เรื่อง : ทีมเมาเล่า ค่ายนักเล่าความสุข
๐๑
ไม่สุข
เดือนก่อน เธอและเขาถกปัญหาเรื่องความหมายของความสุข “อารมณ์” แบบหนึ่งที่ช่วงนี้หดหายไปอย่างไร้ร่องรอย
ใครกันนิยามความรู้สึกนี้ขึ้นมา เพราะมันยิ่งตอกย้ำความจริงในช่วงนี้ของทั้งคู่ว่าแทบ “ไม่มีความสุข” เลย
ประตูร้านเปิดออก ยังไม่ทันสิ้นเสียงกระดิ่งที่ห้อยอยู่บนราว กลิ่นหอมของกระดาษก็โชยมาผสานกับอากาศรอบบริเวณ
กลิ่นของหนังสือ กลิ่นของลมหายใจ ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนไอแดดในยามเช้าซึ่งเคยสัมผัส เมื่อครั้งที่ความหมายของความสุขยังไม่บรรจุไว้ในความจำเป็นของชีวิต
เธอและเขาถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปอยู่บนโลกอีกใบ ราวกับมีมนต์สะกดลอยอยู่ในอณูอากาศ ฉุดรั้ง “หนังสืออันเป็นที่รัก” ความสุขและความจำเป็นในชีวิตของเธอช่วงนี้
หนึ่งในไม่กี่ตัวเลือกที่ยังหลงไว้เป็นรอยทางให้เฝ้าตาม
หากจะให้คนไร้สุขทั้งสองบอกเล่าและเกลาเรื่องขึ้นมาให้ใครสักคนได้อ่าน
เธอและเขาก็ขอเล่าเรื่องราวของ “ร้านเล่า” ผ่านคำบอกเล่าของ “พี่จ๋า” กรองทอง สุดประเสริฐ ผู้ประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์ภายในร้าน
๐๒
ฝากเล่า
เขากับเธอขอเวลาเสาะหาความสุขในร้านเล็กๆ แห่งนี้ไปพลาง
ระหว่างฟังเรื่องเล่าของ “ร้านเล่า” จากคนที่น่าจะเล่าได้ดีที่สุด ผ่านความรู้สึกและความทรงจำ
ขณะที่เรื่องเล่ากำลังเล่าเรื่องผ่านน้ำเสียงอบอุ่นของพี่จ๋า รอยยิ้มบนใบหน้าของเธอก็ไม่เคยจางหายไปจากเส้นเรื่องเลย
ราวกับว่าความสุขได้ถูกเขียนเอาไว้ในทุกบททุกตอนตลอด ๒๐ ปี และความสุขจากเรื่องเล่าเหล่านั้นก็ขีดวาดรอยยิ้มบนใบหน้าของข้าพเจ้าที่กำลังดื่มเล่าอย่างตั้งอกตั้งใจไปพร้อมกันด้วย
พี่จ๋าพาเธอและเขาพลิกย้อนไปยังหน้าแรกของเรื่องเล่าในพุทธศักราช ๒๕๔๓
อรุณแรกเริ่มของ “ร้านเล่า”
ก่อร่างสร้างฝันขึ้นจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เชื่อว่าทุกสิ่งมีเรื่องเล่าในตัวเอง จึงอยากมีร้านหนังสือเป็นพื้นที่ส่งต่อแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าเหล่านั้น ทั้งในรูปแบบหนังสือ งานสร้างสรรค์ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ
“เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ตอนก่อตั้ง ‘ร้านเล่า’ ครั้งแรก มีทั้งหมดสี่คน พี่ๆ เขามองว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการศึกษา มีศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ ที่รุ่มรวย มันมีศักยภาพของมัน พวกเขาก็เลยคิดว่าอยากให้มีร้านหนังสือ นอกจากหนังสือแล้วก็ให้เป็นพื้นที่แห่งงานสร้างสรรค์ พื้นที่สำหรับการส่งเสริมการอ่าน”
๐๓
ร้านเล่า
การรวมกลุ่มของกัลยาณมิตรทั้งสี่คน คือ พี่จิ๋ว พี่เก็ต พี่ก้อย และพี่หนู ที่พบเจอกันขณะเล่าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผูกพันด้วยโลกของการทำกิจกรรม รวมทั้งมีความสนใจใกล้เคียงกัน ทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นครั้งแรกบนถนนนิมมานเหมินทร์ในยุคที่เชียงใหม่กำลังพัฒนา มีการขยายตัวของเมือง ด้านท่องเที่ยวเริ่มมีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ การพัฒนาเมืองในหลายด้านนี้เองทำให้ร้านค้า คาเฟ่ ร้านแฮนด์เมด และธุรกิจเปิดใหม่ทันสมัยผุดขึ้นมากมาย
หนึ่งในนั้นก็คือร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “ร้านเล่า”
หลังจากเปิดไปได้สักระยะก็เหลือผู้ก่อตั้งที่บริหาร “ร้านเล่า” อยู่เพียงคนเดียว คือพี่เก็ต โดยมีพี่จ๋ากับผู้จัดการอีกหนึ่งคนคือพี่แขก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสี่คนต่างเดินทางไปตามเส้นทางที่แตกต่างกัน ทว่า ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการเขียนเรื่องเล่าบทแรกของหนังสือเล่มนี้ด้วยกันทั้งสิ้น
การเดินทางไม่เคยหยุดนิ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งตลอดไป “ร้านเล่า” ก็เช่นกัน
จากปีแรกจนถึงปัจจุบันย้ายที่ตั้งมาแล้วสามครั้ง
พี่จ๋าเล่าว่าที่ตั้งแรกอยู่บนถนนนิมมานเหมินทร์ในช่วงปี ๒๕๔๓ ยุคที่ถนนนิมมานฯ ยังไม่เติบโตเทียบเท่ากับปัจจุบัน ก่อนย้ายไปยังบริเวณลานประเสริฐแลนด์อยู่ ๒-๓ ปี แล้วย้ายกลับมาถนนนิมมานฯ อีกครั้งในปี ๒๕๕๐ จนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว
“ยุคนี้พี่รู้สึกว่ามันก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง เป็นเรื่องของการปรับตัวให้เท่าทัน แล้วก็อาศัยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้เราปรับตัวได้อย่างมีสมดุล เพราะว่าหลังๆ การเข้าถึงหนังสือหรือการเข้าถึงอะไรต่างๆ ของลูกค้ามันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่ลูกค้าอาจซื้อหนังสือผ่านเฟซบุ๊ก อาจไม่มีคนกลางอย่างร้านค้า เขาสามารถสั่งซื้อจากสำนักพิมพ์ได้เลย สำนักพิมพ์สามารถลดได้ แต่ร้านค้ายังมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากสำนักพิมพ์ คือเราไม่สามารถลดราคาได้เท่าสำนักพิมพ์ เพราะต้องเอาเปอร์เซ็นต์ต่างๆ มาใช้บริหารจัดการร้าน”
๐๔
เศร้าปนสุข
“‘ร้านเล่า’ อยู่ได้เพราะแบบ…พูดแล้วพี่จะร้องไห้ คือพี่ก็จะรู้สึกขอบคุณลูกค้าตลอดเลยนะ…ถ้าเขาซื้อในเน็ตก็จะได้ลดราคาหน่อย แต่มีลูกค้าจำนวนมากที่มาเป็นกำลังใจให้เรา อย่างลูกค้าบางคนมาจากกรุงเทพฯ พี่ก็แบบ โอ้! ขอบคุณ มีลูกค้าจำนวนมากที่เข้าใจนะว่าเราอยู่รอดได้เพราะเปอร์เซ็นต์จากหนังสือ โชคดีที่เรามีลูกค้าเข้าใจ”
ความสุขที่ปนอยู่ในดวงตาปริ่มน้ำของพี่จ๋าเป็นเพราะได้รับกำลังใจจากผู้ซื้อ แม้กำลังใจและความสุขนั้นไม่อาจเขียนสรุปอย่างเป็นรูปธรรมในสมุดบัญชีรายได้ของร้าน แต่สิ่งนี้มีคุณค่าต่อการยืนหยัดอย่างเข้มแข็งของ “ร้านเล่า” เรียกได้ว่าเป็น “สิ่งสำคัญ” ถึงจะไม่มีรูปร่างปรากฏต่อสายตา ทว่ามีความหมายต่อหัวใจ
ทำให้เธอนึกถึงประโยคอมตะของหนังสือเจ้าชายน้อย ที่ว่า สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา
พอได้แบ่งและปันความสุข ความเศร้าร่วมกัน ความผูกพันที่มีให้ต่อ “ร้านเล่า” ของทั้งคู่ทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีก
คล้ายกับฟังเรื่องราวความเป็นมาของบ้าน ประวัติความทรงจำที่เสมือนหนึ่งได้ร่วมเผชิญด้วยกัน ทั้งที่จริงแล้ว “ร้านเล่า” ก็เพียงร้านค้าหนึ่ง ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ครอบครัว
และไม่ใช่เพื่อนอย่างที่ “มโน” ไว้ด้วยซ้ำ แต่ทำไมกันนะถึงผูกพันขนาดนี้
๐๕
เล็กๆ
เขาขยับเลือกมุมถ่ายรูป ส่วนเธอมองหาที่นั่งเพื่อพูดคุย ทั้งสองไม่ทันยุคร้านแรกและร้านที่สอง
“ร้านเล่า” แห่งนี้จึงเป็น “ร้านเล่า” แห่งเดียวที่อยู่ในความทรงจำ เป็นร้านเล็กๆ แค่เบี่ยงหรือขยับตัวก็อาจสะกิดหนังสือสักเล่มให้ตกจากชั้นได้
แต่ในความคับแคบนี้อัดแน่นความรู้สึกบางอย่างที่พวกเขาขาดหาย
ครั้งเป็นนักศึกษา ยามทุกข์หรือท้อใจ กลิ่นหนังสือจางๆ เหล่านี้เคยช่วยให้เธอและเขาข้ามผ่านช่วงเวลา “แปลกประหลาด” มาได้
“ร้านเล่า” ถือเป็นห้องหลบภัยและกล่องความสุขใบเล็กๆ
ที่กว้างสบายตา ที่แคบสบายใจ ด้วยอยู่ติดกับย่านเศรษฐกิจของหัวเมืองเหนือ ทุกคราวที่ก้าวพ้นกรอบประตูร้านเข้ามา ราวกับถูกตัดขาดจากความว้าวุ่นภายนอก
สายตาค่อยๆ ไล่ตามตามสันและปกหนังสือ หันหลังให้กับความกว้าง ความอ้างว้างหลังกระจกใส
ตัวตนของ “ร้านเล่า” เป็นเหมือนกับเพื่อนที่แสนอบอุ่น อยู่ด้วยคราใดก็รู้สึกสุขใจ ชวนให้ใครต่อใครเข้าไปในสวนอักษรด้วยท่าทีละมุนละไม กระซิบเราด้วยเสียงดนตรีเคล้าบรรยากาศ
ทั้งเธอและเขาไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมบุคลิกและตัวตนของ “ร้านเล่า” จึงอบอวลไปด้วยความสุขและความอบอุ่น เพราะร้านนี้ไม่กว้าง ไม่ใหญ่โต ไม่ครบ แต่ไม่ขาด
เหมือนบ้านที่ไม่ต้องมีทุกสิ่ง แต่พออยู่แล้วก็จะรู้ว่าแทบไม่ขาดอะไรเลย
๐๖
ผลัดกันเล่า
เขาเล่าว่าครั้งแรกที่เจอ “ร้านเล่า” เป็นสมัยที่ร้านฝั่งตรงข้ามยังอยู่ ร้านหนังสืออีกร้านที่หันหน้าทักทาย “ร้านเล่า” อยู่เป็นประจำ
แน่ว่าตอนที่อยู่ในร้านนั้น “ร้านเล่า” ก็หันมาทักทายเขาเช่นกัน
การสบตาเมื่อครานั้นคงเป็นจุดเริ่มต้นของการปลุกร่างสร้างความทรงจำ ไม่ได้มาซื้อเป็นประจำ แต่มาอยู่ มาฝังตัว มารับบรรยากาศบ่อยครั้ง จึงมีภาพจำของความสุขในร้านแคบร้านนี้มากกว่าที่ใด
ส่วนเธอเล่าว่า ทุกครั้งที่ไปถึง “ร้านเล่า” การเปิดประตูไม่ใช่หมุดหมายแรก เพราะหน้าร้านมีหลายมุมน่าสนใจ ตั้งแต่ชื่อร้านไปจนถึงการออกแบบร้านด้วยกระจกใสสวยงามสบายตา อีกทั้งคนภายนอกยังมองทะลุเข้าไปภายในร้านได้
สีของร้านฉาบทาด้วยสีแดงตุ่น บริเวณหน้าร้านมีเก้าอี้ไม้ให้นั่ง มีโปสต์การ์ดทำมือ มีหลายสิ่งทั้งจำเป็นและไม่จำเป็นสำหรับร้านหนังสือ แต่ด้วยบรรยากาศนั้นเองที่เรียกร้องให้เธอเข้าไปสัมผัสเหมือนกับการเปิดหนังสือ
ตัวเล่มและหน้าปกที่ได้รับการออกแบบจัดวางด้วยความใส่ใจ มักเรียกร้องให้เราใช้เวลาสัมผัสด้วยความใส่ใจเช่นกัน
จึงเป็นหนึ่งในไม่กี่จุดร่วมคำว่า “สุข” ที่เธอกับเขามี ไม่ใช่ความสุขที่อยู่คู่กันตลอดไป แต่เป็นสุขในยามที่เฝ้าคิดถึงและมีโอกาสพบหน้าเจอะเจอ ด้วยเธอต้องจากอุบลราชธานีเพื่อมารับปริญญา ส่วนเขาหลังเรียนจบแม้อยู่เชียงใหม่ก็ไม่ค่อยมีเวลาแบ่งให้กับห้องความสุขห้องนี้สักเท่าไรแล้ว
จากกันคราวนี้ ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเจอกันที่ “ร้านเล่า” อีกเมื่อไร
๐๗
หาก “ร้านเล่า” เป็นหนังสือ ตลอดการอ่านก็เต็มไปด้วยหลากความรู้สึกหลายอารมณ์
มีบางบททำให้ซึ้งใจ
บางบททำให้ตั้งคำถาม
บางบททำให้ยิ้ม
บางบททำให้หัวเราะ
และบางบทน้ำตาเดินทาง
แต่ความรู้สึกแสนสุขในใจผสมกับกลิ่นหอมหวนของกระดาษไม่เคยหายไปจากบทใดเลย
อีกกี่ปีกันนะที่จะได้กลับมาเยือนเชียงใหม่ และอีกนานแค่ไหนที่จะได้เจอ “ร้านเล่า”
เธอก้มมองหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งรับมาจาก “ร้านเล่า” สองมือสัมผัสหนังสือ บรรจงเลื่อนมือและสายตาไปตามส่วนต่างๆ ของหน้าปก สันหนังสือ จนถึงปกหลังด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจในความงดงามและประณีตของผู้จัดพิมพ์
กลิ่นกระดาษโปรยตัวออกมาทักทายเมื่อหน้าปกถูกเปิดขึ้น
เขาจ้องมองภาพใบหน้าเปี่ยมสุขของพี่จ๋า แผ่นหลังและความใคร่รู้ของนักอ่านในร้าน ความแออัดในความจุของร้านขนาดย่อม ในกรอบเฟรมแคบๆ
ภาพบรรยากาศของ “ร้านเล่า” ที่เล่ามา ถ้าเล่าแบบนี้จะเรียกว่าความสุขได้ไหม
ทีมเมาเล่า