ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ
การระเบิดเพื่อลดขนาดโขดหินใต้น้ำ บริเวณแก่งตังซาลัม ตามแนวพรมแดนจีน-พม่า และพม่า-ลาว เมื่อช่วงปี ๒๕๔๓ (ภาพ : รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง)
“…พร้อมทั้งได้แจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว และการดำเนินการต้องสิ้นสุดลงโดยจะไม่มีการดำเนินการใดๆ เว้นแต่จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางทางการทูต…”
รายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น “โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง” กระทรวงคมนาคมนำเสนอและขอความเห็นชอบยุติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือ “โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง”
มติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงคมนาคมนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น (Preliminary Work) โครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.๒๕๔๓
โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำล้านช้างหรือ “หลานชางเจียง” เป็นชื่อเรียกแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน) เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๓ หรือราวยี่สิบปีก่อน ณ เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ตัวแทนรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หวังเปิดเส้นทางเดินเรือจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ใกล้ชายแดนจีน-พม่า ลงมาถึงท่าเรือหลวงพระบาง ประเทศลาว ระยะทางประมาณ ๖๓๑ กิโลเมตร นำมาสู่โครงการสำรวจร่องน้ำและระเบิดแก่งที่คาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินพาณิชย์ เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถแล่นขึ้นลงลำน้ำได้ตลอดทั้งปี
แม้ผลการสำรวจความเหมาะสมเบื้องต้นของผู้ผลักดันโครงการนำโดยประเทศจีนจะสรุปว่าการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงไม่ทำให้ปริมาณน้ำ กระแสน้ำ หรือแม้แต่ท้องน้ำเปลี่ยนแปลง ไม่มีผลกระทบต่อเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทย-ลาว แต่โครงการนี้ถูกทักท้วงอย่างกว้างขวางจากกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นในประเทศไทย นำโดยกลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย ตลอดจนชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงในจังหวัดต่างๆ อาทิ กลุ่มเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง
ปลายเดือนเมษายน ๒๕๔๕ การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ระยะที่ ๑ เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนจีน-พม่า ตามด้วยพรมแดนพม่า-ลาว ก่อนที่จะมาติดขัดบริเวณ “คอนผีหลง” พรมแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หลังจากกลุ่มอนุรักษ์ ผู้ที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำโขงได้ออกมารวมตัวกันคัดค้านด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ แก่งในแม่น้ำโขงเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ มีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน การระเบิดแก่งหนึ่งจะส่งผลกระทบถึงแก่งอื่น ต่อเนื่องถึงผา แจ๋ม คก ร้อง ดอน หาด ฯลฯ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ตลอดจนกระทบพืชพรรณและสัตว์น้ำ
ระบบนิเวศต่างๆ ข้างต้นมีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดเครื่องมือหาปลาของชาวบ้าน
นอกจากนี้ยังมีการพูดกันถึงเส้นพรมแดนไทย-ลาวกลางแม่น้ำที่อาจจะเปลี่ยนแปลงขอบเขตจากการระเบิดแก่ง ในปีเดียวกันคณะรัฐมนตรีของไทยจึงมีมติชะลอการระเบิดแก่งบริเวณคอนผีหลง
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แถลงว่าจีนจะยังไม่เดินหน้าระเบิดแก่งในส่วนโครงการระยะที่ ๒ และ ๓
หลังจากนั้นโครงการระเบิดแก่งโขงก็เงียบหายไปนานกว่าสิบปี
สัญญาณการเริ่มต้นครั้งใหม่ดังขึ้นอีกทีเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่าจีนจะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาช่องทางขนส่งหลักในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงอีกครั้ง โดยขุดลอกแม่น้ำโขงเพื่อเปิดทางให้เรือขนาด ๕๐๐ ตันแล่นผ่านได้
ผลการจัดประชุม ณ เมืองจิงหง สิบสองปันนา ประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ นำมาสู่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๒๕ แม้เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง องค์กรอนุรักษ์องค์กรภาคประชาสังคมกว่า ๖๐ องค์กร จะแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีแต่ก็ไม่เป็นผล
ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ เรือสำรวจจากจีน ๓ ลำ ได้แก่ เรือเจียฟู่ ๓ เรือชวีตง ๙ และเรือเซิ่นไท้ ๑๙๘ ออกสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว แยกสำรวจด้านธรณีวิทยา ชลศาสตร์ และวิศวกรรม รวมทั้งส่งเรือยนต์เล็กหลายลำกระจายตัวสำรวจ ขุดเจาะ เก็บข้อมูลก้อนหินในแม่น้ำ มีการจ้างเอกชนจัดทำแผนปฏิบัติงานสำรวจและเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ดร.ตวงสรวง สกุลกลจักร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจิเนียร์ริ่ง แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด ให้ข้อมูลในช่วงนั้นว่า “บทบาทของบริษัททีมฯ เราได้รับการว่าจ้างจาก CCCC Second Habor Consultant ของจีนให้เก็บข้อมูลพื้นฐาน และจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน เราทำหน้าที่คล้ายผู้สื่อสารข้อความระหว่างชุมชนถึงบริษัทจีน ในส่วนการทำรายงาน EIA บริษัทจีนเป็นผู้รับผิดชอบ ทีมฯ ไม่ได้เป็นผู้ประเมินผลกระทบ หรือกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไข เราเป็นผู้ส่งต่อข้อมูล มองว่านี่เป็นประโยชน์ของชุมชน เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลสามารถนำข้อมูลนี้ไปเป็นส่วนในการตัดสินใจว่าเราควรดำเนินโครงการต่อหรือเห็นด้วยกับข้อตกลงสี่ประเทศหรือไม่ ส่วนการวิเคราะห์เมื่อรายงานเสร็จเป็นกระบวนการตัดสินใจของจีน เราจะไม่ก้าวล่วง”
ต่อมาวันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (JCCCN) ครั้งที่ ๑๗ ฝ่ายจีนได้เสนอรายงานผลการศึกษาการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว และการดำเนินการ
ต้องสิ้นสุดลงโดยจะไม่มีการดำเนินการใดๆ เว้นแต่จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางทางการทูต
เกือบ ๑ ปีต่อมา คือวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น (Preliminary Work) และยื่นขอความเห็นชอบยุติโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงต่อคณะรัฐมนตรีของประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบและมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สาระสำคัญจากที่ประชุมคือ
“ที่ผ่านมาประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้ร่วมดำเนินการภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นฯ มาโดยตลอด โดยมีการจ้างเอกชนจัดทำแผนปฏิบัติงานสำรวจและเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Impact Assessment: ESIA) และได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน ๔ ประเทศ (Joint Working Group) เพื่อพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การสำรวจภาคสนาม การสำรวจทางธรณี การสำรวจทางอุทกศาสตร์ การนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Model Test) เพื่อมาใช้ในการออกแบบร่องน้ำและศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำ รวมทั้งการกัดเซาะตลิ่ง เพื่อนำไปสู่การออกแบบร่องน้ำทางเดินเรือให้มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อเขตแดนทางน้ำระหว่างไทยและ สปป.ลาว
“ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ JCCCN ครั้งที่ ๑๗ เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ฝ่ายจีนได้เสนอรายงานผลการศึกษาการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้แจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วและการดำเนินการต้องสิ้นสุดลงโดยจะมีไม่การดำเนินการใด เว้นแต่จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางการทูต ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๔๘ เมื่อวันที่ ๒๔-๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ณ เมือง Vung Tau สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าประเทศสมาชิก (ไทย กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม) ได้รับทราบว่าการดำเนินงานในส่วนของ ESIA ภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ได้สิ้นสุดแล้ว”
นำมาสู่บทสรุปของคณะรัฐมนตรีอ้างอิงตามเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๒ ประการ
๑. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น (Preliminary Work) โครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยการดำเนินงานเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวเป็นขั้นตอนการศึกษา สำรวจ และออกแบบแนวทางการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำโขงระหว่างชายแดนประเทศจีน-เมียนมา ถึงนครหลวงพระบาง สปป.ลาว ระยะทางประมาณ ๖๓๑ กิโลเมตร เพื่อรองรับเรือขนาด ๕๐๐ ตันกรอส (DWT) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก ASEAN-China Maritime Cooperation Fund โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ๓๖๕ วัน เริ่มจากเดือนเมษายน ๒๕๕๙-เมษายน ๒๕๖๐ ซึ่งต่อมาฝ่ายจีนแจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว การดำเนินการต้องสิ้นสุดลงโดยจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ
๒. เห็นชอบยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. ๒๕๔๓
ถือเป็นจุดสิ้นสุดมหากาพย์โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่กินเวลายาวนานร่วม ๒๐ ปี นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๓-๒๕๖๓ ตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย