เรื่อง : อังคณา แก้ววรสูตร
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

เมื่อสมาชิกผู้สูงวัยได้จากไป ครอบครัวจะส่งคืนอุปกรณ์สิ่งของจำเป็นที่ยืมไป และบางครั้งยังบริจาคสิ่งของให้แก่ศูนย์ของ forOldy Project อีกด้วยในภาพ อรนุช เลิศกุลดิลก (ขวาสุด) ผู้ก่อตั้ง forOldy Project

ทุกครั้งที่คิดถึงความทรงจำครั้งเก่า ฉันจะเปิดอัลบัมภาพสมัยเด็กนั่งดูอดีตผ่านภาพถ่ายสีจาง หลายเรื่องราวเมื่อเยาว์วัยมีภาพชายสูงวัยสวมกางเกงขาก๊วยผ้าขาวม้าคาดเอวรวมอยู่ด้วย พ่อแม่ของฉันเป็นข้าราชการที่ต้องเข้างานก่อนเคารพธงชาติและเลิกงานย่ำเย็นทุกวัน พี่ชายที่เกิดก่อนฉัน ๓ ปีถูกส่งเข้าศูนย์เด็กเล็ก เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนชั้นอนุบาล เนื่องจากพ่อของฉันเป็นเขยที่แต่งเข้าบ้านภรรยา วัยเด็กของฉันจึงขลุกอยู่กับตาตลอดทั้งวันฉันมีช่วงเวลาที่หลากหลายร่วมกับปู่ ย่า ตา ยาย บางช่วงไม่ได้ถูกบันทึกเป็นภาพถ่าย หากแต่ทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในความทรงจำตลอดมาถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ฉันเพียงคนเดียวที่ผูกพันกับผู้สูงอายุในครอบครัว

forOldy Project มีสโลแกนว่า “สูงวัยอย่างสง่างาม เจ็บอย่างสบายจากไปอย่างสงบ”

เพื่อผู้สูงอายุ

“เราโตมากับอากง อาม่า จึงรู้สึกดีกับการอยู่ใกล้ผู้สูงอายุ เพราะได้ความรัก ความอบอุ่น และได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากท่านด้วย”

อรนุช เลิศกุลดิลก สตรีวัย ๕๕ ปี เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสคลุกคลีกับผู้สูงอายุตั้งแต่เด็ก เธอเกิดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อาศัยอยู่ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ที่มีคนทุกช่วงวัย หลากหลายความสัมพันธ์ตั้งแต่อากงอาม่าถึงรุ่นหลาน

อรนุชร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาโดยมีพ่อเป็นต้นแบบ พอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยราม-คำแหง จิตอาสามือสมัครเล่นตัดสินใจกระโจนจากน้ำแอ่งน้อยสู่แม่น้ำใหญ่ ทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว หลังสนุกกับการทำงานและเผชิญโลกหลายปีทางครอบครัวก็เรียกร้องให้เธอสอบเป็นข้าราชการ อรนุชยอมโอนอ่อนผ่อนตามและได้รับราชการที่การเคหะแห่งชาติ ช่วงเวลานั้นเองเธอมีโอกาสศึกษาดูงานด้านพัฒนาสังคมที่ประเทศญี่ปุ่น ๑ เดือน อาศัยอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่นและเห็นความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตดี ได้รับการดูแลอย่างรอบด้าน ใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอย่างเป็นสุข เธอจึงเกิดความตั้งใจว่าสักวันหนึ่งอยากจะทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเมืองไทย

แรงผลักดันอุดมการณ์ของอรนุชที่สำคัญที่สุดคือพ่อและแม่

“เคยรับปากกับพ่อไว้ว่าจะพาไปกินข้าวที่บางปูอีก แต่เราบ้างาน ไม่มีเวลาว่าง ไม่ทันได้พาพ่อไป ท่านก็เสียชีวิต”

ช่วงเวลานั้นอรนุชตัดสินใจเด็ดขาดว่าต้องลาออกจากงานเพื่อให้มีเวลาอยู่กับแม่ หลังออกจากงานใหม่ ๆ ความคิดที่จะทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุก็ชัดเจนขึ้น เธอผันตัวไปช่วยงานเพื่อสังคมกับองค์กรต่าง ๆ อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็เริ่มสะสมทุนทรัพย์และแสวงหาความรู้เพื่อกรุยทางสู่งานด้านผู้สูงอายุตามที่ตั้งใจไว้ กระทั่งปี ๒๕๕๖ แม่เริ่มป่วยมากขึ้น เธอจึงตัดสินใจเริ่มโครงการเพื่อผู้สูงอายุ “forOldy Project” อย่างจริงจัง

“อยากทำโครงการที่ได้ดูแลแม่ และได้ดูแลผู้สูงอายุคนอื่นด้วย”

อรนุชรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครได้ทั้งหมดหกชุมชน

“บางครอบครัวยังเก็บขวดขาย กินข้าววัด ผู้สูงอายุบางคนกินข้าววันละสองมื้อ ช่วงสายกับบ่ายแก่ ๆ เขายังลำบากกันมาก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ๖๐๐ บาท ไม่พอใช้จ่าย”

การดำเนินโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy Project ส่งเสริมการรวมกลุ่มและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนเมืองสามเขต หกชุมชน คือ เขตสาทร ได้แก่ ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสวนพลู เขตสายไหม ได้แก่ ชุมชนวัดลุ่มเจริญศรัทธา ชุมชนพูนทรัพย์ และเขตคันนายาว ได้แก่ ชุมชนนวมินทร์ ๘๘ มีผู้สูงอายุในโครงการจำนวน ๒๙๙ คน

โครงการมีสโลแกนว่า “สูงวัยอย่างสง่างาม เจ็บอย่างสบาย จากไปอย่างสงบ” ในรูปแบบสังคมที่เอื้ออาทรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อรนุชย้ำว่า “เรามั่นใจว่าผู้สูงอายุของเรามีความสุข”

forOldy Project ตั้งปณิธานสร้างสุขทั้งกายและใจให้แก่ผู้สูงวัย

การทำงานของโครงการ forOldy Project จะลงพื้นที่เยี่ยมเยือนผู้สูงอายุในชุมชน พูดคุยกับอาสาสมัคร เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือชุมชนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นไปอย่างใกล้ชิด

สูงวัยอย่างสง่างาม

ภาพหนึ่งถ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์กว่า ๑๐ ปีมาแล้ว แม้สีภาพจะซีดจาง แต่ยังสะท้อนสีหน้าแช่มชื่นของผู้ร่วมเหตุการณ์แจ่มชัดเสมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวานตาสวมกางเกงขาก๊วยผ้าขาวม้าคาดเอวเหมือนอย่างเคย นั่งบนเก้าอี้หน้าชานบ้านที่เป็นลานดินโล่ง ลูกหลานหลายสิบคนหิ้วถังใบย่อมและถือขันใบเล็กต่อแถวทยอยรดน้ำขอพรจากตา

ฉันจำได้เลือนราง วันนั้นตาชุ่มโชกด้วยน้ำจนหนาวสั่น แต่แววตาบ่งความสุข ผู้สูงอายุจะปรารถนาสิ่งใดเล่านอกจากความใส่ใจของคนในครอบครัว

“ตามสโลแกนสูงวัยอย่างสง่างาม เป็นการสร้างความสุขทางใจให้ผู้สูงอายุ โดยใส่ใจความเป็นอยู่และให้กำลังใจ”

forOldy Project ดำเนินการส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีอาสาสมัครดูแลถึงบ้าน อบรมให้ความรู้และจัดระบบการเยี่ยมเยียนช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชนเดียวกัน ปัจจุบันอาสาสมัคร ๒๗ คน เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ ๙๓ คน

โครงการจะสำรวจผู้สูงอายุเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพิง เช่น พิการ ตาบอดหรือมองเห็นเลือนราง อยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนไม่สะดวก มีปัญหารุมเร้า รู้สึกเป็นทุกข์ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ฯลฯ แล้วจัดอาสาสมัครไปดูแล ในลักษณะเพื่อนดูแลเพื่อน

“ทุก ๆ ชุมชนจะมีจิตอาสา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีน้ำใจ เขาสมัครใจดูแลผู้สูงอายุ”

อาสาสมัครมีอายุเท่าไรก็ได้ แม้แต่ตัวผู้สูงอายุเองก็เป็นอาสาสมัครได้ โครงการจัดอบรมให้ความรู้ เน้นเรื่องการให้กำลังใจ ดูแลสภาพแวดล้อม ช่วยสนับสนุนสิ่งที่ขาดแคลน โดยมีหลักการสำคัญคือแบ่งเบาภาระครอบครัว

“ให้เขารับผิดชอบครอบครัวเขาด้วย เราไม่ได้ทำหน้าที่แทน แต่ช่วยแบ่งเบาเท่านั้น”

หน้าที่ของอรนุชคือ สนับสนุนการทำงานของอาสาสมัคร ช่วยดำเนินการจัดหาสิ่งของที่ขาดแคลน ถ้าใครต้องการอะไร

ต้องดำเนินการผ่านระบบกลไกของโครงการเพื่อผู้สูงอายุคือผ่านอาสาสมัคร เพราะอาสาสมัครอยู่ในพื้นที่ รู้สภาพความเป็นจริง

“เราเป็นแค่ไปรษณีย์จัดหาสิ่งของไปให้ ส่วนคนมอบคืออาสาสมัครในแต่ละชุมชน”

อำพร คงวิชา วัย ๔๔ ปี อาศัยอยู่ในชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม เป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชนของตน แม้จะมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาสองข้างไม่เสมอกัน หากแต่ขวากหนามทางกายภาพไม่ใช่อุปสรรคของการเป็นจิตอาสา

อาสาสมัครผู้มีร่างกายพิเศษเล่าว่า ตนทำหน้าที่ช่วยประสานงานให้ผู้สูงอายุที่ขาดแคลนสิ่งต่าง ๆ เช่น แพมเพิร์ส และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังเข้าไปพูดคุย ให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษา ทั้งยังช่วยเป็นธุระจัดการเรื่องจิปาถะให้ เช่น พาไปหาหมอ อยู่เป็นเพื่อน ฯลฯ

“ภาระเราก็มี ทำงานอาสาก็เหนื่อยนะ แต่ไม่ท้อ เพราะเห็นคนที่ลำบากกว่า มันเป็นพลังช่วยเติมเต็มเราด้วย”

สีหน้าเมื่อยล้าเพราะภาระที่แบกรับ ทว่าแววตายังวาววับมีพลังอยู่เต็มเปี่ยม

งานอาสาสมัครไม่มีสิ่งใดตอบแทน นอกจากกำลังใจที่มอบให้กัน ดังนั้นคนกลุ่มนี้ถือเป็นผู้เสียสละที่แท้จริง นี่คือทัศนะของผู้ริเริ่ม forOldy Project

ยายทองหลาง อายุ ๗๘ ปี ผู้สูงอายุในโครงการที่ได้รับการดูแลจากอาสาสมัครในชุมชนพูนทรัพย์ เขตสายไหม เล่าว่า ลูกหลานเปิดร้านขายของไว้ แต่ตอนกลางวันไปทำงานกันหมด ยายจึงต้องช่วยเฝ้าร้าน

“ส่วนใหญ่มีคนมาคุยด้วยตลอด กลางวันที่ลูกหลานไม่อยู่ ฉันก็ไม่เหงา”

แม่เฒ่ายิ้มสดใสและยังแข็งแรง แววตาวาววับคงไม่ต่างจากครั้งเป็นสาว แม้เวลาล่วงมานานแล้ว

เจ็บอย่างสบาย

ตอนฉันอายุได้ ๙ เดือน ยายก็เสียชีวิตแล้ว สิ่งเดียวที่ช่วยยืนยันว่าเราเคยมีช่วงเวลาร่วมกัน คือ ภาพถ่ายสีจางที่เกือบเป็นสีขาวดำ ภาพหญิงชรานุ่งขาวห่มขาวโอบเด็กเล็กให้ยืนบนตัก มือเหี่ยวย่นกอบกุมมือเล็กประคองขันข้าว อีกมือจับทัพพีบรรจงตักข้าวใส่บาตร เป็นภาพถ่ายเดียวของฉันกับยาย

ภาพอีกใบหนึ่งบันทึกวินาทีที่พ่อพยุงยายนั่งในรถ ตอนนั้นฉันยังไม่เกิด ไม่รู้หรอกว่าพ่อพายายไปไหน แต่แม่เล่าให้ฟังภายหลังว่า แม่ตั้งใจซื้อรถยนต์ทันทีหลังจากเก็บเงินก้อนได้เพราะอยากให้ตายายเดินทางสะดวก พาไปโรงพยาบาลได้ทันท่วงที รถยนต์ Toyota รุ่น Hilux Mighty-X สีแดงสดจึงเป็นรถคันแรกที่ขับโลดแล่นกินฝุ่นแดงบนถนนลูกรังในหมู่บ้าน

