เรื่อง : สิรวิชญ์ สิงหาพล
ภาพ : อติรุจ เจิดดีสกุล
อัศวินทั้งสองยืนประจันหน้ากันบนลานประลอง ฝั่งหนึ่งอยู่ในชุดเกราะโรมัน อีกฝั่งคลุมเกราะหนังด้วยผ้าสีเหลือง-ดำ ต่างฝ่ายถือดาบและโล่ โดยไม่ต้องรอจังหวะสัญญาณ ชายในชุดเกราะโรมันซึ่งตัวใหญ่กว่าก้าวรุกเข้าฟาดดาบเข้าใส่อีกฝั่ง ดาบของเขาถูกสกัดไว้ด้วยโล่สี่เหลี่ยม ไม่รอช้า อัศวินใต้ผ้าเหลือง-ดำ บิดตัวออกดาบจู่โจมฝ่ายตรงข้าม แต่ดาบของเขาถูกปัดด้วยมุมโล่ ทั้งสองฝ่ายขยับก้าวถอยห่างกันเพื่อเว้นระยะ ตั้งท่ายื่นโล่บังด้านหน้าปิดลำตัว ดาบในมืออีกข้างยกขึ้นสูงพร้อมฟัน แล้วทั้งสองก็รุกเข้าหากันอีกครั้ง ฉากตรงหน้าผมนี้ไม่ได้มาจากภาพยนตร์ นิยาย หรือหนังสือเล่มใด แต่เป็นการประลองที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาปัจจุบัน Heavy Combat การประลองในชุดเกราะของกลุ่มคนหลงยุค
>
การประลองอันน่าตื่นตาของ Heavy Combat เป็นกิจกรรมกีฬาหนึ่งของกลุ่ม Society for Creative Anachronism (SCA) หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “สมาคมคนหลงยุค”
SCA เริ่มก่อตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒๕๐๙ โดยกลุ่มผู้รักและหลงใหลในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมจำลองวัฒนธรรมสังคมยุโรปในช่วงก่อนศตวรรษที่ ๑๗ ที่น่าดึงดูดเป็นบางอย่าง เช่น การประลองอาวุธ การทำอาหาร การประดิษฐ์เสื้อผ้า ศิลปะประเพณีต่าง ๆ เพราะหากจะจำลองทุกอย่างของยุคสมัยที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ก็คงไม่น่าดูนัก
Heavy Combat ก็เป็นกีฬาจำลองการต่อสู้ในยุคกลางจัดแข่งขันในกลุ่ม SCA ที่มีอยู่ทั่วโลก
การแข่งขัน Heavy Combat ให้ทั้งความสนุกสนาน การฝึกฝนฝีมือ การวัดพละกำลังและความสามารถ ซึ่งมีการชิงตำแหน่งสูงสุดกันอย่างจริงจัง
เพื่อทำความรู้จักกับ Heavy Combat ให้ลึกซึ้ง ผมเดินทางไปยัง “หมู่บ้านยุคกลาง” สถานที่รวมตัวของสมาชิกกลุ่ม SCA ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
>>
หมู่บ้านยุคกลางตั้งอยู่กลางทุ่งโล่ง ตกแต่งด้วยศาลาริมน้ำ ลานประลองที่ล้อมพื้นที่เป็นคอก เสาไม้บุนวมสองต้นสำหรับฝึกซ้อม และโกดังขนาดเล็กซึ่งเต็มไปด้วยหมวกเกราะ และอาวุธ
ในการเล่นกีฬา Heavy Combat สิ่งจำเป็นที่ต้องมีคือชุดเกราะและอาวุธประจำตัว โดยมีมาตรฐานของชุดเกราะและอาวุธกำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น อาวุธต้องทำจากไม้หวาย ไม่มีคม จำลองจากดาบ ขวาน หอก หรืออื่น ๆ ส่วนเกราะต้องหนาพอปกป้องจุดสำคัญของร่างกาย เช่นหว่างขา ท้ายทอย ข้อมือ
