เรื่อง สุนันทา จันทร์หอม
ภาพ กิตติคุณ ขุนทอง

เส้น / ทาง / ราง / ชีวิต ก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี

ก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี สดๆ ใหม่ๆ ขายที่สถานีรถไฟราชบุรีแห่งเดียว

ก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี สดๆ ใหม่ๆ ขายที่สถานีรถไฟราชบุรีแห่งเดียว

Scene 1
ภายใน / รถไฟตู้ที่ ๗ ขบวนรถเร็วที่ ๑๗๑ (นครปฐม) /
บ่าย ๒ โมงครึ่ง

“ที่นี่สถานีนครปฐม ที่นี่สถานีนครปฐม ขบวนรถที่จอดเทียบชานชาลาที่ ๑ เป็นขบวนรถเร็วที่ ๑๗๑ รับส่งผู้โดยสารสถานีต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางสถานีสุไหงโก-ลก ผู้โดยสารกรุณาเก็บสัมภาระของท่านเข้าที่ให้เรียบร้อย…”

“ก๋วยเตี๋ยวราช-รีจ้า ก๋วยเตี๋ยวราช-รีเร้ววววว…”

แม่ค้าวัยเลยกลางคน รูปร่างผอมบาง ท่าทางคล่องแคล่ว เดินถือถาดใส่กล่องโฟมกว่า ๑๐ กล่อง ปากร้องตะโกนเรียกลูกค้าเสียงเจื้อยแจ้วแข่งกับประกาศของสถานีรถไฟ

ฉันสงสัยที่ยังไม่ถึงสถานีราชบุรี แต่มีก๋วยเตี๋ยวของราชบุรีขึ้นมาขายแล้ว ยกข้อมือขึ้นดูนาฬิกา เวลาล่วงเลยมามากแล้ว จึงตัดสินใจยกก๋วยเตี๋ยวกล่องละ ๑๐ บาทให้เป็นอาหารมื้อเที่ยง

แต่ทันทีที่เปิดกล่องโฟมก็ต้องแปลกใจ ในนั้นมีเพียงเส้นเล็กแห้ง ๆ สีซีด ลูกชิ้นปลาสองลูก มีไม้เสียบลูกชิ้นสองอันไว้ให้แทนตะเกียบ แต่สองข้างทาง ความวุ่นวายบนรถ และความหิว ช่วยให้ฉันลืมทุกความสงสัย ก่อนจะงีบหลับไปท่ามกลางเสียงฉึกฉักของรถไฟที่ยังมุ่งหน้าไป

ก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรีใช้ตะเกียบเหลาไม้และมีพนักงานของร้านเดินขายทั้งนอกและในตู้ขบวนรถไฟ

ก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรีใช้ตะเกียบเหลาไม้และมีพนักงานของร้านเดินขายทั้งนอกและในตู้ขบวนรถไฟ

Scene 2
ภายใน / รถไฟตู้ที่ ๗ ขบวนรถเร็วที่ ๑๗๑ (ราชบุรี) /
บ่าย ๔ โมง

“ที่นี่สถานีราชบุรี ที่นี่สถานีราชบุรี ขบวนรถที่จอดเทียบชานชาลาที่ ๑ เป็นขบวนรถเร็วที่ ๑๗๑ รับส่งผู้โดยสารสถานีต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางสถานีสุไหงโก-ลก…”

เสียงประกาศจากสถานีปลุกให้ฉันตื่นอีกครั้ง ยังไม่ทันจะลุกจากเบาะที่นั่งแข็งกระด้าง ฝนเม็ดใหญ่ก็ตกกระทบหลังคารถไฟถี่ยิบราวกับปรบมือต้อนรับการมาเยือน แล้วประโยคคุ้นหูก็ดังขึ้นอีกครั้ง

“ก๋วยเตี๋ยวปลาราช-รีจ้า ก๋วยเตี๋ยวปลาราช-รีร้อน ๆ ทำใหม่ ๆ จ้า…”

ฉันรีบสะพายกระเป๋าคู่ใจขึ้นบ่า ชะโงกมองลงมาจากหน้าต่างรถไฟ เห็นไอน้ำพวยพุ่งจากหม้อก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ห่างจากชานชาลาไม่มากนัก ฉันรีบลงรถไฟแล้วเดินตรงไปยังร้านก๋วยเตี๋ยวริมทางรถไฟร้านเดียวของสถานีแห่งนี้ ใช่แล้ว ! ที่นี่คือสถานีปลายทางของฉัน “ร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี”

Scene 3
ภายใน / ร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี /
บ่าย ๔ โมง ๕ นาที

“เข้ามาก่อนเลยจ้าเข้ามาก่อน…พี่เล็กได้กี่กล่อง ? ๑๙ นะ บอลเอ็งได้กี่กล่อง ?”

เสียงเจ้าของร้านตะโกนถามจำนวนก๋วยเตี๋ยวปลาที่ขายได้จากลูกจ้าง หนุ่มใหญ่ร่างท้วมใช้เวลาจดบันทึกข้อมูลการขายอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนเงยหน้าขึ้นมาเปิดประโยคสนทนากับฉัน

“ไปไงมาไงล่ะ กินเตี๋ยวก่อนสิ เดี๋ยวคุยกัน เฮ้ย ! เอาเตี๋ยวให้พี่เขาชามนึง”

เสียงห้วน ๆ แต่เจือความใจดีตะโกนบอกลูกจ้างอีกครั้ง ก่อนชายผิวขาววัย ๓๖ ปีจะเริ่มเล่าเรื่องราวของเขาให้ฉันฟัง

ร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรีตั้งอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟราชบุรีมา ๓๒ ปีแล้ว แต่สูตรก๋วยเตี๋ยวเริ่มขึ้นตั้งแต่รุ่นปู่คือ เทเวศน์ สว่างกุล อดีตพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเริ่มจากการทำก๋วยเตี๋ยวที่บ้านในจังหวัดนครปฐมแล้วมาเดินเร่ขายในสถานีรถไฟนครปฐม ช่วงแรกยังไม่ได้นำขึ้นไปเดินขายบนรถไฟ เนื่องจากทางการรถไฟฯ มีกฎระเบียบมาก พ่อค้าแม่ค้าจึงต้องหาบไปยืนรอขายตามหน้าต่างรถไฟแล้วให้ผู้โดยสารชะโงกหน้าออกมาซื้อเอง หลังจากนั้นราว ๆ ๔-๕ ปีจึงสามารถขึ้นไปขายบนรถไฟได้ กิจการส่งต่อมาถึงรุ่นพ่อ คือ เศกสรร สว่างกุล ซึ่งมาประมูลห้องเล็ก ๆ ริมทางรถไฟสถานีราชบุรีได้เมื่อปี ๒๕๒๘ แต่ปัจจุบันด้วยอายุที่มากขึ้นและปัญหาสุขภาพทำให้คุณพ่อจำเป็นต้องวางมือไป แต่มี โจ้-จักรพงศ์ สว่างกุล ลูกชายที่ลาออกจากการรถไฟฯ มาดูแลและสานต่อกิจการของครอบครัว ปัจจุบันเขาบริหารร้านนี้มาเป็นปีที่ ๕ แล้ว

“เคยมีเพื่อนชวนไปนอนที่อื่น เรานอนไม่หลับนะ เราผูกพันกับรถไฟมาก มันบอกไม่ถูก ก๋วยเตี๋ยวก็เหมือนกัน อยู่กับมันมานาน เห็นลูกค้าบางคนกินมาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหมอเป็นตำรวจก็มี ก๋วยเตี๋ยวที่นี่กับรถไฟก็เลยผูกพันกัน แล้วอยากรู้ไหมว่าทำไมถึงยังขายได้” พี่โจ้ถาม

ฉันพยักหน้าด้วยความตื่นเต้น

“เดี๋ยวรอดู !”

