ทำมาได้ ๑๐ ปีแล้ว มีทั้งการตั้งเขตอนุรักษ์ห้ามจับสัตว์น้ำ พื้นที่ ๑,๐๐๐x๕๐๐ เมตรหน้าหาด หากใครฝ่าฝืนกฎก็ต้องเสียค่าปรับ ๒,๐๐๐ บาท หลังจากตั้งเขตอนุรักษ์ได้ ๔ ปีก็มีฝูงปลาเข้ามาอาศัยมากขึ้น ล่าสุดมีคนเห็นโลมาในพื้นที่แถบนี้ด้วย
ภายในเขตอนุรักษ์นั้นมี “ซั้งกอ” ลอยเป็นกลุ่ม สุไลมานเรียกว่า “ซั้งชุมชน”
“บางคนถามว่าทำทำไม ทำแล้วก็หายไป แต่ตรงนี้เป็นช่องว่างให้ฟื้นฟูทะเลได้เราก็เลยทำ”
ซั้งกอเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการสร้างแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก สำคัญตรงที่ซั้งกอวางในเขตระดับน้ำทะเลต่ำกว่า ๑๐ เมตรได้ หากเป็นปะการังเทียมต้องวางในเขตน้ำทะเลลึกมากกว่า ๑๐ เมตรขึ้นไป หรือ ๓ ไมล์ทะเลจากฝั่งเท่านั้น
สุไลมานบอกว่า “อย่าให้เรื่องของทะเลมีแต่ความว่างเปล่า ไม่ใช่แค่เรื่องของชุมชนและเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นของคนทั้งแนวชายฝั่งที่ต้องรับผิดชอบ”
ชุมชนปะนาเระยังใส่ใจเรื่องระบบนิเวศของสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่นี่มีทั้งธนาคารปู หมึก และกั้งกระดาน
ตอนที่ฉันติดเรือไปกับชาวบ้านแค่ ๒ ชั่วโมง ได้เห็นภาพชาวบ้านสาวอวนขึ้นเรือและมีไข่หมึกติดอวนมาไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง ทุกครั้งชาวบ้านก็จะรีดหรือสะบัดไข่ออก
ท้องทะเลกว้างใหญ่ แต่ภายใต้ท้องทะเลก็มีไข่หมึกใส ๆ สีขาวที่มองไม่เห็นลอยล่องรอวันเติบโต
ไข่หมึกนี้ไม่เหมือนที่ทอดกินตามตลาดนัด มันเป็น
พวงไข่หมึกสีขาวขนาดใหญ่ ฉันถามคนเรือว่าปล่อยไข่ไปอย่างนี้ไม่เป็นไรหรือ คำตอบคือไม่เป็นไร ไข่หมึกจะเติบโตต่อไปได้
แต่หากจับได้ปูไข่ก็จะนำปูมาเขี่ยไข่ออก ใส่ไว้ในระบบน้ำหมุน ๗ วัน ลูกปูก็จะฟักออกมาและเติบโตต่อไป สุไลมานเล่าว่าการทำธนาคารปูมักมีคนสงสัยว่าได้ประโยชน์จริงหรือ แต่จำนวนปูที่ฉันเห็นชาวบ้านจับได้เมื่อตอนออกเรือนั้นก็มีคำตอบให้อยู่
ได้เห็นความพยายามนี้แล้วก็อยากเลิกกินไข่หมึกหรือไข่ปู
เพราะการกินไข่จากแม่ปูแค่หนึ่งตัว ฉันได้ทำลายโอกาสเติบโตของลูกปูอีกนับแสนตัว
ไข่ปูเล็กมากจนเราอาจมองไม่เห็นว่ามันจะโตได้จริงไหม แต่การอนุบาลสัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก
ขอแค่มีความคิดและความตั้งใจที่จะดูแลเท่านั้น
ถนอมอาหารด้วยการตากแดด ไม่พึ่งสารเคมี ก่อนบรรจุหีบห่อเพื่อส่งออกสร้างรายได้ให้ชุมชน
๓
หลังจากอนุรักษ์มานานนับสิบปี คำว่า “กินได้” ก็เริ่มเห็นภาพชัด
จากแต่ก่อนที่ขนาดสัตว์น้ำไม่ใหญ่มาก ทุกวันนี้ปะนาเระมีปูม้าและกั้งตัวขนาดครึ่งกิโลกรัม ปลาทูตัวครึ่งศอก หรือแม้แต่ปลาอินทรีหรือปลากระโทงตัวยักษ์
สุไลมานบอกว่าไม่ค่อยได้เห็นมานับสิบปีแล้ว ทุกวันนี้เห็นบ่อยขึ้น
เมื่ออนุรักษ์กั้นเขตพื้นที่ในทะเลก็เป็นโอกาสให้ระบบนิเวศทะเลฟื้นตัว เมื่อปลาเล็กหรือปูมีโอกาสเกิดก็มีปลาใหญ่เข้ามากินปลาเล็ก ชาวประมงก็ได้กินปลาใหญ่หรือมีรายได้มากขึ้นจากปลาใหญ่
“อย่างปลากระโทง มีคนเคยจับได้ตัวหนึ่งหนัก ๒๙๕ กิโล ขายได้ตัวละเป็นหมื่น”
นอกจากปลากระโทง ที่นี่ยังมีปลิงทะเลเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์
“ดูมาทั้งอ่าวไทย ปลิงทะเลก็มีที่ปะนาเระบ้านเรานี่แหละ”
จากภาพปลิงทะเลตัวเท่าแขน สุไลมานบอกว่าปลิงทะเลแห้งขายได้ถึงกิโลกรัมละ ๕,๐๐๐ บาท ปูม้า ๖๐๐ บาท
อาหารทะเลจากปะนาเระถือว่าขายได้ราคาสูงกว่าที่อื่น เพราะ “จับมาแล้วขายเลย” ได้ทั้งความสด ความปลอดภัยไร้สารพิษ และการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย
จริง ๆ แล้วเหตุผลที่คนอนุรักษ์ยัง “กินได้” ก็เพราะอดปลาเล็กไว้กินปลาใหญ่
ที่ปะนาเระเรือกอและแล่นท้าลมท้าคลื่นออกไปหาปลา
ขณะที่เรือใหญ่กินปลาเล็ก เรือเล็กกินปลาใหญ่
แล้วสำหรับเครื่องจักรที่เรียกว่าร่างกายมนุษย์ เราจะเลือกกินอะไร
ฉันว่าการกินก็เป็นอีกกิจวัตรที่สำคัญ เรากินอยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่เรากินไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเราเท่าไร
เราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน วิธีการถูกกฎหมายไหม มีสารเคมีปนเปื้อนหรือเปล่า หรือแม้แต่การกินของเราในวันหนึ่ง ๆ จะส่งผลให้เราและคนอื่นมีกินในวันต่อไปไหม
ถ้าจะกินทั้งที ฉันก็ขอกินแบบที่ช่วยให้ได้ “อยู่” และ “มี” กินไปทุกวันดีกว่า
นอกจากการอนุรักษ์จะกินได้แล้ว เราก็ลองเลือกกินแบบอนุรักษ์ได้นะ…