เรื่องและภาพ : The Lucky ค่ายนักเล่าความสุข

“…ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเรารักมากเท่าไร ยังเปลี่ยนผันไปเมื่อเราไม่มีค่าพอ…”

เสียงเพลงดังขึ้นจากบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อข้างโรงอาหารกลางของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

กว่า 2 ปีที่ฉันยังคงได้ยินเสียงเพลงลอยมาเติมเต็มบางสิ่ง ไม่แปรผันตามเนื้อร้อง

ท่ามกลางโลกที่ดูจะเต็มไปด้วยความหดหู่และวุ่นวาย

คงจะดีถ้ามีใครยืนหยัดตั้งใจทำสิ่งดีๆ แค่เพียงเพราะ…อยากเห็นความสวยงามของโลกใบนี้

ไวรัสความสุข ความรักใต้บทเพลง

เสียงแห่งการให้ ดนตรีแห่งความสุขของแมน

ความสุขใต้บทเพลง

บัญชา มาชื่น หรือที่ใครๆ เรียกเขาว่า แมน เจ้าของบทเพลง “ผู้หญิงคนหนึ่ง” ที่แต่งจากความน้อยใจในความสัมพันธ์ จนถึงขั้นอยากหายตัวไปจากโลกใบนี้

แต่เขาก็นึกได้ว่าชีวิตยังมีคนที่รักและเห็นคุณค่าของเขาเสมอ

เขาร้อยเรียงเรื่องราวของตนเองเป็นบทเพลง บรรเลงเสียงด้วยกีต้าร์คู่ใจ ที่ถูกสอดแทรกด้วยเสียงเปิด-ปิดประตูของร้านสะดวกซื้อ

ชายวัย 41 ปีเลือกตัดสินใจพาตัวเองออกจากงานประจำมาใช้เวลากับสิ่งที่รัก คือการเล่นกีตาร์พร้อมเป่าฮาร์โมนิก้าเปิดหมวก หานำเงินไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ และร่วมส่งต่อความสุขให้เด็ก ๆ และผู้สูงอายุ ผ่านเสียงเพลง

เขาทำอย่างนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว

“รุ่นพี่ทำงานที่ธรรมศาสตร์ถามว่าทำอะไรอยู่ เราบอกว่าเล่นดนตรีกลางคืน เขาเลยชวนว่ามาทำงานประจำไหม ตำแหน่งช่างดูแลอุปกรณ์การแพทย์ของคณะสหเวชฯ ผมก็เลยมาทำที่นี่ ปกติเราเล่นดนตรีสวมกางเกงยีนส์เสื้อยืด พอมาทำงานต้องสวมรองเท้าหนัง เสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็ก มันดูไม่ใช่เลย ไม่ใช่เราที่ควรจะเป็น และทำให้เราเล่นดนตรีไม่ได้ด้วย ก็เลยลาออกมาเล่นดนตรี กับแต่งเพลงให้ค่ายเพลง”

การตัดสินใจครั้งนี้เหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขจากการให้โอกาสตัวเองค้นหาความหมายของชีวิตในแบบที่ใช่ ได้ทำในสิ่งที่รักร่วมกับเพื่อนๆ และการแต่งเพลงส่งให้ค่ายเพลงบ้างในบางโอกาส ก็ช่วยสร้างสีสันให้กับชีวิต

แต่ไม่นานการแสดงบนเวที กลับทำให้เขาพบว่าไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ เพราะไม่ใช่ทุกเพลงที่นำมาร้องได้

นักดนตรีกลางคืนตัดสินใจเดินออกจากร้านอาหารมาสู่เวทีแห่งโลกใบกว้าง

“มีความสุขนะ ที่เราอยากร้องเพลงอะไรก็ได้ ในร้านอาหารถ้าไปร้อง ก๊าบ ก๊าบ ก๊าบ เป็ดอาบน้ำในคลอง แขกคงมองว่าเราบ้ารึเปล่าวะ”

เสียงนั้นราวกับกำลังหัวเราะให้กับเรื่องราวในอดีต

บทเพลงเดียวกันที่เคยถูกมองว่าบ้าในร้านอาหาร กลับเป็นเพลงสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับเด็กๆ และผู้คนที่ผ่านไปมา ณ ที่แห่งนี้อยู่เสมอ

