“บางรัก” ใครบ้างล่ะจะไม่รัก เพราะความงดงามที่เอ่อล้นทะลักของบางรักไม่ใช่กระแสความใหม่ที่เราต้องวิ่งตามอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นเรื่องราวความสนุกสนานของเสน่ห์ที่จะทำให้หัวใจเราพองโต
.
บางรักเป็นย่านเศรษฐกิจพหุวัฒนธรรมกลางเมืองหลวงที่เก็บสั่งสมเรื่องราวความทรงจำของผู้คน สังคม และวัฒนธรรม ผ่านการเดินทางอันยาวนานของยุคสมัยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงปัจจุบัน แม้ในวันที่สิ่งเก่าถูกกลืนหายแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ แต่ก็ยังคงมีอีกหลายอย่างเป็นปริศนาให้เราตามหาและรอการค้นพบ เพื่อเฉิดฉายเติมเต็มความทรงจำแห่งบางรัก โดยเฉพาะร้านเล็กๆ ดั้งเดิมที่หล่อเลี้ยงชุมชนให้กลิ่นความเก่ามีลมหายใจอยู่ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ได้
.
มาย้อนรอยบางรักด้วยการทำความรู้จักกับเจ็ดร้านแห่งเจริญกรุง ที่จะเสิร์ฟสินค้าพร้อมแถมฟรีเรื่องราวการเดินทางของบางรักให้เราอิ่มท้องและอิ่มใจในเวลาเดียวกัน
“ลิ้มหยูฮง หนึ่งตำนานคู่เจริญกรุง ๔๓”
กลิ่นกาแฟกับกลิ่นแบบความเก่า
สำหรับช่วงเช้าของวันใหม่คงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่ากลิ่นกาแฟโบราณ “ลิ้มหยูฮง” ร้านเล็กๆ หนึ่งคูหาน่ารักอบอุ่นที่เดินทางเคียงคู่ขนานกับบางรักมานานกว่า ๗๐ ปี เป็นจุดนัดพบให้ได้พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน จนกลายเป็นพื้นที่เก็บความทรงจำของเหล่าสมาชิกสภากาแฟแห่งเจริญกรุง
เพลิดเพลินกับบรรยากาศร้านแบบฉบับโบราณ กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นคลุ้งไปกับเรื่องราวการเดินทางของบางรัก ที่ไม่ว่าวันไหนก็ยังคงมีเสน่ห์ให้ค้นหา ติดตามต่อ ที่นี่
“โรตีคุณไหม : โรตีที่ปรากฏตัวพร้อมกับรอยยิ้ม”
สายใยเชื่อมสัมพันธ์
“โรตี” มีพลังมากกว่าที่คิด
“โรตีคุณไหม” พิสูจน์มาแล้วด้วยการเดินทางจากโรตีตั้งโต๊ะหน้าบ้านสู่การเป็นจุดนัดพบที่คนไทยและเทศต่างแวะเวียนมาลิ้มรสและพบปะพูดคุย
“คุณไหม” หญิงวัยกลางคนร่าเริง ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวที่คิดบวกกับการใช้ชีวิต วาดแขนฟาดแป้งสร้าง “โรตี” เป็นสื่อกลางเชื่อมสัมพันธ์ชุมชนมัสยิดฮารูณ ชุมชนเล็กๆ สีสันสดใสที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเจริญกรุง ๓๔ ทำให้คนในและนอกที่มาเยี่ยม มาละหมาด ได้ร่วมสนุกเพลิดเพลินกับเรื่องราวและบรรยากาศสุดประทับใจ เป็นกันเองของผู้คนและสถานที่
พบกับการเดินทางของโรตีคุณไหมเพิ่มเติมได้ ที่นี่
“สารคดี : ส.บุญประกอบพานิช สุขเล็กๆ ที่เจือจาง”
ทำขนมไทยเพราะอยากให้คนไทยได้กินขนมไทย
ไม่ใช่โรตีอย่างเดียวที่บางรักมีให้ แต่ขนมไทยก็มีด้วยนะ และที่สำคัญยังเป็นสูตรดั้งเดิมเสียด้วย ลิ้มรสขนมไทยได้ที่ “ส.บุญประกอบพานิช” ร้านขนมไทยโบราณแห่งเจริญกรุง ๔๔ เอกลักษณ์โดดเด่น ครองใจผู้คนมาอย่างยาวนานมากกว่า ๗๐ ปี ที่เสิร์ฟความอร่อยด้วยความรักและความปรารถนาดีของคนทำ เสมือนว่าทำให้คนรักหรือคนในครอบครัวทานเอง
อร่อยกับรสมือเซียนขนมไทยมากประสบการณ์ได้ทุกวันที่บางรัก สนุกกับการเดินทางของขนมไทยจากก้นครัวสู่ปลายลิ้นและสัมผัสกลิ่นเรื่องราวเก่าๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี่
“ปั้นลี่เบเกอรี่ : ความสำเร็จนี้เกิดจากใคร”
สืบทอด ศรัทธา ปรับตัว
สำหรับท่านใดที่ขนมไทยยังไม่หนำใจ บางรักยังมีอีกคำตอบที่รอท่านอยู่ นั่นก็คือ “ปั้นลี่เบเกอรี่” ร้านเบเกอรี homemade ชื่อดังแห่งเจริญกรุง ที่หน้าร้านดูทันสมัยตามความนิยมของโลกยุคใหม่ แต่เบื้องหลังการทำงานกลับมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเป็นแรงผลักดันสร้างพลังในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง
กว่า ๖๐ ปี ไม่มีอะไรทำให้เทพเจ้าและกลิ่นหอมของเบเกอรีจางหายในอากาศ ยังคงมีการเดินทางและเก็บเรื่องราวความทรงจำของคนในร้านเดินทางไปด้วย เทพเจ้าของปั้นลี่เบเกอรี่มีพลังอยู่ได้อย่างไร ความสำเร็จของร้านเบเกอรีเกิดจากใคร ค้นหาคำตอบร่วมกันได้ ที่นี่
“เตียฮะกี : ร้านที่บาง (คนไม่) รัก”
ธุรกิจโบราณที่เคยรุ่งเรืองแห่งย่านบางรัก
บรรยายภาพ
เอาใจคนชอบรับประทานกันแล้ว บางรักยังเอาใจคนชอบทำอาหารอีกด้วย สำหรับพ่อครัวแม่ครัวที่รักการรังสรรค์เมนูใหม่ๆ ขอแนะนำ “เตียฮะกี” ร้านขายไก่ (เชือด) สด ที่คุณสามารถเลือกไก่ให้เหมาะสมกับเมนูตามใจต้องการได้ และที่สำคัญสำหรับพี่น้องมุสลิม มั่นใจได้เลยว่าขั้นตอนแรกของการปลิดชีวิตไก่ที่นี่ผ่านบทสวดของผู้นับถือศาสนาอิสลามก่อนทุกครั้งและทุกตัว
.
“เตียฮะกี” จะทำให้คุณทึ่งไปกับเรื่องไก่ๆ อย่างที่คาดไม่ถึงว่าในความธรรมดาสามัญนี้มีเรื่องน่าสนใจและเสน่ห์ใดซ่อนอยู่บ้าง และไม่เพียงแต่เรื่องไก่เท่านั้นที่จะทำให้คุณอึ้ง เรื่องของคนทำไก่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ทึ่งกันต่อได้ที่ https://www.sarakadee.com/1dddemo/2016/07/13/tiahakee-bangrak/
“สุวรรณเครื่องเทศ”
สื่อกลางเชื่อมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
เมื่อได้วัตถุดิบอย่างไก่มาแล้ว ก่อนที่จะเสิร์ฟใส่จานให้ลิ้มลองรส จำเป็นต้องผ่านการปรุงอาหารซึ่งมักต้องใช้เครื่องเทศเป็นตัวช่วย และบางรักมี “สุวรรณเครื่องเทศ” เป็นคำตอบ
“สุวรรณเครื่องเทศ” คือศูนย์รวมเครื่องเทศวัตถุดิบปรุงอาหาร ตั้งอยู่บนพิกัดเจริญกรุง ๔๒ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งพหุวัฒนธรรม ที่คนไทย จีน อิสลาม ต่างมาพบกัน โดยมีเครื่องเทศเป็นตัวกลางเชื่อมเศรษฐกิจและคนต่างวัฒนธรรมให้ได้มาเจอ มาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยนในเรื่องวัฒนธรรมอาหารด้วยกัน สนุกกับการเดินทางของเครื่องเทศจากต้นกำเนิดสู่ก้นครัวต่อได้ ที่นี่
“รากไม้ถึงกระดองเต่า ปริศนายาจีน”
ภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอายุมายาวนาน
ตื่นตาตื่นใจกับอาหารกันมาแล้ว มาชุมชนเก่าพหุวัฒนธรรมทั้งทีสิ่งที่ไม่ควรพลาดอีกอย่างคือตำรายาจีนสมุนไพรจากร้าน “เฮียบจี่ตึ้ง” และ “อี่ซิ่วตั้ง” ที่เดินทางและเกิดขึ้นพร้อมกับการอพยพเข้ามาในเมืองไทยของคนจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
มากกว่า ๑๐๐ ปีที่ยาสมุนไพรเดินทางมามีชีวิตอยู่ในบางรัก จึงมั่นใจได้ว่าร้านยาทั้งสองเก็บเรื่องราวทรงจำของผู้คนและบางรักไว้จำนวนมาก มาทึ่งกับความมหัศจรรย์ของสมุนไพรจากภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอายุยาวนานได้ที่บางรัก เพลิดเพลินกับเรื่องราวของ
ตำรายาสมุนไพรหลายร้อยชนิดกันต่อ ที่นี่
เดินทางย้อนรอยเรื่องราวบางรักผ่านร้านเล็กๆ ตามภาพถ่ายและตัวอักษรกันแล้ว หากมีเวลาว่างแวะมาชิมมาชมบางรักกันบ้างนะ ใครไม่รักแต่ “บางรัก” นะ