เรื่องและภาพ : ทีมอาสาปันสุข ค่ายนักเล่าความสุข
ออกจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ทางออกที่ 1 ฉันกับเพื่อนเดินไปทางสี่แยกเลี้ยวซ้ายใกล้ถึงป้ายรถเมล์ เราเรียกรถแท็กซี่และบอกจุดหมายปลายทาง
“ไปมูลนิธิดวงประทีปชุมชนคลองเตยครับ”
“ผมไม่รู้ทางบอกผมด้วยนะครับ” จากนั้นคนขับก็พูดภาษาอังกฤษ เหมือนบทสนทนาที่เขาคุยกับชาวต่างชาติจับใจความได้ว่า ชาวต่างชาติชวนไปทำงานที่นาซ่า เราสองคนมองหน้ากัน นั่งฟังกันนิ่งๆ
เพื่อนดูกูเกิลแผนที่และบอกทางจนถึงหน้าปากซอยชุมชนล็อก 4-5-6 เรารีบลงจากรถเดินกึ่งวิ่งเข้าซอย ถามทางไปเรื่อยจนถึงหน้ามูลนิธิดวงประทีป ฉันกับเพื่อนรีบสอบถามไปห้องประชุมที่ธนาคารจิตอาสามาทำกิจกรรม “เยี่ยมบ้านชุมชนแออัด (สลัม) คลองเตย”
ถึงห้องประชุม ครูตุ้งกำลังบรรยายอยู่หน้าห้อง บนกระดานไวท์บอร์ดเขียนว่า “จิตอาสา”+“นักสำรวจ” ครูตุ้งอธิบายว่าวันนี้เราเข้ามาสำรวจความเป็นจริงในชุมชนแออัด (สลัม) คลองเตย ด้วยการนำพลังงานในตัวเอง และสิ่งของที่เตรียมมาไปเยี่ยมบ้านที่มูลนิธิดวงประทีปเลือกไว้ให้เรา
ครูตุ้งให้พวกเราแบ่งกลุ่ม 5 กลุ่มๆ ละ 3-4 คน กลุ่มของฉันและเพื่อนอีก 3 คน มีพี่อ้อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เป็นผู้นำทาง
…………………..
ก่อนจะไปทำกิจกรรมผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีปแนะนำให้พวกเรารู้จักชุมชนแออัด (สลัม) คลองเตยว่ามีทั้งหมด 43 ชุมชน แบ่งเป็นชุมชนนอกเขตท่าเรือ 17 ชุมชน และชุมชนในเขตการท่าเรือ 26 ชุมชน เป็นชุมชนเดิม 18 ชุมชน ชุมพัฒนาแล้วในพื้นราบ 3 ชุมชน ชุมพัฒนาแล้วเป็นแฟลต 4 ชุมชน ชุมชนตลาดท่าเรือคลองเตย 1 ชุมชน
จุดเริ่มต้นของชุมชนแออัดเกิดจากเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดดำเนินการในปี 2490 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องการแรงงานขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก มีเกษตรกรยากจน โดยเฉพาะจากภาคอีสานอพยพเข้ามาหาขายแรงงานในกรุงเทพฯ ปลูกบ้านบนที่ดินว่างเปล่าของการท่าเรือฯ เพราะใกล้แหล่งงานโดยเอาเศษวัสดุที่หาได้ เช่น ลังสินค้ามาใช้ปลูกบ้าน
ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากอดีต คือบ้านที่อยู่ไม่มีทะเบียนบ้าน จึงไม่สามารถขอน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ได้ กลุ่มคนรุ่นที่สองไม่มีใบเกิดและหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ เด็กในชุมชนแออัดในยุคนั้น ไม่สามารถเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐ
ชาวบ้านยังมีปัญหารายได้ไม่พอเพียง ต้องขายแรงงานราคาถูก ความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่คนทั่วไปอยู่ คนเหล่านี้เป็นฐานชั้นล่างสุดแต่เป็นกำลังสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของคนชั้นกลางในเมือง พวกเขาเป็นคนผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ และอาหาร ขายแรงงานราคาถูก แม่บ้าน คนกวาดขยะ เก็บขยะ และอีกหลายอาชีพ ซึ่งคนชั้นกลางชั้นสูงไม่ทำ แต่ได้ใช้ประโยชน์
ปัญหาอบายมุข ชาวบ้านรายได้น้อยมากจึงฝากความหวังไว้กับหวย หรือการพนัน และไม่อาจหาความสุขที่คนชั้นกลางหาได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปกินอาหารนอกบ้าน ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว เพราะต้องใช้เงิน
ความสุขที่หาซื้อได้ง่ายราคาถูก คือเหล้าและยาเสพติด
มาส่งความสุข
คำแนะนำของผู้จัดการมูลนิธิฯ บอกว่า เวลาเดินลงพื้นที่ในชุมชน ให้เดินเป็นกลุ่มร่วมกับผู้นำทางที่เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ทั้งไปและกลับ
ถึงเวลาไปบ้านน้องวิว นักเรียนของมูลนิธิฯ เราเดินตามพี่อ้อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ไปทางชุมชนล็อก 6 เข้าไปตามตรอกเล็กๆ ที่มีบ้านปลูกติดๆ กัน ทั้งสองฝั่ง
พี่อ้อพาเรามาหยุดที่บ้านหลังสีเขียว มีผู้หญิงร่างเล็กดูผายผอมออกมาต้อนรับ เรายกมือไหว้ทักทาย
พี่อ้อเรียกเธอว่าแม่น้องวิว และบอกเธอว่า เราเป็นจิตอาสามาเยี่ยมให้กำลังใจ
แม่น้องวิวชวนเราห้าคนเข้าไปนั่งในบ้าน ฉันมองเข้าไปเห็นมีผู้หญิงนอนอยู่ ประกอบกับภายในบ้านคับแคบและพื้นบ้านปูด้วยไม้อัด ฉันจึงบอกทุกคนว่าเรานั่งคุยกันหน้าบ้านสะดวกกว่า
แม่น้องวิวนั่งหน้าบ้านเธอ พวกเรานั่งตรงข้ามแต่เป็นหน้าบ้านของคนอื่น
เธอบอกพวกเราว่าวันนี้วิวไม่อยู่นะไปช่วยทำกิจกรรมที่มูลนิธิฯ
พี่อ้อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ แนะนำน้องวิวว่าเป็นนักเรียนของมูลนิธิดวงประทีป มีความฝันอยากจะเรียนต่อด้านสังคมสงเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น แต่ด้วยครอบครัวยากไร้ ทางมูลนิธิฯ กำลังหาทางช่วยเหลืออยู่
แม่น้องวิวนั่งกุมมือและก้มหน้า เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า เธอเกิดและเติบโตที่นี่ อาศัยอยู่บ้านหลังนี้ที่เป็นบ้านของน้องสาว เธอลำบากเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์ 7 เดือน เธอสุขภาพไม่แข็งแรงป่วยเป็นโรคปอด
ตอนนี้งานที่เธอทำเลี้ยงชีพ คือการรับจ้างซักรีดเสื้อผ้าด้วยเครื่องซักผ้า น้องวิวมีหน้าที่รีด แต่ขนาดใช้เครื่องซักผ้าแล้วการซักผ้าแต่ละครั้งก็ยังเหนื่อยมาก อาชีพซักผ้ามีรายได้ไม่แน่นอน บางวันก็ไม่ได้เลย
ลูกค้าของเธอส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นชาวกัมพูชาที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนและออกไปทำงานรับจ้างภายนอกชุมชน
เธอได้ค่าซักผ้าตัวละ 5 บาท
พอเราถามถึงน้องวิว เธอเงยหน้าพร้อมกับเล่าด้วยความภูมิใจที่ลูกสาวของเธอจบ ม. 6 จากการดิ้นรนเลี้ยงลูกมาถึงวันนี้
ฉันเห็นแววตาและรอยยิ้มของเธอ
ฉันเปิดกระเป๋าเป้หยิบกระเป๋าผ้าสีขาวเพ้นท์ลายดอกไม้สีโทนน้ำเงินฟ้าห้าดอกอยู่ในช่อเดียวกัน มอบให้แม่น้องวิว
เธอรับกระเป๋าผ้า สายตามองลายดอกไม้
“สวยจัง ใครวาด”
“ลุงชิต คุณพ่อเพื่อนวาดมาให้คะ เป็นกำลังใจให้นะคะ เวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลนำไปใส่ยากลับบ้านนะ”
“อาทิตย์หน้าหมอนัดพอดีเลย ขอบคุณนะ”
กลุ่มเราเดินกลับมาที่มูลนิธิดวงประทีปฯ ตลอดทางบรรยากาศภายในชุมชนเหมือนอยู่อำเภอเล็กๆ ต่างจังหวัด มีร้านขายของชำหน้าบ้าน มีรถเข็นขายของเป็นช่วงๆ มีการทักทายกันอย่างคนคุ้นเคย
ฉันแยกทางจากพี่อ้อ นั่งรถวินมอเตอร์ไซด์ที่ขับรถอย่างน่าตื่นเต้น จนฉันต้องเก็บเข่าเก็บขาสุดชีวิตมาถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วยความปลอดภัย
ฉันนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไปยังจุดหมายปลายทางสถานีสะพานพระนั่งเกล้า และเดินทางต่อด้วยรถมาสด้ารถรับจ้างท่าน้ำนนท์ ตลาดสนามบินน้ำกลับบ้าน
เก็บของและเตรียมอุปกรณ์ไปเยี่ยมบ้านลุงชิตที่ห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร
มาส่งคำขอบคุณ
ลูกสาวลุงชิตเดินมาเปิดประตูรั้วบ้าน
ลุงชิตวัย 72 ปี อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจนั่งบนเก้าอี้หนัง กำลังวาดภาพสวนดอกไม้ มือขวาถือพู่กันด้วยมือที่นิ่ง ปลายพู่กันแต่งแต้มเกสรตัวเมียของดอกชบาสีแดง มือซ้ายถือจานสีมีสีแดง เขียว เหลือง ดำ
ลุงชิตเงยหน้าหันมายิ้มต้อนรับ เรากล่าวทักทาย และยกมือไหว้
ฉันเล่าให้ลุงชิตฟังว่าก่อนเที่ยงวันนี้ฉันไปเป็นจิตอาสาเยี่ยมบ้านชุมชนแออัด (สลัม) คลองเตย นำกระเป๋าผ้าที่ลุงชิตเพ้นท์ลายดอกไม้สีโทนน้ำเงินฟ้าไปมอบให้กับผู้หญิงคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคปอด เธอรับกระเป๋าผ้าลายดอกไม้ไปแล้วชมว่า สวยมาก และฝาก “ขอบคุณ” คนทำ
ลุงชิตยิ้มกว้างและพูดเขินๆ ว่าช่วงนี้เพ้นท์ภาพนี้อยู่ ทำมาเกือบเดือนแล้ว (ชี้ไปที่ภาพสวนดอกไม้) ยังไม่ได้เพ้นท์กระเป๋าผ้าเพิ่มให้ ลุงยังวางกระเป๋าผ้าไว้ที่เดิม (ชี้นิ้วเข้าไปในบ้าน)
ฉันเดินไปที่ภาพสวนดอกไม้ มือสัมผัสกระดาษที่ใช้วาดเบาๆ
ลุงชิตรีบบอกทันทีว่า