เพลงบางเพลงดูจะมีความหมายและคุณค่ายิ่งขึ้น เพียงเพราะอยู่ถูกที่ถูกเวลา

ฉันนึกถึงวันที่เคยไปช่วยรุ่นน้องเปิดหมวกร้องเพลงเล่นดนตรีเพื่อนำเงินไปจัดกิจกรรมซื้ออุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนบนดอย

วันนั้นระหว่างรอรุ่นน้องมารวมตัว ฉันมาถึงคนแรกจึงตัดสินใจยืนเปิดหมวกคนเดียว โดยไม่สนใจว่าใครจะมองอย่างไร รู้แค่ว่าตั้งใจมาทำหน้าที่เป็นสะพาน ชวนคนมาเป็นผู้ให้ เพื่อช่วยเด็กที่ขาดแคลนได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ฉันอาจเป็นเพียงท่อนไม้เล็กๆ เพียงส่วนหนึ่งของสะพานที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบอะไร แต่หากว่าสามารถพาใครบางคนข้ามฝั่งไป นั่นคือการได้ทำหน้าที่ของมันสำเร็จแล้วไม่ใช่หรือ

ท่ามกลางสายตาผู้คนที่เดินผ่านไปมา ราวกับฉันเป็นคนแปลกและโดดเดี่ยว ฉันเองคงไม่ต่างกับชายนักดนตรีคนนี้ แม้ชั่วโมงบินไม่อาจเทียบเท่าเขา แต่ความรู้สึกอิ่มเอมใจ ความสุขของการเป็นผู้ให้ คงไม่ต่างกัน

ยิ่งได้เห็นแง่งามความคิดและสิ่งที่เขาตั้งใจทำอย่างจริงใจ ก็ยิ่งทำให้ฉันอยากพาตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นอีกครั้ง จุดที่ฉันมีความสุขกับเสียงเพลง พร้อมกับการเป็นผู้ให้จากการได้ทำในสิ่งที่รัก

“เราได้ปลดปล่อยตัวเองไปกับเสียงเพลง อีกมุมหนึ่งคือเราได้เห็นแววตาคนที่อยากเผื่อแผ่ เห็นเขามีความสุข รู้สึกมีความสุขทุกทีที่เห็นแววตาเขา เป็นความอบอุ่นจากข้างในของเขาที่อยากให้”

น้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ดึงฉันกลับมามองชายตรงหน้าอีกครั้ง

แววตาของความสุขที่เขามักมองเห็นจากคนอื่น

น่าเสียดายที่เขาอาจไม่เคยได้เห็นแววตาเช่นนั้นของตัวเองบ้างเลย

ร้านสะดวกซื้อข้างโรงอาหารกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ร้านสะดวกซื้อข้างโรงอาหารกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

บทเพลงซ่อมชีวิต

“…ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเรารักมากเท่าไร ยังเปลี่ยนผันไปเมื่อเราไม่มีค่าพอ ต่อไปนี้จะเป็นคนดีเพื่อแม่ ไม่ทำตัวแย่จะเป็นคนดีให้ดู จะทำทุกสิ่งเหตุผลมากมายเชิดชู อยากให้โลกรู้ว่าเรารักแม่ที่หนึ่ง…”

สิ่งที่ฉันคิดว่าเป็นคุณค่าแท้จริงของบทเพลง “ผู้หญิงคนหนึ่ง” ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตของแมน คงเป็นการทำให้คนฟังได้ฉุกคิดและปรับเปลี่ยนการกระทำของตนเองไปในทางที่ดีขึ้น

เหมือนกับที่เขาเคยร้องเพลงนี้เพื่อช่วยชีวิตเด็กหนุ่มคนหนึ่งเอาไว้

“เด็ก ม.กรุงเทพ จะโดดตึกฆ่าตัวตาย น้องเขาบอกว่า ขอเพลงสุดท้ายได้ไหม วันหลังคงไม่ได้ฟังเพลงแล้ว ก็เลยร้องเพลงที่แต่งเอง เปรียบเทียบว่าผู้หญิงคนหนึ่งกับแม่เรา ใครรักเรามากกว่ากัน น้องเขาบอกว่า จริงพี่ ถ้าผมฆ่าตัวตาย เขาคงร้องไห้ไม่กี่วันหรอก เผลอๆ ไม่ร้องด้วยซ้ำ แต่แม่ผมคงเสียใจไปทั้งชีวิต”