ที่นี่มีชุดเกราะให้เลือกสวมค่อนข้างหลากหลาย เช่น
- “เกราะเหล็ก” สวมทั้งตัวที่เรียกกันว่าเพลต (plate) ซึ่งทำจากเหล็กทั้งชิ้น คล้ายกับที่มักเห็นทั่วไปในภาพยนตร์แนวอัศวิน
- “เกราะห่วง” หรือ chain-mail ชุดเกราะที่มีน้ำหนักน้อยกว่าและคล่องตัวกว่าเพลต ทำจากห่วงเหล็ก (หรืออะลูมิเนียม) ร้อยกันเป็นชุดเกราะ
- “เกราะหนัง” มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่อาจไม่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวนัก เนื่องจากเกราะหนังที่มีประสิทธิภาพต้องมีความหนา ทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง นอกจากเกราะเหล่านี้แล้วก็ยังมีชุดเกราะรูปแบบอื่น ๆ
กฎกติกาการตัดสินแพ้ชนะในการแข่งขัน Heavy Combat นั้นเรียบง่าย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “เกียรติ” โดยการได้แต้มหรือชนะการต่อสู้ ผู้เล่นต้องใช้อาวุธโจมตีคู่แข่งด้วยความ “แรงพอ”
กฎของความ “แรงพอ” คือการให้ผู้เล่นที่ถูกโจมตีประกาศเองว่าการโจมตีนั้นแรงพอไหม ตามการสมมุติว่าถ้าเป็นอาวุธจริงจะเจาะทะลุเกราะของผู้เล่นได้ ซึ่งส่วนมากแล้วเมื่อโดนโจมตีเข้าจัง ๆ ก็มักถือว่าแรงพอ ผู้เล่นฝ่ายถูกโจมตีจะประกาศว่า “good” ย่อมาจาก good attack แล้วจะถือว่าผู้เล่นอีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ
ดังนั้นการต่อสู้กันใน Heavy Combat จะแตกต่างจากกีฬาอย่างเคนโด หรือกีฬาฟันดาบสากล ที่นับคะแนน
แค่อาวุธกระทบคู่ต่อสู้ แต่ใกล้เคียงกับกีฬาชกมวยหรือเทควันโดที่ผู้เล่นต้องปะทะกันจริง ๆ ใช้แรงเข้าใส่กันจริง ๆ ทว่าก็ยังมีข้อแตกต่างตรงที่ผู้เล่นส่วนใหญ่จะไม่เกิดการบาดเจ็บ เนื่องจากเป็นกีฬาที่สวมเกราะเต็มตัว รวมถึงหมวกเกราะ ซึ่งหากอุปกรณ์ตรงตามมาตรฐานแล้วต่อให้โดนตีที่หัวเต็มแรงคุณก็จะไม่รู้สึกเจ็บอะไร
>>>
ณ ศาลาริมน้ำของหมู่บ้านยุคกลาง เหล่าสมาชิก SCA กำลังนั่งพูดคุยเสวนากัน
ชายร่างใหญ่ที่พูดดึงดูดคนทั้งวงด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจและให้ความรู้อย่างดีคือ ณกร ศรีสมวงษ์ สมาชิกรุ่นก่อตั้งของ SCA ประเทศไทย รวมถึงยังเป็นแอดมินของเพจ SCA Thailand ด้วย ณกรเป็นผู้แนะนำให้ผมรู้จักกับหมู่บ้าน
ยุคกลางแห่งนี้ เขาอธิบายถึงตัวเองว่าเป็น “เนิร์ด” ผู้หลงใหลในโลกแฟนตาซีและวัฒนธรรมยุคกลางโดยเฉพาะไวกิ้ง
ตัวตนของเขาใน SCA เป็นชาวนอร์ส (Norse) ซึ่งใช้ขวานใหญ่ยักษ์ในการต่อสู้
