เรื่อง สุภัค พูลจันทร์
ภาพ พิมพ์บุญ วารินทร์

>> ลูกบอลอย่างน้อยสามลูกลอยอยู่กลางอากาศ >> สายตาผู้ควบคุมจับจ้องลูกบอลเขม็ง สองมือสลับกันรับและโยนลูกบอลอย่างมีจังหวะ ลีลาท่าทางที่สอดรับประสานกันอย่างลงตัว ชวนให้ผู้คนรอบบริเวณนั้นต่างยืนนิ่งจ้องมองตาแทบไม่กะพริบ >> เย็นย่ำบนถนนพระอาทิตย์ ผู้คนขวักไขว่ พื้นที่สาธารณะในสวนสันติชัยปราการ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ ป้อมปราการสีขาวสะอาดตาถูกจับจองเป็นที่นั่งสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนหลายช่วงวัย และเป็นลานสร้างสรรค์กิจกรรมของกลุ่มคนที่รักและหลงใหลใน “juggling” >> การละเล่นที่คล้ายจะเป็นกีฬาก็ไม่ใช่ ศิลปะก็ไม่เชิง

Juggling  ศิลปะความงามและการเคลื่อนไหว

แม่น้ำเจ้าพระยายังคงไหลเอื่อย แรงลมและแรงเรือขนส่งสินค้าชักชวนผืนน้ำให้เต้นระบำเป็นริ้วคลื่น ขณะที่คนกลุ่มเล็ก ๆ นั้นกำลังขยับเคลื่อนร่างกายและควบคุมอุปกรณ์ให้โชว์ลีลาอย่างน่าตื่นใจ

ตรงข้าง ๆ ป้อมปราการสีขาว บรรดาจั๊กเกลอร์ (juggler) นัดหมายกันมาพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนกระบวนท่า

ในการฝึกซ้อมนั้นดูเหมือนทีเล่นทีจริง แต่มองลึกในสายตาของแต่ละคนแล้ว มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยู่เต็มเปี่ยม

จั๊กกลิง (juggling) เป็นการผสมผสานศิลปะการแสดงหลายแขนง โดยเฉพาะการแสดงประเภทละครสัตว์ (circus) การแสดงตลก (clowning) ศิลปะการเต้น (dancing) รวมไปถึงการควงไฟ จั๊กกลิงถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ ๒๐๐๐ ปีก่อนศริสต์ศักราช มีประจักษ์พยานหลักฐานทางโบราณคดีคือภาพคนโยนลูกบอลสลับไปมาในอากาศตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ

แม้ว่าการเล่นจั๊กกลิงจะมีมาอย่างยาวนาน แพร่หลายและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก จนถึงขั้นก่อตั้ง international jugglers association หรือ (IJA) เป็นเสมือนองค์กรจั๊กกลิงระดับโลก แต่สำหรับเมืองไทยแล้วกิจกรรมนี้ยังได้รับการตอบรับอยู่ในวงแคบและค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงบรรดาจั๊กเกลอร์กลุ่มเล็ก ๆ ที่เล่นเพราะความรัก ความหลงใหล รวมตัวกันฝึกซ้อมตามบริเวณสวนสาธารณะหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศมีผู้เล่นอย่างจริงจังซึ่งมีอุปกรณ์หลายชิ้นเป็นของตนเองเพียง ๒๐-๓๐ คนเท่านั้น

ในแง่เป้าหมายของผู้เล่นจั๊กกลิง ไม่ได้แตกต่างจากนักกีฬาที่มุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อชัยชนะ หรือผู้หลงใหลการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ มากกว่านั้นคือการพัฒนาความสามารถสู่โอกาสด้านการแสดง

เพทาย สุขสว่าง หรือโด่ง จั๊กเกลอร์หนุ่มวัย ๒๕ ปี เป็นผู้หลงใหลในจั๊กกลิงมากว่า ๑๐ ปี จนสามารถประกอบอาชีพและแสวงหาโอกาสให้กับชีวิตของตนเองจากกิจกรรมที่รัก บุคลิกภาพที่กำยำด้วยกล้ามเนื้อส่งให้โด่งดูแข็งแรงทะมัดทะแมง ยิ่งตอนที่เขาวางลูกแก้วทรงกลมบนแขนแล้วควบคุมลูกแก้วให้ลื่นไหลไปบนร่างกายนั้น ดูนุ่มนวลอ่อนโยน และเชี่ยวชาญ

สำหรับเขาแล้ว จั๊กกลิงเป็นความงามของการสร้างสรรค์ความเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับศิลปะการเต้นแขนงอื่น ๆ

“เราสร้างท่วงท่าที่งดงามประกอบดนตรีทุกระดับทุกแขนง จั๊กเกลอร์บางคนชอบบี-บอย บางคนอาจชอบลูกทุ่ง

หรือบางคนชอบบัลเลต์ การเล่นจั๊กกลิงไม่ใช่สิ่งตายตัว” โด่งอธิบายด้วยสีหน้าที่ดูตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา

หลายคนคงเคยมีโอกาสชื่นชมการแสดงควงกระบองไฟบนเกาะหลายแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย เคยสังเกตกันหรือไม่ว่าอุปกรณ์ของผู้ควงกระบองไฟนั้นคล้ายคลึงกับอุปกรณ์อย่างหนึ่งของจั๊กกลิง โด่งบอกว่าอุปกรณ์นั้นเรียกว่าพอย (poi)

ลีลาการควงไฟของโด่งไม่ธรรมดา

เขาสร้างสรรค์ท่วงท่างดงามพลิ้วไหวอย่างมืออาชีพ แสงกะพริบจากไฟแอลอีดี (LED) สลับสีไปมา ช่วยส่งให้ค่ำคืนย่านถนนพระอาทิตย์เต็มไปด้วยสีสัน

“ในต่างประเทศเขาห้ามเล่นไฟนะ แต่ที่ไทยเล่นควงไฟโชว์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จึงไม่แปลกที่เราจะพบคนควงไฟตามเกาะต่าง ๆ”

หากมองว่าการควงกระบองไฟเป็นส่วนหนึ่งของจั๊กกลิง จำนวนจั๊กเกลอร์ก็อาจมีถึง ๑๐๐-๒๐๐ คน แต่สำหรับโด่งแล้วเขามองว่าคนเล่นควงไฟเป็นคนละกลุ่ม เพราะเสน่ห์ของจั๊กกลิงคือความแปลกและอุปกรณ์จำนวนมากที่สร้างความสนุกได้หลากหลาย

กว่าจะฝึกฝนเล่นจนกลายมาเป็นผู้ที่เรียกตนเองว่า “จั๊กเกลอร์” ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องทุ่มเทอย่างหนัก

การฝึกซ้อมจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของการประสานงานระหว่างมือกับสมอง การจดจ่อกับการควบคุมอุปกรณ์ช่วยสร้างสมาธิและปฏิภาณไหวพริบ ขณะที่ผู้เล่นต้องตระหนักถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ ระมัดระวังทุกย่างก้าวและทุกการเคลื่อนไหว สมองของคนเราก็เหมือนกับกล้ามเนื้อที่ต้องการการออกกำลังเพื่อให้ความคิดและไหวพริบพัฒนา ดังนั้นการเล่นจั๊กกลิงจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้สมองบางส่วนเติบโตขึ้น
การเล่นจั๊กกลิงยังเป็นกิจกรรมเสริมสุขภาพที่ยังประโยชน์โดดเด่นให้กับร่างกายทุกส่วน ถือเป็นการบริหารสายตา มือ แขน ขา ช่วงเอวลงไปถึงสะโพก นอกจากนี้การสร้างสรรค์ลีลาเคลื่อนไหวให้ลื่นไหลสวยงามตามจังหวะเพลงและตามจังหวะหัวใจและจินตนาการของผู้เล่นก็ถือเป็นหัวใจสำคัญ

โด่งถือเป็นจั๊กเกลอร์ที่มีความสามารถโดดเด่น เขาเล่นอุปกรณ์ได้หลายชนิด และมุ่งมั่นค้นหาโอกาสให้กับตนเองอยู่เสมอ แต่ที่สำคัญจั๊กกลิงเป็นการสร้างมิตรภาพ

“ตอนนี้หากินกับมันได้ ผมโชคดีที่ได้อะไรหลายอย่างจากจั๊กกลิง ได้ออกกำลังกาย ได้เพื่อน ได้สังคม ได้ฝึกภาษาเพราะต้องพบกับชาวต่างชาติที่มาชมเรา ได้เงิน และยังได้โอกาสไปแสดงที่ต่างประเทศด้วย” โด่งเล่าอย่างภูมิใจและด้วยความรักในอาชีพอิสระนี้

ฐิติรัตน์ ชาญชัยศิริ หรืออะตอม สาวร่างเล็กวัย ๒๕ ปี เธอหลงใหลเสน่ห์ของศิลปะการเคลื่อนไหวอันนิ่มนวล และสะกดสายตาใครต่อใครด้วยลีลาเฉพาะตัวกับการเล่นห่วง หรือฮูป (hoop) ให้หมุนอยู่บนส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเธอได้มากถึงสามห่วง

เริ่มต้นด้วยการทำให้ฮูปหมุนอยู่บนข้อมือทั้งสองข้างที่ชูขึ้นเหนือศีรษะ แล้วค่อย ๆ ไล่ลงมาจนถึงเอวก่อนเปลี่ยนท่วงท่าตามความถนัด

แม้ว่าห่วงจะหมุนเร็วแค่ไหน แต่ร่างกายของเธอกลับเคลื่อนไหวอย่างลื่นไหลและอ่อนโยน

อะตอมมีห่วงเป็นอุปกรณ์คู่ใจ รอยยิ้มของเธอยามสวมวิญญาณจั๊กเกลอร์สายห่วงดูเปี่ยมด้วยเสน่ห์จริงใจ ประกอบกับท่วงท่าที่อ่อนโยนทว่าทรงพลังนั้นช่วยเรียกผู้คนให้สนใจกิจกรรมของเธอได้ไม่น้อย

อะตอมเล่าว่ารู้จักจั๊กกลิงเมื่อ ๕ ปีก่อน และสนใจเล่นห่วงมากว่า ๓ ปีแล้ว

“ตอนเด็ก ๆ อยากเรียนเต้นมาก แต่ไม่มีโอกาส เราเก็บความรู้สึกนั้นไว้ตลอด กระทั่งมาเจอฮูป ตอนนี้รู้สึกมีความสุขมาก” เธอยิ้มให้กับความหลัง

เธอเชื้อเชิญให้ผู้ชมลองควบคุมห่วงขั้นเบื้องต้น อะตอมแนะนำว่าต้องหมุนห่วงด้วยข้อมือแทนการใช้ไหล่ เธออธิบายว่าทำเช่นนี้เพื่อลวงสายตาให้ดูเสมือนว่าห่วงเคลื่อนไหวหรือหมุนไปเอง เนื่องจากผู้ชมจะไม่เห็นการเคลื่อนไหวลำแขนของผู้เล่น

ถึงแม้ว่าความหมายของจั๊กกลิงในระดับสากลจะระบุว่าเป็นกีฬาและศิลปะ (sport and art) แต่สำหรับผู้เล่นชาวไทยอย่างอะตอมกลับมองว่า “มันคือศิลปะมากกว่ากีฬานะ”

บางคนให้เหตุผลว่าจั๊กกลิงไม่ใช่กีฬาเพราะไม่มีการแข่งขันและผู้เล่นไม่ต้องเล่นตามกติกา

เมื่อไม่มีการแข่งขันก็ย่อมไม่มีการตัดสินแพ้ชนะ

เพราะทุกท่วงท่าลีลาแห่งการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ล้วนมาจากจิตวิญญาณที่แตกต่างและจินตนาการสร้างสรรค์ของผู้เล่นแต่ละคน

ทศพล คำเปล่ง หรือทศ วัย ๓๒ ปี เขาเป็นที่รู้จักใน กลุ่มบี-บอยของย่านนี้ และเป็นอีกคนหนึ่งที่หลงใหลในจั๊กกลิง

ทศเริ่มเล่นจั๊กกลิงอย่างจริงจังเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ฝึกฝนและพัฒนาทักษะด้วยความมุ่งมั่นมาเรื่อย ๆ จนสามารถนำความชื่นชอบหลงใหลมาเป็นเครื่องมือทำมาหากินได้จนถึงวันนี้

ทศเคยทำงานบาร์อยู่ที่เกาะพะงัน ทำให้เขามีโอกาสพบกับจั๊กเกลอร์สายต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งได้วิชาควงไฟติดตัว เขามองต่างจากจั๊กเกลอร์บางคนว่าการควงกระบองไฟเป็นส่วนหนึ่งของจั๊กกลิงเพราะต้องใช้ศิลปะการเคลื่อนไหวและการหมุนเช่นเดียวกัน

มุมมองของทศสื่อว่าจริง ๆ แล้วการแบ่งประเภทจั๊กกลิงอาจไม่ใช่เรื่องตายตัว

หัวใจสำคัญอาจไม่ได้ขึ้นกับอุปกรณ์ที่ใช้ แต่เป็นความรู้สึกของผู้เล่นต่อกิจกรรมนี้เสียมากกว่า

“สิ่งนี้ให้เพื่อน ให้สังคม ให้งาน ให้สมาธิ และให้ร่างกายที่แข็งแรงแก่ผม” ชายหนุ่มผู้หลงเสน่ห์จั๊กกลิงเผยความในใจ หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาได้รับจากจั๊กกลิง ทำให้เขาอยากแบ่งปันวิชาความรู้ให้คนที่สนใจ ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่มาฝึกฝนจั๊กกลิงกับทศอยู่เป็นประจำ การถ่ายทอดและแบ่งปันทักษะเช่นนี้เป็นความสวยงามอย่างหนึ่งของจั๊กเกลอร์เมืองไทย

การเล่นจั๊กกลิงรวมศิลปะหลายแขนง ผู้เล่นจะผสมผสานศิลปะแขนงต่าง ๆ นั้นอย่างลงตัว ถ่ายทอดผ่านการแสดงในหลากหลายรูปแบบตามความถนัดและความคิดสร้างสรรค์ แต่ในทุกลีลาการเล่น ประกอบบรรยากาศ จังหวะ และเสียงเพลง ล้วนเผยความงดงามอันโดดเด่นเสมอ

“จั๊กกลิงสวยงาม เคลื่อนไหวไหลลื่นไปเรื่อย ๆ ไม่ติดขัด”

ทศเอ่ยทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

อุปกรณ์จั๊กกลิงที่ได้รับความนิยมในเมืองไทย

juggling ball
การเล่นจั๊กกลิงเบื้องต้นที่หลายคนคุ้นเคย ผู้เล่นใช้มือสองข้างโยนรับลูกบอลสลับไปมากลางอากาศ เกิดจากการทำงานของมือและสมองที่ประสานกันอย่างลงตัว

juggling club
ใช้อุปกรณ์คล้ายกับหมุดโบว์ลิง หรือ bowling pin ที่มีน้ำหนักเบา ผู้เล่นควงอุปกรณ์ด้วยลีลาการเคลื่อนไหวแบบหมุนขึ้น-ลงไม่ต่างจาก juggling ball นัก

poi
เป็นจั๊กกลิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยใช้เชือกหรือโซ่สองเส้นผูกปลายเชือกติดกับลูกเทนนิส ถุงเท้า ลูกบอลขนสัตว์ ไฟ LED ฯลฯ สร้างความสวยงามเมื่อผู้เล่นเหวี่ยงหรือหมุนเชือกไปมาตามทิศทางที่ออกแบบไว้

juggling ring
ใช้วงแหวนขนาดใหญ่คล้ายการเล่นห่วง เพียงแต่วงแหวนขนาดเล็กกว่าห่วงที่ใช้เล่นกับลำตัว ความโดดเด่นคือการสร้างสรรค์การเคลื่อนไหวที่นิ่มนวลด้วยข้อมือของผู้เล่น เมื่อชมจากด้านข้างจะเป็นมุมที่เห็นการเล่นสวยงามที่สุด

cigar box
ใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายกล่องซิการ์โยนสลับไปมาในอากาศอย่างน้อยสามกล่องพร้อมกัน ซ้อนกันเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามจินตนาการและความสร้างสรรค์ของผู้เล่น

diabolo
อุปกรณ์คล้ายโยโย (yo-yo) ขนาดใหญ่ ผู้เล่นจับเชือกสองด้านควบคุมโยโยยักษ์ให้ลื่นไหลและเคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าต่าง ๆ โดยไม่ให้โยโยยักษ์ตกจากเชือกลงพื้น

devil stick
ผู้เล่นใช้แท่งจับขนาดเท่า ๆ กันสองแท่งควบคุมแท่งกระบองไม้ขนาดใหญ่ให้เคลื่อนไหวตามลีลาและท่วงท่า รวมทั้งผู้เล่นยังกระโดดและเคลื่อนที่ไปตามจังหวะเพลงเพื่อส่งให้การเล่นดูสนุกสนานและเพลิดเพลินยิ่งขึ้น

contact juggling
การเล่นจั๊กกลิงชนิดนี้แตกต่างจากการเล่นรูปแบบอื่น ๆ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับการโยนอุปกรณ์สลับไปมาอย่างสิ้นเชิง แต่ผู้เล่นต้องควบคุมลูกแก้วให้เคลื่อนที่ไปบนลำแขนและมือของผู้เล่นอย่างนุ่มนวลซึ่งผู้เล่นต้องฝึกการเคลื่อนไหวของนิ้วมือมาอย่างดี