แมนเล่าเหตุการณ์ที่พลิกผันจากร้ายเป็นดีด้วยสีหน้าเรียบๆ พร้อมกับม่านตาที่ขยายออกด้วยความภาคภูมิใจที่บทเพลงจากเรื่องราวเขาช่วยชีวิตคนไว้ได้ ก่อนปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะจากความใสซื่อของเด็กหนุ่มคนนั้น

“หลังจากนั้นเขาควักเงินออกมาสามพัน บริจาคให้เราเอาไปช่วยคนต่อนะ ก่อนเดินกลับมาขอคืนหนึ่งพัน บอกว่าผมขอเอาไปเติมน้ำมันรถนะครับ”

ฉันนึกประโยคหนึ่งที่เคยผ่านตา

“บางคนร้องเพลงเพื่อชีวิต แต่บางคนก็ร้องเพลงเพื่อให้คนอื่นมีชีวิต”

การร้องเพลงของแมนสามารถช่วยเหลือและซ่อมแซมชีวิตใครบางคนให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง เหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่งมันเคยช่วยซ่อมแซมชีวิตของแมนไว้เช่นกัน

ช่วงเวลาที่ผู้คนยังไม่มาก แมนจะออกมาเตรียมตัวเริ่มเล่นดนตรีเปิดหมวก บางครั้งก็จะเปิดโน้ตเพลงเพื่อเตรียมไว้เล่น หรือโน้ตเพลงใหม่ๆ ที่พนักงานในร้านสะดวกซื้อขอให้เล่น

ช่วงเวลาที่ผู้คนยังไม่มาก แมนจะออกมาเตรียมตัวเริ่มเล่นดนตรีเปิดหมวก บางครั้งก็จะเปิดโน้ตเพลงเพื่อเตรียมไว้เล่น หรือโน้ตเพลงใหม่ๆ ที่พนักงานในร้านสะดวกซื้อขอให้เล่น

 

จุดเริ่มต้นของความสุข

ชีวิตของแมนเคยอยู่ในจุดเดียวกันกับเด็กหนุ่มคนนั้น

แต่พลังที่ดึงเขากลับมาให้ตั้งใจใช้ชีวิตอีกครั้งคือ “ความสุข” จากการทำความดี ที่ไม่ต้องรอผลถึงชาติหน้า

“คิดว่าก่อนตายขอไปทำบุญ ทำความดีนะ ก็เลยไปถวายสังฆทาน ไปเลี้ยงน้องบ้านเด็กกำพร้า เล่านิทานกับร้องเพลงให้น้องฟัง แล้วตอนจะกลับ น้องเขาเดินมาหาทีละคน บอกว่า สนุกจังเลยค่ะ หนูอยากฟังเพลง มาร้องให้หนูฟังใหม่นะ”

แมนเล่าถึงจุดพลิกผันด้วยสีหน้าแววตาที่มีความสุขกับภาพความทรงจำอันงดงาม

“เฮ้ย!! ถ้าเราตายเราก็ไม่ได้ทำอะไรพวกนี้สิวะ จะตายไปเพื่ออะไร เลยกลับความคิดใหม่”

ในวันที่ยังไม่สายเกินไป คำพูดของเด็กๆ คงเอ่อล้นท่วมหัวใจของผู้ชายอย่างแมน

หากถามว่าทำไมจึงมาเล่นดนตรีเพื่อรับเงินบริจาคให้เด็กๆ เป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2553 มาถึงวันนี้

คำตอบคงเดาได้ไม่ยากเลยว่าคือความสุขจากการเป็น “ผู้ให้”

หรือบางทีชีวิตที่แมนรักษาไว้มาจนถึงทุกวันนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการให้ในวันนั้นก็เป็นได้

“เราไปบ้านเด็กอ่อนรังสิต และบ้านผู้สูงอายุ น่าสงสารคุณตาคุณยาย เหมือนเขาเหงา เราไปเป่าออแกน บรรเลงเพลงไทยเดิม เขาก็ชอบใจกัน ตอนนั้นทำบัวลอยน้ำขิงไปเลี้ยง เขาก็ถามทำเองหรอ เราก็บอกว่าทำเองบางส่วน มีคนมาช่วยด้วย ดีใจที่เห็นคุณตาคุณยายกินแล้วมีความสุข”

