เรื่อง : วาสนา เพิ่มสมบูรณ์ 
ภาพ : เอื้อการย์ เบ็ญจคุ้ม

เช้าวันที่สดใส ดวงอาทิตย์กลมโตในม่านหมอกหนา สายลมลัดเลาะขุนเขาบนดอยแม่สลอง พัดพาความหนาวเย็นเป็นสัญญาณสู่วันใหม่  นี่ไม่ใช่ความฉ่ำเย็นจากสายฝน แต่เป็นความชื่นเย็นที่บอกให้หมู่ไม้รับรู้ว่าฤดูหนาวได้กลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง

ฉันชอบช่วงเวลาเช้ามากที่สุด โดยเฉพาะขณะที่ดวงอาทิตย์เริ่มส่องประกายแสงลงสู่ผืนป่าอันอุดมด้วยแมกไม้หลากสายพันธุ์ บนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า ๑,๐๐๐ เมตร  ความสูงอันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น และหมอกที่ปกคลุมในยามเช้าตลอดทั้งปี

บนพื้นที่เหนือสุดของจังหวัดเชียงราย “หมู่บ้านหล่อโย” อยู่เพียงใต้จมูกของดอยแม่สลอง เหล่าต้นข้าวต้องลมชูต้นเขียวขจีรอต้อนรับเรียงรายเป็นขั้นบันไดบนทิวเขา  เงียบสงบ ตัดขาดจากหมู่บ้านท่องเที่ยวอันคึกคักอย่างสิ้นเชิง

อาแผ่ว เชอมือกู่ ผู้ช่วยหมู่บ้านหล่อโยวัย ๓๓ ปี ร่างสันทัด ผิวสีน้ำผึ้งไหม้ ดวงตาสีดำสนิท เปิดฉากบอกเล่าเรื่องราวชาติพันธุ์อาข่าให้ฉันฟังอย่างตั้งใจ

“ระบบความเชื่อและวิถีชีวิตของคนผูกพันอยู่กับป่า พึ่งพาอาศัยกัน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้”

หลังจิบน้ำเย็นผ่านริมฝีปากเรียวหนา เขาถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากป่ามายาวนาน และภาพสังคมอาข่าที่รักความสงบ แต่แฝงไว้ด้วยความรัก สนุกสนาน

ชอบี เชอมือกู่ หรือที่เรียกกันว่า อาปา ชาวอาข่าร่างเล็กวัย ๖๑ ปี ร่วมสะท้อนชีวิตที่ผูกพันกับป่าชุมชน “ลาชอ” จากการเข้าป่าหาอาหารตั้งแต่อายุเพียง ๘ ขวบ ป่าเปรียบเสมือนตลาดสดที่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงชีวิตได้ตั้งแต่เกิดจนตาย การเข้าป่าหาอาหารถือเป็นวิถีดั้งเดิมที่ชาวอาข่ายังดำเนินมาตลอด

ชายสูงวัยยกแก้วชาขึ้นจิบอย่างใจเย็น อธิบายถึงความสูงและภูมิอากาศหนาวเย็นของดอยแม่สลองอันมีอิทธิพลกำหนดสภาพสังคมพืชในป่าเขา และความชุ่มชื้นที่ปกคลุมทำให้ป่าดิบเขาอุดมด้วยพืชชั้นต่ำที่อาศัยยึดเกาะกิ่งไม้ใหญ่ไปจนกระทั่งพื้นดิน  เขาเล่าว่าการเข้าป่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑ วันเพื่อหาอาหาร หากล่าสัตว์ต้องใช้เวลา ๓-๔ วันกินนอนในป่า

ในป่านี้มีผัก ใบไม้ พืชสมุนไพร ผลไม้ ที่เก็บกินได้ตลอดทาง

“คนชาวเขา ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเข้าป่าเป็น เพราะอาหารจากป่าคือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้เราโตมา”

ชำนาญไพร

“ถ้าอยากรู้ว่าอาหารในป่าอร่อยแค่ไหน ต้องลองเข้าป่า”