เจ้าตัวหัวเราะ

Scene 4
ภายใน / โต๊ะพี่โจ้ ร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี /
บ่าย ๔ โมง ๑๐ นาที

“แต่ก่อนขายได้ ๓,๐๐๐ กล่องต่อวัน เดี๋ยวนี้ไม่ถึงพันกล่อง สมัยนั้นทำสายตัวแทบขาด”

ชายผู้รับหน้าที่เสาหลักของร้านเล่าให้ฉันฟังอย่างอารมณ์ดี แม้ใบหน้ายังสดใส ทว่าแววตาลึก ๆ กลับแฝงความกังวลบางอย่าง

พลันก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรีฉบับใส่จานใหญ่ ราคาจานละ ๓๐ บาท วางลงตรงหน้าฉัน กลิ่นหอมลอยมาแตะจมูก เส้นเล็กเรียวบางคลุกเครื่องปรุง น้ำมันเยิ้มหน่อย ๆ ลูกชิ้นปลาสีขาวนวลดูน่ากิน แถมด้วยสีสันของพริกป่นและถั่วป่น พี่โจ้พยักหน้าเชิญ

คำแรกที่คีบเข้าปากให้สัมผัสแตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวบนรถไฟที่นครปฐมมากเหลือเกิน เส้นเหนียวนุ่ม รสชาติอร่อย ลูกชิ้นปลาเนื้อหนึบหนับ ไม่คาว กินคู่กันแล้วอร่อยมาก

“แต่ก่อนน้ำมันลังหนึ่งแค่ ๑๐๐ กว่าบาท เส้นกิโลกรัมละ

๗ บาท ตอนนี้น้ำมันลังละ ๗๐๐ กว่าบาท เส้นขึ้นมากิโลละ ๓๐ บาท ค่าเช่าที่เฉลี่ยวันละเกือบ ๑๐๐๐ ทำมา ๓๐ กว่าปี ค่าเช่าขึ้นทุกปี ของทุกอย่างขึ้นราคา แต่พี่ยังขายราคาเดิม กล่องละ ๑๐ บาท พยุงกันอยู่แบบนี้”

เจ้าของร้านถอนใจเบา ๆ แต่ฉันสังเกตเห็น ขณะเดียวกันทุกรายละเอียดล้วนผ่านการคิดอย่างรอบคอบ แม้แต่เรื่องของตะเกียบ

“คุณจำไว้เลยว่าที่นี่จะใช้ตะเกียบเหลามือเท่านั้น มีป้าคนหนึ่งอยู่แถวสถานีบ้านกล้วย เขาเหลาตะเกียบมาให้ร้านเราทั้งชีวิต พี่ก็ยังคิดว่าถ้าหมดป้าแล้วใครจะทำให้ เพราะถ้าไม่ใช้ตะเกียบเหลา คนจะยิ่งสับสนไปกันใหญ่”

เริ่มต้นจากลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กอย่างชำนาญ ใส่น้ำตาลผสมพริกป่นกับถั่วบดและเครื่องเคียงอื่น ๆ

Scene 5
ภายใน / ครัวด้านหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี / บ่าย ๔ โมง ๒๐ นาที

ทางด้านหน้าร้าน เคาน์เตอร์แบบบ้าน ๆ คือขอบเขตของครัวเล็ก ๆ แห่งนี้ กะละมังพลาสติก ถาดสเตนเลส ตะกร้อลวกเส้น รวมถึงเครื่องครัวและเครื่องปรุงอื่น ๆ วางไว้ระเกะระกะ ทันทีที่เปิดฝาหม้อ ไอร้อนก็ระอุพวยพุ่งเป็นควันสีขาวไปทั่ว หญิงสาวและไม่สาวหลายคนกำลังช่วยกันทำก๋วยเตี๋ยวอย่างขะมักเขม้น

หญิงวัยกลางคนแกะห่อเส้นก๋วยเตี๋ยวเทลงกะละมังที่มีน้ำอยู่เกือบเต็ม ทิ้งไว้ราว ๆ ๕ นาที ก่อนหยิบเส้นก๋วยเตี๋ยวใส่ตะกร้อ จุ่มลงไปในน้ำเดือดครั้งเดียวก็ยกขึ้น แล้วจึงใส่ถั่วงอกลงไปลวกพร้อมกันอีกครั้ง การแช่เส้นก่อนลวกทำให้ลวกง่าย สุกไวขึ้น และเหนียวนุ่ม จากนั้นก็ส่งต่อมายังคุณน้าฝ่ายปรุงเครื่อง หญิงเลยวัยกลางคนตักเครื่องปรุงที่เตรียมไว้แล้วอย่างละช้อน ทั้งเครื่องปรุงน้ำที่มีน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ น้ำส้มสายชู และพริกชี้ฟ้า ต้มผสมกัน กับเครื่องปรุงแห้งที่เป็นส่วนผสมของน้ำตาล พริกป่น และถั่วลิสงป่น คลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำมันพืชเล็กน้อยอย่างชำนาญแล้วจึงเทลงกล่องโฟม ก่อนส่งให้คุณป้าอีกคนเติมลูกชิ้นปลากลมและลูกชิ้นปลาเส้น โรยหน้าด้วยผักชี และจบลงเมื่อหญิงสาวคนสุดท้ายปิดฝากล่อง รัดหนังยางให้แน่น เหน็บตะเกียบไม้เข้ากับหนังยาง ก่อนจัดวางลงถาด

เป็นแบบนี้กล่องแล้วกล่องเล่า จนกว่าจะครบ ๑๐๐ กล่อง ซึ่งเพียงพอสำหรับขายบนรถไฟขบวนต่อไปที่จะเข้ามาจอดเทียบชานชาลา
“เราทำสด ๆ ใหม่ ๆ ร้อน ๆ บางคนไม่รู้เขาก็พูดว่าเราทำเป็นกะละมังแล้วหยิบใส่ แต่จริง ๆ แล้วเราทำทีละกล่อง ลวกกันกล่องต่อกล่อง ที่เรายังขายได้อยู่ทุกวันนี้พี่ว่าความซื่อสัตย์ของเรามีผล…” พี่โจ้สรุป

Scene 6
ภายนอก / ชานชาลาที่ ๑ สถานีรถไฟราชบุรี /
บ่าย ๔ โมง ๔๕ นาที

ฉันย่ำเท้าฝ่าสายฝนปรอย ๆ เดินตามป้าเล็ก-จารุณี เผือกขวัญยืน ตัวแม่ฝ่ายขายของร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี สาวเปรี้ยวผมบ๊อบอายุย่าง ๖๕ ปีคนนี้ยังคงถือก๋วยเตี๋ยวถาดละ ๒๖ กล่อง สองถาดสองมือได้อย่างสบาย ๆ พี่โจ้บอกว่าป้าเล็กเป็นคนเก่าคนแก่และขายเก่งมาก ขายวันหนึ่งได้ ๒๐๐-๓๐๐ กล่อง

“ฉันอยู่มาตั้งแต่โจ้ยังเล็ก โจ้เพิ่งหัดเดินเองมั้ง ตอนนั้นฉันยังสาว ๆ ก็เดินขายแบบนี้แหละ ปากก็ตะโกนบอกไป ใครจะกินเตรียมเงินไว้เลยจ้า รถจอดแป๊บเดียว แม่ค้าไม่ได้ติดรถไปด้วยนะจ๊ะ เขากลัวไม่ได้กิน เขาก็ รีบซื้อกันใหญ่”

สาว (เหลือ) น้อยพูดกับฉันแล้วหัวเราะ เผยให้เห็นฟันที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่ซี่ หากแต่ความสดใสกระฉับกระเฉงยังเต็มเปี่ยม

Scene 7
ภายใน / รถด่วนพิเศษขบวนที่ ๓๕ / ๕ โมงเย็น

“ที่นี่สถานีราชบุรี ที่นี่สถานีราชบุรี ขบวนรถที่จอดเทียบชานชาลาที่ ๑ เป็นขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๓๕ รับส่งผู้โดยสารสถานีต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางสถานีบัตเตอร์เวิร์ท…”

เสียงประกาศจากสถานีดังขึ้น เสียงป้าเล็กตะโกนขายแข่ง ตามมาด้วยเสียงขอบคุณครั้งแล้วครั้งเล่า

“เตี๋ยวปลารถไฟราช-รีจ้า เตี๋ยวปลารถไฟราช-รีเร้ววว… ขอบใจจ้า ขอบคุณนะจ๊ะ”