นอกจากกีตาร์และฮาร์โมนิก้าเครื่องดนตรีคู่หูแล้ว การทำขนมเลยกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาพบความสุขของการให้

 กีต้าร์ ฮาร์โมนิก้า หลักฐานใบเสร็จ ภาพกิจกรรมที่เคยดำเนินการ และข้อความที่ใช้สำหรับเชิญชวนผู้คนร่วมบริจาคเงินซื้อของให้กับน้องที่บ้านเด็กอ่อนรังสิต ซึ่งแมนจะเข้าไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

กีต้าร์ ฮาร์โมนิก้า หลักฐานใบเสร็จ ภาพกิจกรรมที่เคยดำเนินการ และข้อความที่ใช้สำหรับเชิญชวนผู้คนร่วมบริจาคเงินซื้อของให้กับน้องที่บ้านเด็กอ่อนรังสิต ซึ่งแมนจะเข้าไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

เพราะมดไม่เคยรู้ว่าน้ำตาลเป็นของใคร

“พื้นฐานเป็นคนขี้สงสาร คือรักสัตว์ทุกอย่าง ได้มาจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตร่วมกัน”

แมนหยิบมือถือขึ้นมาเปิดรูปหญิงสาวกำลังอุ้มแมว

“เป็นแฟน เขาเสียแล้ว เขาชอบคุยกับสัตว์ คุยกับแมลงสาบ คุยกับแมงมุม คุยกับมด คุยทุกอย่าง เขามองสัตว์ทุกอย่างบนโลกนี้เป็นเพื่อนของเขา เขาบอกว่าสัตว์ก็มีชีวิตของเขา จะไปฆ่าเขาทำไม ที่เขามากินน้ำตาลที่บ้านเราก็เพราะเขาหิว มดน่ะ ก็เหมือนเราหิวน้ำนั่นแหละ เขาหิวเขาก็ต้องกิน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าน้ำตาลของใคร แฟนเอาน้ำตาลไปโรยรอบต้นมะม่วงให้มดกิน แมลงสาบขึ้นบ้านก็เอาขนมปังให้แมลงสาบกิน เขาไม่เหมือนคนทั่วไป

“เขาชวนไปหาปีเตอร์ เราก็ถามว่าใครอะ เขาบอกแมลงสาบ…”

แมนเล่าด้วยสีหน้าชอบใจ ด้วยอารมณ์ขบขันในความรักสัตว์อย่างมากของคนที่ส่งผลต่อการส่งต่อการทำสิ่งดีๆ ในตัวเขา

ส่วนฉันนึกถึงประโยคที่คนเรามักใช้แก้ตัวกันว่า “ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ผิด” และเริ่มสงสัยว่าคำนี้มีไว้แค่เฉพาะเวลามนุษย์เราทำผิดเท่านั้นหรือไม่ เพราะหากไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราก็คงไม่ต้องลงโทษในความไม่รู้ของสัตว์น้อยใหญ่

หรือเราหลงลืมว่าคงไม่มีมดตัวไหนเข้าใจหรอกว่า ใครกันที่เป็นเจ้าของน้ำตาลก้อนนั้น

 แม่พาลูกเดินผ่านไปแล้ว แต่ต้องย้อนกลับมาใหม่ เพราะดนตรีดึงดูดความสนใจของเด็กไว้

แม่พาลูกเดินผ่านไปแล้ว แต่ต้องย้อนกลับมาใหม่ เพราะดนตรีดึงดูดความสนใจของเด็กไว้

ความดีที่อาจดูไม่น่ามอง

“…ก็มีนะ แบบมองว่าเราหลอกลวงหรือเปล่า เพราะตอนแรกๆ ไม่มีรูปภาพ ไม่มีโบรชัวร์ตั้งให้เขาเห็น แต่พนักงานร้านเขาก็โอเคกับเรา คนข้างในส่วนใหญ่รู้จักเรา เขาเคยถามเอาไปบริจาคจริงหรือเปล่า…”

แมนตอบ หลังจากที่ฉันถามถึงมุมมองของคนอื่น

“…ตอนไปครั้งแรกก็ถ่ายรูปไว้ เอาใบเสร็จมาด้วย”

วันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ จึงเป็นอันดับแรกที่ผู้คนต้องการรับรู้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการบริจาคของพวกเขาจะไปถึงผู้คนที่ต้องการรับความช่วยเหลือจริงๆ

นอกจากใบเสร็จที่มายืนยันแล้ว ด้วยตำแหน่งนักดนตรีอิสระหน้าร้านสะดวกซื้อที่เขาอยู่มายาวนาน ก็นับเป็นอีกใบการันตีความบริสุทธิ์ใจของแมนได้เป็นอย่างดี

“ก็แล้วแต่คนจะคิด สำคัญคือสิ่งที่เราทำ ความสุขเกิดขึ้นที่ใจเรา เรารู้ว่าเราทำอะไร ถ้าเรายังมีโอกาสหายใจ ยังมีโอกาสเดินได้ ร่างกายสมบูรณ์ หายเป็นปกติ ทำไมเราไม่ทำความดีให้แผ่นดิน”

คงไม่สำคัญเลยว่าใครจะมองหรือคิดกับเราแบบไหน หากเราเชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นดี หากสิ่งนั้นเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น

ฉันอดคิดไม่ได้ว่าถ้าชายคนนี้ยังเป็นคนดูแลอุปกรณ์การแพทย์ หรือเป็นนักดนตรีกลางคืนตามร้านอาหาร อาจใช่ที่คนอื่นจะมองเขาดีกว่าตอนนี้

แต่เขาจะมีความสุขเทียบเท่ากับตอนนี้ไหม

แมนหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิดรูปหญิงสาวที่กำลังอุ้มแมว คือแฟนสาวของเขาที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง

แมนหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิดรูปหญิงสาวที่กำลังอุ้มแมว คือแฟนสาวของเขาที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง

ไวรัสแห่งการให้ ไวรัสแห่งความสุข

แม้ว่าผู้คนบริเวณนั้นจะไม่ค่อยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของแมนสักเท่าไร

แต่พวกเขาก็มองด้วยความชื่นชมถึงการกระทำของแมนว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม

“เขาดูเป็นคนที่ไม่ได้เห็นแค่ตัวเอง แต่เขายังเผื่อแผ่ให้คนอื่นๆ ด้วย ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็ไม่ใช่หน้าที่อะไรของเขาเลย แต่เขาก็ยังเลือกจะมาทำ ทำเพื่อคนอื่น”

“เห็นเขาเล่นกีต้าร์ตรงนั้นตลอด มีคนบริจาคกัน คิดว่าเขาน่าจะเอาไปบริจาคจริงๆ”

จากที่ฉันได้พบกับแมนและใครหลายคนที่เดินผ่านแถวนั้นเป็นประจำ

ฉันเริ่มสงสัยว่าบางที “การให้” แท้จริงแล้วคงคล้ายกับไวรัสชนิดหนึ่งที่ไม่น่ากลัวเหมือนไวรัสโคโรนา

แต่กลับเป็นไวรัสแห่งความปลื้มปิติ ที่มีความสุขใจเป็นองค์ประกอบ

หากใครได้รับการแพร่ระบาดก็คงติดเชื้อ และส่งต่อไวรัสนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เ

เป็นเหมือนความรู้สึกอบอุ่นในหัวใจที่ได้เห็นแววตา รอยยิ้มแห่งความสุขที่มาจากการให้ของใครสักคน

และอยากส่งต่อความรู้สึกดีๆ นี้ออกไปเรื่อยๆ

ฉันถามแมนว่าจะไปหาน้องๆ อีกครั้งเมื่อไร

“ขอไปด้วยคนได้ไหมคะ”

ฉันชูมือขึ้นราวกับเด็กกระตือรือร้นอยากได้ขนม เขาหันมายิ้มแล้วตอบว่า

“14 กุมภาพันธ์นี้”

ดูเหมือนฉันจะติดเชื้อ “ไวรัสแห่งการให้” แล้วสินะ

แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะ ติดไวรัสการให้แล้วหรือยัง