Special Scene
เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
“ต้นไม้เป็นที่เก็บความทรงจำของธรรมชาติ กระทั่งในระดับโมเลกุล
เนื้อไม้แต่ละชั้นของวงปีประกอบด้วยอากาศบางส่วนของปีนั้นๆ
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคาร์บอนฯ
และนั่นทำให้ต้นไม้บันทึกเรื่องราวปีแล้วปีเล่าของเมืองในเชิงกายภาพ”(*BENJAMIN SWEET ผู้เขียนหนังสือ NEW YORK CITY OF TREES)
การเติบโตของมนุษย์ก็เป็นดั่งเส้นวงปีต้นไม้ที่บันทึกการใช้ชีวิตของผู้นั้น
และชีวิตครึ่งหลังคนเราก็สร้างขึ้นจากนิสัยใจคอที่ได้ขณะใช้ชีวิตครึ่งแรก
ชวนรู้จักชีวิตและวงปีเส้นที่ ๔๓ ของ เจษฎาภรณ์ ผลดี ในวันวัยที่อิ่มประสบการณ์เดินทางจากฤดูกาลร้อน ฝน หนาว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นองค์ความรู้พร้อมปันสู่สาธารณะ
:: ๑๔ ปี เนวิเกเตอร์ ::
ท่ามกลางแสงไฟสลัวจากกองฟืนในคืนมืดมิด
ชายชาติพันธุ์คนหนึ่งพูดไทยไม่ชัดกำลังพยายามสื่อสารบางสิ่งให้คนเมืองฟัง
“ข้างในเป็นที่สิงสถิตของเหล่าภูตผีและวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องรักษาผืนป่า คุ้มครองดูแลชาวมูเซอดำ มีไม่กี่คนที่กล้าลงไปสัมผัส ‘น้ำบ่อผี’ ถ้าเราทำพิธีก็จะลงได้สบาย ปลอดภัยแข็งแรงดีไม่เจ็บป่วย แต่เอาก้อนหินขว้างไม่ได้จะผิดผี ตัดต้นไม้ก็ผิดผี…”
คือฉากแรกของการเปิดตัวรายการสารคดีโทรทัศน์ เนวิเกเตอร์ ในนามบริษัท สบายดีคลับ สตูดิโอ จำกัด เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๔๘ โดยใช้เวลา ๔๕ นาที นำเสนอเรื่องราวท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
แล้วรายการน้องใหม่ในทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็ทำให้ความหมายของการท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม
เวลานั้นการท่องเที่ยวในไทยเติบโตถึงขีดสุดแต่เป็นไปทางตักตวงความงามจากธรรมชาติ ละเมิดเขตที่มีป้ายห้ามเข้า เด็ดกิ่งดอกไม้มาถ่ายรูป ทิ้งขยะนอกจุดที่กำหนด ฝากข้อความลายมือไว้ยังสถานที่ที่ไปเยือน ส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เป็นการเที่ยวแบบขาดจิตสำนึกสาธารณะ ส่วนหนึ่งอาจเพราะรายการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เน้นนำเสนอความงามมากกว่าให้ความรู้ด้านระบบนิเวศ
เมื่อผุดรายการท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวที่สร้างสมดุลกับการเรียนรู้ ชวนเข้าใจว่าวงจรระบบนิเวศควรเป็นอย่างไร หากพบเห็นสัตว์ป่าควรศึกษาอย่างมีระยะตามวิถีธรรมชาติของมัน และพึงระลึกเสมอว่าเมื่อเดินทางไปที่ใดต้องเคารพกติกาชุมชน ฯลฯ จึงกลายเป็นรายการท่องเที่ยวแห่งยุคสมัยที่น่าจับตา
“จุดเริ่ม เนวิเกเตอร์ ไม่ได้ทำเพราะผมอยากเป็นฮีโร่ มันเริ่มจากผมชอบธรรมชาติและอยากเห็นสิ่งแวดล้อมเป็นไปในแบบอุดมคติ แต่เมื่อความจริงเราอยู่กับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ผมจึงอยากให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้และมองเห็นภาพจริงไปพร้อมกัน”
เจษฎาภรณ์ ผลดี ผู้ผลิต-ดำเนินรายการ ย้อนหลักคิดในยุคที่การบันทึกยังต้องทำผ่านเทปวิดีโอ
“ช่วงปีแรก เนวิเกเตอร์ ยังมีลักษณะของวัยรุ่นรักการผจญภัย สนุกที่ได้ใช้ชีวิตในป่า ตื่นเช้า แบกเป้หนักๆ เดินขึ้นภูเขา ลุยป่าฝ่าดง เลาะริมห้วยข้ามน้ำด้วยความยากลำบาก ระหว่างวันก็มีเดินผิดเดินถูกหลงทิศ ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ค่ำที่ไหนก็ตั้งแคมป์นอน ในเป้มีอะไรก็กินอย่างนั้นทุกวันจนกว่าอาหารจะหมดค่อยเดินทางกลับ แต่ละครั้งที่ผ่านอุปสรรคยากๆ ทำให้ผมได้รู้จักนิสัยใจคอตนเอง และมีความสุขทุกครั้งที่ไปถึงจุดพิชิตต่างๆ ชื่นชมธรรมชาติแบบให้ความสำคัญกับสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง ฉะนั้นไม่ว่าไปเจออะไรก็จะรู้สึกว่านั่นก็สวย นี่ก็สวย สวยไปหมด แล้วก็ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่เห็นให้ทุกคนได้เห็นเหมือนกัน พอเวลาผ่านไปเราค่อยๆ เติบโตขึ้นจากการเดินทาง ที่เคยวิ่งปรู๊ดปร๊าดพลังงานเหลือเฟือก็เริ่มเดินช้าลง ทำให้ผมได้เห็นว่าแต่ละย่างก้าวที่เดินผ่านมีความหมายมากกว่าที่เคยเห็น”
ชายหนุ่มที่ใครมักคุ้นในภาพเครื่องแต่งกายลายพรางลอกเลียนธรรมชาติขยายความ
“ผมได้เรียนเรื่องธรรมชาติจากคนที่ผมเดินทา
ด้วย แต่ละคนมีความรู้ต่างกัน อย่างเรื่องเส้นทางป่าถ้าเราเดินตามลำธารที่คดเคี้ยวด้วยความยากลำบากกว่าจะถึงจุดหมายจะไกลและใช้เวลานานมาก เขาสอนให้ผมรู้จักกฎของธรรมชาติว่าน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงล่าง จะไปทิศเหนือหรือใต้ก็เลือกเอา แล้วสอนให้คะเนระยะทางจากภูเขาว่าสายน้ำนี้น่าจะไปสิ้นสุดที่ภูเขาลูกไหนแล้วเดินลัดภูเขาเอา มันเป็นการตีเส้นทางตรงโดยไม่ต้องไปเดินอ้อมตามลำธาร แม้ว่าเวลานั้นเราจะยังมองไม่เห็นอะไรเลย”
ชาวบ้านบางคนสอนให้รู้จักคุณค่าของพืชพรรณ อาหาร-ยาแห่งพงไพร
“ผมเคยเกิดอุบัติเหตุในป่า หน้ากระแทกขาตั้งกล้อง ทุกวันนี้ยังมีแผลเป็นลึกที่หน้าแต่ครั้งนั้นก็ได้รู้ว่านำใบต้นสาบเสือมาขยี้พอกแผลเป็นยาห้ามเลือดได้ หรือเวลาเดินผ่านต้นไม้ที่มีลูกไม้ก็อาจไม่ใช่ทุกชนิดที่เป็นอาหารมนุษย์ พอผมรู้ว่า อ๋อ นี่คือลูกหว้า แบบนี้คือมะเดื่อ ก็รู้แล้วว่ากินได้หรืออะไรเป็นได้แค่อาหารสัตว์ ลูกไม้บางชนิดที่ตกลงน้ำแล้วปลากิน ปลาอาจไม่เป็นอะไร แต่ถ้าเรากินปลาตัวนั้นเราอาจท้องเสียได้”
นักวิชาการบางรายสอนให้รู้จักสังเกตร่องรอยสัตว์ป่า เพื่อมองหาสิ่งที่มองไม่เห็น
“ในป่ามีขี้ของสัตว์มากมาย เมื่อก่อนผมไม่เคยรู้ว่าขี้กองไหนเป็นของใคร จนวันหนึ่งผมได้ดมกลิ่นขี้ชะมด สังเกตขี้กระทิง ขี้หมีกับขี้เสือก็ต่างกันจากเศษอาหารปนเปื้อนในกองนั้น หรือถ้าพบกองขี้ช้างที่ยังสดอยู่ก็แสดงว่าข้างหน้าเรามีฝูงช้างกำลังออกหากินเพราะเรากำลังเดินตามรอยมันอยู่ นอกจากได้รู้ว่ามีสัตว์ชนิดใดอาศัยอยู่บริเวณนี้บ้างยังทำให้ผมต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินป่ามากขึ้นเพราะเรารู้แล้วว่าในผืนป่านี้ไม่ได้มีแค่พวกเรา ๓-๔ คน ที่นี่เป็นบ้านของสัตว์ป่า”
คุณค่าหนึ่งที่ทำให้ เนวิเกเตอร์ ต่างจากรายการท่องเที่ยวอื่นจึงไม่ใช่แค่สถานที่แปลกตาและข้อมูลเดินทางครบครัน แต่คือสรรพสิ่งที่เขาผ่านพบ-ผูกพันเรียนรู้ แม้แต่สัตว์บางตัวก็เป็นครูสอนสัจธรรม
“มีหลายครั้งที่ผมตั้งเป้าแล้วประสบความสำเร็จแต่ก็มีไม่น้อยที่ล้มเหลวเพราะเหตุการณ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แทนที่จะผิดหวังจากการมองหาความสมบูรณ์แบบอย่างเดียวในความเป็นจริงที่ธรรมชาติมีทั้งสิ่งสวยงามและไม่สวยงาม เราแค่มองใหม่ในมุมกว้างขึ้นแล้วนำเสนอไปตามที่มันเป็น”
อาจด้วยเหตุนั้นชื่อของเจษฎาภรณ์ ผลดี และรายการ เนวิเกเตอร์ จึงมักขึ้นแท่นสื่อทรงพลังที่ชี้นำเทรนด์ท่องเที่ยวธรรมชาติให้เป็นไปอย่างอนุรักษ์ เมื่อได้รับเชิญไปแบ่งปันประสบการณ์และแรงบันดาลใจเวทีใดจึงมักสร้างผลสะเทือนสู่ความเปลี่ยนแปลง ขยายจำนวนผู้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กว้างขึ้น
ปี ๒๕๕๓ เนวิเกเตอร์ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน ตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งในปีถัดมาด้วยรางวัล “ผู้ดำเนินรายการยอดนิยม” จาก Sudsapda’s Young & Smart 2011 Awards ยังมีรางวัล “Thailand Sustainable Tourism Awards 2011” ผู้สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และรางวัลพิฆเนศวรครั้งที่ ๑ ในปี ๒๕๕๕ ฐานะ “รายการส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น” ซึ่งจัดโดยสมัชชานักจัดรายการข่าววิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่ออุดมการณ์ยังเสมอต้นเสมอปลายต่อเนื่อง ปี ๒๕๖๐ จึงปรากฏรางวัล “ผู้อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อม” สาขาศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา และรับโล่เกียรติคุณ “ทูตคิดใส ไอดอล ด้านสิ่งแวดล้อม” จากคิดใสไทยแลนด์ซีซั่น ๕ เมื่อปี ๒๕๖๒
แต่แล้ว ๘ เมษายน ๒๕๖๒ เนวิเกเตอร์ ตอน “มากกว่าจุดหมายปลายทาง คือ…ความหมายระหว่างทาง” ก็สร้างความใจหายเมื่อผู้ดำเนินรายการนำทางเยือนน้ำบ่อผีในอำเภอปางมะผ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกครั้ง สถานที่ถ่ายทำตอนแรกของรายการและนำเสนอในวาระวันหยุดจักรีเช่นกัน ต่างเพียงไม่ได้เปิดเรื่องด้วยบรรยากาศแสงไฟสลัวจากกองฟืนในคืนมืดมิด แต่เป็นกองไฟไหม้ป่า
เป็นการย้อนรอยปลายทางเก่าที่ไม่เหมือนเดิม เพราะระหว่างทางช่วงปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ เขาพบเหตุไฟไหม้ป่าริมทางหลวงหมายเลข ๑๑ ลำพูน-ลำปาง ภาพที่บันทึกคือเจ้าหน้าที่กำลังฉีดน้ำดับไฟท่ามกลางควันพิษโขมงเวลากลางวันที่มีรถยนต์สัญจรไปมา ครั้นแวะจุดชมทัศนียภาพของพื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าดิบเขาที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในอำเภอแม่ริมของจังหวัดเชียงใหม่ ยังพบควันไฟที่ไหม้ต่อเนื่องกลางวัน-กลางคืน ผู้ดำเนินรายการจึงนำทางขึ้น “ดอยผากลอง” ของอำเภอแม่ริม