ท่ามกลางความเจริญรุ่งเรืองของโลกยุคใหม่ วิถีปัจจุบันบังคับให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบต้องวิ่งแข่งอยู่ตลอดเวลา หลายคนทำชีวิตหล่นหายไม่รู้กำลังต่อสู้กับสิ่งใด วันนี้จึงอยากจะพาทุกคนพักความรู้สึก มาย้อนความหลังเดินเที่ยวและสัมผัสความหมายอันเรียบง่ายของชีวิตที่ “ชุมชนเก่าหัวตะเข้” หนึ่งในชุมชนบ้านไม้โบราณริมคลองที่ยังไม่จางหาย
“หัวตะเข้” เป็นชุมชนริมน้ำอายุกว่า ๑๐๐ ปีในเขตลาดกระบัง เคยคึกคักจอแจเมื่อครั้งที่ผู้คนยังสัญจรทา
น้ำเป็นหลัก ต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงที่กลายเป็นชุมชนเก่ากลางกรุง เงียบและเรียบง่าย แต่ไม่ว่าอย่างไรหัวตะเข้ก็ยังคงอยู่ได้เพราะหัวตะเข้มีศิลปะเป็นเครื่องมือเยียวยาตัวเอง และนี่คือเสน่ห์ที่จะเติมเต็มความรู้สึกคุณให้พองโต
มาเช็กอินหัวตะเข้พร้อมกัน เพื่อตามหาและสัมผัสหกงานศิลป์แห่งชีวิต ตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์ผู้คนต่างวัย ชุมชนต่างยุคให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมหัศจรรย์ ไปเริ่มกันที่ศิลป์ชิ้นแรกกันเลยจ้า
“สร้างศิลป์ ประดับถิ่นหัวตะเข้”
ศิลป์ชิ้นแรก “กรอบรูป” ร้านคุณเอ เป็นอีกศิลปะที่คนรุ่นเก่าชอบและคนรุ่นใหม่อิน ที่นี่มากกว่าการเป็นกรอบรูปคือการสร้างพื้นที่เชื่อมรอยต่อของผู้คน ค่านิยม และชุมชน
ร้านกรอบรูปคุณเอเป็นอาณาจักรเล็กๆ ที่เขาสร้างขึ้นจากฐานความรัก ความสุข และความหลงใหล ไม่ใช่เพื่อธุรกิจหากำไร บรรยากาศโดยรอบจึงเต็มไปด้วยความเรียบง่าย อบอุ่นเป็นกันเอง
เพราะใช้หัวใจตอบโจทย์ลูกค้าที่มาใช้บริการ กรอบรูปหัวตะเข้จึงพลิกฟื้นความฝันของคุณเอ ติดตามเรื่องราวความฝันในกรอบรูปต่อได้ ที่นี่
“‘แพน’ มรดกวิชาช่างของคนหัวตะเข้”
ศิลป์ต่อมา คือศิลปะจากภูมิปัญญาที่เรียกว่า “แพน” ศิลป์แห่งชีวิตที่เป็นมรดกวิชาช่าง เป็นเครื่องกำหนดจุดก่อนลงเสา ทำให้เสาทุกต้นสามารถตั้งตรงขึ้นกลางน้ำได้อย่างมั่นคงเพื่อสร้างชุมชนที่แข็งแรงริมคลองขึ้นมา ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตอยู่คู่กับสายน้ำได้อย่างใกล้ชิดและปลอดภัย นอกจากหน้าที่หลักแล้ว แพนยังเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนเก่าหัวตะเข้ยังเต็มไปด้วยความรักความสามัคคีของคนในชุมชน เพราะแพนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากไร้ความร่วมมือกันของทุกคนในชุมชน
แพนพลิกฟื้นหัวตะเข้ เพราะหัวตะเข้ให้ชีวิตแพน แพนและหัวตะเข้สัมพันธ์และสำคัญต่อกันอย่างไร ค้นหาเพิ่มเติม ที่นี่
“โรงนึ่งปลาทู ศิลปะแห่งชีวิตริมน้ำหัวตะเข้”
