เรื่อง และภาพ : ทีม ป๊อกโกะ/กรรโกะ

ความสุขของคนตาบอดที่สัมผัสโลกด้วยหัวใจ

กลุ่มคนตาบอดจากสมาคมบัณฑิตตาบอดไทยออกเดินทางท่องโลกที่พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย โดย “พี่โกะ” (ผู้เขียน) ได้ท่องโลกกว้างด้วย

ณ พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย บริเวณสถานีหัวลำโพง

ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผู้คนแสนพลุกพล่าน กลุ่มคนตาบอดจากสมาคมบัณฑิตตาบอดไทย ๑๕ คน พร้อมจิตอาสาพาเที่ยวอีก ๑๐ คน เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าร้อยปีของรถไฟไทย

พวกเราใช้เวลากว่า ๑ ชั่วโมงสำรวจ รับรู้ เก็บรายละเอียดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านการฟังบรรยาย

ไม่พลาดที่จะสอบถามในสิ่งสงสัย ไม่รอช้าที่จะเข้าถึงอุปกรณ์แต่ละชิ้นด้วยความตั้งใจผ่านมือสัมผัส เช่น แบบจำลองรถไฟคันเล็กๆ ที่ทำจากไม้

ทดลองตีระฆังเพื่อจำลองเป็นนายสถานีส่งสัญญาณแจ้งเตือนเวลารถไฟเข้าออก

เสียงแก๊งๆ ดังออกมาจากระฆังใบใหญ่อย่างต่อเนื่องเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มเปี่ยมสุขฉาบประดับบนใบหน้าของทั้งจิตอาสาและคนตาบอดได้ไม่รู้เบื่อ

เช่นเดียวกันกับเครื่องขายตั๋วโบราณที่สร้างความสนุกสนานคลุกเคล้าความประทับใจไม่แพ้กัน

ตั๋วรถไฟสมัยก่อนเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมบางๆ ขนาดประมาณ ๓ นิ้วฟุต พวกเขานำตั๋วสอดเข้าช่องตอกตั๋วขนาดเล็ก พร้อมเสียงหัวเราะหยอกล้อ ต่างเรียกเพื่อนให้เข้ามาร่วมสนุกด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

“ทำหรือยัง ลองดูสิ” ใครคนหนึ่งบอกเพื่อนรอบๆ ก่อนจะหยิบยื่นตั๋วให้คนใกล้ตัว

การนำทางคนตาบอดให้ไปสำรวจจุดต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์อย่างปลอดภัย จิตอาสาจะให้จับข้อศอกเดินตามหลัง ผู้ตามก็จะกะระยะแต่ละก้าวได้อย่างแม่นยำ

ระหว่างนั้นจิตอาสาจะทำหน้าที่เป็นเสมือนดวงตา คอยบรรยายสิ่งรอบข้างให้ผู้พิการทางการเห็นได้สัมผัสโลกครบถ้วนยิ่งขึ้น ผ่านบทสนทนาโต้ตอบระหว่างกัน

“ข้างหน้ามีอะไรคะ” นี่คือคำถามที่มักจะได้ยินจากคนตาบอดเสมอ เมื่ออยากรู้

“ข้างหน้าเป็นคนกำลังยืนตามจุด เพื่อสำรวจส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ตามความสนใจ บ้างจับรถไฟจำลอง บ้างถ่ายรูปบรรยากาศรอบด้าน” จิตอาสากล่าว

“ระวังนะ ข้างหน้าเป็นทางขึ้นบันได เราจะก้าวขาขึ้นกันแล้วนะ” หากพบเจอทางต่างระดับ จิตอาสาจะแจ้งให้ผู้ร่วมทางรับรู้ โดยบอกล่วงหน้าก่อนก้าวขา ๑ ฟุต

กลุ่มคนตาบอดจากสมาคมบัณฑิตตาบอดไทยออกเดินทางท่องโลกที่พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย โดย “พี่โกะ” (ผู้เขียน) ได้ท่องโลกกว้างด้วย

กลุ่มคนตาบอดจากสมาคมบัณฑิตตาบอดไทยออกเดินทางท่องโลกที่พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย โดย “พี่โกะ” (ผู้เขียน) ได้ท่องโลกกว้างด้วย

……………………

การบรรยายสภาพแวดล้อมที่ตาเนื้อเข้าไม่ถึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่จิตอาสาพยายามบอกเล่าให้นักสำรวจโลกผู้กระหายใคร่รู้ เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้สมบูรณ์ขึ้น

“ในส่วนของชั้นสองจะเป็นภาพวาดที่บอกเรื่องราวต่างๆ ของรถไฟ มีภาพคนกำลังนั่งรถไฟ ภาพรถไฟสมัยรัชกาลที่ ๕” จิตอาสากล่าว

“เราสามารถจับได้ไหมคะ” ผู้เขียนถามอย่างสนใจ ก่อนจะได้รับคำตอบเจื่อนๆ ว่า

“เป็นภาพเรียบๆ จ้ะ ไม่มีรอยนูน แต่ในภาพนั้นสวยงามมากนะ เพราะเป็นภาพสี ดูคลาสสิกมากๆ”

“แล้วตรงนี้เป็นอะไรคะ” ผู้เขียนหันไปถามจิตอาสาอีกครั้งหลังจากจับเจอตู้ขนาดใหญ่

“อ๋อ นี่คือตู้กระจกที่ใส่ป้ายทะเบียนรถไว้จ้ะ จับไม่ได้เหมือนกัน ในตู้จะประกอบด้วยป้ายทะเบียนรถ มีตัวเลขเยอะแยะเลย แต่พี่ไม่แน่ใจนะว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มายังไงบ้าง”

เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาประกอบเข้ากับสิ่งที่เรียนรู้จากการจับ นักสำรวจก็สามารถประมวลผลให้ปะติดปะต่อกัน

อย่างไรก็ตาม จิตอาสาที่ทำหน้าที่บรรยายควรใช้น้ำเสียงที่เรียบ ไม่ดังหรือไม่เบาเกินไป

…………………..

“พี่โกะ” ได้ไปท่องโลกกว้างที่ตลาดบางลำภู มีจิตอาสาสาวสวยชื่อ “พี่เอวา” ดูแลตลอดการเดินทาง “พี่โกะ” รับรู้ถึงความสุขที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทั้งอิ่มอกอิ่มใจและอิ่มอร่อย รู้สึกพิเศษมากๆ ที่ก้าวออกมาจากความกลัวของตัวเอง

“พี่โกะ” ได้ไปท่องโลกกว้างที่ตลาดบางลำภู มีจิตอาสาสาวสวยชื่อ “พี่เอวา” ดูแลตลอดการเดินทาง “พี่โกะ” รับรู้ถึงความสุขที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทั้งอิ่มอกอิ่มใจและอิ่มอร่อย รู้สึกพิเศษมากๆ ที่ก้าวออกมาจากความกลัวของตัวเอง

นอกจากการสัมผัสด้วยมือจะทำหน้าที่เติมเต็มความสุขในการสำรวจโลกแล้ว ผู้เขียนยังค้นพบว่า นักท่องโลกของเรามีพรสวรรค์ในการใช้ประสาทสัมผัสทางนาสิกมากกว่าคนทั่วไป

สังเกตได้จากความว่องไวและแม่นยำเมื่อกลิ่นอาหารกระทบจมูกเพียงเล็กน้อยก็รายงานประเภทอาหารที่อยู่รอบบริเวณนั้นได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ประจักษ์ชัดเมื่อพวกเรามาถึงย่านบางลำพู

“ตรงนี้มีร้านขายปาท่องโก๋ด้วย เข้าไปกันมั้ยครับ” อรรถวิช สุขสวัสดิ์ ผู้ชื่นชอบอาหารรสชาติดั้งเดิมเสนอขึ้น ก่อนพวกเราจะค่อยๆ เดินตรงตามรอยกลิ่นเย้ายวนนั้น

“ดูสิ ร้านที่อรรถวิชว่าเขามีดาวมิชลินประดับตั้งสองดวงแน่ะ ท่าทางจะอร่อยแน่เลย” อรดล แก้วประเสริฐ ท่านผู้มากน้ำใจ ดีกรีอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้ทำหน้าที่เป็นจิตอาสาพาเดินในทริปนี้กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

แต่หากเทียบกับผู้นำเสนอแล้วยังคงห่างไกล เพราะหลังจากที่ได้ยินดังนั้น อรรถวิชก็มุ่งสู่หน้าร้านเรียบร้อย ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าความสุขของเขาส่งต่อสู่ผู้คนรอบกายขนาดไหน

การรับรสจากอาหารที่หลากหลาย คือความสุขทั้งทางกายและทางใจของคนตาบอดอีกหนึ่งช่องทาง

ปาท่องโก๋คาเฟ่ ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลิน ก่อตั้งมาตั้งแต่คริสต์ศักราช ๑๙๖๘ รวมระยะเวลากว่า ๕๐ ปี ผู้เขียนไม่พลาดที่จะสังเกตอย่างใกล้ชิดถึงอากัปกิริยาระหว่างรับประทานของอรรถวิช

“สมกับที่ได้ดาวมิชลินนะครับ อร่อยมาก รสชาติที่ผมชอบเลย” อรรถวิชกล่าว

“แบบนี้ต้องกินสองจานนะ” ผู้เขียนสัพยอกอย่างมีความสุขเช่นกัน ก่อนให้เขาลองชิมอย่างอื่นต่อไป

…………………….

“พี่โกะ” ได้ไปท่องโลกกว้างที่ตลาดบางลำภู มีจิตอาสาสาวสวยชื่อ “พี่เอวา” ดูแลตลอดการเดินทาง “พี่โกะ” รับรู้ถึงความสุขที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทั้งอิ่มอกอิ่มใจและอิ่มอร่อย รู้สึกพิเศษมากๆ ที่ก้าวออกมาจากความกลัวของตัวเอง

“พี่โกะ” ได้ไปท่องโลกกว้างที่ตลาดบางลำภู มีจิตอาสาสาวสวยชื่อ “พี่เอวา” ดูแลตลอดการเดินทาง “พี่โกะ” รับรู้ถึงความสุขที่สัมผัสได้ด้วยใจ ทั้งอิ่มอกอิ่มใจและอิ่มอร่อย รู้สึกพิเศษมากๆ ที่ก้าวออกมาจากความกลัวของตัวเอง

เมื่อความมืดมิดไม่สามารถปิดกั้นความกระหายใคร่รู้เรื่องราวต่างๆ บนโลกใบนี้ พวกเราจึงเลือกที่จะออกสำรวจโลกกว้างอย่างกล้าหาญ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคนับร้อยที่คอยบั่นทอนความมุ่งมั่นให้ถดถอย แต่ด้วยความเชื่อและความหวังที่อยากยืนหยัดอยู่ในสังคมได้ ไม่เป็นภาระใคร ประสาทสัมผัสที่เหลือจึงถูกฝึกใช้งานอย่างหนัก เพื่อปรับรูปแบบในการดำเนินชีวิต

“โลกของคนตาบอดไม่ใช่โลกที่มืดมิด ตราบใดที่พวกเรายังรับรู้ เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เราก็ไม่ต่างอะไรกับคนตาดี เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการมองเห็นแค่นั้นเอง”

พีรพล มหาภาพ อายุ ๓๗ ปี หลังจากที่เขาได้สูญเสียการมองเห็นมากว่า ๘ ปีด้วยโรคจอประสาทตาเสื่อม เขาใช้เวลาส่วนใหญ่สำรวจโลกผ่านการวิ่งมาราธอนและออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างอิสระ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมไม่แพ้คนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกัน อรรถวิช สุขสวัสดิ์ วัย ๓๓ ปี อดีตเซลล์เอ็นจิเนียร์ผู้รุ่งโรจน์ สู่บุคคลในโลกมืดอย่างถาวร เขากล่าวว่า

“การออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านคือเรื่องที่ต้องทำและจำเป็นมาก นอกจากได้พบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจแล้วยังทำให้หลุดออกจากความคิดแง่ลบหลังจากสูญเสียการมองเห็นด้วย

“ขอเพียงมีความกล้าเพียงเล็กน้อยที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพียงแค่นี้เราก็จะสามารถเริ่มก้าวแรกนอกบ้านได้อย่างแน่นอน

“ถ้าไม่ย่อท้อธรรมชาติก็พร้อมจะจัดเตรียมเติมเต็มส่วนที่ขาดหายทดแทนให้เราเสมอ”

ทุกคนมีสิทธิ์เลือกดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับคนพิเศษกลุ่มนี้

แม้ทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม แต่พวกเราเลือกใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น เพื่อออกเดินทางค้นหาสิ่งใหม่ ด้วยหัวใจ ใช้สิ่งที่เหลืออยู่คุ้มค่าที่สุด

ก้าวพ้นขีดจำกัด ขจัดความไม่รู้ อยู่อย่างเป็นสุข