เรื่องและภาพ : ทีม พิกุล-มุกดา ค่ายนักเล่าความสุข
“เติมเต็มทุกอย่างเลยค่ะ มีความสุข แค่ได้นั่งดูน้องเฉยๆ ก็มีความสุขแล้ว น้องมาช่วยเติมเต็ม ทั้งที่ไม่เคยอ้อน ไม่เคยอะไรกับเราเลย”
ลักษณ์วิไล ธีรธรรมสารี คุณแม่ของน้องมีบุญ แมวเซเลบที่ดังที่สุดในขณะนี้กล่าวพร้อมด้วยรอยยิ้ม
นาทีนี้ในโลกของทาสแมว คงไม่มีใครไม่รู้จักน้องมีบุญ แมวสามสีตัวอ้วนกลม ที่ใครเห็นก็หลงรัก และเป็นเจ้าของเพจ meeboon ที่มีแฟนเพจติดตามมากกว่า 5 แสนคน
น้องมีบุญเป็นหนึ่งในแสนของแมวโชคดีและมีบุญสมชื่อ จากชีวิตแมวจรจัดข้างถนนเปลี่ยนมาเป็นเจ้าหญิงตัวเล็ก ๆ ของเกียรติรัตน์ – ลักษณ์วิไล ธีรธรรมสารี หรือเราขอเรียกสั้นๆ ว่า “พี่หน่อย”- “พี่ปุ๊ก” ซึ่งเปรียบได้กับพ่อแม่บุญธรรมของมีบุญอย่างแท้จริง
มีบุญถูกพบที่หาดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาด้วยความบังเอิญ พี่ปุ๊กบอกกับเราว่าตอนแรกเจอน้องมีบุญในสภาพนอนจมอยู่กับกองอึกองฉี่ คิดว่าจะรักษาให้หายแล้วหาบ้านส่งต่อ แต่นาทีที่รู้ว่าน้องจะพิการไปตลอดชีวิต เนื่องจากปัญหาระบบประสาทขาหลังที่พิการแต่กำเนิด ทั้งสองคนก็ไม่คิดจะส่งต่อหาบ้านใหม่อีกเลย
“การถูกทิ้งน่าจะเลวร้ายพอแล้ว น้องต้องการความอบอุ่นจากคน เจ้าของเดิมคงรับสภาพของน้องไม่ได้ และถ้าเราจะส่งต่อใครแล้วคนนั้นรับไม่ได้ น้องก็จะถูกทิ้งอีก พี่ไม่อยากให้น้องถูกทิ้งซ้ำซากก็เลยรับเลี้ยงไว้เอง” พี่ปุ๊กเล่าถึงการตัดสินใจ
น้องมีบุญพิการเรื่องการขับถ่าย แรกๆ ต้องใช้แผ่นรองซับตัดเย็บเป็นแพมเพิร์สแมวเฉพาะกิจ แต่ตอนนี้น้องใช้แพมเพิร์สคนได้แล้ว พี่ปุ๊กและพี่หน่อยก็สบายขึ้นมาก
แต่หน้าที่ดูแลน้องมีบุญไม่ใช่ธรรมดา พ่อกับแม่บุญธรรมต้องคอยกระตุ้นน้องให้ขับถ่ายทุก 8 ชั่วโมง เรียกว่าวันละ 3 รอบ โดยมีแท่นสำหรับการขับถ่าย เพราะถ้าขับถ่ายไม่หมดอาจติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ต้องรักษากันอีกยาว
ระยะเวลา 7 ปีกว่าที่ดูแลกันมา น้องมีบุญไม่เคยดื้อเลยเมื่อต้องทำภารกิจนี้ ถ้าเป็นแมวตัวอื่นคงได้แผลกันถ้วนหน้า