“ลองใช้กระดาษสาวาด อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร”
ประโยคนี้สร้างความประหลาดใจให้ฉันอย่างมาก
ฉันพบลุงชิตครั้งแรกในบทบาทจิตอาสามาช่วยเพ้นท์กระเป๋าผ้าใส่ยากลับบ้านที่ฉันร่วมกับเพื่อนจัดให้กับผู้สูงอายุเมื่อปีที่แล้ว
ผลงานเพ้นท์ของลุงชิตสวยมากในสายตาของฉัน ลุงชิตสะดวกนำกระเป๋าผ้ากลับมาเพ้นท์ที่บ้านครั้งละ 10 ใบ และฝากลูกสาวมาให้ฉันนำไปมอบให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล
สิ่งที่ฉันประหลาดใจในตัวลุงชิตคือความเป็นศิลปิน
“ลุงชิตทำงานศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่คะ และเริ่มต้นอย่างไร”
“ตอนเด็กๆ ลุงชอบงานศิลปะมากนะ เห็นโปสเตอร์หนังสมัยก่อนแล้วอยากวาดมาก แต่ไม่มีโอกาสทำ เกษียณอายุปีแรกไปเรียนวาดรูปสีบาติก วาดไปสักพักรู้สึกว่ามันง่ายไป เริ่มฝึกวาดรูปด้วยสีน้ำ สีอะคริลิกบนกระดาษวาดรูป กระดาษสา เสื้อ กระเป๋าผ้า คิดจะทำก็ทำ วางไว้ที่บ้านใครมาเห็นแล้วอยากได้ขอซื้อก็ขาย แต่ส่วนใหญ่จะวาดให้เป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ”
“วาดภาพบนกระดาษสายากไหมคะ”
“ไม่ยากนะ ถ้าเราควบคุมน้ำได้ สีไม่วิ่ง เราวาดแบบสบายๆ เพลินๆ ได้ทั้งวัน”
ฉันมองภาพสวนดอกไม้ที่มีดอกไม้หลากหลายชนิดที่มีขนาด สีสัน แตกต่างกัน
ดอกชบา ดอกทานตะวัน ดอกกุหลาบ ดอกสร้อยไก่ ดอกเยอบีรา ดอกเบญจมาศ ดอกกล้วยไม้
บางชนิดมีประโยชน์ทุกส่วน บางชนิดมีสรรพคุณทางยา บางชนิดมีประโยชน์เพียงอย่างเดียว
ในภาพยังมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ไม้ปลูกบนพื้นดิน
ฉันเปรียบสวนดอกไม้ภาพนี้เป็นสังคมของเราที่มีคนหลากหลายฐานะความเป็นอยู่ สูง กลาง ต่ำ และคนที่มีหลากหลายโอกาส โอกาสที่ได้รับการศึกษาที่ดี ไปจนถึงไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา
……………
วันนี้ฉันทำสองอย่าง คือทำสิ่งที่ควรทำกับเพื่อนมนุษย์ และทำสิ่งที่พัฒนาตนเองและสังคม
คือเป็นเมสเซนเจอร์รับกระเป๋าผ้าที่เพ้นท์ภาพจากผู้สูงอายุ (ผู้ให้) ที่พัฒนางานศิลปะที่ตัวเองรักในวัยหลังเกษียณอย่างมีความสุข เป็นผู้มีโอกาสที่ดีทางสังคมไปส่งมอบให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ในชุมชนแออัด หรือสลัมคลองเตย ผู้ดิ้นรนต่อสู้มาทั้งชีวิต และรอความหวังจากความสำเร็จของลูกสาว
และนำคำขอบคุณจากผู้รับกลับมาส่งให้ผู้ให้เป็นการตอบแทน
ดัชนีชี้วัดภารกิจการเป็นเมสเซนเจอร์รับส่งความสุขสำเร็จ คือรอยยิ้มของแม่น้องวิว รอยยิ้มของลุงชิต และน้ำเสียง แววตาเปล่งประกายความสุขที่ส่งให้กับตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง