ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
คนไทยโบราณนับถือกันว่าพระจุฬามณีเจดีย์คือเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันแท้จริง จึงมีความใฝ่ฝันที่จะได้ไปสักการะสักครั้ง แม้จนเมื่อล่วงลับไปแล้ว ครอบครัวญาติมิตรที่จัดการศพจึงมักเอากระทงดอกไม้ใส่มือศพที่ถูกจับให้พนมมือ ไว้ไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์
เหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนิกชนคนไทยรุ่นเก่ามุ่งมาดปรารถนาที่จะได้ไปสักการะพระจุฬามณียังอาจจะมาจากความเชื่อที่แพร่หลายกันว่าพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระโพธิสัตว์ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็มักเสด็จมานมัสการพระจุฬามณีเช่นกัน ดังนั้นหากดวงวิญญาณของผู้วายชนม์ได้ไปที่นั่น นอกจากจะได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุอันแท้จริงแล้ว ยังจะได้ “พบพระศรีอาริย์” พระอนาคตพุทธเจ้าในคราวเดียวกันอีกด้วย
ต้นทางของคติความเชื่อนี้คงมาจากหนังสือพระมาลัยหรือ “มาลัยสูตร” อันเป็นพระสูตรนอกพระไตรปิฎก เชื่อว่าเดิมแต่งขึ้นในพม่า
ตามเรื่องในคัมภีร์ พระมาลัยเป็นพระเถระในลังกาทวีปซึ่งบำเพ็ญธรรมจนบรรลุอรหันต์ ที่สำคัญคือท่านมีอิทธิฤทธิ์ สามารถเหาะข้ามภพภูมิไปนรกสวรรค์ได้ ครั้งหนึ่งพระมาลัยออกบิณฑบาต มีชายยาจกเข็ญใจเก็บดอกบัวแปดดอกจากบ่อน้ำมา เห็นพระมาลัยเข้าเกิดเลื่อมใสศรัทธาจึงถวายดอกบัวให้ พระมาลัยเกิดมีดำริจะนำดอกบัวไปบูชาพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงเข้าฌาณแล้วเหาะขึ้นไปยังลานพระเจดีย์ทันที หลังจากได้เดินประทักษิณและบูชาพระเจดีย์ในทิศทั้งแปดแล้ว บังเอิญได้พบพระอินทร์ที่มาสักการะ พระอินทร์แจ้งให้พระมาลัยทราบว่าองค์พระศรีอาริยเมตไตรย์โพธิสัตว์กำลังจะเสด็จมาบูชาพระจุฬามณีเจดีย์พอดี จึงคอยท่าอยู่
ระหว่างนั้น ทุกครั้งที่มีเทวดาหน้าใหม่พร้อมด้วยบริวารเสด็จเข้ามานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระมาลัยก็จะคอยสอบถามพระอินทร์ว่า “ใช่ไหม ?” “องค์นี้ใช่พระศรีอาริย์ฯ หรือยัง ?” พระอินทร์ก็จะคอยตอบว่ายังไม่ใช่ พร้อมกับพรรณนาถึงกุศลกรรมที่ท่านผู้นั้นกระทำมาอันส่งผลให้ได้เสวยสุขเป็นเทวดาเช่นนี้ ไล่ไปตั้งแต่เทพบุตรผู้มีบริวาร ๑๐๐ บริวาร ๑,๐๐๐ บริวาร ๑ หมื่น ๒ หมื่น ไปจนถึง ๑ แสน ก็ยังไม่ใช่
สุดท้าย พระศรีอาริยเมตไตรย์ก็เสด็จเข้ามาถึงลานพระเจดีย์พร้อมบริวารมหาศาล ภายหลังจากมนัสการพระจุฬามณีเจดีย์แล้ว ก็ได้สนทนาธรรมกับพระมาลัยเถระ แล้วตรัสพยากรณ์ว่าหลังจากศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้าสิ้นสุดลงในปี ๕๐๐๐ จะเกิดกลียุคใหญ่ ผู้คนฆ่าฟันกันจนล้มตายลงหมดสิ้น เหลือแต่คนดีมีศีลมีธรรม จากนั้นจะถึงสมัยแห่งความสมบูรณ์พูนสุขในศาสนายุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ ซึ่งหากผู้ใดประสงค์จะได้ไปเกิดในยุคนั้น ก็ให้หมั่นบำเพ็ญกุศล สดับเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดก ฯลฯ
เมื่อพระมาลัยกลับมาสู่โลกมนุษย์แล้วจึงแจ้งข่าวนั้นแก่ญาติธรรมทั้งปวงให้เร่งทำบุญทำทาน จะได้ไปเกิดในเทวโลกกันทั่วหน้า
ในประเพณีชาวบ้านแต่เดิม ว่ากันว่านิยม “สวดมาลัย” หรือสวดพระมาลัยเพื่อความเป็นสิริมงคลในพิธีแต่งงาน ดังมีวรรณกรรมชื่อ “พระมาลัยกลอนสวด” แต่ต่อมาด้วยเหตุใดไม่แน่ชัดกลับเปลี่ยนไปเป็นใช้สวดในงานศพแทน อันอาจกลายเป็นต้นทางของคติที่ให้คนตายไปสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ดังกล่าวแล้ว
ธรรมเนียมนี้ค่อยๆ เสื่อมสูญไปเมื่อราว ๑๐๐ ปีมานี้เอง หลังจากองค์กรสงฆ์ในรัฐสยามสมัยใหม่วินิจฉัยว่าการที่พระสงฆ์ไปสวดลำนำหรือร้องแหล่เป็นทำนอง ผิดพระวินัยและไม่สมควรแก่สมณสารูป เพราะเหมือนกับว่าพระไปร้องเพลง จึงสั่งห้ามขาด
ภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง โดยเฉพาะในยุคราวรัชกาลที่ ๔-๕ นิยมวาดฉากสุเมรุจักรวาลด้านผนังหลังพระพุทธรูปประธาน โดยขับเน้นให้ความสำคัญแก่พระจุฬามณีเจดีย์และพระมาลัยเป็นพิเศษ แสดงภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุด้วยพระจุฬามณีเจดีย์ โดยมีฉากการสนทนาธรรมระหว่างพระมาลัยกับพระอินทร์ที่ลานพระเจดีย์ประกอบ ส่วนมากวาดเป็นรูปพระสงฆ์นั่งอยู่เบื้องหน้าพระอินทร์ พร้อมกับชี้มือไปทางด้านข้าง ตามเรื่องที่ว่าพระมาลัยเพียรสอบถามพระอินทร์ถึงพระศรีอาริยเมตไตรย์ ว่าเสด็จมาถึงพระจุฬามณีเจดีย์หรือยัง
นอกจากนั้นยังมีที่ทำเป็นประติมากรรมสำริดด้วย ซึ่งเดิมทีอาจเคยมีรูปพระอินทร์ รวมถึงรูปพระศรีอาริย์ฯ ครบชุด แต่มาบัดนี้เหลือเพียงพระมาลัยองค์เดี