เรื่องและภาพ : ทีม 700 KM ค่ายนักเล่าความสุข

“น้ำอบนางลอย” เครื่องหอมที่แต่งกลิ่นความสุขมานับร้อยปี

น้ำขุ่นสีเหลืองอำพันถูกบรรจุลงในขวดรูปทรงคุ้นตาเป็นเสน่ห์ของน้ำอบนางลอย

 

หากพูดถึงเครื่องหอมที่ส่งกลิ่นรัญจวนชวนสดชื่นที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมของคนไทยเนิ่นนาน “น้ำอบ” คงเป็นสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง

ด้วยคุณสมบัติความหอมและความสดชื่นที่มอบให้แก่ผู้ใช้ เราจึงพบเครื่องหอมชนิดนี้ได้ตามงานประเพณีและพิธีกรรมสำคัญ อาทิ การสรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

น้ำอบยังเคยเป็นเครื่องประทินผิวสตรีในราชสำนัก จนมักมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า สาวชาววังไปนั่งที่ไหนกลิ่นตัวมักหอมติดแผ่นกระดาน

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลิ่นของ “น้ำอบ” ติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

ความหลังของผู้เขียนหวนคืนกลับมาอีกครั้ง ณ โรงงานเครื่องหอมย่านฝั่งธนบุรี เมื่อได้สนทนากับ ดิษฐพงศ์ ธ. เชียงทอง ทายาทรุ่นที่ ๔ ของ “น้ำอบนางลอย” กิจการที่ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นอันมีเสน่ห์ตามแบบฉบับที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นกว่าร้อยปี

แรกเริ่ม คุณย่าเฮียง ธ. เชียงทอง ได้รับการถ่ายทอดวิธีปรุงมาจากเพื่อนในวัง ภายหลังได้ศึกษาและปรับปรุงสูตรเพิ่มเติม โดยนำกลิ่นหอมของดอกไม้และสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ มาผสมผสานกับหัวน้ำหอมของฝรั่งชาติตะวันตก สูตรลับน้ำอบนางลอยจึงเกิดขึ้นและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

น้ำอบนางลอยถือเป็นธุรกิจครอบครัว สืบทอดกิจการผ่านสายเลือดสกุล ‘ธ. เชียงทอง’ ถึงสี่รุ่น ผสานกำลังพนักงานเก่าแก่หลายสิบชีวิตผู้เป็นองคาพยพสำคัญ

กิจการน้ำอบนางลอยเป็นอุตสาหกรรมไร้เครื่องจักร กระบวนการผลิตทุกอย่างเกิดจากฝีมือแรงงานมนุษย์ผู้มากประสบการณ์

“เท่าที่จำความได้ ตอนเด็กๆ ซนมากแล้วชอบวิ่งเล่นกับพี่ๆ พนักงาน บางทีก็ชอบขโมยน้ำตาลทรายแดงที่เขาเอาไว้ผสมปรุงน้ำอบมากินอยู่บ่อยๆ แต่ก่อนพื้นที่โรงงานเราโล่งเนื่องจากกำลังการผลิตยังไม่มากเหมือนทุกวันนี้

“เวลาเขาทำงานกันเราก็ชอบมานั่งดู โตขึ้นมาหน่อยก็เหมือนลูกเจ้าของกิจการอื่นๆ ที่ต้องโดนพ่อแม่บังคับให้นั่งทำงาน บางทีนั่งปิดฝาจุกจนเบื่อ ยอมรับว่าตอนแรกๆ ก็ยังรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกผูกพัน มองเป็นแค่งานของบ้าน อาจเป็นเพราะเราเห็นทุกวันเลยชินและรู้สึกเฉยๆ กับมัน” ทายาทรุ่นที่ ๔ เอ่ยถึงความผูกพันในวัยเด็กของเขากับโรงงานน้ำอบด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้ม

ช่วงอายุแห่งการเรียนรู้ ดิษฐพงศ์ ชื่นชอบวิชาคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษและใฝ่ฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ ซึ่งเวลานั้นถือเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมและสังคมให้การยอมรับอย่างมาก แน่นอนว่าเขาประสบความสำเร็จได้เป็นโปรแกรมเมอร์ตามใจปรารถนา

