เรื่องและภาพ : ทีมปลาทูกับหมูปิ้ง ค่ายนักเล่าความสุข
“กาลครั้งหนึ่ง ยังมีเด็กหญิงตัวน้อย อาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง กำลังง่วนอยู่กับการค้นหาความสุข เอ…ความสุขมันคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน และมันซ่อนตัวอยู่ที่ไหนกันนะ? เด็กหญิงจึงเริ่มค้นในลิ้นชักตู้ ก้มมองดูที่ใต้โซฟา เปิดผ้าห่มเพื่อตามหา พยายามค้นดูตามที่ต่างๆ ก็แล้ว แต่ก็ยังไม่เจอเจ้าความสุขที่ว่านี้สักที…”
แล้วอย่างไรต่อดี?
พวกเราเป็นนักวาดภาพมือสมัครเล่นที่กำลังมีไฟและริอยากจะทำนิทานภาพสำหรับเด็กขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง
เดิมทีเราคิดว่า เพียงแค่มีฝีมือทางศิลปะสักนิด วาดรูปประกอบให้สวยๆ แล้วใส่ตัวละครกับเรื่องราวเข้าไปสักหน่อย ไม่น่าจะใช่เรื่องยากเย็นอะไร
…
แต่พอเริ่มลงมือแต่งและวาดนิทานเองแล้ว กลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื้อหาในนิทานควรเป็นอย่างไร?
จะให้ข้อคิดเกี่ยวอะไร ?
แล้วภาพประกอบล่ะ ควรจะใช้เทคนิคแบบไหนจึงจะสื่อสารไปสู่เด็กๆ อย่างที่เราตั้งใจได้?
และที่สำคัญ เด็กๆ จะชอบนิทานภาพของเรากันหรือเปล่านะ?
การเป็นนักทำนิทานดูเหมือนต้องใช้จินตนาการและความสามารถมากพอตัว
คงมีน้อยคนทราบเรื่องราวเบื้องลึก รวมถึงผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นิทานเหล่านั้น
– – –
ณ บ้านหลังหนึ่งแถบชานเมือง รายล้อมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มนานาพันธุ์ เห็นชัดถึงการเอาใจใส่ดูแล ชายในชุดอยู่บ้านเปิดประตูต้อนรับเราสองคนด้วยรอยยิ้มกว้าง
ในบ้านแลดูอบอุ่นด้วยเครื่องเรือนและพื้นไม้สีเข้ม ตื่นตากับข้าวของเครื่องใช้น่ารัก โมเดลของเล่นของสะสม และภาพวาดที่จัดวางอยู่ตามมุมนั้นมุมนี้
หญิงอีกคนหนึ่งโผล่หน้าจากห้องครัวทักทาย ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มเช่นกัน
เจ้าของบ้านที่แสนน่ารักแห่งนี้ คือ บอม-กฤษณะ กาญจนาภา และอ้อย-วชิราวรรณ ทับเสือ สองสามีภรรยานักสร้างสรรค์นิทานที่ทำงานเป็นทีมในนาม Littleblackoz Studio มีผลงานนิทานภาพสำหรับเด็กกว่าร้อยชิ้นในช่วงราวสิบปี
ทั้งสองจบการศึกษาด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ ทำงานประจำในวงการที่ร่ำเรียนมาระยะหนึ่ง ก่อนจะออกมาทำงานอิสระ ช่วยกันรับงานวาดภาพประกอบและเป็นนักทำหนังสือนิทานภาพ
“ตอนนี้เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ สิ่งที่ต้องการจริงๆ แล้วมีเท่านี้ ไม่ได้มากมายอะไรเลย”
บอมเล่าด้วยรอยยิ้ม
“ช่วงแรกที่ออกจากงานประจำเราคิดแค่ว่าอยากประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้มีความสุข วาดรูปนี่แหละ ถนัด เป็นจุดเด่นของเราทั้งคู่”
“ตัวเราโดยธรรมชาติแล้วเข้ากับเด็กๆ ได้ดี…คือเด็กเขาบอกมานะ ไม่ใช่เราคิดเองเออเอง” อ้อยที่กำลังวาดรูปและลงสีตัวละครสำหรับนิทานเรื่องหนึ่ง เสริมขึ้นพร้อมเสียงหัวเราะ
“ช่วงเริ่มทำหนังสือนิทาน โชคดีว่ามีเด็กแถวบ้านสองคนที่มักจะขี่รถสามล้อของเล่นผ่านหน้าบ้านทุกวัน พอเราเริ่มทำความรู้จัก สร้างความสัมพันธ์ ก็ได้เรียนรู้ว่าควรจะเล่นกับเขายังไง ไม่ใช่แบบผู้ใหญ่กับเด็ก แต่เป็นเพื่อนกับเพื่อน เขาสอนเราทางอ้อมให้เรียนรู้วิธีคิด มุมมอง และธรรมชาติของเด็ก ซึ่งเป็นประโยชน์และนำมาปรับใช้”
หน้าต่างบานใหญ่นำพาแสงอาทิตย์ในยามบ่ายเข้ามา ตามชั้นวางของและตู้เป็นทั้งพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจเรียงรายไปด้วยหนังสือ อุปกรณ์ศิลปะ จนถึงเหล่าตุ๊กตาดินที่ถูกออกแบบและปั้นขึ้นจากฝีมือของคนทั้งคู่ แบบร่างภาพประกอบสำหรับนิทานเรื่องใหม่วางแผ่บนโต๊ะทำงานตัวใหญ่
สองนักทำนิทานเล่าต่อว่า การทำนิทานภาพไม่ใช่แค่การแต่งเรื่องและวาดรูปประกอบเพื่อบอกเล่าหรือสอนอะไรบางอย่างให้เด็กๆ เท่านั้น
แต่เปรียบเสมือนการ “ออกแบบความสนุก” สนุกอย่างไร? รู้สึกกับภาพนี้อย่างไร? และจะส่งต่อไปยังหน้าถัดไปอย่างไร?
นิทานแต่ละหน้าจึงผ่านการคิดวางแผนอย่างละเอียดลออ ทั้งเรื่องของจังหวะและลำดับหน้า จนถึงลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่สอดแทรกอยู่
“เด็กๆ เขาจะสังเกตรายละเอียดทุกอย่าง เช่นพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละคร ถ้าหน้าแรกใส่เสื้อสีนี้ แต่พอหน้าหลังสีเสื้อเพี้ยนไปแค่นิดเดียว เขาจะจับได้ทันที เอ๊ะ! เจ้าตัวนี้เปลี่ยนเสื้อผ้าตั้งแต่ตอนไหน?” อ้อยยิ้ม
ทั้งสองเล่าต่อว่า นอกจากการแต่งเรื่องราวให้สนุกและการวาดภาพประกอบที่สวยงามชวนให้ติดตามแล้ว การถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
บอมหยิบหนังสือภาพเรื่อง กล้วยน้ำว้าหน้าเหลือง ให้พวกเราดู
“อย่างเล่มนี้ จุดประสงค์คือเพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักกล้วยและส่วนประกอบของต้นกล้วย กว่าจะทำออกมาได้ ต้องศึกษาข้อมูลเยอะมาก…ส่วนต่างๆ มีลักษณะหน้าตาอย่างไร? แตกใบอย่างไร? หัวปลีของกล้วยพันธุ์นี้แตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ อย่างไร? หน่อแยกจากต้นและงอกจากดินแบบไหน? เราถึงกับต้องไปขอคำปรึกษาและเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยโดยเฉพาะเลยนะ
“และสุดท้าย ความท้าทายคือเราจะต้องทำหน้าที่นำข้อมูลรายละเอียดที่ถูกต้องเหล่านี้ ถ่ายทอดออกมาผ่านภาพประกอบและเรื่องราวที่ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายให้เด็ก ๆ ได้ทั้งความสนุกและได้รับความรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง” คุณบอมอธิบายถึงขั้นตอนการทำงาน”
หลังจากพลิกดูหนังสือนิทานภาพของนักทำนิทานทั้งสอง พวกเราเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจขึ้นอย่างประหลาด นึกสงสัยถึงที่มาของแรงบันดาลใจและเคล็ดลับที่ทำให้นิทานเรื่องหนึ่งๆ มีเสน่ห์ได้ขนาดนี้
“แรงบันดาลใจคือสิ่งรอบๆ ตัว จากสิ่งใกล้ๆ ตัวที่ให้ความประทับใจหรือความรู้สึกตราตรึงบางอย่าง พอแต่งเรื่องหรือสร้างตัวละครขึ้นจากความรู้สึกภายในของตัวเราเอง จะทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนั้นได้ดี งานที่ออกมาก็จะแฝงความรู้สึกบางอย่าง”
บอมเล่าต่อถึงเบื้องหลังการสร้างนิทานภาพ บาบา เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดตัวใหญ่รูปร่างหน้าตาน่ากลัว จนบรรดาลูกสัตว์ในป่าต่างหวาดผวาและคิดไปเองว่าเป็นผู้ร้ายที่จะจับพวกเขาไปกิน
“มันเป็นเรื่องราวของตัวผมเอง เมื่อก่อนไว้ผมยาว มีหนวด ดูน่ากลัว ไม่ค่อยเป็นมิตร แม้แต่เด็กๆ แถวบ้านที่ตอนนี้สนิทกันเขาก็กลัวมาก แต่พอเริ่มทำความรู้จัก เด็กพวกนั้นถึงได้รู้ว่าที่จริงแล้วผมเป็นคนใจดี” บอมหัวเราะ
“เราจึงถ่ายทอดเป็นเรื่องราวของการไม่ตัดสินคนที่หน้าตา คนที่ดูแล้วน่ากลัวภายในลึกๆ เค้าอาจเป็นคนดีก็ได้”
– – –
พวกเรามีโอกาสเยี่ยมเยือนบ้านของครอบครัวเล็กๆ เด็กหญิงในชุดกระโปรงน่ารัก กำลังง่วนอยู่กับตัวต่อบ้านไม้ซึ่งเป็นของเล่นใหม่ โดยมีคุณแม่นั่งอยู่ไม่ไกล คอยให้คำแนะนำและพูดคุยหยอกล้อด้วยรอยยิ้ม
ชายคนหนึ่งเดินเข้ามานั่งลงที่เก้าอี้ข้างๆ ผู้เป็นแม่พร้อมกล่าวชักชวน
“ลูก มาอ่านนิทานกัน”
หนูน้อยรีบวางมือจากของเล่น กระโดดขึ้นนั่งตักคุณแม่ทันที
ผู้เป็นพ่อเปิดนิทานภาพเรื่อง บาบา แล้วเริ่มเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงชวนตื่นเต้น
สายตาของเด็กหญิงจับจ้องอยู่ที่ภาพในหนังสืออย่างพินิจพิเคราะห์ รอยยิ้มของเธอบ่งบอกว่ากำลังเพลิดเพลินไม่น้อย เสียงหัวเราะคิกคักหลุดออกมาเป็นครั้งคราวเมื่อพ่อแกล้งทำน้ำเสียงตลก
“บาบาน่ากลัวไหม?” คุณพ่อถามขึ้นเมื่อเล่าจนจบหน้าสุดท้าย
“ไม่น่ากลัวเลย เพราะบาบาใจดี มีเขางอกจากหัวเป็นต้นไม้แล้วก็มีดอกไม้ด้วย หนูชอบต้นไม้กับดอกไม้”
พวกเราที่นั่งสังเกตครอบครัวนี้อยู่ไม่ไกล นึกเอ็นดูในความช่างสังเกตของเด็กตัวน้อย จึงเอ่ยถามไปว่า
“ทำไมหนูถึงชอบฟังนิทานเหรอจ๊ะ?”
แทนคำตอบเด็กหญิงวิ่งไปที่ข้างโต๊ะ เขย่งเท้าเอื้อมหยิบหนังสือนิทานภาพอีกเล่มหนึ่งกลับไปยื่นให้คุณพ่อ พร้อมอ้อนวอนเสียงหวานให้อ่านให้ฟังอีกครั้ง
– – –
ทำให้พวกเราย้อนนึกถึงบทสนทนาระหว่างเรากับสองนักทำนิทานที่ว่า คิดว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบนิทาน?
“ที่จริงแล้วหนังสือนิทานเป็นเหมือนเครื่องมือเชื่อมเด็กกับพ่อแม่เข้าด้วยกันเท่านั้นเอง เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้คนในครอบครัวมีความสุข” อ้อยตอบอย่างไม่ลังเล
“ความสำคัญอยู่ตรงที่พ่อแม่ได้อ่านนิทานให้ลูกฟัง เขาได้ใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ ไม่ว่านิทานจะเป็นเรื่องอะไรก็จะกลายเป็นความสุขของเขา ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผลจากตัวหนังสือเพียงลำพังแต่มาจากพ่อแม่ด้วย” บอมกล่าวเสริม
นักทำนิทานทั้งสองกล่าวตบท้ายว่า พวกเขาภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นคน “สร้างตัวเชื่อม” นี้ ให้เด็กๆ กับพ่อแม่มีกิจกรรมร่วมกัน ใช้เวลาร่วมกัน มีความสุขร่วมกัน
“ได้เห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุข”
– – –
พวกเราในฐานะมือใหม่สมัครเล่นที่อยากจะทำหนังสือนิทานเด็กได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวจากนักทำนิทานภาพมืออาชีพแล้ว มองเผิน ๆ อาจเป็นงานที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่และอาจไม่ทำให้โด่งดังหรือเป็นที่รู้จักมากนัก แต่พวกเรายิ่งมีไฟมากขึ้นในการทำความฝันนี้
ไม่ใช่เพียงเพราะจะได้ทำสิ่งที่ชอบ…แต่งเรื่อง วาดรูป
แต่มากกว่านั้นคือการจะได้ทำหน้าที่เป็นส่วนเล็กๆ ช่วยขับเคลื่อนวงจรแห่งความสุข จากความสุขของเราเองสู่ครอบครัว สู่เด็กๆ…
และนี่ คือตอนจบของนิทานภาพของเรา
“เด็กหญิงตัวน้อย ฟังคุณพ่อเล่าเรื่องราวจากนิทานภาพ สายตาจับจ้องภาพวาดสีสดสวยในหนังสืออย่างตั้งใจ อันที่จริงคุณพ่อเคยเล่านิทานเรื่องนี้ให้เธอฟังมาตั้งหลายรอบแล้ว แต่ไม่ว่าจะฟังกี่หนก็ยังรู้สึกสนุกอยู่ดี และทุกๆ ครั้งก็จะมีไออุ่นจากคุณแม่ที่นั่งฟังอยู่ด้วยกันคอยโอบกอดเธอไว้เสมอ
เด็กน้อยลืมเรื่องการตามหาความสุขไปเสียสนิท
สรุปแล้วเจ้าความสุขมันคืออะไรและหน้าตาเป็นแบบไหน ก็ไม่เห็นจะใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป
เด็กน้อยรู้แต่ว่าหนังสือนิทานเล่มนี้เป็นเล่มโปรดที่สุด เธอจ้องตาแป๋วตั้งใจฟังจนถึงประโยคสุดท้าย…
‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ ”