ขนมในวันงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะในประเทศไหนมักจะมีลักษณะเฉพาะของความเป็นบ้านในแบบของมัน เพราะวัตถุดิบ วิธีการคิดค้น และวัฒนธรรมในการรักษาขนมเหล่านั้นให้ยังคงอยู่ผ่านยุคผ่านสมัยต่างถูกคิดค้นและกอบกู้โดยคนพื้นที่ พวกเขามีทั้งกำลัง แรงบันดาลใจ และการปรับใช้ภูมิปัญญาที่จะคงสูตรลับและเทคนิคของการทำขนมรูปร่างหน้าตาธรรมดาให้พิเศษและมีความหมายทางวัฒนธรรมได้แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาติอื่นก็ตาม
พูดถึงขนมโบราณที่มีกลิ่นอุ่นๆ ปนไปด้วยความใส่ใจพร้อมอารมณ์โฮมเมดในวันสิ้นสุดของรอมฎอน ในประเทศไทยมีร้านขนมบดิน ชุมชนมัสยิดสวนพลู ของป้าเล็ก เราเห็นภาพทุกคนเตรียมเครื่องปรุงกันวุ่นวายตั้งแต่เช้ามืด มีชาวบ้าน มีลูกค้า มีกลิ่นอุ่นของเนยจากเตาอบ มีการเคลื่อนไหวของสีสันศาสนาเนื่องในโอกาสวันอีด เฉลิมฉลองของศาสนาอิสลามที่ได้ผ่านการถือศีลอดมาแล้ว
ขนมวันอีดทั่วโลกมากหน้าหลายตาและล้วนมีคู่สีดีทั้งสิ้น มีตั้งแต่สปันจ์เค้กสตรอว์เบอร์รี, เค้กช็อกโกแลตมูส, ma’ amoul (คุกกี้โบราณของอาหรับ), kheer (พุดดิ้งอินเดีย), baklava (ขนมหวานโบราณของประเทศตุรกี) แต่อีกหนึ่งขนมแห่งเทศกาลวันอีดของอีกฟากทวีปที่สืบทอดความใส่ใจคล้ายกันกับร้านแถวมัสยิดสวนพลูคือคุกกี้เนยโบราณของประเทศอียิปต์ที่เรียกว่า “kahk” คิดภาพแม่ๆ ป้าๆ รวมตัวกันในบ้าน ญาติบ้าง เพื่อนบ้างช่วยกันตบ รีด ปั้นแป้งกันขวักไขว่จนได้ทรงกลมจิ๋วรายเรียงในถาด มีลายบากหน้าคุกกี้ที่เป็นเอกลักษณ์โบราณ อาจจะสอดไส้อินทผลัม, วอลนัต, ถั่วพิสตาชิโอ, agameya (ทำจากน้ำผึ้งและถั่ว) หรือไม่ใส่ไส้อะไรเลยแล้วอบในเตา ประโคมด้วยไอซิ่งหนาแน่น หยิบเคี้ยวในคำเดียวแล้วละลายในปาก
kahk เป็นขนมแห่งเทศกาลอีดและได้รับความนิยมยาวนานจนชาวอียิปต์เรียกอีกชื่อของ eid al-fitr กันว่า eid al-kahk ว่ากันว่าคุกกี้เนยกลมๆ ที่มองเผินๆ ดูธรรมดาอยู่มาตั้งแต่ยุคของฟาโรห์ ชาวอียิปต์โบราณโปรดปรานเพสทรีที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำผึ้งเป็นทุนเดิม แต่ kahk ในราชวงศ์ ๑๘ ของอียิปต์ก็มีรูปร่างที่แตกต่างออกไป คือยุคนั้นมีการอบให้เป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ หรือรูปทรงสามมิติต่างๆ หรือในยุค Toulunid ก็ว่ากันว่า Fatimid Caliph แจกจ่ายคุกกี้นี้ในเมืองไคโรเพื่อเฉลิมฉลองงานเทศกาลของมุสลิม