อาปาเอ่ยปากชวนฉันเข้าป่าด้วยความใจดี รอยยิ้มท้าทายของเขาเปรียบเสมือนอาหารรสเด็ดที่เชื้อเชิญให้ฉันตอบตกลง

ชายอาวุโสใช้เวลาเพียงไม่นานเตรียมข้าวของ กระบุง เครื่องสานทรงสูง ขวดน้ำพลาสติก  สองมือจับเชือกที่ผูกกระบุงขึ้นสะพายหลังอย่างคล่องแคล่ว จากนั้นมัดเชือกผูกท่อน้ำพีวีซีทรงสี่เหลี่ยมแบนซึ่งดัดแปลงสำหรับใส่มีดไว้ข้างลำตัว สวมรองเท้ายางพาราสีดำคู่เล็กกะทัดรัด ก่อนเอ่ยปากเรียกภรรยาคู่ชีวิตให้ร่วมเดินทางเข้าป่าด้วยกัน

หมี่เชอะ เชอมือกู่ หรือ อามาว หญิงร่างเล็กผิวขาวอายุ ๕๗ ปี สวมเสื้อผ้าฝ้ายทอเนื้อแน่นย้อมสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ รวบผมยาวสีดำสลวยไว้ข้างหลัง จากนั้นหยิบผ้าลายสกอตโพกศีรษะ

“คนชาวเขาไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเข้าป่าเป็น เพราะอาหารจากป่าคือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้เราโตมา” หญิงร่างเล็กพูดขณะสะพายถุงปุ๋ยที่เย็บเป็นย่ามไว้ใส่พืชผักสมุนไพรในป่า

เราเริ่มออกเดินเท้า สองข้างทางคือขุนเขาเขียวขจี ไร่ข้าวโพดออกผลรอการเก็บเกี่ยว สายลมพัดกระทบใบหน้าให้ความรู้สึกสดชื่นราวกับขุนเขาแห่งนี้เอ่ยต้อนรับ  การเดินเท้าเริ่มยากลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราเดินลึกเข้าไป ดินชุ่มฉ่ำถูกเหยียบย่ำเป็นทาง อาปาชักมีดที่ผูกไว้ข้างลำตัวมาตัดกิ่งไม้แหวกทาง ส่วนฉันใช้สองมือยึดลำต้นไม้ใหญ่พยุงไม่ให้ลื่นไถล

เรามาหยุดอยู่ในไร่ข้าวโพดบนเนินเขาสูงชัน ชายสูงวัยเอื้อมเด็ดผลไม้ที่ชาวอาข่าเรียกว่า “อายู่ปู่ชู้” ออกผลเป็นพวง ลูกกลมเล็ก ๆ

สีแดง  ต้นไม้นี้มีขนาดใหญ่สักหนึ่งคนโอบ  เมื่อลองชิมก็สัมผัสได้ถึงรสฝาดเปรี้ยว เขาว่ามีสรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

อามาวตัดใบตองจากต้นกล้วยมาห่อผลอายู่ปู่ชู้ง่าย ๆ เก็บใส่ย่าม จากนั้นเราจึงเริ่มเดินเท้าต่อ และก็มาถึงจุดที่สูงชันอย่างที่สุด

เส้นทางเดินผ่านไปตามดงข้าวโพดที่มีร่องรอยหนูป่ากัดแทะ  ขณะที่ฉันจดจ่อกับการก้าวเท้าและพยุงตัวเองไว้อย่างยากลำบาก อาปาก็

เที่ยวแวะเก็บผักสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผักอาข่ายีดอ ใบเล็ก ๆ สีเขียว ก้านยาวสัก ๑ ฟุต มีสรรพคุณใช้เวลาผู้หญิงอยู่เดือนหลัง

คลอด ตำทารักษาแผลสดเป็นฝีเป็นตุ่ม  ผักยาโมชี ใช้ต้มอาบแก้ผื่นคัน  ผักมะแดะแหนะ (ยอดฟักทอง) มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ

อามาวกำลังร้อยไส้เดือนซึ่งจะกลายเป็นเหยื่อล่อปลาในลำธารแห่งนี้

สายธารชีวิต

เข้าป่าลึกมากว่า ๒ กิโลเมตร พืชผักที่เก็บระหว่างทางนั้น

ก็เกือบจะเต็มกระบุงเสียแล้ว กลิ่นไอดินสร้างความรู้สึกชุ่มชื่นอย่างประหลาด ทุ่งหญ้าระบัดใบแตกยอดอ่อนเป็นแหล่งอาหารหากินของสัตว์น้อยใหญ่  เสียงสายน้ำไหลใกล้เข้ามาทุกที ฉันหายใจถี่เมื่อเราเริ่มเดินเร็วขึ้น  เพียงไม่กี่อึดใจ ลำธารซึ่งเป็นจุดหมายก็ปรากฏอยู่เบื้องหน้า

สายน้ำอันเชี่ยวกรากนำความสดชื่นเดินทางไปทั่วผืนป่า วิถีแห่งสายน้ำดำเนินไปภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน

อามาวใช้สองมือวักน้ำล้างหน้า ก่อนจะหยิบ “หย่อง” ที่มีลักษณะคล้ายไซดักปลา ตามด้วยก้านไม้ไผ่ยาวเจาะรูตรงปลาย หญิงร่างเล็กใช้ด้ายที่ทำจากต้นชี่กูมาร้อยไส้เดือนทีละตัวอย่างชำนาญ เสร็จแล้วนำเหยื่อล่อปลามาร้อยกับรูที่ปลายไม้ ทำเป็นเบ็ดตกปลาง่าย ๆ  วิธีหาปลาแบบดั้งเดิมนี้เรียกว่า “ไตจี้กูปา”

มือหนึ่งจับไม้ มือหนึ่งจับหย่อง สองเท้าค่อย ๆ ก้าวลงสู่สายน้ำ เดินเลาะริมฝั่งเพื่อหาจังหวะ  เมื่อปลากินเหยื่อไม้จะสะบัด ก็ดึงไม้ขึ้นแล้วจับปลาใส่หย่อง  เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง อามาวได้ปลาตัวเล็กเท่าปลาซิวมาจำนวนหนึ่ง แถมด้วยปูที่ดูคล้ายปูนา

“หากฝนตก น้ำก็จะขึ้น ปลาจะออกมามาก  วันนี้ฝนไม่ตกปลาจึงไม่ค่อยมี” ชายสูงวัยเอ่ยด้วยสีหน้าผิดหวังเมื่อพบว่าวันนี้ได้ปลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากนั้นอาปาจึงเริ่มพาออกเดินทางต่อ โดยเลาะไปตามริมธาร  เมื่อก้าวลงสู่กระแสน้ำ ขาสองข้างของฉันเหมือนจะสู้แรงน้ำไม่ไหว ชายสูงวัยแต่ทว่ายังแข็งแกร่งเอื้อมมือมาช่วยประคอง ก่อนจะตัดไม้ไผ่ขนาดพอดีมือให้ฉันใช้ค้ำยัน

“ปัก ปัก” เสียงมีดกระทบลำไผ่ดังต่อเนื่องจนไผ่ค่อย ๆ เอนล้มลงด้วยฝีมือของชายร่างเล็กที่ต้องบอกเลยว่า ๖๐ ยังแจ๋ว  เขาตัดท่อนไผ่ให้เหลือเพียงบ้องยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตรยื่นส่งให้ภรรยาผู้รู้ใจ  อามาวตักดินข้างลำธารใส่กระบอกแล้วใช้มือขัดให้เสี้ยนภายในลำไผ่หลุดออก เพราะกระบอกไม้ไผ่นี้จะใช้เป็นหม้อหุงต้มอาหารมื้อกลางวันที่กำลังจะมาถึง

เตรียมทำอาหารกันตรงเชิงสันเขาที่ปลูกนาขั้นบันได มีผักและพืชที่เก็บได้ในป่ามาทำแกงและน้ำพริก

(มื้อ) กลางวันกลางไพร

สองเท้ายังก้าวเดินต่อด้วยใจที่เริ่มอ่อนแรง มีเพียงเสียงน้ำไหลกัดเซาะโขดหินเป็นเสมือนเพื่อนร่วมทางที่คอยเติมความสดชื่น สักพักก็ถึงที่ที่เราจะทำอาหารมื้อกลางวันกันท่ามกลางทิวเขาที่ทำนาแบบขั้นบันได ใบข้าวสีเขียวขจีโบกล้อสายลม น้ำจากภูเขาไหลมาตามรางกระบอกไม้ไผ่ผ่าครึ่งที่ทำหน้าที่ส่งน้ำลงมายังแปลงนา

หญิงร่างเล็กช่วยสามียกของออกจากกระบุงอย่างรวดเร็ว ก่อนตัดใบตองปูพื้นและวางเรียงผักสมุนไพรที่เก็บได้กลางป่า  เธอเด็ดผักเป็นชิ้น ๆ อย่างว่องไว เพียงไม่กี่นาทีผักทุกอย่างก็เข้าไปอยู่ในหม้อไม้ไผ่ จากนั้นเทน้ำ ปรุงรสด้วยเกลือและพริกคั่ว เมนูนี้มีชื่อว่า “ฮุ้นยุ้ยจ๋าย”

ด้านอาปาก็เร็วไม่แพ้กัน สองมือเร่งหักไม้แห้งเป็นฟืนท่อนเล็ก ๆ  ก่อไฟแล้วนำหม้อฮุ้นยุ้ยจ๋ายขึ้นตั้ง  ระหว่างรอให้ผักสุก เขาใช้มีดผ่ากลางลำไผ่ใช้เป็นร่องไม้เสียบหมูในเมนู “ฉัตรยี่” ซึ่งทำจากหมูห่อใบตองหมักใส่เกลือและพริกคั่ว พร้อมกับตัดใบตะไคร้ม้วนรอบปลายไม้แล้วมัดปม จากนั้นจึงนำไม้เสียบหมูไปย่างแบบสุกพอดี ไม่เกรียมมาก รสชาติเผ็ดนิดเค็มหน่อยกำลังดี

สุดพิเศษสำหรับเมนูกลางลำเนาไพรวันนี้คือ “น้ำพริกอาข่า” หรือที่ชาวอาข่าเรียกว่า “น้ำพริกสับผลิเดาะ”  อามาวไม่รอช้า นำพริกที่เด็ดไว้ระหว่างทาง ต้นหอม มะเขือเทศเผา ปลาสด ๆ จากลำธารย่าง ลงตำในถ้วยที่ทำจากไม้ไผ่และสากไม้จากต้นกระถินป่า ปรุงรสด้วยเกลือกับพริกคั่ว รสชาติเผ็ดสะใจ กลิ่นหอมของมะเขือเทศเผาตัดกับต้นหอมลงตัว

“อาหารในป่า ถ้าไม่ทำกินในป่าก็ไม่อร่อย” ชายสูงวัยเอ่ย ก่อนจะผายมือเป็นสัญญาณให้พวกเราล้อมวงลงมือกินกันได้

กลิ่นหอมของฮุ้นยุ้ยจ๋ายตลบอบอวลไปทั่ว ฉันไม่รอช้า ซดน้ำร้อน ๆ ในหม้อก่อนเป็นกำไรชีวิต เพราะมันช่างให้ความรู้สึกที่สุข หอม อร่อย ไปพร้อมกัน

“ย่าส่า อาดือโอ่ว ฮ่อยู้ บีเหล่าโอะ” หมายความว่า ป่าให้อาหาร อาหารต่อชีวิตเราให้ยาวขึ้น  อาปาเอ่ยหลังอาหารมื้อกลางวันของเราจบลงด้วยรอยยิ้มที่ไม่พออธิบายความรู้สึกในตอนนั้น

ชาวอาข่าที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจปลูกพืชผักริมรั้วเหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เกตส่วนตัวไว้เก็บมาทำอาหารในครัวแต่ละมื้อ