ชีวิตการทำงานช่วงแรกดูลื่นไหลเนื่องจากได้ทำสิ่งที่ชอบ แต่พอนานเข้า ดิษฐพงศ์เริ่มมีมุมมองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อุปสรรคในการทำงานที่ทำให้เบื่อหน่าย จนกระทั่งส่งผลให้ตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาช่วยดูแลกิจการทางบ้าน

เริ่มเรียนรู้งานอย่างจริงจังผ่านการเป็นลูกมือของพ่อกับแม่

กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้ฝีมือของคนแทนการใช้เครื่องจักร

กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่ยังคงใช้ฝีมือของคนแทนการใช้เครื่องจักร

“พ่อแม่ไม่เคยถามว่าอยากเข้ามาช่วยไหม ไม่เคยบอกว่าต้องมาสืบทอดนะ เขาอยากให้เรามีความต้องการและทำด้วยใจรักจริงๆ ไม่ใช่ถูกบังคับเพราะเป็นกิจการที่สืบทอดกันมาในครอบครัว แต่เมื่อเราเริ่มสนใจและเข้ามาเรียนรู้ จึงพบว่าการทำน้ำอบไทยไม่ใช่แค่งาน แต่มีเรื่องของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“ยิ่งเราผูกพันกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก และได้เข้ามาสัมผัสจริงๆ ความรู้สึก ‘อิน’ ก็เพิ่มพูนเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็เข้าใจว่าคือความสุขที่เราได้ทำ”

เมื่อดิษฐพงศ์ก้าวขึ้นเป็นต้นหนการบริหารงานทั้งหมดต่อจากคุณพ่อ เขาคุมบังเหียนกิจการที่สืบต่อจากบรรพชนด้วยความใส่ใจและคงรูปแบบดั้งเดิมในรายละเอียดทุกขั้นตอน

เขามองว่าการที่น้ำอบนางลอยยังคงส่งกลิ่นหอมคู่คนไทยมาอย่างยาวนานถึงทุกวันนี้ คงเพราะความตั้งใจและรักในน้ำอบของผู้สืบทอดกิจการแต่ละรุ่นจริงๆ

ทายาทรุ่นที่ ๔ บอกว่า เมื่อมีใจรักการทำน้ำอบจึงบรรจุความสุขลงในทุกขวด และได้รับกำไรเป็นความสุขคืนกลับมา

ทว่าสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้เขาพบกับกำไรแห่งความสุขในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

“ข้อดีของการมีเฟซบุ๊กคือเราได้พูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น บางคนเล่าให้ฟังว่าตอนไปซื้อน้ำอบเเล้วเขาหวนรำลึกถึงคุณยาย พอรับรู้เรื่องราวแบบนี้ก็กลายเป็นความสุขของเราด้วย รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบความสุขผ่านกลิ่นที่คุ้นเคย นี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เรายังคงรักษากลิ่นอันเป็นเอกลักษณดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“เคยมีความคิดอยากพัฒนาน้ำอบเป็นผงให้ละลายน้ำเองได้ แต่ทำออกมาแล้วสีไม่ใช่นางลอย กลิ่นก็ผิดเพี้ยนจากเดิมเล็กน้อย เราจึงเลือกที่จะไม่ทำเพราะยังอยากรักษากลิ่นหอมดั้งเดิมนี้ต่อไป เรายังชอบความรู้สึกที่เป็นตัวแทนความคิดถึงของใครสักคน”

ดิษฐพงศ์ ธ. เชียงทอง ทายาทรุ่นที่ ๔ แห่งกิจการน้ำอบนางลอย

ดิษฐพงศ์ ธ. เชียงทอง ทายาทรุ่นที่ ๔ แห่งกิจการน้ำอบนางลอย

วิธีการอบควันเทียนแบบดั้งเดิมเป็นหนึ่งในสูตรลับน้ำอบนางลอย ฉบับแม่เฮียง

วิธีการอบควันเทียนแบบดั้งเดิมเป็นหนึ่งในสูตรลับน้ำอบนางลอย ฉบับแม่เฮียง

การอบส่วนผสมพิเศษต้องใช้ความร้อนสูงและสม่ำเสมอ พวกเขาเลือกใช้ภาชนะดินเผาเพราะเก็บความร้อนได้ดีกว่าภาชนะประเภทอื่นๆ

การอบส่วนผสมพิเศษต้องใช้ความร้อนสูงและสม่ำเสมอ พวกเขาเลือกใช้ภาชนะดินเผาเพราะเก็บความร้อนได้ดีกว่าภาชนะประเภทอื่นๆ

นอกจากกำไรแห่งความสุขที่เจ้าของกิจการได้รับผ่านโลกเสมือนจริงแล้ว ในโลกแห่งความจริงก็ยังคงได้รับเสมอมา

“อยากให้น้ำอบของเราอยู่คู่คนไทยตลอดเวลา เราชอบที่เป็นส่วนหนึ่งของความสุขในทุกเทศกาล มีครั้งหนึ่งที่น้ำอบนางลอยร่วมจัดกิจกรรมงานสงกรานต์และนำผลิตภัณฑ์น้ำอบไปวางขาย ต่อมามีเด็กประถมฯ ซื้อน้ำอบและดินสอพองของเราไปป้ายหน้าเพื่อน หลังจากนั้นสงครามปะแป้งสาดน้ำสงกรานต์ก็เริ่มขึ้นที่ด้านหน้าร้านเรา ทำให้เรามีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสนุกสนานเหล่านั้น”

ดิษฐพงศ์เชื่อว่าจุดเริ่มต้นของความสุขมักเกิดขึ้นจากครอบครัว การเข้ามาสานต่องานที่สืบทอดจากบรรพบุรุษจึงทำให้เขาได้ทบทวนความสุขใกล้ตัวที่มองข้ามมาตลอดจากความเคยชิน

แม้ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่จะไม่คุ้นชินกับภาพลักษณ์ของน้ำขุ่นสีเหลืองอำพันในฐานะเครื่องประทินผิวหรือเครื่องสำอาง และมักมีภาพจำในฐานะตัวแทนของพิธีกรรมทางความเชื่อและประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมา ทั้งงานมงคลและอวมงคล จนอาจมองน้ำอบในด้านลบ เพราะติดภาพจากละครหรือภาพยนตร์แนวสยองขวัญ แต่ก็ยังมีคนยุคเทคโนโลยีที่ให้ความสนใจเรื่องราวของน้ำอบในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรม

การบรรจุกลิ่นความสุขเพื่อส่งมอบให้ถึงมือผู้รับ

การบรรจุกลิ่นความสุขเพื่อส่งมอบให้ถึงมือผู้รับ

ดิษฐพงศ์มีความฝันว่า อนาคตอยากให้วงการน้ำอบไทยเกิดการรวมตัวเพื่อช่วยกันถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อไป

ดิษฐพงศ์มีความฝันว่า อนาคตอยากให้วงการน้ำอบไทยเกิดการรวมตัวเพื่อช่วยกันถ่ายทอดวัฒนธรรมต่อไป

“เวลามีนักศึกษามาถามถึงประวัติและวิธีการทำน้ำอบ ทำให้เราได้หวนคิดถึงความสุขวันวานที่เราผูกพันกับที่นี่ อย่างพี่ๆ พนักงานหลายคนก็เลี้ยงเรามา พวกเขาเปรียบเสมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน เหมือนกับน้ำอบที่เราได้กลิ่นทุกวันจนชิน แต่ถ้าวันไหนเราไม่ได้กลิ่นนี้อีกก็คงจะรู้สึกแปลกไปและไม่อบอุ่นเหมือนเดิมแน่นอน

“รู้สึกดีที่น้ำอบของเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้หวนคิดถึงความสัมพันธ์กับครอบครัว เหมือนทำให้เขาระลึกถึงความสุขของเขา และเราเองก็มีความสุขที่ทำให้คนอื่นมีความสุข”

เจ้าของกิจการน้ำอบนางลอยให้ผู้เขียนลองกรอกน้ำอบด้วยตนเอง ปิดฝาขวดด้วยจุก รวมถึงติดรูปนางฟ้าลอยอยู่บนก้อนเมฆ มือซ้ายถือขวดน้ำอบไทย อันเป็นเอกลักษณ์ของตราผลิตภัณฑ์น้ำอบนางลอยที่ยังคงใช้กาวแป้งเปียกแทนกาวเคมี

ระหว่างลงมือทำ ผู้เขียนนึกหวนรำลึกถึงความผูกพันที่เคยมีร่วมกับน้ำอบไทย

กลิ่นความสุขเหล่านี้ยังคงติดตรึงในความทรงจำ และจะคงอยู่เช่นนั้นตลอดไป