สมาชิกทุกคนของ SCA ต่างมีตัวตนจำลองที่สร้างขึ้นจากยุคกลาง และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าสมาชิกจะไม่แค่ตั้งตัวตนขึ้นมาเฉย ๆ แต่ต้องศึกษาประวัติเพื่อปูพื้นเรื่องราวให้ได้ว่าเขาเป็นใคร ชนชาติอะไร มาจากไหน โดยสมาชิกทุกคนจะมีตัวตนที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนเลือกเป็นอัศวินฮอสพิทัลเลอร์ (Knight Hospitaller) ด้วยความหลงใหลในหน่วยอัศวินที่ยืนหยัดต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมันมหาอำนาจของยุคกลาง
นอกจากการใช้ตัวตนจำลองในการประลอง Heavy Combat แล้ว ตัวตนนี้ยังมีบทบาทและได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งในกลุ่มด้วย
ณกรบอกว่าปัจจุบันเขาได้รับบทบาทเป็นเซเนแชล (Seneschal) ซึ่งเปรียบได้กับผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่าง SCA ประเทศไทยกับกลุ่ม SCA ประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้กลุ่ม SCA ให้ความสำคัญกับตำแหน่งต่าง ๆ ที่สมาชิกได้รับและแสดงออกตามวัฒนธรรมที่จำลองขึ้นอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ในงานที่เป็นทางการของกลุ่ม SCA ไม่ว่าจะในประเทศใดณกรจะได้รับความเคารพและเรียกว่า Your Lordship เทียบเคียงแบบไทย ๆ คงประมาณว่า “ใต้เท้า” หรือ “ท่านข้าหลวง”
ในการได้รับยศหรือตำแหน่งนั้นเป็นไปตามบทบาทต่าง ๆ ในกลุ่ม SCA ซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดเป็นถึง King หรือ Queen
แต่ตำแหน่งสูงส่งเช่นนี้สมาชิกในกลุ่ม SCA ต้องมีจำนวนเกินกว่า ๔๐๐ คน
สำหรับ SCA ในประเทศไทยตำแหน่งสูงสุดที่สมาชิกเป็นได้คือบารอนหรือบารอนเนส (Baron, Baroness เป็นบรรดาศักดิ์ต่ำสุดของขุนนาง) ซึ่งได้จากการแข่งขันชิงตำแหน่งใน Heavy Combat บทบาทของบารอนหรือบารอนเนสคือการตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ ของกลุ่ม SCA ต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่ในพื้นที่ดูแลรวมถึงการเดินทางไปเป็นประธานในพิธีสำคัญต่าง ๆ ที่ SCA จัดขึ้น
สมาชิก SCA ประเทศไทยก็เคยมีผู้เข้าถึงตำแหน่งนี้
จาฏุวัจน์ ศาศวัตศานติ หรือนิว อัศวินโรมัน จากช่วงศตวรรษที่ ๕ คืออดีตบารอนของกลุ่ม SCA ประเทศโซนเอเชียทั้งหมด เขาได้รับตำแหน่งนี้จากการแข่งขันชิงตำแหน่งบารอนที่ประเทศเกาหลีใต้ในปี ๒๕๕๖
นิวเริ่มต้นเส้นทางสู่การเป็นบารอนด้วยการเป็นผู้ชนะในการแข่งขันภายในกลุ่ม SCA ประเทศไทย หลังจากนั้น ทาง SCA ประเทศเกาหลีใต้ได้ส่งจดหมายเชิญมาถึงกลุ่ม SCA ประเทศไทย เสนอรางวัลเป็นค่าเดินทางและที่พัก (บ้านของสมาชิก SCA ประเทศเกาหลีใต้) สำหรับผู้ชนะในกลุ่ม SCA ประเทศไทย เพื่อเดินทางไปแข่งขันชิงตำแหน่งบารอนที่ประเทศเกาหลีใต้ นิวจึงเดินทางไปแข่งขันในฐานะตัวแทนของ SCA ประเทศไทย โดยมีสมาชิกอีกสองท่านคือ ณกร และ ชานน สันติอัศวราภรณ์ หรืออ้น ร่วมเดินทางไปพร้อมกันสามคน