รถไฟตู้ที่ป้าเล็กขึ้นมีเด็กนักเรียนเต็มไปหมด ก๋วยเตี๋ยวกล่องละ ๑๐ บาทเป็นของที่เด็ก ๆ ควักเงินซื้อได้ไม่ยากนัก จึงรุมซื้อกันจนหมดภายในไม่กี่นาที ป้าเล็กรีบวิ่งลงมายกถาดใบใหม่ขึ้นไปขายอีกครั้ง ก่อนเสียงหวูดรถไฟจะดังขึ้น

ทีมขายคนอื่น ๆ วิ่งลงมาแล้วเดินไปแจ้งยอดที่ขายได้กับพี่โจ้ สาวใหญ่ร่างเล็กก็กระโดดตามลงมาจากขั้นบันไดของตู้รถไฟแบบไม่กลัวกระดูกกระเดี้ยวหัก ก่อนจะเดินไปหาพี่โจ้เช่นกัน

แม้ถาดที่ ๒ จะขายไม่หมดแต่ก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่กล่อง สมกับเป็นตัวแม่ฝ่ายขายในตำนานจริง ๆ

Scene 8
ภายนอก / ม้านั่งรอรถไฟสถานีราชบุรี / ๕ โมง ๑๐ นาที

“พี่ ๆ”

เสียงแตกหนุ่มเรียกฉัน

“เดี๋ยวพี่ขึ้นไปขายขบวนนำเที่ยวสวนสนฯ กับผมดิ สนุกนะ”

อาจเป็นเพราะไม่ค่อยเห็นเขาพูดบ่อยนัก ฉันจึงรับไมตรีที่เชื้อเชิญผ่านรอยยิ้มของ รุ่ง-รุ่งโรจน์ สว่างกุล ด้วยความยินดี

ตรงหน้าคือเด็กวัยรุ่นตัวสูงร่างผอมบาง น้องชายที่กำลังเรียนชั้น ปวช. ที่พี่โจ้พูดถึง ในมือของเขาถือถุงพลาสติกใบใหญ่ ภายในบรรจุก๋วยเตี๋ยวหลายสิบกล่อง ตามหลังด้วยคนอื่น ๆ ที่ช่วยหิ้วถุงมาสมทบ ทั้งหมดจำนวน ๑๕๐ กล่อง

“จริง ๆ บนรถไฟเขาสั่งมาแค่ ๓๐ กล่อง แต่พี่โจ้เขากลัวคนมาเยอะ เดี๋ยวไม่พอ เลยทำมาเพิ่มอีก ๑๒๐ กล่อง”

รุ่งอธิบายเมื่อเห็นฉันทำสีหน้าสงสัยขณะยืนรอที่ชานชาลา

ไม่นานนักเส้นผมของฉันก็ปลิวไปตามแรงลมที่อัดเข้าปะทะหน้าเมื่อรถไฟแล่นเข้าจอดเทียบ ล้อเหล็กยังไม่ทันหยุดสนิทรุ่งก็สะกิดฉัน

“ไปพี่ !”

Scene 9
ภายใน / ตู้ที่ ๓ ขบวนรถนำเที่ยวที่ ๙๑๒
สวนสนประดิพัทธ์ – กรุงเทพ / ๕ โมง ๑๒ นาที

“น้า นี่ของน้า ๓๐ กล่อง”

รุ่งบอกเจ้าหน้าที่บนรถไฟ พร้อมวางถุงก๋วยเตี๋ยวสามถุงลงบนเบาะที่ยังว่างอยู่

เขาบรรจงหยิบหวีอันเล็ก ๆ ในกระเป๋ากางเกงขึ้นมาจัดทรงผมสร้างความมั่นใจ ก่อนจะคว้าถุงก๋วยเตี๋ยวสองถุงแล้วออกเดินเร่ขายอย่างใจเย็น

“เตี๋ยวปลาราช-รีมั้ยครับ เตี๋ยวปลาราช-รีร้อน ๆ ครับ”

เขาแจกจ่ายรอยยิ้มให้ผู้โดยสารทุกคนอย่างไม่ลดละ แม้ว่าจะขายได้เพียงไม่กี่สิบกล่องเท่านั้น รุ่งเดินกลับมาหาฉัน เขาหายใจแรงด้วยความเหนื่อย แต่กระนั้นก็ยังหยิบหวีขึ้นมาหวีผมเหมือนเคย ฉันมองแล้วขำ
“เหลืออีก ๑๐๐ กล่องเองพี่ เดี๋ยวเราขายบนรถตอนกลับกัน !”

Scene 10
ภายใน / ร้านก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี /
ตี ๕ กับ ๔๕ นาที

อากาศเย็นชื้นเนื่องจากฝนตก เวลาเช้ามืดกับบรรยากาศเงียบสงบภายในสถานี บริเวณชานชาลามืดสลัว มีเพียงแสงไฟ

จากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หากแต่ห้าชีวิตที่ร้านก๋วยเตี๋ยวปลาแห่งนี้เริ่มต้นงานของวันนี้แล้ว

ตั้งแต่ตี ๕ ครึ่ง เส้นก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปลา ถั่วงอก ผักชี วัตถุดิบจากร้านค้าต่าง ๆ จะเริ่มทยอยมาส่ง พวกเขาก็จะเริ่มต้มน้ำ ต้มลูกชิ้นปลา ก่อนจะเตรียมลวกเส้นใส่กล่องขาย รถไฟเที่ยวแรกที่จะมาถึงสถานีราชบุรีคือขบวนรถด่วนที่ ๘๔ เส้นทางตรัง-กรุงเทพ ที่จะมาถึงประมาณ ๐๖.๐๘ น. ส่วนรถเที่ยวสุดท้ายที่จะนำก๋วยเตี๋ยวขึ้นไปขาย คือขบวนรถเร็วที่ ๑๗๓ กรุงเทพ-นครศรีธรรมราช เข้าเทียบชานชาลาประมาณ ๒๐.๐๖ น. เรียกได้ว่าขายกันตั้งแต่เช้าตรู่จดค่ำเลยทีเดียว

แม้ว่าพระอาทิตย์จะยังไม่โผล่ขึ้นขอบฟ้า แต่บรรยากาศหน้าเตาก็ร้อนระอุจนหลายคนต้องยกมือขึ้นปาดเหงื่อ หนึ่งในนั้นคือเด็กหนุ่มอายุ ๑๖ ปี เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับรุ่งที่เพิ่งมาหัดขายเมื่อช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา

พนักงานในร้านทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างขยันขันแข็ง ทำงานเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน

“พี่โจ้โพสต์ในเฟซบุ๊กหาคนมาช่วยขาย บอลก็เลยให้น้าพามา”

แม้ว่าตอนนี้เปิดเทอมแล้วบอลก็ยังมาช่วยขายตอนเย็นหลังเลิกเรียนและวันเสาร์-อาทิตย์ รายได้จากการขายก๋วยเตี๋ยวทำให้เขาสามารถจ่ายค่าเทอมและเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่

“บางวันผมใส่ชุดนักเรียนไปขาย ก็มีคนมาขอถ่ายรูป” บอลเล่ายิ้ม ๆ

ทุกคนที่ทำงานที่นี่จะได้ค่าตอบแทนจากเงินสองส่วน ส่วนหนึ่งคือค่าแรงที่พี่โจ้ให้ตามอายุและประสบการณ์ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากการขายกล่องละบาท ตอนแรก ๆ บอลขายได้แค่วันละประมาณ ๓๐ กล่อง แต่ตอนหลังขายเก่งขึ้นแล้วจึงได้เพิ่มเป็นวันละ ๗๐-๑๐๐ บาท ยิ่งหากเป็นช่วงปิดเทอมหรือเทศกาลวันหยุดยาวต่าง ๆ จะขายดีมากขึ้นอีก เมื่อถามถึงเทคนิคการขาย บอลอธิบายว่าไม่มีอะไรมาก แค่พูดให้เสียงดังขึ้นจนคนหันมาสนใจ

Scene 11
ภายใน / ม้านั่งในสถานีรถไฟราชบุรี / บ่าย ๓ โมง

ฉันฝ่าละอองฝนเดินตามหญิงสาวรุ่นผิวขาวผมยาวที่เพิ่งควักกระเป๋าจ่ายเงินให้กับน้องแม็ค ทีมงานขายอีกคนของพี่โจ้ แถมยังยอมเสียมารยาทแอบมองดูเธอกินอยู่ห่าง ๆ บนม้านั่งหินอ่อน ก๋วยเตี๋ยวสองกล่องกับน้ำอัดลมใส่น้ำแข็งอีกถุงท่ามกลางเสียงฝนตก ดูจะทำให้เธอมีความสุขไม่น้อย

เธอคงรู้สึกตัวว่ามีคนแอบมองอยู่ ดวงตาคู่นั้นส่งความสงสัยมาแทนคำถาม จนฉันอดเข้าไปคุยด้วยไม่ได้

“หนูกินมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ห่อละ ๕ บาท ตอนนั้นเป็นห่อกระดาษ เขาเพิ่งมาเปลี่ยนกล่องโฟมได้ประมาณ ๓-๔ ปีนี่เอง”

บังอร เย็นใจ วัย ๒๑ ปี เล่าให้ฉันฟังระหว่างรอรถไฟไปเพชรบุรี เธอเป็นคนราชบุรีโดยกำเนิด เดินทางด้วยรถไฟบ่อย ๆ และทุกครั้งเธอจะซื้อก๋วยเตี๋ยวติดไม้ติดมือขึ้นไปด้วยเสมอ

หรือแม้กระทั่งวันไหนที่ไม่ได้เดินทาง เธอก็ยังขี่รถมอเตอร์-ไซค์จากบ้านมาซื้อ

“ร้านก๋วยเตี๋ยวในราช-รีมีหลายเจ้านะ แต่หนูกินเจ้านี้บ่อยที่สุด ถูกด้วยอร่อยด้วย ๒๐ บาทนี่อยู่เลย”

Scene 12
ภายใน / รถไฟสปรินเตอร์ตู้ที่ ๒
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ ๔๐ / ๕ โมง ๓๓ นาที

เสียงหวูดรถไฟดังก้องทั่วบริเวณ ธงแดงในมือนายสถานีโบกสะบัด ฉันรีบยกมือไหว้อำลาน้ำใจของผู้คนที่นี่ ก่อนจะช่วยน้องบอลหอบหิ้วก๋วยเตี๋ยว ๑๑๐ กล่อง กระโจนขึ้นตู้โดยสารทันทีที่รถไฟจอดเทียบ
ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศทำให้ฉันรู้สึกสบายตัวขึ้นมาก ข้างนอกฝนตกโปรยปราย พี่โจ้และทีมงานยังคงชะเง้อมองพร้อมรอยยิ้มอำลา ฉันส่งยิ้มให้แทนคำขอบคุณ

หลังจากใช้เวลาที่นี่มาเกือบ ๒ วัน ฉันเห็นหลากหลายอารมณ์จากตัวละครที่นี่ มีทั้งสุข สนุก เศร้า โดยมีฉากหลังเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวริมทางรถไฟ เห็นสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของครอบครัวใหญ่ครอบครัวนี้ เห็นความอร่อยที่บอกเล่ากันมาปากต่อปาก และเห็นความใส่ใจกับก๋วยเตี๋ยวของคนทำ ทั้งหมดนี้ทำให้อาหารพื้น ๆ ราคาเพียงแค่ ๑๐ บาท กลายเป็นรสชาติที่มาจากใจชนิดที่จะหาก๋วยเตี๋ยวเจ้าไหนเทียบได้ยาก

ความสุขเล็ก ๆ หลังจากขายของเสร็จ หากก๋วยเตี๋ยวที่แบกมาขายดี

Scene 13
ภายนอก / สถานีรถไฟบางซื่อ / ๒ ทุ่ม ๑ นาที

ฉันลงรถไฟก่อนจะถึงสถานีปลายทางกรุงเทพฯ แบกความสุขกลับมาเต็มกระเป๋า การเดินทางของฉันใกล้จะสิ้นสุดลง

แต่ฉันเชื่อเหลือเกินว่าหนังชีวิตของพวกเขาจะยังฉายวนเวียนอยู่แบบนั้นเรื่อยไป

ระหว่างทางเดินไปขึ้นรถไฟฟ้ามหานคร เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ดังขึ้น เมื่อกดหน้าจอดูก็ทำให้ฉันยิ้มกว้าง

“คุณโจ้ จักรพงศ์ ก๋วยเตี๋ยวปลารถไฟราชบุรี accepted  your friend request.”

The End