“เคยคุยกับน้องว่าหนูเป็นแบบนี้ หนูต้องไม่ดื้อนะลูก เดี๋ยวพ่อกับแม่จะลำบาก น้องก็ไม่เคยดื้อเลยสักครั้ง เรายังแปลกใจว่าทำไมน้องถึงรู้ทุกอย่าง” พี่หน่อยเล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
เราพูดคุยประเด็นแมวที่ถูกคนปล่อยหรือทิ้งไว้ตามข้างถนน พี่ปุ๊บอกความในใจว่า
“ตอนแรกๆ โกรธแค้นมาก แค่ชีวิตหนึ่ง ทำไมคุณต้องทำร้ายเขา เขาเลือกเกิดไม่ได้ บางคนเอาแมวมาทิ้งเพื่อปัดภาระให้พ้นตัว แต่ไม่ได้มองว่ามันคือภาระสังคม”
ในวันหนึ่งที่ฝนตก ฉันเคยเห็นแมวจรติดฝนอยู่ตรงชายคาแคบๆ ตัวมันเปียกปอนไปหมด ฉันมองด้วยความเวทนา แต่พอจะออกไปช่วย เจ้าแมวกลับตกใจเตลิดหนีไปตากฝนหนักกว่าเดิม นอกจากเรื่องที่อยู่ที่นอนแล้ว แมวจรยังต้องทะเลาะกับเจ้าถิ่นขาใหญ่ ไล่ตีกันจนมุมร้องเงี้ยวง้าวๆ ลั่นหมู่บ้าน ร้อนถึงคนในหมู่บ้านต้องออกมาดูเพื่อไล่เจ้าตัวนักเลงไปไกลๆ
ชีวิตของแมวจรจึงน่าสงสารมากๆ ช่างต่างกับแมวที่มีคนรับไปดูแลอย่างฟ้ากับเหว เพราะพวกเขาไม่ใช่เป็นแค่แมวหรือสัตว์เลี้ยง แต่คือส่วนหนึ่งของครอบครัว คือลูกชายลูกสาวตัวเล็กๆ ของเหล่าบรรดาทาสแมว
………….
อมราพร รัตนมาลากุล หรือ “คุณยิ้ม” วิศวกรสาวสวย คือหนึ่งในทาสแมวที่ทำบ้านให้เป็นสวรรค์ของแมวจร
ไม่ว่าแมวจะเจ็บหนักมาจากไหน เมื่อถึงมือคุณยิ้มแล้วทุกตัวจะอ้วนท้วน มีชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แมวจร 22 ชีวิตที่อยู่กับคุณยิ้ม มีที่วิ่งเล่นเพียงพอ มีอาหาร มีน้ำ มีที่นอนอุ่น รวมถึงอ้อมกอดที่เต็มไปด้วยความรักจากคุณยิ้ม
บางตัวป่วยหนักต้องป้อนข้าวป้อนยาทุกวัน คุณยิ้มก็ไม่เคยย่อท้อ
แมวพวกนี้ไม่ได้สวย ไม่ได้เป็นแมวพันธุ์ต่างประเทศ แต่เธอดูแลและให้ความรักเท่าเทียมกันทุกตัว
เวลาคุณยิ้มกลับจากเลิกงานตอนเย็นถึงบ้านก็ค่ำแล้ว แต่ภารกิจยังไม่จบสิ้น เพราะต้องเก็บฉี่และอึแมวจากกระบะทราย ให้อาหารพิเศษตามอาการของแต่ละตัว พูดคุย ทักทายให้เกาะหลังเกาะไหล่ กว่าจะจบภารกิจแต่ละวันก็ล่วงเข้าไป 4-5 ทุ่ม
แต่คุณยิ้มทำด้วยความสุข
ทุกครั้งที่เข้าห้องแมว เธอจะยิ้มสดใสสมชื่อ และพูดคุยกับลูกๆ เสมือนว่าคุยกันรู้เรื่อง ซึ่งเราก็รู้สึกลึกๆ ว่าพวกเขาสื่อถึงกันได้จริง ๆ
“บ่ายวันนี้เราต้องพาแจ่มใสไปหาหมอ อาจจะมีเวลาคุยกันได้ไม่นาน” เธอออกตัวในวันที่เราไปถึงที่บ้าน
ด้วยความที่เลี้ยงแมวจำนวนมากและส่วนใหญ่อาการหนักๆ ทั้งนั้น บ้านนี้จึงเกือบเหมือนคลินิกขนาดย่อมๆ มียาที่จำเป็นพื้นฐานของแมวทุกอย่าง แต่ตัวที่เจ็บหนักจริงๆ ต้องพาไปหาหมอเกือบจะวันเว้นวัน
เมื่อเราถามถึงค่าใช้จ่าย วิศวกรสาวตอบยิ้มๆ ว่า ทั้งค่ายา ค่าทรายและอาหาร (ซึ่งเลือกใช้อาหารยี่ห้อเกรดดีแม้แต่กับแมวจร) ตกร่วมเดือนละ ๔ หมื่น
ได้ยินตัวเลขเราก็ตกใจ เธอบอกว่า คนที่คิดจะเลี้ยงแมวควรคิดถึงระยะยาวด้วย ไม่ใช่แค่ค่าอาหารค่าทราย แต่รวมถึงค่ารักษาพยาบาลและวัคซีนต่างๆ
“ต้องทบทวนตัวเองดีๆ ก่อนจะหาแมวมาเลี้ยงสักตัว อย่าเลี้ยงเพราะแค่ความน่ารักในวัยเด็ก” คุณยิ้มฝากข้อคิดไว้ให้เราและทุกคนที่กำลังคิดจะเลี้ยงแมว
…..
คนใจดีนำอาหารมาให้แมวในวัด ถึงแม้จะมีพระคอยดูแลก็ตาม แต่แมวพวกนี้ก็ยังหิวอยู่เสมอ และมีคนนำมาปล่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสังคมเรื่องหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข
จุดเริ่มต้นของแมวจรที่บ้านของฉันก็ไม่ต่างจาก พี่ปุ๊ก-พี่หน่อย และคุณยิ้มเท่าไรนัก เนื่องจากพี่ปุ๊กและพี่หน่อยเลี้ยงมีบุญก็เลยเผื่อแผ่ความรักมาถึงแมวจรในหมู่บ้านเดียวกัน
แต่ด้วยโรคที่น้องมีบุญเป็น ทำให้พี่ปุ๊กไม่สามารถรับเลี้ยงแมวเพิ่มได้ จึงทำได้แค่ดูแลให้อาหารและพาไปฉีดยาทำหมันตามกำหนด และดัดแปลงหลังบ้านขนาดกะทัดรัดเป็นสถานที่ให้แมวจรไว้ใช้หลบแดดหลบฝน มีน้ำและอาหารให้พร้อมตลอดเวลา
ที่นี่ถือเป็นสวรรค์สำหรับแมวจร ซึ่งพวกเราเรียกว่าแก๊งส์ส้ม เพราะส่วนมากมีสีส้มลายสลิด
โรคทาสแมวนี้คงติดต่อกันได้ เพราะไม่นานบ้านติดกันสามหลัง รวมถึงบ้านฉันด้วยก็กลายแหล่งบุฟเฟต์ให้แก๊งส์แมวส้มกันทุกหลัง โชคดีที่ทุกคนรักและไม่รังเกียจแมวจรจัด ทำให้พวกมันมีอาณาเขตค่อนข้างกว้าง และไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีใครทำร้าย
ครั้งหนึ่งแม่แมวจรหลังบ้านพี่ปุ๊ก ออกลูกมาอีกชุด นับเป็นชุดที่เท่าไรแล้วไม่รู้ แต่ช่วงนั้นกระแสคนไม่รักแมวในหมู่บ้านมาแรงมาก จนพี่ปุ๊กกังวลว่าแมวจะถูกกำจัด ก็เลยพยายามดักจับแมวให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาไปทำหมันและทำวัคซีนให้ครบ
ระหว่างที่รอรุ่นใหญ่ๆ ไปทำหมันที่โรงพยาบาลสัตว์ เจ้าลูกแมวชุดใหม่ที่เพิ่งลืมตาดูโลกมาได้ไม่ถึงเดือน ก็รอคิวอยู่ในกรงหลังบ้านพี่ปุ๊ก
เจ้าตัวเล็กสุดสีส้มในหมู่พี่น้อง เกิดแหกกรงออกมาได้ วิ่งมาติดฝนอยู่หลังบ้านฉัน คงจะตกจากกำแพงแล้วขึ้นไม่ได้ ประกอบกับฝนตกลงมาอีก เจ้าตัวเล็กร้องสุดเสียงก็ไม่มีใครมาช่วย แม่ก็ไปคลินิกอยู่ พี่น้องโดนขังอยู่ในกรง ฉันกับแฟนได้ยินเสียงแมวร้องก็พยายามหา จนมาเจอสีส้มๆ เล็ก ๆ กำลังพยายามหลบฝนและปีนกำแพงกลับไป
สภาพตอนนั้นน่าสงสารมาก ตัวเล็กจิ๋วเดียว แถมยังเปียกมะลอกมะแลก เราไปต้อนหน้าต้อนหลังกันสองคน เจ้าตัวเล็กคงอ่อนแรง จนมุมให้จับแต่โดยดี แต่ก็ยังร้องไม่หยุด สักพักก็บิดตัวจะหนี แฟนฉันรีบช่วยจับ เจ้าตัวแสบอ้าปากหลับหูหลับตางับมือเขาเข้าให้ ทำให้มันได้อิสระอีกครั้ง แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ เอาผ้ามาจับจนได้เจ้าตัวแสบพามาหลบฝนในบ้าน
ด้วยความที่มือใหม่ ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยเอาตะกร้าครอบไว้ก่อน แล้วออกไปหาซื้อเสบียงสำหรับลูกแมว
พอตกบ่ายพี่ปุ๊กมาตามหาแมวเด็กที่แหกกรงหายไป จึงได้รู้ว่าเจ้าตัวแสบหนีมาไกลถึงบ้านเรา พี่ปุ๊กก็มารับเจ้าตัวเล็กคืน
เจ้าส้มเล็กได้กลับสู่อ้อมกอดพี่ๆ แล้ว แต่สิ่งที่ติดอยู่ในใจเรา คือชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรต่อ เมื่อถามพี่ปุ๊กก็ได้รับคำตอบว่า จะทำวัคซีนให้ครบแล้วจะหาบ้านใหม่ให้ ซึ่งแมวสลิดสีส้มธรรมดาแบบนี้ไม่รู้ว่าจะหาได้ง่ายๆ ไหม
เรากลับมาคิดกับแฟนอยู่ 2-3 วัน เพราะความที่ไม่ค่อยอยู่บ้านจึงกลัวจะดูแลแมวได้ไม่เต็มที่ ระหว่างนั้นพี่ปุ๊กและพี่หน่อยก็ผลัดกันส่งรูปความน่ารักของเจ้าตัวเล็กมาให้ดู สุดท้ายเราก็ใจอ่อนขอรับเลี้ยงเจ้าตัวเล็กไว้เอง ท่ามกลางความดีใจของพี่ปุ๊กและพี่หน่อย ที่เจ้าส้มเล็กจะมีบ้านแล้ว
และนี่ก็คือที่มาของ “พิกุล” แมวตัวแรกของบ้านเรา
……………………..
เจ้าแมวส้มตัวแสบตื่นคนขั้นสุด มาอยู่ด้วยกันวันแรกๆ ไม่เข้าใกล้คนเลย คอยซ่อนตามใต้โซฟาหรือไม่ก็หลังตู้เย็น ต้องหากันทุกวัน แต่ด้วยเป็นลูกแมว เวลานอนก็อยากหาที่อุ่นๆ พิกุลจะชอบมานอนบนตัวคน หลับกันไปสามคนพ่อแม่ลูกแบบนี้ประจำ
พิกุลทำให้บ้านของเรามีความสุขขึ้นมาก ทำให้บ้านมีชีวิตชีวา
เราสองคนไม่มีลูก พอรับเลี้ยงพิกุลก็เหมือนเป็นลูกสาวคนแรกของเรา พอคุ้นกันแล้ว พิกุลจะติดคนมาก ขี้อ้อนสุดๆ ทำให้เราสองคนรักเธอหมดใจ ไปไหนนึกถึงแต่แมว ซื้อของกินของเล่นมาฝากตลอด ถึงแม้พิกุลจะชอบเล่นแต่บอลกระดาษที่ขยำๆ จากใบเสร็จเซเว่นก็ตาม
ช่วงนั้นเฟซบุ๊กของฉันเต็มไปด้วยรูปพิกุล
นี่เราเป็นทาสแมวตั้งแต่เมื่อไรกัน รู้ตัวอีกทีเราก็ขาดกันไม่ได้แล้ว
เลี้ยงมาได้เกือบปี ถึงเวลาต้องพาพิกุลไปทำหมัน ทำให้ได้รู้ว่าค่าใช้จ่ายไม่ธรรมดาเลย
คลินิกดีๆ สวยๆ ราคาขั้นหมื่น แต่การทำหมันแมวเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเมื่อแมวตัวเมียถึงช่วงฮีตหรือที่เรียกกันว่าติดสัด น้องจะร้องหง่าวๆ และเครียดมาก
การทำหมันทุกวันนี้ไม่ต้องใช้เวลานาน อดข้าวอดน้ำก่อนเที่ยงคืนและตอนเช้าพาไปโรงพยาบาล เย็นก็รับกลับบ้าน พักรักษาตัวอยู่บ้าน รอตัดไหมประมาณ 3-5 วันเท่านั้นเอง
ที่โรงพยาบาลเรามีโอกาสคุยกับคุณหมอ น.สพ. ศุภณัฐ วิไลสกุลมง สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ เกี่ยวกับแมวจรที่มารักษา คุณหมอบอกว่าการรักษาและดูแลแทบไม่ต่างกัน แต่แมวจรส่วนมากจะไม่มีประวัติทำให้การรักษาลำบากพอสมควร แต่ทุกคนที่พาพวกมันมาก็พร้อมช่วยดูแลเต็มที่
อีกปัญหาใหญ่คือแมวจรจัดจะค่อนข้างไม่ไว้ใจคน ทำให้การรักษายาก เดือนๆ หนึ่งจะมีแมวจรจัดมาที่โรงพยาบาล 5-6 ราย ส่วนมากจะถูกรถชน อาการค่อนข้างสาหัส
วันที่พิกุลมาทำหมันก็มีน้องแมวจรจัดถูกรถชนมาเข้ารับการรักษาพอดี
เจ้าตัวน้อยลายดำขาว ขาหน้าไม่มีความรู้สึก เพราะสมองกระทบกระเทือน หมอประคองอาการไว้ แต่ก็บอกกล่าวกับเราว่า โอกาสที่ขาข้างนี้จะกลับมาใช้งานได้ไม่มีอีกแล้ว
ฟังแล้วก็สงสารเจ้าแมวน้อย แต่ยังโชคดีที่พรหมลิขิตทำให้ได้มาเจอคนใจบุญช่วยนำน้องส่งโรงพยาบาลจนปลอดภัย
………………..