ในการรับบทบาทตำแหน่งบารอน นิวเล่าว่าเขาได้พบกับมิติใหม่ของกลุ่ม SCA และการยึดถืออย่างจริงจังในตำแหน่งของสมาชิก ด้วยบทบาทบารอน เขาต้องมีหน้าที่อนุมัติกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม SCA ประเทศต่าง ๆ ในโซนเอเชียเช่นการจัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดบารอนหรือบารอนเนส
ผมถามว่าทำไมเมื่อเป็นกิจกรรมของ SCA ในประเทศอื่นจึงต้องผ่านการอนุมัติของบารอนที่อยู่ในประเทศไทย คำตอบคือเป็นไปตามการจำลองสังคมยุคกลางที่การทำกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่เจ้าแผ่นดินนั้นจะต้องรับทราบรับรู้ เมื่อกลุ่ม SCA ในประเทศโซนเอเชียทุกประเทศถือว่าอยู่ภายใต้การดูแลของบารอน ดังนั้นการตัดสินใจทุกอย่างก็จะต้องได้รับการเห็นชอบจากบารอน
ในภาคปฏิบัติ บทบาทของบารอนหน้าใหม่ที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงนัก นิวจึงต้องให้ณกรช่วยแปลอีเมลมากมายที่ส่งมาจากต่างประเทศและตอบ “เซย์เยส” ให้กับกิจกรรมทุกอย่าง
>>>>
ผมแจ้งเจตจำนงแก่สมาชิกกลุ่ม SCA ไว้ว่าต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับ Heavy Combat
รู้ตัวอีกทีผมก็มายืนอยู่บนลานประลองถือดาบไม้หวายกับอ้น ครูดาบจำเป็นของผม เขาเริ่มต้นแนะนำวิธีพื้นฐานในการยืนตั้งท่าจับดาบและการฟันดาบ
ท่ายืนที่ผมได้รับการแนะนำ คือ วางเท้าซ้ายนำหน้าเท้าขวาตามหลัง ซึ่งเป็นข้างเดียวกับมือขวาที่ผมถนัด กางขาออกห่างกัน และย่อเข่าลงเล็กน้อย อ้นบอกว่ายืนท่านี้จะเคลื่อนที่ง่ายและทรงตัวดีกว่า เพราะหากยืนเท้าสองข้างขนานกันเราจะทรงตัวรับแรงได้เฉพาะจากด้านข้าง แต่สู้แรงดันจากด้านหน้าไม่ได้ ในทางกลับกันหากเรายืนเท้าสองข้างเรียงกัน เราจะสู้แรงด้านหน้าได้ แต่สู้แรงจากด้านข้างไม่ได้
ส่วนการจับดาบ คำแนะนำที่ผมได้รับคืออย่าจับดาบแน่นเกินไป ปล่อยมือพอหลวม แต่อยู่ในระดับที่ควบคุมดาบได้ เวลาฟันดาบให้เหมือนปล่อยหมัด แต่บิดมือกลับเพื่อส่งดาบ
หลังจากอ้นอธิบายวิธีการฟันต่าง ๆ และให้ผมซ้อมฟันกับเสาไม้บุนวมเป็นเป้าเสร็จแล้ว เขาก็เริ่มแต่งองค์สวมชุดเกราะหนังเพื่อลงสนามประลองซึ่งต้องใช้เวลากับชุดเกราะอยู่พักใหญ่จึงค่อยสวมทับผ้าสีเหลืองดำก่อนก้าวเข้าสู่ลานประลอง
ตัวตนของอ้นคืออัศวินจากเยอรมนี สีเหลืองและดำคือสีประจำชาติ
ขณะเดียวกันนิวในชุดเกราะทหารโรมันก็เดินเข้ามาในลานประลอง
ทั้งสองถือดาบตั้งท่ายกโล่ไว้ข้างหน้าเพื่อปิดลำตัว มือ
อีกข้างถือดาบยกไว้ข้างหลังเตรียมฟัน
สายตาจ้องอีกฝ่ายเตรียมก้าวเท้าเข้าจู่โจม
โดยไม่ต้องรอจังหวะสัญญาณ นิวในชุดเกราะโรมันก้าวรุกเข้าฟาดดาบใส่อ้น
อ้นสกัดดาบไว้ได้ด้วยโล่สี่เหลี่ยม และไม่รอช้าบิดตัวออกดาบจู่โจมอีกฝ่าย
นิวปัดดาบด้วยมุมโล่
ทั้งสองฝ่ายขยับก้าวถอยห่างกันเพื่อเว้นระยะ
ในการต่อสู้ Heavy Combat สิ่งสำคัญคือการตั้งท่า
การตั้งท่าที่ดีก็เหมือนการมีปราการขนาดย่อมคอยปกป้องเรา
ในกรณีใช้ดาบ-โล่ ซึ่งเป็นอาวุธยอดนิยม ผู้เล่นใหม่ควรเริ่มต้นจากการตั้งท่าที่ช่วยลดการเคลื่อนไหวทำให้เราได้เปรียบคู่ต่อสู้ โดยยื่นโล่ออกมาปิดลำตัว ซึ่งสามารถปัดป้องการโจมตีหรือป้องกันดาบของคู่ต่อสู้ได้เพียงแค่เราขยับโล่ขึ้นลง
ตำแหน่งการฟันก็เป็นสิ่งสำคัญ หลัก ๆ แล้วมีสี่ตำแหน่ง
- ด้านบนของข้างที่ถนัด เป็นท่าฟันพื้นฐานที่สุด คือฟันจากมือข้างที่ถนัดลงมาโดยเล็งที่หัวคู่ต่อสู้
- ด้านบนของฝั่งตรงข้ามข้างที่ถนัด ตำแหน่งนี้จะได้เปรียบคู่ต่อสู้ที่ถนัดมือข้างเดียวกับเรา เนื่องจากโจมตีฝั่งที่ไม่มีโล่ป้องกัน แต่แลกกับการเคลื่อนไหวที่ยุ่งยากขึ้น
- ด้านล่างของข้างที่ถนัด เล็งที่ส่วนต้นขา เป็นการหาข้อได้เปรียบจากช่องว่างด้านใต้โล่
- ด้านล่างของฝั่งตรงข้ามข้างที่ถนัดเป็นตำแหน่งการฟันที่ดีที่สุดสำหรับสู้กับคนที่ถนัดข้างเดียวกันเนื่องจากเป็นจุดที่ห่างจากโล่คู่ต่อสู้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่ฟันได้ยากที่สุดเช่นกัน
………….
นอกจาก Heavy Combat แล้ว กลุ่ม SCA ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น art & science ที่นำองค์ความรู้ในยุคกลางกลับมาใช้ผลิตเสื้อเกราะ อาวุธธนูหรือการเล่นดนตรียุคกลาง แต่ดูเหมือนกิจกรรมที่โดดเด่นที่สุดก็ยังคงเป็น Heavy Combat
นอกจากเหตุผลที่ว่าเป็นกิจกรรมที่ได้แสดงออกตัวตนชัดเจนที่สุดแล้ว การแข่งขัน Heavy Combat เพื่อชิงตำแหน่งสำคัญก็มีการจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย
ถามว่าอะไรคือเสน่ห์ของ Heavy Combat ที่ทำให้คนหลงใหล อ้นตอบว่า
“ตอนเราเป็นวัยรุ่นมีเรื่องประหลาดอยู่เรื่องหนึ่ง คือเราต่อยกับเพื่อน แต่หลังจากนั้นเรากลับสนิทกันยิ่งขึ้น การเล่น Heavy Combat ก็เหมือนกัน เราสู้กัน เอาดาบตีกัน แต่เราก็ยังนั่งคุยกันสนิทสนมเสมอ
“มันเป็นความรู้สึกเชื่อมโยงพิเศษที่จะได้มาก็ต่อเมื่อได้ลองเผชิญหน้าแล้วเอาดาบตีกันเท่านั้น”