ยายได้นั่งรถแดงของแม่ไม่กี่ปีท่านก็จากไปอย่างสงบ แม่นึกภูมิใจอยู่เสมอที่มีโอกาสอำนวยความสะดวกให้ยายในช่วงสุดท้ายของชีวิต

“ตามสโลแกนเจ็บอย่างสบาย เป็นการอำนวยความสะดวกสบายในด้านสุขภาพร่างกายให้แก่ผู้สูงอายุ”

forOldy Project ตั้งร้านคุณตาคุณยายโดยคำนึงว่า เมื่อสูงวัยและสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย อุปกรณ์เครื่องใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ทางโครงการจัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุและครอบครัวมีทางเลือก

การพาผู้สูงอายุไปทำกิจกรรมนอกชุมชนช่วยให้ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวได้ใช้เวลาว่างคลายความเบื่อหน่าย

ประหยัดเวลาจัดหา และได้สิ่งของที่ต้องการใช้อย่างรวดเร็ว โดยรับบริจาคสิ่งของที่มีความสมบูรณ์ไม่น้อยกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์มาปรับปรุงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานแล้วส่งต่อให้ผู้สูงอายุในโครงการเป็นหลัก

“เราอยู่ในสังคมที่เอื้ออาทรกัน เราเป็นคนกลางที่รับความปรารถนาดีจากคนอีกฝั่งหนึ่งที่พอมีกำลังซื้อมาให้คนที่มีกำลังซื้อน้อย”

กระบวนการแรกเริ่ม คือ รับบริจาคสิ่งของอันเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น รถเข็น เตียงผู้ป่วย ไม้เท้า เสาน้ำเกลือ ถังออกซิเจน เป็นต้น เมื่อเลิกใช้งานแล้วครอบครัวจะส่งต่อมาที่ร้านคุณตาคุณยาย ผู้บริจาคบางรายนำของมาส่งให้ถึงที่ แต่บางรายต้องการให้ทางร้านไปรับ อรนุชจึงตัดสินใจนำเงินบริจาคส่วนหนึ่งมาซื้อรถเก่าไว้ใช้ขนของทั้งจากการรับบริจาคและส่งต่อ

สิ่งของที่รับบริจาคมาแล้วจะนำมาปรับปรุง ซ่อมแซม และทำความสะอาดให้พร้อมใช้งาน จากนั้นให้บริการสามช่องทาง คือ เช่าระยะสั้น เช่าระยะยาว และขายในกรณีที่มีจำนวนมาก

การเช่าระยะสั้น เช่นกรณีเช่ารถเข็นนั่ง ๕ วันแรก วันละ ๒๐ บาท วันที่ ๖ เป็นต้นไป วันละ ๕๐ บาท มัดจำ ๓,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังมีให้เช่าเตียงผู้ป่วย เครื่องผลิตออกซิเจน ฯลฯ เมื่อคืนสิ่งของหรืออุปกรณ์ในสภาพเดิมจะได้รับเงินค่ามัดจำคืนเต็มจำนวน แต่หากเกิดความเสียหายก็ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือซื้อทดแทนตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อให้ดูแลรักษาสิ่งของร่วมกัน

ส่วนการเช่าระยะยาว เป็นสิทธิประโยชน์ให้เฉพาะสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุของโครงการเพื่อผู้สูงอายุ มีค่าเช่า/บำรุง ๕๐๐ บาท จนกว่าจะเลิกใช้และนำส่งคืนโครงการ และไม่มีค่ามัดจำ/ค่าประกัน เนื่องจากเป็นสมาชิกและมีอาสาสมัครติดตามดูแลผู้สูงอายุที่บ้านในชุมชนของโครงการ

“พออาสาสมัครแจ้งว่าใครต้องการอะไรเราก็จัดหาให้ ค่าบริการก็ให้อาสาสมัครเป็นคนประเมินสภาพความเป็นอยู่แต่ละครอบครัว ว่าสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้แค่ไหน

หากคนทั่วไปต้องการความช่วยเหลือ โครงการจะขอสอบถาม สัมภาษณ์ แล้วพิจารณาอีกครั้ง บางกรณีแนะนำให้ลองไปร้องขอจากหน่วยงานในพื้นที่ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด เนื่องจากการดำเนินการจัดส่งอุปกรณ์ไม่สะดวกนัก

“บางรายอยู่ต่างจังหวัด ขออุปกรณ์มา เราส่งไปให้ แต่เขาไม่ส่งเงินมาทั้งค่าส่ง ค่าของ”

แม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บางครั้งสิ่งของถูกส่งต่อจนไม่สามารถตามกลับคืนมา

“เราอยากให้คนไทยได้ใช้ของดี ๆ แบบที่ญี่ปุ่นนะ แต่คงต้องสร้างวินัยในการใช้บริการให้เข้มแข็งก่อน”

เพราะการดำเนินงานมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ จัดส่งสิ่งของ ฯลฯ อรนุชจึงปรับร้านคุณตาคุณยายให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคม มีรายได้พอเลี้ยงตนเอง

“หลักการของธุรกิจเพื่อสังคม คือ เราอยู่ได้ สังคมมีความสุข”

ความตั้งใจหนึ่งของผู้ก่อตั้งร้านคุณตาคุณยาย คือ ตั้งใจจะทำเป็นแฟรนไชส์หรือสาขา คาดหวังให้ธุรกิจเพื่อสังคมนี้ดำรงอย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยนำโมเดลนี้ไปใช้ในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันแฟรนไชส์ร้านคุณตาคุณยายไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป เพราะร้านคุณตาคุณยายสาขา ๒ กำลังจะเปิดที่เขตทุ่งครุ ด้วยความร่วมมือของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม Can Do Team ของเขตทุ่งครุ

“เขาทำทุ่งครุโมเดล อยากเห็นชีวิตคนเขตทุ่งครุมีความสุข ร้านคุณตาคุณยายก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขให้คนทุ่งครุ”

แววตาของอรนุชมีประกายแห่งความยินดี เพราะบนเส้นทางเพื่อผู้สูงอายุนี้เธอไม่ได้เดินเพียงลำพัง เมื่อมีผู้ร่วมอุดมการณ์เป็นเพื่อนร่วมทางไปถึงฝั่งฝัน

อุปกรณ์ที่ได้รับบริจาคอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ ก่อนจะนำมาซ่อมแซมและทำความสะอาดเพื่อเตรียมส่งให้สมาชิกที่ต้องการรายต่อไป

จากไปอย่างสงบ

ตาเสียชีวิตตอนฉันอายุ ๘ ขวบ อัลบัมภาพงานฌาปนกิจของตาในภาพหนึ่งมีขบวนยาวเหยียดตามความยาวของถนนในหมู่บ้าน รถราช่างขวักไขว่และผู้คนช่างมากมายเหลือเกิน

วันนั้นฉันร้องไห้ ขณะเดียวกันก็รู้สึกอิ่มเอมใจเมื่อระลึกได้ว่าตาของฉันเป็นที่รักของคนทั่วไป ลูกหลานจัดงานครั้งสุดท้ายให้ตาอย่างใหญ่โต จวบจนเสร็จพิธีผู้คนก็ยังรอส่งวิญญาณของตาสู่สุคติ

ฉันแฝงตัวอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่มองดูกลุ่มควันสีขาวลอยขึ้นจากปล่องไฟ ได้ยินบางคนจับกลุ่มคุยกันว่าถ้าควันไฟเป็นสีขาวแสดงว่าผู้ตายได้ขึ้นสวรรค์ ฉันไม่รู้หรอกว่าตาได้ขึ้นสวรรค์จริงหรือไม่ แต่ฉันแน่ใจว่าตาจากไปอย่างสงบแล้ว

“ตามสโลแกนจากไปอย่างสงบ เป็นการคลายความกังวลให้ผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมสู่วาระสุดท้ายของชีวิต”

forOldy Project เตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุมีความสุขใจก่อนจากไป โดยตั้งกองทุนอุ่นใจ เพื่อให้สมาชิกได้มอบเงินจำนวนหนึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของบุตรหลานหรือญาติมิตรในการจัดพิธีกรรมงานศพของตนเอง ผู้ที่จะเป็นสมาชิกกองทุนต้องมีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุน ๒๔๓ คนจากหกชุมชนในโครงการ

ผู้จัดตั้งกองทุนอุ่นใจเล่าว่า ได้แนวคิดนี้จากการไปดูงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ เขาเก็บเงินสมาชิกเป็นรายปีด้วยจำนวนเงินน้อย เมื่อจากไปก็จ่ายเงินช่วยเหลือให้ โดยผู้สูงอายุบริหารงานเองกองทุนอุ่นใจนำมาปรับใช้ตรงที่เก็บเงินน้อย แต่เก็บรายเดือน เดือนละ ๒๐ บาท

การเป็นสมาชิกกองทุนอุ่นใจจะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อน ๓-๖ เดือน เพราะไม่ต้องการให้คนสมัครแล้วหายไป อย่างน้อยต้องมาประชุมให้ได้รับรู้การดำเนินงานของกองทุน

“อยากให้สมาชิกมีโอกาสพบปะกันทุกเดือน อยากเห็นการเคลื่อนไหวในชุมชน ให้เขาได้ดูแลกัน จากที่ต่างคนต่างอยู่ เรามองว่าเงิน ๒๐ บาท ช่วยทำให้สมาชิกมีเรื่องคุยกัน”

อรนุชเล่าว่า เริ่มระดมทุนตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ โดยจัดทอดผ้าป่าสามัคคีหาทุนทรัพย์ในการก่อตั้ง “กองทุนอุ่นใจ” ครั้งนั้นได้ยอดเงินจำนวน ๑๓๒,๘๔๙ บาท เป็นทุนตั้งต้น

ประโยชน์ที่สมาชิกกองทุนอุ่นใจจะได้รับคือเงินค่าตอบแทนที่คำนวณจากอายุการเป็นสมาชิกตามเกณฑ์กำหนดแต่ละรุ่น

และในอนาคตจะมีการประชุมตัวแทนสมาชิกเพื่อพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มเติมตามที่มีสมาชิกเสนอมา เช่น พิจารณาเงินสมทบจากกองทุนเพิ่มเติม ช่วยเหลือค่าเดินทางไปหาหมอ ช่วยเหลือค่านอนรักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น

กองทุนอุ่นใจถือเป็นหลักประกันยามชราให้แก่สมาชิกได้เป็นอย่างดี

อาสาสมัครเดินเก็บค่าสมาชิกในแต่ละเดือนพร้อมพูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชนด้วยรอยยิ้ม

อยากให้สูงวัยสบายดี

“ผู้สูงอายุถึงภาวะที่ต้องได้รับการดูแล ไม่สามารถอยู่โดยอิสระได้”

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกไม่นานความต้องการของผู้สูงอายุและปัญหาทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจะเกินกว่ากำลังการให้บริการทางสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ยากจน
อรนุชเผยความตั้งใจว่า อยากให้โครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy Project เป็นต้นแบบ หวังให้มีศูนย์ลักษณะนี้ทั่วประเทศ

ทุกตำบล หรืออย่างน้อยภูมิภาคละศูนย์ก็ยังดี จะทำให้ผู้สูงอายุมีจุดรวมตัว มีคนเข้ามาดูแลเรื่องการออกกำลัง ดูแลสุขภาพ มีบริการอุปกรณ์ จนถึงมีอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ

“ถ้าสามารถทำได้นะ ประเทศไทยไม่ต้องไปพึ่งใครเลย งานเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินเยอะ แต่ต้องใช้กำลังคนและความใส่ใจเท่านั้นเอง”

เจ้าของ forOldy Project เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างความสุขให้ผู้สูงวัย

ภาพถ่ายของตากับยายประดับใส่กรอบแขวนไว้ข้างผนังคู่กับภาพถ่ายของปู่กับย่า พวกท่านเสียชีวิตก่อนที่ฉันจะผ่านพ้นวัยเด็ก ฉันจึงเป็นฝ่ายได้รับความรักความใส่ใจเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีโอกาสได้ดูแลพวกท่านทดแทนเลย

ฉันพลิกอัลบัมภาพสมัยเด็กกลับไปที่หน้าแรก ภาพแรกสุดฉายภาพหนุ่มสาวคู่หนึ่งอุ้มเด็กน้อยไว้ในอ้อมแขน หนุ่มสาวในวันนั้นช่างแตกต่างจากวันนี้เหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นผมสีขาวขึ้นประปราย รอยเหี่ยวย่นตามผิวหนัง น้ำเสียงแหบแห้ง เรี่ยวแรงถดถอย อีกไม่เกิน ๑๐ ปี พ่อและแม่จะกลายเป็นผู้สูงอายุ ฉันตั้งใจจะทำให้ชีวิตบั้นปลายของพวกท่านมีความสุข

อัลบัมภาพในอดีตปิดลงแล้ว รอเวลาเปิดใหม่อีกครั้งเพื่อบันทึกภาพทรงจำล้ำค่า อีกหลายปีข้างหน้าฉันจะบันทึกภาพถ่ายพ่อและแม่ เป็นภาพผู้สูงวัยที่สบายดี