1
เวลาอยู่ในเมืองใหญ่ นอกจาก คน คน คน คน และก็ รถ รถ รถ เต็มไปหมด เราสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตชนิดไหนอีกมั่ง?
“แมว กลับไปเล่นกับแมวที่บ้าน”
“ถ้านก ก็จะเห็นแต่นกพิราบตามเสาไฟ กับนกกระจอกบ้าง”
เราลองเอาคำถามนี้ไปถามเล่นๆ กับกลุ่มเพื่อน เพื่อนตอบกลับมาว่า ถ้าเป็นช่วงเวลากลางวัน จะเห็นแต่คน มีช่วงเช้าจะเห็นแมลงสาบปรากฏตัว ช่วงเย็นจะเจอหนู หมาจรจัดบ้างนานๆ ที ถามหนักๆ เข้าเพื่อนก็บอกมาอย่างปลงๆ ว่า
“แกเอาจริงๆ ก็เห็นแต่คนกับมอเตอร์ไซต์”
นอกจากเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ไม่เอื้อให้เราเห็นแล้ว เราเองก็ยุ่งเกินกว่าจะเห็นสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง เรื่องของเรา และงานตรงหน้า ไม่เหลือแรงหรือเวลาจะไปสนใจสิ่งอื่นได้ หรือถ้าสนใจ ก็เฉพาะสิ่งที่มารบกวนเราเท่านั้น
จนฉันได้มีโอกาสไปดูนก กับกิจกรรม ดูนก(อาจ)พบนาก ที่โรงเรียนทวีธาภิเษก บางขุนเทียน เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มครอบครัวนากน้อยแสนซนที่อยากเจอก็ไม่เจอ นกที่ได้เห็นก็เป็นนกทั่วไปที่ฉันรู้จัก ตามประสาเด็กต่างจังหวัด แต่ทำไมกลับมาแล้วถึงได้รู้สึกว่า จิตใจผ่อนคลาย อารมณ์ดีขึ้นนัก แถมสิ่งนี้ยังหล่อเลี้ยงตัวเองให้มีสุขภาพจิตดีไปได้อีกตลอดสัปดาห์
กลับบ้านมา เลยลองมานั่งหาข้อมูลดู ว่าไอ้การออกไปดูนก ไปในพื้นที่สีเขียว ช่วยลดความเครียด ทำให้อารมณ์ดีขึ้นจริงๆ หรือฉันคิดไปเองกันแน่
2
เมื่อปี 2017 มีงานวิจัย Doses of Neighborhood Nature: The Benefits for Mental Health of Living with Nature ตีพิมพ์ในวารสาร BioScience กล่าวถึงว่า การมีประสบการณ์กับธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตมาก ส่งเสริมการฟื้นตัวจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจที่เกิดจากการทำงานที่ต้องจดจ่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในเขตเมือง โดยงานวิจัยนี้มองว่า ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น มาจากลักษณะธรรมชาติที่มองเห็นได้มากที่สุดในระหว่างวัน และเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะประสบได้ในชีวิตประจำวัน
สิ่งที่น่าสนใจคืองานวิจัยนี้เสนอว่า แม้แต่องค์ประกอบของธรรมชาติที่อยู่ในระดับต่ำ อันเป็นองค์ประกอบทางธรรมชาติ 2 อย่างหลักๆ ที่มองเห็นได้ในพื้นที่เขตเมือง อย่างพืชพรรณและชุมชนนกนั้น สามารถเชื่อมโยงกับสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้
การมีพืชพรรณพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตในเชิงบวก ไม่เพียงช่วยลดความเครียดเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูความเหนื่อยล้าทางจิตใจด้วย
ส่วนการมีนกหลายชนิดในสิ่งแวดล้อม และการดูนก พบว่าส่งผลเชิงบวกต่อจิตใจของผู้คน ในขณะที่การฟังเสียงนก มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูการใส่ใจต่อสิ่งรอบตัว และทำให้ตัวเราออกห่างจากความเครียด
ถึงว่า ไปดูนกมาแค่ครึ่งวัน ฉันก็กลับมาอย่างกระปรี้กระเปร่าและสดชื่นขึ้น ผ่อนคลายลง หลังจากเหนื่อยอ่อนด้วยงานการที่ถาโถมมาตลอดสัปดาห์ และถึงแม้จะไม่พบนากแต่การที่ได้เห็นที่อยู่ เห็นการร่องรอยการใช้ชีวิตของเขาก็เป็นการได้ทำความรู้จักเขาทางหนึ่ง และก็ได้เห็นแล้วว่าสภาพพื้นที่แบบไหนถึงจะมีโอกาสได้เจอเขา
และธรรมชาติก็เป็นแบบนี้แหละ เรากะเกณฑ์อะไรไม่ได้อยู่แล้ว
3
อันที่จริง เชื่อว่าหลายคนรู้คุณสมบัติของธรรมชาติดี ว่ามันช่วยเยียวยามนุษย์ได้ สัณชาตญาณมนุษย์เราโหยหาธรรมชาติอยู่แล้ว กลับจากท่องเที่ยวในธรรมชาติทีไร ก็เบิกบานใจขึ้นทุกที แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับคนที่มีข้อจำกัดด้านเวลาหรืองบประมาณ สิ่งเหล่านี้เรียกร้องเวลา งบประมาณและการออกนอกสถานที่
จะดีกว่าไหม ถ้าในระหว่างวัน อย่างน้อยก็ช่วงเวลาเดินทางไปทำงานหรือกลับบ้านในช่วงเย็น คนเมืองอย่างเราๆ จะมีโอกาสได้สัมผัสธรรมชาติบ้าง
เราว่า การสังเกตและพาตัวเองไปสัมผัสพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในเมือง คือคำตอบ ไม่ต้องไปไหนไกล แต่อาศัยการสังเกตส่ิงเหล่านี้จากพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตแทน เช่นลองเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางที่ได้ผ่านพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น ระหว่างวันมองหาสิ่งมีชีวิตอื่นในเมือง เริ่มต้นจากนก แล้วก็อาจจะเลยไปถึงสัตว์อื่น เช่น กระรอก ผีเสื้อ ตะเข็บ ฯลฯ
แต่ก่อนอื่น เราต้องทำความรู้จักและมองเห็นพวกเขาเหล่านั้นเสียก่อน
เพราะถ้าเรารู้จักเขาแล้ว เราจะมองเห็นและสังเกตเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ เข้าใจเขามากขึ้น ทำให้เรารับรู้ถึงสิ่งมีชีวิตอื่น และเชื่อมโยงตัวเองกับเขาได้
เช่น นกอีแพรดแถบอกดำ มักอยู่ในเมืองหรือสวนสาธารณะ เมื่อก่อนเราไม่รู้จักเขา เลยไม่ได้สังเกตเห็น แต่ถ้าเรารู้จักเขาแล้ว เราก็จะสนุกที่จะมองหาเขาแพนหางเหมือนพัด (เป็นที่มาของชื่อ fantail) และกระดกกระเด้งหากินอยู่บนพื้น หรือแอบฟังนกกางเขนตัวผู้เกาะร้องเพลงบนสายไฟ ในช่วงเช้าตอนเราออกจากบ้าน ยามเดินในสวนสาธารณะ ก็อาจจะมองหานกตีทองตัวจิ๊วเสียงดัง ที่มาของเสียงร้อง “ต๊ง ต๊ง” ที่มักดังกังวานไปทั่วสวน
แม้กระทั่งต้นไม้ใบหญ้ารอบข้างก็เหมือนกัน เพียงแค่เรารู้จักชื่อเขา หรือมีต้นไม้ที่ชอบ เราก็จะมองหา วันไหนเห็นเขาคลี่ใบผลิดอก วันนั้นเราก็จะเบิกบานเป็นพิเศษ
ยิ่งในวันที่เหนื่อยอ่อน ลองมองหาสัตว์เล็กๆ รอบตัว เห็นเขาใช้ชีวิตตามทำนองของเขา เคลื่อนไหวไปพร้อมกับเขา ออกจาก(เรื่องของ)ตัวเราเองบ้าง สัมผัสความสุขของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
และคุณก็จะยิ้ม ออกมาโดยไม่รู้ตัว
🙂
รายการอ้างอิง
- คู่มือชีวิตป่าเมืองกรุง Guide to Common Wildlife of Bangkok. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโลกสีเขียว, 2562.
- https://academic.oup.com/bioscience/article/67/2/147/2900179