เรื่อง เฉลิมชัย กุลประวีณ์
ภาพ อาทิตย์ ทองสุทธิ์

แก๊งละอ่อน “ถิ่นนิยม” ช่วยกันเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่เพื่อนำมาตรวจหาธาตุอาหาร ก่อนจะทำการเพาะปลูก

แก๊งละอ่อน “ถิ่นนิยม” ช่วยกันเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่เพื่อนำมาตรวจหาธาตุอาหาร ก่อนจะทำการเพาะปลูก

“สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนความเชื่อของชาวบ้าน เกษตรอินทรีย์ไม่ให้ผลทันทีเหมือนเกษตรเคมี แต่ผลที่ตามมาคุ้มค่าต่อการรอคอย”

 

มล (ซ้ายสุด) ตั้งใจสร้างเครือข่ายของผู้สนใจอยากทำเกษตรกรรมอินทรีย์ โดยเปิดรับทุกคนที่มีความตั้งใจ ทำจริง เข้ามาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เธอยินดีแบ่งปัน

มล (ซ้ายสุด) ตั้งใจสร้างเครือข่ายของผู้สนใจอยากทำเกษตรกรรมอินทรีย์ โดยเปิดรับทุกคนที่มีความตั้งใจ ทำจริง เข้ามาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เธอยินดีแบ่งปัน

รถกระบะคันเล็กสีแดงเลือดหมูกำลังเคลื่อนผ่านทุ่งนากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา หลังทุ่งนั้นเป็นภูเขาสูงใหญ่ตั้งตระหง่านใกล้เคียงกันสองลูก

ภูเขาลูกหนึ่งคนในพื้นที่เรียกว่า “ดอยหลวง” อีกลูกเรียกว่า “ดอยนาง”

หน้าต่างของรถกระบะเปิดออกรับลมหนาวที่พัดเอื่อยเข้ากระทบใบหน้า ข้างผม หญิงสาวร่างเล็กดูทะมัดทะแมงกำลังขับรถมุ่งหน้าไปที่ทำงานซึ่งอยู่ห่างไปอีกไม่ไกลนัก

รถกระบะขับผ่านป้ายบอกทางสีน้ำเงินเข้มบอกชื่อชุมชน “บ้านหัวทุ่ง หมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” ก่อนหยุดรถที่หน้าบ้านหลังเล็กชั้นเดียวสีเทาหม่น

พวกเราเดินเข้าไปในบ้าน มีข้อความสีขาวบอกชื่อสถานที่ “ถิ่นนิยม–Learning Working Sharing” ที่นี่เป็นเหมือนสำนักงานให้คนภายนอก รวมถึงคนในพื้นที่ได้มาเรียนรู้ ทำงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน มีจุดประสงค์คือ การรวมพลคนที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์

“เกษตรอินทรีย์ คือการเกษตรแบบไม่ต้องพึ่งสารเคมี” มล- จิราวรรณ คำซาว อายุ ๓๓ ปี เกษตรกรของชุมชนบ้านหัวทุ่งบอกกับผม

ครอบครัวของมลเมื่อก่อนก็เคยปลูกข้าวแบบเกษตรเคมีเนื่องจากให้ผลเร็ว ตอนเด็กเธอเคยโดนพ่อแม่ห้ามไม่ให้ลงไปเล่นในไร่ที่ใช้สารเคมี และเมื่อเป็นเกษตรกรเธอเคยตรวจสารเคมีในเลือด ปรากฏว่าอยู่กลุ่มที่สุ่มเสี่ยง เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ

การค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ของเธอเริ่มจากการช่วยงาน เสริมพงษ์ ทรรปณ์ทีพากร เจ้าของเชียงดาวออร์แกนิคฟาร์ม อำเภอเชียงดาว การไปฝึกงานที่นั่นทำให้เธอรู้ว่าการทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่ว่ายากและได้ผลผลิตน้อยนั้นมันไม่จริง

นอกจากนี้เธอยังหากลุ่มคนที่มีความรู้มาช่วยกันแบ่งปันความรู้ตามถนัดให้แก่ชาวบ้านที่สนใจ และตอนนี้เธอเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มม่วนใจ๋ ประจำอำเภอเชียงดาว ช่วยกันเผยแพร่ความรู้และสร้างผลิตภัณฑ์พืชผลเกษตรอินทรีย์ให้แก่ผู้บริโภคครบวงจร ปลูก ผลิต จัดจำหน่ายด้วยตัวเอง

หลังจากลองเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เพราะเห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว เธอก็พยายามเผยแพร่การทำเกษตรอินทรีย์แก่คนในชุมชน ให้พวกเขาคิดถึงสุขภาพของตัวเอง และรักษาธรรมชาติไม่ให้เสื่อมโทรมจากสารเคมีไปมากกว่านี้