อาข่าอาหาร

ถัดจากหมู่บ้านหล่อโยมาเพียง ๑๐ กิโลเมตร ก็จะพบชาวอาข่าที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าคาสุขใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย  บ้านบนเนินเขาเรียงรายเหมือนระลอกคลื่น ตัวบ้านไม้ไผ่ยกสูงจากพื้นดินสักเมตร มีบันไดสามถึงห้าขั้น เสาบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านปิดฟากไม้ไผ่ หลังคามุงตับหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบติดพื้น ไม่มีหน้าต่าง ในบ้านตั้งเตาไฟสองเตาสำหรับปรุงอาหารและต้มน้ำชาเลี้ยงแขก

ชาวอาข่าที่นี่ทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดเป็นพืชหลัก  ปลูกงา ข้าวฟ่าง ถั่ว พริก เป็นพืชรอง

“ก่อนหน้านี้เราปลูกพืชเชิงเดี่ยว สิ่งที่ตามมาคือเกิดการขาดแคลนอาหาร จึงต้องกลับมาปลูกแบบหมุนเวียน เราถือว่าที่นี่เป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เกต ออกไปตลาดเราเสียเงินซื้อเพียงเกลือและพริกคั่ว” อาหลา หมี่โป๊ะ ชายร่างสันทัดผิวสีแทน บอกเล่าถึงวิถีอาข่าในวันที่ผันเปลี่ยนด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุข

พืชที่ชาวอาข่านิยมปลูกกันมากคือ ผัก พริก ถั่ว โดยปลูกตามรั้วบ้าน หรือบริเวณใกล้แหล่งน้ำ เวลาต้องการผักสดก็เก็บได้สะดวก

ระหว่างเดินเก็บยอดฟักทองที่เลื้อยเกี่ยวพันตามรั้วและผักสะระแหน่ หญิงอาวุโสของหมู่บ้านป่าคาสุขใจ บูยูม อาซองกู่

วัย ๕๘ บอกเล่าถึงภูมิปัญญาชาวอาข่าเรื่องสมุนไพรจากป่าชุมชน และการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกซึ่งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

“เรารักษาพันธุ์พืชเพื่อรักษาอาหาร ครัวนี้ทำให้ร่างกายเราอิ่มท้อง อิ่มใจ”

อาหารที่ทำเสร็จแล้ว มีน้ำพริกอาข่า แกงป่าที่ผสมผักต่าง ๆ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ผ่าซีกที่ตัดจากป่าก่อนเดินขึ้นมาบนนาขั้นบันได ผักเคียงต่าง ๆ และหมูที่หมักมาแล้วจากบ้าน

แสงอาทิตย์ลอดผ่านร่องไม้ไผ่ เพิ่มความสว่างให้แก่ครัวในบ้าน บูยูมเริ่มลงมือทำเมนูลาบสมุนไพรหรือ “ลาบอาข่า” ด้วยการหั่นตะไคร้ ตามด้วยผักชี พริกสด กระเทียม ส่วนกระทะกลมที่มีหมูบดตั้งวางบนเตาถ่านร้อนระอุ  เธอหยิบผักสมุนไพรมาปรุงรสด้วยมะนาว พริกคั่ว เกลือ ใส่ลงถ้วยไม้ไผ่  กลิ่นหอมคละคลุ้งมาจากเมนูแสนธรรมดาที่น้อยคนจะมีโอกาสได้สัมผัส

“ป่าคือชีวิต” คือสิ่งที่ชาวอาข่าพยายามสื่อสารแก่ผู้มาเยือนอย่างฉันตลอดการเดินทางครั้งนี้

พระอาทิตย์เริ่มลาลับดับแสง ขณะที่เสียงเหล่านกบินลัดขุนเขากลับถิ่นที่พักบ่งบอกช่วงเวลาสิ้นสุดของวัน  แต่ทว่าฤดูกาลแห่งชีวิตยังคงดำเนินต่อไปไม่จบสิ้นบนยอดเขาแห่งดอยแม่สลอง เช่นเดียวกับวิถีวัฒนธรรมและอาหารของชาวอาข่าที่จะสืบทอดส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน