เรื่อง : พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี, ศุภณัฐ ผากา, พบธรรม ยิ่งไพบูลย์สุข,
แพรวระวี รุ่งเรืองสาคร, ไลลา ตาเฮ, นิสากร ปิตุยะ และ รัชพล ปลูกอ้อม

มูลนิธิบ้านดวงแข - แกลเลอรีอุ่นรัก ฉบับดวงแข

หลายมือเล็กจับแกนวงกลมอย่างแข็งขัน ต่างนั่งประจำที่ เท้ายึดหลักประจำการบนผืนทราย แล้วออกแรงหมุนแกนสีสด

ต่างคนรวมใจไปในทิศทางเดียวกัน “ฮึบ” ม้าหมุนมือก็เคลื่อนตัวเหวี่ยงรับเป็นวงกลม หมุนเร็วรี่พาให้เท้าน้อยยกลอยจากผืนทราย แรงพอที่จะพาลมมาปะทะใบหน้าที่บัดนี้แต่งแต้มไปด้วยรอยยิ้ม ดวงใจน้อย ๆ ก็ออกโลดแล่นไปในทุ่งกว้าง จักรวาล สวนสนุก ท้องมหาสมุทร หรือทุกแห่งตามแต่จินตนาการจะไปถึง

เสียงหัวเราะดังขึ้น ต่อเนื่อง ครื้นเครง และราวกับจะจางหายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกพื้นที่

“พื้นที่นี้เล็กไปไหม ?” เสียงทวนคำถามประหนึ่งเป็นคำตอบ

เสาวรัตน์ ประดาห์ หรือสาว “พี่สาว” ตัวจริงของเด็ก ๆ ที่นี่ เป็นหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ศูนย์ดวงแข เธอทำงานอยู่ที่นี่มาเป็นสิบปี ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้

“มีครั้งที่เด็ก ๆ อยากไปสวนสยาม แต่ที่ศูนย์ฯ ไม่มีงบประมาณพอให้เด็ก ๓๐ คนในตอนนั้น”
“บ้านเรามีอะไรเหมือนสวนสยามบ้าง ?”
“สนามทราย” บางคนก็ว่า “สไลเดอร์มันก็เหมือนนะ”
“เอ้า งั้นก็ลองช่วยกันดู”

แล้วเด็ก ๆ ก็ช่วยกัน ตัวน้อย ๆ มุดตัวลงไปขุดทราย เด็กวัยรุ่นเอาแผ่นผ้าใบวางรองและช่วยเปิดน้ำ พอทิ้งตัวลงจากสไลเดอร์

ปะทะน้ำดังตูม ๆ ก็เล่นกันสนุกสนาน

จากสนามทรายก็กลายเป็นสวนสยามแทบทุกอาทิตย์ในหน้าร้อน

“บ้านเราเล็กไปไหม ?”

สู่บ้านดวงแข

สีซีดจางและคราบเกรอะกรังฝังบนกำแพงคอนกรีตทอดยาวจนบรรจบกับสีสันเหมือนเป็นทางคู่ขนาน ทว่ากลับทำให้พื้นที่หม่นมัวคืนความสดใส เปรียบดั่งตัวโน้ตของดนตรีเสียงทุ้มต่ำ แหลมใส ทุกโน้ตต่างประกอบกันเป็นบทเพลง ก้องกังวานและเต็มไปด้วยความหมาย

จากสถานีรถไฟกรุงเทพหรือสถานีรถไฟหัวลำโพงเข้าสู่ถนนรองเมือง ถนนข้างกำแพงทางรถไฟที่นำไปสู่ที่ทำการไปรษณีย์หัวลำโพงขนาดใหญ่ แต่ระหว่างทางนั้นกำแพงสถานีรถไฟหัวลำโพงสีสดใสบอกเราว่าข้างหน้ามีพื้นที่ของเด็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ ณ ปากซอยชุมชนคือที่ตั้งของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ศูนย์ดวงแข หรือ “มูลนิธิบ้านดวงแข”

ในปี ๒๕๒๓ ที่นี่เคยเป็นบ้านพักแรงงานเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่คลองนางหงส์เดิมซึ่งอยู่มานานกว่า ๑๐๐ ปี จึงได้ร่วมกันร่างประวัติและลงชื่อตั้งเป็นชุมชนขึ้น โดยหวังให้ชุมชนวัดดวงแขได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปี ๒๕๔๗ จึงได้รับการแต่งตั้งจากเขตปทุมวันให้เป็น “ชุมชนวัดดวงแข”

จากบ้านพักแรงงานเด็ก ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ดวงแข”

ชุมชนวัดดวงแขเป็นชุมชนแออัดบนพื้นที่เพียง ๓.๕ ไร่ มีจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้าน ๕๒ หลังคาเรือน ๑๓๙ ครอบครัว ๔๑๐ คน และมีประชากรตามบ้านเช่าอีกกว่า ๕๐๐ คน

ภาพชุมชนแออัดเบียดตัว พยายามผุดแทรกขึ้นมาภายในพื้นที่เล็ก ๆ ห้องขนาด ๒x๒ เมตรที่ยากจะจินตนาการถึงห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ทุกพื้นที่ถูกใช้สอยด้วยข้อจำกัดอันแตกต่าง ตรอกยาว คดเคี้ยวเป็นงูเหลือม มืดสลัวทึมทึบแม้เป็นตอนกลางวัน พื้นที่อับ คับแคบ อันตราย และมีซอกซอยดูสกปรก มีน้ำท่วมขัง ส่งกลิ่นเหม็น ยังไม่รวมถึงผู้คนแปลกหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเช่าอาศัยอยู่เสมอ

ในเวลากลางคืนที่นี่กลายเป็นแหล่งซ่องสุมชั้นดีของมิจฉาชีพและยาเสพติด

ปี ๒๕๕๖ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประกาศให้ “พื้นที่ชุมชนวัดดวงแข” เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดของกรุงเทพฯ เป็นชุมชนสีแดงติดอันดับหนึ่งในห้าแห่ง

อาจเพราะกว่า ๑,๐๐๐ คนในชุมชนเป็นประชากรแฝงที่มีอาชีพรับจ้าง-ค้าขาย ตั้งแต่เข็นรถผลไม้ ขายส้มตำ รับซักรีด ฯลฯ และในชุมชนมีห้องเช่ารายวัน หลายคนมาอยู่เพื่อมาทำงานหาเงินในกรุงเทพฯ
พื้นที่ของเด็ก ๆ อยู่ที่ไหน…

เพียงแค่ก้าวผ่านประตูสู่บ้านดวงแขก็จะพบกับฐานทัพลับของเด็ก ๆ

“เสาร์อาทิตย์ที่นี่ไม่เคยเงียบ”

ษรขวัญ ผุดบัวน้อย หรือแพรว อีกหนึ่งแรงสำคัญของมูลนิธิฯ เล่าพร้อมแววตาเต็มเปี่ยมด้วยความเอ็นดู เมื่อเอ่ยถึงเด็กเล็ก ๆ ที่แวะเวียนมาเล่นที่ “บ้าน” อยู่เสมอ เมื่อบ้านหลังน้อยแห่งนี้คือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก

บ้านไม้เก่าสองชั้นบนเนื้อที่ไม่ใหญ่ มีพื้นที่ด้านหน้าเป็นลานซีเมนต์โล่ง กับม้านั่งสามสี่ตัว และโต๊ะไว้นั่งทำกิจกรรม

“วันหยุดบ้านจะเต็มไปด้วยเด็ก ๆ ๓๐-๔๐ คน”

มองขึ้นไปที่ชั้น ๒ เป็นระเบียงกว้าง มักจะเอาไว้สอดส่องดูเด็ก ๆ มองออกไปเป็นกำแพงสถานีรถไฟหัวลำโพงที่ถูกแต่งแต้มระบายสี ด้านล่างบ้านเป็นใต้ถุน กั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องสมุด อีกส่วนหนึ่งเป็นห้องน้ำแยกชายหญิง มีครัว ข้างบ้านเป็นสนามทราย และมีสวนหลังบ้านขนาดเล็กที่มีบ้านต้นไม้ของเด็ก ๆ

“พวกเขาเข้ามาเล่นที่ศูนย์ฯ เพราะในชุมชนไม่มีพื้นที่ บางคนพ่อแม่พามาทิ้งไว้ ลำพังทำแต่งานก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ยิ่งบางบ้านมีปัญหาความรุนแรง พ่อแม่ตีกันให้ลูกเห็น พูดคำหยาบใส่กันตลอดเวลา”

“เรา” จึงเป็นพื้นที่ของเด็ก ๆ

“ที่นี่เปิดบ้านวันอังคารถึงอาทิตย์ ตั้งแต่ ๑๒.๐๐-๑๗.๐๐ น. มีสนามทราย บ้านต้นไม้ สนามบอล หลายคนสงสัยว่าสนามบอลคือที่ไหน นั่น เราก็ชี้ไปใต้ถุนบ้าน ที่นั่นเป็นทุกอย่าง ตั้งแต่สนามบอล ลานปั่นจักรยาน สนามปิงปอง ลานซีเมนต์ก็เป็นสนามแบดมินตัน เป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ สามารถปรับใช้ได้

ห้องสมุดก็สามารถเล่นบทบาทสมมุติ สร้างบ้าน เล่นพ่อแม่ลูก จนกระทั่งเป็นแคตวอล์กเดินแฟชั่นโชว์ ฯลฯ พวกเด็กโต ๆ จะใช้ห้องชั้น ๒ เป็นห้องดนตรี พวกเขาคืออดีตรุ่นจิ๋วที่เคยวิ่งกวดกันในสนาม อีกทั้งที่นี่ยังเป็นพื้นที่ของผู้ปกครองและสำหรับทุก ๆ คน”

การเล่นไม่ใช่แค่เพียงความสนุกสนาน แต่การเล่นคือการบำบัด พฤติกรรมเด็ก ๆ ตอนเล่นสนุก ตอนที่ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน ๆ มีส่วนทำให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเอง

ถ้าวันเวลาของเด็ก ๆ หมดลงอย่างรวดเร็วเมื่อมีความสุข ก็คงจะเดินไปอย่างเชื่องช้าเมื่อเคว้งคว้างไม่รู้จุดหมาย เด็ก ๆ ที่มาที่มูลนิธิฯ นี้บางคนเริ่มจากศูนย์ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อแม่เป็นใครหรือทำอะไร

“ไม่รู้จะรักใคร ก็มันไม่มีใครให้รัก”

ภาพของเด็กชายที่เล่นเตะอัดจนลูกบอลแตก แววตาและสีหน้าแสดงออกแทนทุกคำพูด

“บางครอบครัวที่นี่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ทำให้เด็กไม่มีทักษะในการอยู่ร่วมกับใคร ก้าวร้าวและถูกเก็บกดพลังงานไว้จนต้องแสดงออกอย่างผิด ๆ เราทำได้คือให้โอกาส ให้ความเข้าใจ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก

“มันพลาดได้ง่ายถ้าฐานไม่เข้มแข็ง”

ประสพสุข โบราณมูล หรือโรส หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาของมูลนิธิฯ ผู้ริเริ่มโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ เล่าถึงความเป็นมาของเด็ก ๆ ที่เห็นตั้งแต่แรกเริ่มการพัฒนา

ความรู้สึกเคว้งคว้าง ตัวเองไม่มีค่า ฉันจะทำอะไรก็ได้

เติบโตมาเพื่อเดินเข้าคุกเข้าตะราง ทำอะไรที่ไม่ถูก ไม่เหมาะสม

“ไม่มีใครอุ้มชูเขา หากพวกเขาไม่เติบโตด้วยแรงพลังของตัวเอง” พี่สาวเอ่ยย้ำกับฉันอย่างผู้ที่เข้าใจวลีนี้ดี

แต่สำหรับการเข้ามาที่บ้านดวงแข เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่าความสุขสร้างได้ด้วยมือน้อย ๆ พลังเล็ก ๆ สามารถผลักดันตนเอง ผลักดันชุมชนให้มีรากเหง้า

“เราแค่ต้องการทำให้เขามีทางเลือก”

และเลือกใช้ศิลปะเข้ามาเปลี่ยน ให้ชุมชนสีแดงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นสีขาว

บทเรียนเล่น บทเรียนศิลปะ

“เราเริ่มตั้งแต่กระบวนการเล่นกับเด็ก (play project model)”

การเล่นคือธรรมชาติและความต้องการของเด็ก การเล่นคือการเรียนรู้

ติ๋ม ชูแก้ว และ รัสมี ทอนทอง หรือป้าติ๋มและป้าหมีของเด็ก ๆ คือผู้อำนวยความสะดวกการเล่น (play worker) เป็น

ผู้ใหญ่ที่คอยเฝ้าดู รวมถึงช่วยพูดคุยกับพ่อแม่ ในฐานะอาสาสมัครผู้ปกครอง

ณ ลานใต้ถุนบ้าน บนกำแพงจะมีกระดาษปรู๊ฟแผ่นใหญ่มีข้อความตัวโตร่างข้อตกลงร่วมกันหลายข้อ เช่น ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามโกหก ห้ามเข้าไปซ่อนในตู้ ฯลฯ

“ทำไมห้ามเข้าไปซ่อนในตู้ ?”
“ก็ตู้มันจะพังน่ะสิ” ป้าติ๋มพูดพลางหัวเราะร่วน ขณะที่เด็กชายวัย ๖ ขวบวิ่งมาฟ้องว่าเพื่อนอีกคนเข้าไปเล่นซ่อนแอบในตู้ ป้าติ๋มจึงต้องออกโรงไกล่เกลี่ย เปลี่ยนใบหน้ายู่ยี่ให้กลับมายิ้มแฉ่ง
“เพราะที่นี่ไม่เหมือนโรงเรียน อิสรเสรี เสียงของเด็ก ๆ จึงสำคัญที่สุด”

ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย

“เมื่อเริ่มเราใช้สื่อและศิลปะเพื่อดึงการมีส่วนร่วมจากคนในและคนภายนอกชุมชนมากขึ้น”

เด็ก ๆ ก็ได้เล่นเป็นนักวิจัยตัวน้อย…

จากปากทางเข้าของชุมชนซึ่งดูเหมือนจะแคบที่สุด แต่เมื่อเดินลึกเข้าไปภายในทางนั้นกลับกว้างขวางสำหรับชุมชนวัดดวงแข

เด็ก ๆ นำเราเดินอย่างคล่องแคล่ว มีเสียงจากบ้านนั้นบ้านนี้เรียกเจื้อยแจ้ว ทักทายตามรายทาง บ้านที่เปิดประตูพอจะมองเห็น

ข้างในได้ มีข้าวของวางซ้อนเรียงกันมากมาย แทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่าการสำรวจชุมชนของเด็ก ๆ จะต้องใช้เวลากี่เดือน กี่ปี

“ถ้าเป็นสมัยก่อนไม่ได้เดินเข้าชุมชนกันง่ายแบบนี้ คงโดนตีหัวตั้งแต่ต้นซอย”

เสียงของป้าติ๋มทำให้แทบชักเท้ากลับไม่ทัน บรรยากาศทึม ๆ พาให้ใจหวั่น ๆ แต่ป้าใบ้ที่นั่งอยู่มุมตึกบนแคร่ไม้เก่า ๆ ยิ้มให้เราพร้อมกับชูมือชูไม้เป็นสัญลักษณ์ว่า “love love” ช่วยให้ใจชื้นขึ้นเป็นกอง

ไม่เพียงคนในชุมชนที่ทักทายยิ้มแย้ม ผู้สูงวัยออกมานั่งต้อนรับลูกหลาน แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงพเนจรตัวน้อย ๆ ก็ช่วยเสริมให้บรรยากาศชุมชนในวันนี้ไม่มืดทึบและหดหู่ดังเก่า ตั้งแต่ปากทางจะเห็นผนังกำแพงสีฟ้า มีภาพเขียนสีเป็นรูปปลาตัวเล็กตัวน้อยราวกับผู้คนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน

“ชุมชนนี้ก็เหมือนธารน้ำ มีปลาหลายหลากสายพันธุ์ น้ำพัดพาทุก ๆ คนมาอยู่ร่วมกันที่ดวงแข”

ทุกช่องว่างระหว่างกำแพงทึมเทาถูกแต่งแต้มด้วยภาพสีสันเป็นรูปวาดต่าง ๆ ให้แต่ละหัวมุมบ้านหรือพื้นที่ระหว่างบ้าน ซึ่งมักเป็นที่นั่งล้อมวงพูดคุยสังสรรค์ มีภาพวาดต้นไม้ ดอกไม้ ราวกับสร้างสวนสวยบนผนัง นั่นคือจิตรกรรมฝาผนังฉบับดวงแข ถึงแม้ในวันนี้จะยังมีซอกซอยที่ลี้ลับและดูน่ากลัว แต่ปลายทางของชุมชนนั้นเปล่งแสงรำไรแห่งความสดใส ที่ค่อย ๆ แจ่มชัดขึ้นทีละน้อย

เมื่อผลจากการเรียนรู้คือความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นของคนในชุมชน

“เด็ก ๆ พูดคุยและเห็นปัญหา อย่างเรื่องอาหารเช้า ข้าวไข่เจียว ที่เด็กไม่เคยได้กินฝีมือแม่”

เกิดเป็นกิจกรรมให้คนในครอบครัวได้ฝึกทำอาหารร่วมกัน และถ่ายรูปเพื่อส่งต่อเป็น “เมนูเรืองยิ้ม” ไปจนถึง “ร้านเรืองยิ้ม” ซึ่งขยายพื้นที่ออกไปสู่ร้านรวงรอบ ๆ ชุมชน ออกมาเป็นแผนที่แผ่นพับบันทึกเส้นทางของชุมชนโดยฝีมือของกลุ่มเด็ก ๆ

เกิดผลงานสวย ๆ ที่ก่อร่างสร้างความภาคภูมิใจไม่ใช่เล่น

ศิลปะคือกลไกสำคัญที่ค่อย ๆ หลอมรวมเด็ก ๆ พ่อแม่ คนในชุมชน อาสาสมัคร จิตอาสาต่าง ๆ เข้ามาขับเคลื่อนชุมชนไปพร้อม ๆ กับมูลนิธิฯ

ทุก ๆ มือน้อยค่อย ๆ แต่งแต้มสีแดง เขียว เหลือง หรือชมพูน่ารัก

เป็นต้นไม้ ดอกไม้ เป็นฮีโร่ที่ชื่นชอบ เป็นตัวการ์ตูน ตัวละครที่ได้ดูในทุกเช้า

ปลาตัวเล็กแหวกว่ายอย่างมีทิศทางเมื่อเห็นปลายทางเป็นแสงสีขาว และนำพาให้ปลาน้อยใหญ่เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ

ในบึงตมที่ตนเคยอยู่อาศัยอย่างหดหู่ ไร้ซึ่งใครมาสนใจ เหลียวแล แต่เมื่อบึงนั้นค่อย ๆ สะอาด สวยงาม ก็นำพาให้อีกหลาย ๆ มือน้อยใหญ่เข้ามาช่วยแต่งเติม และมีพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกันสร้างสรรค์

เพราะมีศิลปะ ชุมชนจึงเปลี่ยนแปลง

อาสาสานศิลป์

“เข้ามาครั้งแรกครับ มาสังเกต พูดคุยกับชาวบ้าน และก็ได้ธีมที่จะวาดจากที่นี่เลย จากการได้ฟังเสียงของลุง ๆ ป้า ๆ” กฤษฎาทองเลื่อมรัตน์ หรือเบนซ์ หนึ่งในตัวแทนของนักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกเล่าถึงการทำงานอาสาในครั้งนี้

ภาพของเหล่าจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่แวะเวียนเข้ามาพูดคุย วางแผน กับศูนย์ดวงแขและประธานชุมชน เพื่อสร้างศิลปะชิ้นใหม่ ๆ รวมถึงการเข้ามามอบความรู้สู่เด็ก ๆ และชาวบ้าน

“ศิลปะเริ่มตั้งแต่หน้าบ้าน” พี่สาวบอกเล่าถึงภาพศิลปะซึ่งออกแบบแนวทางโดยคนในชุมชน

ในซอยช่วงแรกจะเป็นภาพศิลปะที่แสดงประวัติของชุมชนและอาชีพในอดีต

ช่วงกลางซอยจะถ่ายทอดวิถีชีวิตย่านชุมชนจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่

ท้ายซอยและพื้นที่นั่งพักผ่อน วาดต้นไม้ ระบายสีเขียวให้สดชื่น เกิดเป็นเรื่องราว เปลี่ยนแปลงบรรยากาศที่ไม่น่ามองให้ดูสดใสมีชีวิตชีวา

“มีจุดที่จะทำเพิ่มเป็นโซนข้างใน จะอยู่ในซอย เป็นทุ่งนาและดอกไม้ ตรงห้องน้ำที่มืด ๆ ก็จะเอาศิลปะไปลง” แพรวชี้ชวนขณะพาพวกเราเดินเข้าไปยังส่วนลึก ๆ ที่ยังไม่ถูกระบายสี

นอกจากนั้นล้วนเติมแต่งตามจินตนาการ บ้านไหนอยากสวยก็มาขอหยิบยืมสีไปใช้ตกแต่งบ้านตนเองให้สวยงาม ชุมชนดวงแขในตอนนี้จึงเปรียบดังแกลเลอรีขนาดใหญ่ที่จัดแสดงผลงานศิลปะ สื่อสารให้เห็นถึงรากเหง้า ความรู้สึก และความเป็นมาของคนทุกคนในชุมชน

สิ่งเลวร้ายถูกบดบังด้วยสีที่เปรอะเปื้อนในสองมือของเด็กน้อย ลูกหลานในชุมชนต่างเดินออกมาจากตรอก ซอก ซอยเล็ก ๆ เข้ามาหยิบจับพู่กันหรือสีสวย ๆ มาช่วยเสิร์ฟน้ำให้พี่ ๆ ที่มาลงสีให้กับผืนผนังต่าง ๆ ผู้ใหญ่ในชุมชนออกมาคอยต้อนรับ คนแก่ ๆ นั่งมองลูกหลานที่ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง

“พักกินข้าวกินปลากันก่อน ป้าบ้านนู้นเขาทำให้นะ”

อบอุ่นแบบนี้ตั้งแต่มหกรรมศิลปะครั้งแรก ๆ บนกำแพงสถานีรถไฟหัวลำโพง…

“ปี ๒๕๕๗ อาจารย์ครุศิลป์จากจุฬาฯ เข้ามาช่วยวางแผนในการนำศิลปะเข้ามาในพื้นที่ ตั้งใจจะทำให้กำแพงหัวลำโพงมีสีสันขึ้นบ้าง แต่ผลคือได้ทำจริง ๆ ถึง ๙๒ บล็อก ความยาวเกือบ ๒๐๐ เมตร ใครจะไปคิดว่าจะทำสำเร็จ” พี่สาวเล่าถึงการทำงานของอาสาสมัคร จิตอาสาในครั้งนั้น ซึ่งมากันแต่ละวันถึง ๓๐๐ คน

กำแพงที่เคยเลอะเขรอะดูไม่น่าเข้าใกล้ทอดยาวขนานกับเส้นทางรถไฟและถนนรองเมืองมาช้านาน แต่บัดนี้น่าเดิน ชวนมอง นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาถ่ายรูป และยิ่งสร้างความภูมิใจให้คนในชุมชนที่ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

“เด็กและชาวบ้านช่วยกันทำความสะอาด อุดซ่อมกำแพง และลงสีพื้นขาว เพื่อให้พี่ ๆ ลงมือร่างและระบายสี ป้าร้านขายของให้ยืมร่มใหญ่มาบังแดด ชาวบ้านก็มาช่วยกันดูแล”

ทุกคนเห็นความสำคัญของศิลปะที่เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนวัดดวงแขอย่างแยกจากกันไม่ได้

เดือนมกราคมปี ๒๕๕๘ มีงานประจำปีครั้งแรก เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านร้านรวงร่วมออกร้านขายอาหาร มีการแสดงพาเหรดจากเด็ก ๆ นับเป็นครั้งแรกที่ใช้ศิลปะสื่อสารระหว่างชุมชนกับบุคคลภายนอกและชุมชนข้างเคียง ทั้งชุมชนจรัสเมือง ตรอกสลักหิน และแฟลตรถไฟ

“ชุมชนรู้สึกมีตัวตน มีที่ยืน มีพื้นที่ของตัวเอง มีจิตใจช่วยเหลือกันมากขึ้น เป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกันมากขึ้น ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่เหมือนเมื่อก่อน”

มือที่สร้างสรรค์

“เด็ก ๆ บางคนเห็นทิศทางเลยว่าตัวเองชอบทำอะไร จากการได้ลงมือลองผิดลองถูก ทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง บางคนรู้ตัวว่ามีฝีมือทางศิลปะ สนใจจะเรียนในสาขานั้นสาขานี้ เท่านี้เราก็รู้สึกเป็นผลที่น่าชื่นใจ”

โอกาสคือการมอบทางเลือกและทำให้เด็ก ๆ มองเห็นศักยภาพในตัวเอง

“ผมเป็นประธานสภาเยาวชนเขตปทุมวันครับ”

เบญจพจน์ รักษ์กระโทก หรือเต้ย เด็กหนุ่มตัวโตผิวเข้ม วัยมัธยมศึกษาปีที่ ๖ คนนี้ คือหนึ่งในผู้นำยุคใหม่ ผลผลิตของบ้านดวงแขที่น่าภาคภูมิใจ

“แต่ก่อนผมไม่เป็นเลยนะเรื่องกล้าแสดงออกหรือผู้นำ ตั้งแต่เด็กผมมาเล่นที่นี่ ทำกิจกรรมศิลปะ พี่ ๆ เห็นว่าทำได้ ให้ไปอบรมสอนการเป็นผู้นำและได้ลงเลือกตั้งประธานสภา” เด็กหนุ่มยิ้มอย่างเคอะเขิน เด็กคนหนึ่งที่มีพลัง ความเชื่อมั่นว่าตนเองจะขับเคลื่อนหลาย ๆ สิ่งในชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ผมแค่ตั้งใจมาสานต่อในสิ่งที่คนก่อน ๆ ทำไม่สำเร็จให้เป็นจริง ส่วนเรื่องอนาคตก็ตั้งใจจะเรียนต่อทางด้านดนตรีที่ชื่นชอบ และผมสนุกกับมันได้”

พื้นที่ดวงแขในทุก ๆ วันเสาร์อาทิตย์ยังมีเหล่าครูอาสาที่เข้ามาช่วยส่งต่อความรู้

“เรามาเพราะเด็ก ๆ ต้องการเรียนรู้ โครงการ Saturday School สอนเด็กทุกวันเสาร์ และเราทำต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ กับชุมชนนี้

“แพรอยากให้เด็ก ๆ เห็นว่ามีอาชีพอื่นที่มีทางเลือกหลากหลาย ซึ่งเขาทำได้ มันอาจช่วยเปลี่ยนชีวิตเขาไม่มากก็น้อย”

ณัชชา หรือแพร แฟชั่นดีไซเนอร์สาว ในวันนี้เธอง่วนอยู่กับเหล่าเด็กสาวตัวน้อยที่ส่งสายตาเป็นประกายกับชุดสวย ๆ และสนุกกับการวาดรูประบายสีบนผืนผ้า

“เด็กได้เห็นตัวอย่างการสร้างสรรค์ดี ๆ ในมุมมองอื่น ๆ พวกผมเข้ามาสอนดนตรี อยากให้พวกเขาเห็นว่าโลกนี้มีอะไรมากกว่าที่เห็นและเป็นอยู่”

ลือชา หรืออิ๊ก กับกลุ่มเพื่อนที่เข้ามาสอนดนตรีให้กลุ่มเด็กวัยรุ่นยังคงเข้ามาเล่นที่นี่ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการได้ลอง ได้

พบสิ่งใหม่ ๆ เมื่อตัวเองได้เป็นผู้ให้ และได้กลับมาเล่นสนุกสนานกับเด็ก ๆ จากการเป็นครูอาสา

“เรามีความสุขมากกว่านะที่เห็นเขามีความสุข”

จริง ๆ แล้วความสุขอาจไม่ต้องการพื้นที่

แค่วันนี้…ในครัว เด็ก ๆ ได้พูดคุยกับพ่อแม่ว่าหนูจะกินอะไร
แค่วันนี้…ในชุมชน ทุกคนได้พูด ได้ฟัง ได้รับรู้ความต้องการซึ่งกันและกัน

กลับมาพูดคุย กินข้าวร่วมกัน

คงไม่มีพื้นที่ใด ๆ เล็กเกินไปหรือไร้ซึ่งคุณค่า

และ “คงไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางความสร้างสรรค์ในตัวเราได้”

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด ๆ ในโลกด้วยเช่นกัน