จากแพน เรามาต่อกันด้วยศิลป์วัยเก๋าที่ถ่ายทอดกันมาเป็นภูมิปัญญา คือศิลปะแห่งชีวิตด้านการถนอมอาหารกับ “กอบกิจเจริญ” โรงนึ่งปลาทูแห่งหัวตะเข้ หนึ่งในกิจการที่เคยรุ่งเรืองที่สุดกิจการหนึ่งเมื่อครั้งที่ผู้คนสัญจรทางน้ำเป็นหลัก
สนุกกับเรื่องราวการเดินทางของปลาทูตั้งแต่เลือกปลา ควักไส้ ไปจนถึงการจัดวางเรียงลงเข่ง เพื่อส่งต่อไปยังก้นครัวลูกค้า ทุกขั้นทุกตอนล้วนผ่านการใช้ความคิดและศิลปะในการจัดการ
ทำอย่างไรให้ได้ปลาทูที่มีคุณภาพและสวยงามน่าซื้อน่ากินที่สุด ศิลป์ช่วยได้ ติดตามเรื่องราวและเปิดสูตร “กอบกิจเจริญ” ต่อ ที่นี่
“กว่าจะเป็นดองกัน”
“ผักกาดดองเจ๊หลา” เป็นอีกศิลปะทางภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหาร มาที่หัวตะเข้คุณจะได้พบกับ “เจ๊หลา” และ “สะ” คู่รักวัยเก๋าที่จับมือดองผักกาดควบคู่กับดองความรักเคียงข้างหัวตะเข้มานานหลายสิบปี ผักกาดดองเจ๊หลาใช้ศิลปะและความใส่ใจในการดองอย่างทะนุถนอมทำให้ได้ผลผลิตที่ออกมามีพร้อมทั้งคุณค่าและความสวยงาม ซื้อใจลูกค้าได้อย่างสบาย ๆ
รักกันดองกัน ความสุขง่ายๆ ของศิลปะชีวิตคู่ อิ่มเอมและประทับใจกับเรื่องราวต่อได้ ที่นี่
“ชุมชนหัวตะเข้ : กราฟฟิตีสร้างสัมพันธ์”
ศิลป์ชิ้นนี้เป็นศิลป์เชื่อมสัมพันธ์คนต่างยุค ชุมชนต่างสมัย นั่นก็คือ “กราฟฟิตี” ศิลปะของคนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตโลดแล่นหายใจอยู่ในชุมชนเก่าริมคลองประเวศบุรีรมย์ได้อย่างลงตัว ไม่บดบังความงามคลาสสิกดั้งเดิม เป็นงานศิลป์สร้างสีสันชุมชนเรียบง่ายให้ความรู้สึกตื่นเต้นน่าค้นหา สร้างพื้นที่คนต่างวัยให้ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันและกัน และสร้างชื่อเสียงให้ชุมชน ดึงดูดความสนใจคนภายนอกให้แวะมาเยี่ยม เวียนมาชม
มากกว่าคุณค่าความสวยงาม คือการเชื่อมความสัมพันธ์ผู้คนและชุมชน ค้นหาเสน่ห์หัวตะเข้ผ่านกราฟฟิตีศิลปะแห่งชีวิตต่อได้ ที่นี่
“นักเล่นว่าวหัวตะเข้”
ก่อนจะออกจากหัวตะเข้ มาปิดท้ายกันด้วย “ว่าว” ศิลปะของคนต่างวัยที่สร้างสีสันและความครึกครื้นให้หัวตะเข้ ทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วยสีสดใสของหางว่าวและเสียงหัวเราะของเด็กๆ ผู้เป็นนักเล่นว่าวใบไม้
เมื่อว่าวไม่ได้เป็นแค่ของเล่น แต่ยังเป็นศิลปะที่ทำให้คนต่างวัยสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้ เซียนว่าววัย ๖๓ จึงสร้างว่าวเพื่อเติมเต็ม “หัวตะเข้” เช่นเดียวกับหัวตะเข้ที่เติมเต็มหัวใจเขา ประทับใจกับเส้นทางต่างเติมเต็มต่อได้ ที่นี่
เพราะคุณค่าของศิลปะไม่ได้มีแค่ความงดงามเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีพลังความสามารถหลายอย่างที่เราคาดไม่ได้ จนกว่าคุณจะเดินช้าลงและใส่ใจให้มากขึ้นที่ “หัวตะเข้” แล้วคุณจะรู้ว่าศิลปะมีมากกว่าที่คิด เพราะชีวิตคืองานศิลป์ของคุณ