หลังจากทำหมันแล้วพิกุลติดคนมากกว่าเดิม
คงฝังใจที่โดนทิ้งไว้คลินิกหนึ่งวันเต็มๆ ทำให้เราเริ่มกังวลว่าพิกุลจะเหงา ถ้าคนไม่อยู่ เลยเกิดความคิดจะหาเพื่อนให้พิกุล
เราตั้งใจจะไม่ซื้อแมวสวยๆ มาเลี้ยง จะรับแมวจรหาบ้านเท่านั้น มองหาแมวจรอยู่หลายที่ จนมาเจอ “มุกดา” แมวขาวบริสุทธิ์ที่โรงแรมสัตว์ที่เราพาพิกุลไปฝากไว้ประจำ มุกดารอหาบ้านใหม่อยู่
วันแรกที่รับมุกดาเข้าบ้านก็กลัวสารพัดว่า จะเข้ากับพิกุลได้ไหม เพราะพิกุลเข้ากับแมวตัวอื่นไม่ค่อยได้
แต่พอพามุกดาเข้าบ้าน พิกุลก็ร้องหาน้องตลอด จะคาบน้องไปนอนด้วย อาจคิดว่ามุกดาคือลูกสาวของตัวเองก็เป็นได้ จากนั้นมาทั้งสองตัวก็ตัวติดกันตลอด ไม่เคยห่างกันอีกเลย
ความสุขในบ้านเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ได้หัวเราะกับการเล่นตลกๆ ของลูกสาวสองตัว
ปกติเราไม่ค่อยโทรหาหรือไลน์หากันระหว่างวัน แต่หลังจากมีลูกสาวใหม่มา เราก็เห่อกันมาก รายงานท่าทางน่ารักๆ หรือตลกๆ ของลูกสาวกันทั้งวัน
ตอนนี้ทั้งมุกดาและพิกุลคือส่วนหนึ่งของครอบครัวเราแล้ว ถึงแม้จะซนบ้าง เล่นกันเองไม่สนใจพ่อแม่เลยบ้างก็ตาม เราคุยเรื่องแมวกันได้ทั้งวัน แค่ได้พูดถึงแมวก็มีความสุข ถึงลูกสาวจะไม่อ้อน ไม่ติดคน ไม่ชอบนวด ไม่ทำอะไรเลย แต่เราก็รักทั้งคู่มาก พวกมันได้หัวใจเราไปทั้งสองดวง
ไม่เคยคิดว่าเราจะได้รับจากแมวจรสองตัวมากมายขนาดนี้ ราวกับฟ้าส่งแมวคู่นี้มาให้เรา
วันนี้เราเข้าใจความสุขของทั้งพี่ปุ๊ก พี่หน่อย และคุณยิ้มแล้ว ว่าแค่แมวสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ ที่ทั้งหยิ่ง ทั้งเอาแต่ใจ แถมนิสัยอินดี้สุดๆ จะทำให้เรามีความสุขได้อย่างไร
แมวสองตัวได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตของเราจริง ๆ
……………….
นี่คืออีกหนึ่งความสุขของทาสแมว
แม้น้องๆ จะเคยเป็นแมวจรไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่พันธุ์นอกสวยๆ พวกเราทาสแมวทุกคนรักแมวกันอย่างไม่มีเงื่อนไข
จากข้อมูลการสำรวจปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด 77 จังหวัด พบว่าประเทศไทยมีสุนัขและแมวจำนวนกว่า 10 ล้านตัว เป็นแมวกว่า 3 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นแมวไม่มีเจ้าของถึงกว่า 4 แสน 7 หมื่นตัว ส่วนผลสำรวจคน กทม. 76.1% มีความเห็นว่าสุนัขและแมวจรจัดเป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข (บ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อ้างอิงไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 29 เม.ย. 2562) ซึ่งมาตรการหนึ่งของภาครัฐคือการทำหมัน
เหล่าคนรักแมวช่วยกันดูแลแมวจรจัดกันอย่างเงียบๆ มานานแล้ว เราจับมันมาฉีดวัคซีนและทำหมันเมื่อถึงเวลา ส่วนลูกที่คลอดออกมา เราก็หาบ้านใหม่ที่อบอุ่นให้ โดยมีหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นเพจคนรักแมว หรือเพจแมวดังๆ อย่างเช่น เพจ meeboon เป็นต้น
แมวสอนให้เราเป็นผู้ให้ และสอนให้เราปล่อยวาง (จากสมบัตินอกกาย เช่น มุ้งลวด โซฟา ฯลฯ)
เลี้ยงแมวได้อะไรมากกว่าที่คิดจริงๆ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้ารู้สึกรักและเอ็นดูเจ้าสี่ขาหน้าขนพวกนี้ ยังมีแมวจรอีกหลายชีวิตที่รอบ้านอันอบอุ่นอยู่
วันนี้คุณมีแมวเป็นของตัวเองหรือยัง