“ต้องทำให้พวกเขาเห็น” เกษตรกรสาวเน้นประโยคนี้

“ถ้าไม่เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ได้อะไร ผลผลิตเป็นอย่างไร ก็ยากที่จะเปลี่ยนให้พวกเขามาทำเกษตรอินทรีย์ อาจต้องใช้เวลา แต่ผลที่ตามมาก็คุ้มค่าต่อการรอคอย ทั้งสุขภาพดีของคนปลูกและคนบริโภค ตลอดจนไม่มีสารเคมีตกค้างเป็นผลเสียต่อธรรมชาติ” เธออธิบายเพิ่มเติม

“อยากให้ชาวบ้านมีแรงบันดาลใจในการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะเขาจะได้รู้ว่ามีผู้บริโภครอซื้ออยู่ และไม่แน่อาจทำให้พวกเขาอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น” ข้อดีของการทำเกษตรอินทรีย์ได้รับการบอกกล่าวจากเกษตรกรสาวผู้ทำเกษตรอินทรีย์มานานหลายปี

การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นผลทันทีเหมือนการทำเกษตรเคมี

การทำเกษตรแบบเคมีเกิดสารเคมีตกค้างทั้งในธรรมชาติและผลผลิตที่จะนำมาจำหน่าย ผู้ปลูกและผู้บริโภครับสารเคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ยอดผู้ป่วยจากการเกษตรเคมีก็เพิ่มขึ้นทุกวัน

สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนความเชื่อของชาวบ้าน ตัวเธอเองต้องทำให้ชาวบ้านเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ส่งผลดีต่อธรรมชาติอย่างไร และได้ผลที่ดีต่อตัวเองอย่างไร ชาวบ้านจะได้อยากทำตาม

ข้าวจะเป็นอย่างไรเริ่มต้นจากการคัดเลือกพันธุ์ เพราะหากได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีแม้เพียงเมล็ดเดียว เราก็สามารถขยายพันธุ์จนได้ข้าวที่มีคุณภาพมากมาย

part time farmer เป็นกิจกรรมที่มลเชิญชวนคนที่สนใจการทำนาอินทรีย์ให้เข้ามาเรียนรู้ ผ่านการเป็นเจ้าของแปลงนาและเก็บเกี่ยวผลผลิตตามที่แต่ละคนปลูก การทำนาอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของการทำเกษตรอินทรีย์ที่มลต้องการแบ่งปัน เพราะคนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก การทำนาอินทรีย์จึงเป็นพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง

“ไม่อยากให้คนที่มาศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์กับเราติดทฤษฎีตามตำราการเกษตร เอาแต่ทำตามที่เราสอน” เจ้าของแนวคิดการทำนาอินทรีย์แห่งบ้านหัวทุ่งกล่าวเพิ่มเติม

เธอบอกว่า “จะสอนให้จำกลิ่น จำสัมผัสมากกว่าท่องจำจากตำรา คนที่มาเรียนจะสามารถนำความรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสไปใช้กับพื้นที่ของตน นำไปเพาะปลูกเองได้ ถ้าเอาแต่ท่องจำจะไม่ได้ผล เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ต้องประยุกต์”

หลังจากที่คนทยอยกันมาจนครบแล้ว มลพาพวกเราไปดูแปลงนาที่จะลงมือเพาะปลูก ซึ่งต้องเดินไปตามคันนากว้างเพียงเดินได้คนเดียว มีทางน้ำระหว่างแปลงเป็นอุปสรรคบ้าง ต้นหญ้าให้ก้าวผ่านบ้าง สักพักพวกเราก็มาถึงแปลงนาตัวอย่าง

มลเริ่มสอนการดำนาโดยปักต้นกล้าลงในดินเลน ใช้นิ้วหัวแม่มือกดรากให้จมดิน แล้วจึงก้าวถอยหลังปลูกต้นต่อไป
ตามที่วางแนวไว้

พอได้เห็นเกษตรกรสาวสอนแนวทางการดำนาทำให้ผมคิดว่าการทำนาคงไม่ยากนัก จึงขอลองลงมือดำนาปลูกข้าวดูบ้าง

สองเท้าจมลงดินเลน พลางก้มตัวเอาต้นกล้าดำลงดิน สักพักเหงื่อไคลก็เริ่มไหลย้อยตามใบหน้า ดินเลนเป็นอุปสรรคต่อการก้าวเดิน การประมาณแถวที่ปลูกต้นกล้าก็ไม่ง่าย แถวเริ่มเอียงบ้างคดบ้าง ไม่ตรงแนวเหมือนตอนแรก

การทำนาไม่ง่ายเหมือนที่คิด กว่าจะมาเป็นข้าวให้เรารับประทานชาวนาต้องลงแรงอย่างหนัก นี่ขนาดนาแปลงเดียว ผมยังเหนื่อยยากขนาดนี้

อากาศตอนเช้าของอำเภอเชียงดาวกำลังเย็นสบาย มีหมอกลอยกลบยอดดอยหลวงและดอยนางหายลับ

วันนี้พวกเราเข้ามาในป่าใกล้กับดอยนาง ป้ายสีน้ำเงินมีร่องรอยเปรอะเปื้อน สลักอักษรสีขาวว่า “ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เทิดพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชา” มีทางเดินเข้าป่าไม่กว้างนัก รอบข้างเป็นต้นไม้ซึ่งมีทั้งพืชคลุมดิน ไม้พุ่ม และไม้สูง ไอเย็นจากสายน้ำที่ไหลมาจากตาน้ำบนยอดดอยนางปกคลุมบรรยากาศโดยรอบ

ป่าแห่งนี้เป็นป่าอนุรักษ์ซึ่งชุมชนตกลงร่วมกับราชการในการรักษาป่า ช่วยกันปลูกพืชพันธุ์หายากและสมุนไพรท้องถิ่นกลับคืนสู่ป่า ให้ธรรมชาติดูแลกันเอง

ขั้นตอนการทำเชื้อจุลินทรีย์ให้พืชเริ่มจากรองพื้นด้วยเศษกระสอบ พร้อมกับนำเศษไม้ไผ่แห้งมาขยำให้พอขาด แล้วนำใบไม้และกิ่งไม้ที่กำลังย่อยสลายมาผสมรำข้าว คลุกเคล้าเข้ากับเศษไม้ไผ่ เติมน้ำตาลทรายที่ละลายน้ำเพื่อเป็นอาหารแรกเริ่มให้จุลินทรีย์ พอคลุกให้ชื้นแล้วจึงมัดกระสอบปิด นำไปไว้ใต้ต้นไม้ รอระยะเวลา ๑ สัปดาห์ก็สามารถนำหัวเชื้อนี้ไปใส่ที่รากของพืช

การทำจุลินทรีย์ไม่ยากนัก แต่นักวิจัยสาวเน้นย้ำการใช้ดินในท้องถิ่นตน ไม่ให้นำดินจากท้องถิ่นอื่นมาใช้ เพราะจุลินทรีย์ของท้องถิ่นใดก็จะเหมาะกับการปลูกพืชในท้องถิ่นนั้น

หลังจากพวกเราเก็บซากทับถมของใบไม้และกิ่งไม้เสร็จ เกษตรกรสาวก็พาเข้าไปดูในป่าชุมชน เล่าถึงความสำคัญของการให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ เน้นย้ำให้ชุมชนหันกลับมาดูแลป่าของชุมชนตัวเอง

“การปลูกกาแฟต้องได้รับการดูแลอย่างมาก แต่ถ้ามันอยู่ในป่า แม้ใบจะเป็นโรคบ้างก็ไม่ใช่ปัญหา ต้นกาแฟจะไม่ค่อยมีแมลง เพราะว่าต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียงช่วยดูแลกัน” มลบอกกับพวกเราก่อนกลับออกจากป่าชุมชน

ความชุ่มชื่นและเย็นสบายจากป่าไม้ที่หาไม่ได้จากโลกข้างนอกนี้กระมังคือคำตอบของการให้ป่าดูแลป่า ให้ธรรมชาติได้ดูแลกัน และชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้

ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด การทำนาอินทรีย์อาจทำคนเดียวได้ แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้นการทำนาอินทรีย์ต้องพึ่งพาน้ำจากป่าต้นน้ำของชุมชน ซึ่งป่าชุมชนจะดีได้ก็เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนนั้นเอง

การทำเกษตรแบบอินทรีย์แม้จะต้องอดทนตั้งแต่ริเริ่ม ทนรอผลผลิตซึ่งไม่รวดเร็วอย่างการทำเกษตรแบบเคมี แต่เธอก็อยากให้ลองเทียบผลกระทบทั้งจากการปลูกพืชผักแบบอินทรีย์และแบบเคมี ผ่านการทำโครงการที่ใช้ผลผลิตในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย และการเปิดรับคนภายนอกเข้ามาทำเกษตรอินทรีย์

ที่ขาดไม่ได้คือการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อส่งต่อการทำเกษตรอินทรีย์และเผยแพร่ภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่านกลุ่มถิ่นนิยม

เด็ก ๆ กลุ่มถิ่นนิยมขึ้นรถกระบะคันเล็กสีแดงเลือดหมูพร้อมกับวางอุปกรณ์การทดลองไว้หลังรถ ก่อนรถกระบะจะเคลื่อนผ่านทุ่งนากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา หลังทุ่งนั้นเป็นภูเขาสูงใหญ่ตั้งตระหง่านใกล้เคียงกันสองลูก

มองผ่านหน้าต่างรถ ผมเห็นฟันเฟืองรถไถนาตั้งกลางทุ่ง นึกถึงมล เธออาจดูเป็นคนเล็ก ๆ ในสังคมที่กว้างใหญ่ แต่หากไม่มีคนตัวเล็ก ๆ เช่นเธอ สังคมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าขาดฟันเฟืองที่แบ่งปันประสบการณ์และความรู้เพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรและเยาวชนอย่างมล-จิราวรรณ คำซาว