เรื่องและภาพ : ทีมดุ๋งดุ๋งในทุ่งชบาบาน ค่ายนักเล่าความสุข
บ้านไม้สีน้ำตาลเข้มหลังเก่าคร่ำครึ มุงหลังคาด้วยสังกะสี บางแผ่นเก่าเสียจนสนิมขึ้น บางแผ่นหลุดร่วงลงบ้าง แต่ก็เป็นความเก่าที่ไม่เคยทำร้ายใครให้เจ็บปวด
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่ย่านชุมชนแถวสะพานใหม่มานับครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ที่ดินรอบข้างยังเต็มไปด้วยต้นไม้เล็กใหญ่และกอหญ้ารกร้าง จวบจนวาระสุดท้ายที่ความเจริญตามยุคสมัยจากสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ค่อยๆ เติบโตตั้งตระหง่านบดบังเสียจนมิด แม้แต่คลองที่เคยมีน้ำใสสะอาดตากลับกลายเป็นคลองน้ำเสียสีดำมืดที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลและขยะหลากชนิดที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์
บ้านหลังนี้เป็นบ้านในความทรงจำของ คุณยายบุญธรรม ทับสายทอง หรือ “ยายธรรม” หญิงชราวัย ๘๘ ปี
“ชีวิตของยายเมื่อก่อนน่ะ ลำบากเหลือเกิน ถ้าเป็นไปได้ยายก็ไม่อยากให้ใครลำบากแบบนี้”
หญิงชราผมสีขาวโพลน รูปร่างอวบอ้วน ผิวสีดำแดง มีแต่รอยเหี่ยวย่นนับไม่ถ้วน
คงเหมือนกับร่องรอยแห่งความทรงจำที่ผสมปนเปกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อคุณยายเริ่มเอ่ยปากเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กของตนเอง น้ำเสียงของเธอสั่นเครือด้วยความเศร้าโศก
เด็กสาวกำพร้าที่แทบจะไม่มีใครรับอุปการะเลี้ยงดูต้องไปอาศัยลุงกับป้าสะใภ้แถวบางมด ถึงแม้ว่ายังมีญาติให้พอพึ่งพาอาศัยได้ แต่ชีวิตไม่ราบรื่นเท่าไรนัก เพราะตนเองไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของพวกเขา
ขณะที่เด็กคนอื่นกินอิ่มนอนหลับอย่างสุขสบาย แต่คุณยายในวัยเด็กยังต้องอดทนทำงานหนัก ปีนต้นหมากวันละหลายต้น บางครั้งก็ต้องเก็บกินผลไม้ที่ลอยมาตามน้ำ
“ตอนเด็กๆ เราก็ไปยืนมองเขาซื้อขนมกินกัน เราไม่มีเงินซื้อ เข้าไปใต้ถุนก็เอาของที่เด็กรวยๆ กินเหลือมากินต่อ”
เด็กหญิงบุญธรรมทำแบบนั้นอยู่หลายครั้งหลายคราเพื่อประทังความหิวโหย แต่บางครั้งก็ยังพอมีโชคชะตาช่วยเหลืออยู่บ้าง เพราะเด็กสาวคนนี้เรียนเก่ง เพื่อนร่วมชั้นบางคนจึงแบ่งขนมและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ให้เธอแลกกับการสอนการบ้าน
ถึงแม้ว่าบุญธรรมรักการเรียน คุณครูชื่นชมตลอดว่าเป็นเด็กหัวดีและมีความประพฤติที่ดี แต่เมื่อจบการศึกษาระดับชั้น ป. ๔ คุณครูแปลกใจมากว่าทำไมนักเรียนคนนี้ถึงไม่เรียนต่อ ทั้งๆ ที่ตั้งใจเรียนและสอบได้คะแนนที่ดีเป็นประจำ
แต่เรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่าความแปลกใจของคุณครูในความรู้สึกของคุณยายขณะนั้น คือความเสียใจที่ตนเองไม่ได้สานต่อความฝันและทำในสิ่งที่รัก
ชีวิตช่วงนั้นเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะลุงของคุณยายเสียชีวิตจึงทำให้ถูกป้าสะใภ้ไล่ไปทำนาอยู่กับญาติแถวลาดปลาเค้า
ความผิดหวังจากการไม่ได้เรียนต่อยังคงเป็นความเสียใจครั้งยิ่งใหญ่ในความทรงจำของหญิงชราคนนี้ตลอดมา
เมื่อเด็กหญิงบุญธรรมเติบโตจนมีอายุ ๑๙ ปี มีทหารหนุ่มมาสู่ขอเธอกับญาติผู้ใหญ่ที่คุณยายอยู่ด้วยตามธรรมเนียม และในที่สุดพวกเขาก็ได้แต่งงานกัน
แต่การแต่งงานครั้งนี้ไม่ได้ลงเอยด้วยความสุขเหมือนในละครโทรทัศน์
กลับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความโกลาหลในชีวิตของสาววัยรุ่นผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายจนแทบจะชาชินกับความเจ็บปวด
สามีของเธอเป็นคนเจ้าชู้ แถมยังเอาผู้หญิงหลายคนมาพักอาศัยในบ้านร่วมชายคาเดียวกัน แต่สาวบุญธรรมก็ไม่เคยดุด่าหรือไล่พวกเขาออกจากบ้าน เพราะความสงสารและเข้าใจหัวอกผู้หญิงด้วยกัน จึงเป็นที่รักของเหล่าภรรยาเทียมในบ้าน
นอกจากนี้ บุญธรรมยังเมตตาช่วยรับเลี้ยงเด็กๆ ลูกของภริยาเหล่านั้นจนพวกเขาตัดสินใจที่จะออกจากบ้านหลังนั้นไป เพราะรู้สึกสงสารและละอายใจ
ถึงแม้ชีวิตของบุญธรรมจะเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้าย แต่พลังแห่งความพยายาม ความคิดบวก และความคิดดีนั้นทำให้เธอประสบความสำเร็จในการทำสร้อยขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำให้หญิงสาวผู้มีจิตใจที่แข็งแกร่งร่ำรวยขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
สมัยนั้นบุญธรรมได้เงินจากการทำสร้อย รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอย่างต่ำประมาณหมื่นกว่าบาท
เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เธอได้สานฝันของตนเองผ่านเด็กๆ ที่รับมาอุปการะด้วยความเต็มใจ
เด็กที่บุญธรรมรับมาอุปการะมักอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน บางคนเป็นเด็กกำพร้า บ้างครอบครัวไม่สามารถดูแลได้จึงนำมาให้ช่วยเลี้ยงดู
ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีที่เด็กๆ เหล่านั้นได้มาอยู่ในความดูแลของผู้ใจดีคนนี้
แม้บางครอบครัวให้เงินค่าจ้าง บางครอบครัวก็ให้บ้างไม่ให้บ้าง ที่ไม่ให้สักบาทก็มี ทว่าเงินก็ไม่ใช่ตัวแปรที่มีผลใดๆ ต่อความรักและความเมตตาที่คุณยายมีให้เด็กในอุปการะทุกคน
คำว่า “ลูก” ของคนอื่นๆ อาจเป็นคำที่ใช้เรียกบุตรหลานที่เป็นญาติแท้ๆ แต่สำหรับบุญธรรม คำนี้ใช้เรียกเด็กคนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด
บุญธรรมอยู่กับคำนี้มาตลอดชีวิต ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ชู้ของสามีตนเองมานอนในบ้านจนตนเองกลายเป็นหญิงชรา
คำว่า “ลูก” ของคุณยายมีพลังยิ่งใหญ่มากพอจนทำให้เด็กหลายคนที่แทบไม่มีโอกาสจะมีชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในอนาคตอย่างไม่ต้องอายใคร
คุณยายรับอุปการะเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ใช่บุตรหลานแท้ๆ ของตนเองกว่า ๑๐ คน ตั้งใจเลี้ยงเด็กทุกคนให้เติบโตไปเป็นคนดีและมีอนาคตที่ดี
อันที่จริง คุณยายธรรมมีลูกในสายเลือดสองคน คนโตเป็นผู้ชายแต่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนคนรองเป็นผู้หญิง มีวัยเป็น “พี่ใหญ่” ในบรรดาลูกๆ ต่างสายเลือด แต่คุณยายไม่เคยลำเอียง ไม่เคยมอบสิทธิพิเศษแก่ใคร และไม่เคยรักลูกไม่เท่ากัน แถมยังมีวิธีการสอนเด็กๆ ทุกคนในแบบของตนเอง อย่างน่าสนใจ
“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นคนดีได้ ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ”
คุณยายพร่ำสอนเด็กๆ เสมอว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่สิ่งที่เลือกได้ คือ การกระทำดี เพราะถ้าเราทำดี มีความพยายาม ความสำเร็จก็จะเข้ามาหาเรา แล้วคุณยายมักจะเล่าเรื่องราวความสำเร็จในชีวิตของตนเองให้ฟังอย่างภาคภูมิใจเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ
สิ่งนี้อาจดูเป็นเพียงการสั่งสอนอบรมทั่วไปในการได้ยินของคนอื่น แต่สำหรับเด็กๆ เหล่านั้นกลับกลายเป็นสิ่งตราตรึงจิตใจ และเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินชีวิตสู่เส้นทางแห่งความสุขในฝันของตนเอง
“อยากเป็นโจรที่คนอื่นเกลียด หรืออยากเป็นทหารที่มียศเต็มบ่า”
คุณยายเล่าว่าการสอนเด็กให้เป็นคนดีไม่ควรเริ่มต้นจากการทำโทษเด็กด้วยการตี แต่เป็นการสั่งสอนทางคำพูดก่อนว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ
ถ้าลูกเลือกที่จะทำในสิ่งที่ดี นั่นถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในชีวิตของคุณยายด้วย แล้วถ้าเด็กคนนั้นยิ่งประสบความสำเร็จในชีวิต คุณยายยิ่งปลื้มปีติจนอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ เรียกได้ว่า “ความสุขล้นใจ” อย่างแท้จริง
อย่าง พ.อ.อ. หญิงเบญจวรรณ วัฒนจินดา หรือแอน ลูกลำดับท้ายๆ ของคุณยายที่เป็นเด็กเรียนเก่งมาตั้งแต่จำความได้ และประสบความสำเร็จกับการเป็นทหารอากาศในกองดุริยางค์
“เมื่อนั้น ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษี..”
“สองคูณหนึ่งเป็นสอง สองคูณสองเป็นสี่..”
เสียงอ่านหนังสือรามเกียรติ์ระดับชั้นประถมศึกษา และเสียงท่องสูตรคูณเจื้อยแจ้วของเด็กน้อยหลายคนจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเสียงเหล่านั้นเงียบไปสักพัก จู่ๆ ก็มีเสียงเฮดังลั่นตามมาไม่ขาดสาย เพราะเด็กๆ เหล่านั้นได้รับรางวัลจากการตั้งใจเรียนหนังสือกับคุณครูธรรม
คุณยายสอนประกอบกับให้รางวัลเป็นขนมที่เด็กๆ ชอบ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจแน่วแน่ในการเรียน
คุณยายตั้งใจสอนลูกๆ ให้อ่านออกเขียนได้ด้วยตนเองตั้งแต่ยังเล็ก บางคนสามารถอ่านหนังสือคำกลอนระดับชั้น ป. ๖ ออกตั้งแต่ยังเป็นเด็กอนุบาล เพื่อนบ้านแถวนั้นรู้กันดีว่าฝีมือการสอนหนังสือของยายธรรมนั้นไม่ธรรมดา จึงไม่แปลกที่เด็กๆ ประสบความสำเร็จในอนาคต แถมลูกๆ บางคนยังประทับใจกับความเป็นครูของยายธรรมจนทำให้พวกเขาประสบสำเร็จในอาชีพครูอีกด้วย
.
“ติ๊ง.. ติง.. ติ่ง.. ติ๊ง.. ติ้ง.. เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง หวานปานน้ำพึ่งเดือนห้า…”
เสียงบรรเลงเพลงจากเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดดังจากใต้ถุนบ้านไม้หลังเก่ายามรุ่งอรุณ
เสียงนั้นดังขึ้นทุกเช้าของวันหยุดสุดสัปดาห์ บางครั้งมีเสียงหญิงชราร้องเพลงคลอประกอบ หญิงชราคนนั้นดูเหมือนจะขวยเขินที่จะร้องออกมาดังลั่น เธอจึงร้องเพลงเพียงแผ่วเบาคลอไปตามอารมณ์เพลง
เสียงคีย์บอร์ดนี้เป็นความสุขทางใจยามเช้าของผู้คนในซอยริมคลอง ย่านชุมชน กสบ. เสมอ บรรยากาศท่ามกลางเสียงเพลงยามเช้านี้เกิดจากมือของ บรรณวิชญ์ สมบุญ หรือแทน ชายวัยคราวหลาน ผู้เป็น “ลูก” คนสุดท้ายที่คุณยายเลี้ยงมา
“เตร๊ง…เตรง… เตร่ง…เตร้ง…”
หลังจากเสียงคีย์บอร์ดอันนุ่มนวลบรรเลงจบ บางครั้งเสียงระนาดเอกของใครบางคนบนบ้านก็ดังขึ้นต่อจากการบรรเลงดนตรีสากลเมื่อครู่
เพลงที่ขาดไม่ได้คงเป็นเพลง “ค้างคาวกินกล้วย” ที่มอบความสนุกสนานสำราญใจแก่ผู้ฟังทุกท่าน สัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจของผู้บรรเลงในท่วงทำนองดนตรีไทยอันอ่อนละมุน เสียงนี้บรรเลงโดย เริงชัย พรหมจันทึก หรือ คิว “ลูก” คนเกือบสุดท้ายของคุณยาย ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของแทน
บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยสุนทรียภาพ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่คุณยายสนับสนุนอย่างเต็มที่
คุณยายเล่าว่าการเล่นดนตรีทำให้คนคนนั้นเป็นคนอารมณ์ดี และยังสามารถส่งต่อความสุขให้คนอื่นได้อีก
คุณยายอยากให้ “ลูกๆ” มีความสามารถพิเศษติดตัว เพราะอาจมีประโยชน์ในอนาคต เป็นการฝึกทำอะไรอย่างแน่วแน่ และทำให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ
เหมือนกับแอน ทหารอากาศหญิงในกองดุริยางค์ผู้มีไวโอลินเป็นเพื่อนซี้คู่ใจอยู่เคียงข้างความสำเร็จในชีวิต
นอกจากความสามารถเรื่องการดนตรี บางครั้งคุณยายยังสอนดูดวงกราฟชีวิตและดูดวงแบบต่างๆ ตามตำราพรหมชาติ สอนทำงานบ้านงานเรือนแก่เด็กหญิง และยังปลูกฝังคติเตือนใจอันดีงามผ่านบทกลอนหลากหลายประเภทที่คุณยายประทับใจ
การได้เป็นหนึ่งในบรรดาลูกหลานของคุณยายนั้นสะท้อนว่าความสุขเกิดจากอะไรหลายๆ อย่าง
บางครั้งความสุขก็เกิดได้จากความทุกข์ใจแต่แรกเริ่ม เปรียบเสมือนต้นไม้ต้นน้อยที่พยายามสู้ลมฝนฟ้าคะนองเพื่อเติบโตและผลิดอกออกผลเป็นต้นไม้ที่สวยงาม พร้อมให้ที่พึ่งพิงแก่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นความสุขจากการได้เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จตามความฝัน หรือความสุขที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุข
“ลูกๆ ทุกคน” ก็มีความสุขจากการได้รับสิ่งดีๆ จากคุณยาย และนั่นอาจเป็นความสุขที่ได้รับมาเพื่อส่งต่อความสุขให้แก่คนอื่นๆ ต่อไปอีก
ถึงแม้ว่าบ้านไม้ริมคลองหลังนั้นจะถูกทำลายเนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจนทำให้หญิงชราต้องทิ้งบ้านของตนเองมาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิมมากนัก
ทว่าความทรงจำแห่งความสุขและเสียงหัวเราะที่ประทับอยู่ในหัวใจของคุณยายธรรมและบรรดาลูกๆ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน
ถ้าถามตอนนี้ว่าคุณยายจำชื่อ “ลูกๆ ทุกคน” ได้หรือไม่
คำตอบคือจำได้แทบทุกคน
แต่ถ้าถามอีกรอบอาจจะมีหลงลืมไปบ้างด้วยความชราภาพ
ทุกครั้งที่ไล่ชื่อลูกๆ อาจมีสลับอันดับไปบ้างว่าใครอยู่อันดับที่เท่าไร
แต่สิ่งที่คุณยายไม่เคยลืมเลือน คือความสุขที่สอดแทรกอยู่ในทุกช่วงความทรงจำระหว่างกัน
เพราะความสุขของฉัน สานฝันของเธอ