kahk จึงเติบโตและปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย แต่ก็รอดมาจนถึงศตวรรษที่ ๒๑ จนได้ แถมป็อปมากในงานฉลองต่างๆ เช่น งานแต่งงาน หรืองานวันอีสเตอร์
ถึงแม้ว่า khak จะไม่ใช่ขนมที่หวานน้อยและดีต่อสุขภาพมาก แต่ในวันอีด มันคือตัวกลางแห่งความหวานมากและดีต่อใจมาก เพราะนำเรื่องราวดีๆ เข้ามาในแต่ละครอบครัวเล็กครอบครัวน้อย จึงเป็นภาพแสนคุ้นตาที่จะเห็นแป้ง, นม, ผัก, เนยกี, น้ำตาล และสารพัดของหวานกุ๊กกิ๊กวางซ้อนกันเป็นตั้งๆ ในครัว ผู้หญิงรวมตัวกันนวดแป้ง ผู้ชายกำยำแบกกระทะใบใหญ่ไปยังร้านเบเกอรีใกล้เคียงเพื่อเริ่มพิธีกรรมทำคุกกี้ แต่สมัยนี้คนนิยมอบ kahk ในบ้านกันมากกว่า
แต่ในปีที่ผ่านๆ มา รัฐบาลอียิปต์ปรับค่าเงินให้ลอยตัว ปรับการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าลงร้อยละ ๒๖ หรือขึ้นค่าน้ำดื่มถึงร้อยละ ๔๖ หลายครัวเรือนจึงประสบความยากลำบากในการอบขนมรื่นเริงเพราะวัตถุดิบแพงขึ้น อาจจะต้องนำคุกกี้ไปอบที่ร้านขนมปังใกล้ๆ บ้าง ต้องลดปริมาณคุกกี้ลงถึงครึ่งหนึ่ง หรือไม่ก็เลิกทำไปเลยเพราะสู้ราคาไม่ไหว พูดง่ายๆ ว่าอาจจะคุ้มใจแต่ไม่คุ้มทุน
ชาวอียิปต์บางคนเชื่อว่าจะไม่ซื้อ kahk สำเร็จรูปมาเฉลิมฉลองเด็ดขาด แต่จำนวนคนทำก็น้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งคนรุ่นใหม่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง บรรยากาศของการที่แม่ๆ มานวดแป้ง พี่น้องช่วยกันปั้นคุกกี้เป็นรูปเป็นร่าง ใส่ยีสต์ เพิ่มเนย เหยาะกลิ่นวานิลลาและน้ำตาล น้ำกลีบกุหลาบนิดๆ หน่อยๆ หรือบางบ้านใส่ส้มหรือกลิ่นกล้วยอาจจะมีให้เห็นน้อยลงเรื่อย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ค่อยเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป
“คงเป็นความสุขระหว่างทำขนม” ไม่ว่าจะที่นี่หรืออียิปต์ ประโยคนี้น่าจะเป็นความเหมือนของกิจกรรมทำขนมประจำปี เพราะงานวันอีดไม่ใช่แค่เทศกาลเฉลิมฉลองรื่นเริงอย่างเดียวและผ่านไป แต่มันมีการรวมตัวกันของครอบครัวและเครือญาติที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ เพื่อนบ้านแลกเปลี่ยนสูตรลับ เกิดวงสนทนา เกิดเสียงหัวเราะ เกิดการแสดงความรู้สึกในฐานะมนุษย์ต่อสังคม เช่น การตั้งใจอบคุกกี้เพื่อให้เพื่อนบ้านที่กำลังป่วยอยู่สักนิดหน่อย ขนมธรรมดาจึงไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่เป็นสิ่งซึ่งแสดงออกถึงน้ำใจ และบทบาทในสังคมยิบย่อยของบ้านแต่ละบ้าน
เครดิตภาพ : Middle East Eyes