สำรวจพื้นที่ที่มีร่องรอยเถ้าถ่านซากพืชซากสัตว์หลังถูกไฟไหม้ กอบใบไม้แห้งที่ปกคลุมผืนดินขึ้นกำมือเพื่อนำผู้ชมรู้จักอินทรียวัตถุที่เมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นดิน-ปุ๋ยชั้นดีคืนผืนป่า แต่หากเกิดไฟไหม้ธาตุอาหารจะหมดไป ตามมาด้วยผลเสียมหาศาล เพราะอินทรียวัตถุหน้าดินยังเปรียบดั่งฟองน้ำดูดซับความชื้นและน้ำไว้ หากไม่มีรองรับเมื่อฝนตกหนักจะทำให้หน้าดินพังทลาย สไลด์สู่ลำห้วย ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน เมื่อพื้นที่เสียหายป่าจะเสื่อมโทรม และอาจส่งผลถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า พันธุ์ไม้หายาก หรือพืชพรรณเฉพาะถิ่น
“ผมเคยนำเสนอตอน ‘ชีวิตที่เปลี่ยนไปของสัตว์ป่าและการเปลี่ยนแปลงเพียงแสงจากเปลวเพลิง’ เป็นเรื่องไฟป่าเหมือนกันแต่ไม่ได้จริงจังเท่ากับเมื่อคิดจะทำเป็นตอนสุดท้ายของ เนวิเกเตอร์ ที่ผ่านมาสิ่งที่รายการพยายามบอกผู้ชมเสมอคือเราต้องเคารพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เข้าใจลมฟ้าอากาศ เส้นทาง ต้นไม้ สัตว์ป่า วิถีชีวิต อาชีพ เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันและเราแยกธรรมชาติออกจากมนุษย์ไม่ได้ แต่ทุกปีก็ยังคงเกิดเหตุการณ์ไฟป่าซึ่งโอกาสที่ป่าไทยจะเกิดเพลิงไหม้จากภัยธรรมชาติ จากต้นไม้ใบหญ้าเสียดสีกันอย่างที่เคยรับรู้มันเป็นไปได้น้อยกว่า ๐.๐๐๑ เปอร์เซ็นต์เสียอีก มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์และทำลาย โดยเฉพาะในเรื่องของต้นน้ำ สัตว์ป่า พืชพรรณ มันไม่มีการทำลายใดแย่ไปกว่าไฟป่าอีกแล้ว ครั้งนี้ผมจึงอยากนำเสนอความสูญเสียของการทำลายล้างที่น่าสะเทือนใจที่สุด รอเก็บภาพช่วงกลางคืนอยู่หลายวันเพราะอยากสะท้อนว่าไฟป่ามันเกิดขึ้นตลอด ๒๔ ชั่วโมง และเลือกเดินทางเก็บภาพหลายบริเวณเพื่อจะสื่อสารถึงการลุกลามว่าไฟไหม้ตรงนี้หมดมันก็ไหม้ตรงอื่นแล้วก็ไหม้ต่อไปอีกหลายจุด ที่ผ่านมาเราต่างก็รู้ว่ามีไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี แต่หลายคนก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเกิดจากอะไร และส่งหายนะต่อสภาพป่าขนาดไหน ผมจึงอยากมอบองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งสุดท้ายก่อนจบรายการ”
แล้วคนต้นแบบผู้คลุกคลีโลกธรรมชาติอย่างจริงจังมากว่าทศวรรษก็ประกาศยุติรายการสารคดีที่ยืนหยัดบนแนวทางหลักด้านหนึ่งของการสื่อสารความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับอีกหลายรายการในโลกโทรทัศน์ที่ยุติการผลิตไปก่อนหน้าเพื่อปรับตัวสู่โลกออนไลน์บนเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ปรากฏเสียงในใจมากมายจากแฟนรายการที่ติดตามระยะยาว ๑๔ ปี รู้สึกเหมือนหัวใจจะร่วงด้วยผูกพัน
“มีหลายปัจจัยทำให้ผมตัดสินใจจบในวันที่ผู้คนยังจดจำ ก่อนหน้านี้ปีหนึ่งผมทบทวนแล้วว่าตลอดระยะทางสิบกว่าปีได้เล่าเรื่องธรรมชาติไว้ครบมุมแล้ว หรือถ้าจะทำต่อก็อาจเปลี่ยนตัวเองไปอยู่เบื้องหลัง แต่จะหาใครมาดำเนินรายการแทนล่ะ รูปแบบของ เนวิเกเตอร์ ไม่มีใครเขียนบทพูดให้ และไม่ใช่แค่มีข้อมูลสถานที่แล้วพาผู้ชมไปยังจุดหมายปลายทาง ที่ผ่านมาการเล่าเรื่องผืนป่าหรือระบบนิเวศในแต่ละที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์เรื่อยมาตามวัยของผม ต้องเข้าใจเนื้อหาก่อนจึงพูดออกมา เมื่อกลับไปสถานที่เดิมผมจึงเล่าเรื่องที่นั่นได้ถ่องแท้ขึ้นเพราะข้อมูลมันซึมลึกอยู่ในร่างกายของเรา”
อีกเหตุผลเพราะทุกการเดินทางมีต้นทุนเวลาที่ต้องจ่าย และบางเรื่องในชีวิตไม่สามารถรอเวลา
“แต่ละตอนผมทุ่มเทมาก เมื่อก่อนที่เพิ่งมีลูกคนแรกผมคิดว่าน่าจะแบ่งเวลางานกับครอบครัวให้ไปด้วยกันได้ แต่ความเป็นจริงเด็กผู้ชายต้องการเวลาจากพ่อมากกว่าที่ผมมีให้ ยิ่งเขาโตขึ้นฮีโร่คนแรกก็คือพ่อ ถ้าได้เจอหน้าพ่อแค่สัปดาห์ละ ๑-๒ วัน ผ่านไปหลายปีก็ไม่น่าจะดี ผมไม่อยากพลาดหลายช่วงเวลาดีๆ ของลูกไปจึงต้องชั่งน้ำหนักเรื่องหลัก-เรื่องรองในชีวิต เมื่อหลายเหตุผลเดินทางถึงวันที่ช่องทางการสื่อสารในสังคมปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบก็ยิ่งตัดสินใจง่ายขึ้น อย่างที่บอกจุดเริ่มของ เนวิเกเตอร์ ไม่ได้ทำเพราะผมอยากเป็นฮีโร่ ถ้าที่ผ่านมาสิ่งที่ผมทุ่มเทเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้คนในสังคมตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว อนาคตสิ่งที่เคยมีจะหายไปมันก็เป็นวัฏจักร คุณไม่จำเป็นต้องรู้จักเจษฎาภรณ์ ผลดี ก็ได้”
ทว่าผ่านมาจะครบปีเรายังคงเห็น เจษฏาภรณ์ ผลดี บนเวทีสื่อสารด้านอนุรักษ์
“เพราะการปิดตัวรายการ เนเวิเกเตอร์ ไม่ได้แปลว่าจิตวิญญาณผมตายไปด้วย”
:: เจ้าป่าเข้าเมือง ::
แม้ไม่ใช่ในป่า ใครก็มักพบเขาในชุดแต่งกายลายพราง
หรืออยู่ในโทนสีธรรมชาติอย่างดิน ทราย ต้นไม้ ใบไม้
วันนี้มาพร้อมกระเป๋าเป้สีดำที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน อันที่จริงก็เป็นสีมาตรฐานของชายส่วนใหญ่แต่เมื่ออยู่บนหลังเขากลับชวนให้จินตนาการสนุกๆ ถึงสิ่งมีชีวิตที่แบกหน้าตัดของกลุ่มดินสีดำติดตัว เป็นดินที่มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชปนในปริมาณสูง บังเอิญอีกว่าบนบ่าข้างหนึ่งสะพายถุงผ้าใส่ของจนตุงขับให้เห็นมวลแมลงต่างๆ ที่พิมพ์ลายอยู่บนนั้น ดินที่ดีไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดต้นไม้ใบหญ้า กลิ่นหอมของดินยังเชื้อเชิญแขกพิเศษอย่างสรรพสัตว์น้อยใหญ่มาเยี่ยมเยือนพืชพรรณบนดินให้งอกงามได้ “ผลดี”
เขาวางหน้าตัดดินก้อนใหญ่ที่มีหมู่แมลงเกาะพักไว้บนโต๊ะ
เราคุยกันที่ออฟฟิศย่านสุขุมวิท ๕๔ ของ “เจ้าป่าเข้าเมือง”
“คนมักจะเรียกผม ‘เจ้าป่า’ ใครติดต่องานมาผู้จัดการก็บอกว่าผมเข้าป่า เวลาใครสัมภาษณ์ก็มักถามถึงการใช้ชีวิตในป่า หรือแม้แต่ใครก็ตามที่ได้เจอผมโดยบังเอิญก็เจอในป่า เพราะที่ผ่านมาผมมักใช้ชีวิตส่วนใหญ่เดินทางไปอยู่กับป่าไม่ค่อยได้มีชีวิตปรกติที่ได้เห็นความศิวิไลซ์ของเมือง”
รู้กันว่าหลังยุติรายการ เนวิเกเตอร์ ช่องทางเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเขาก็อยู่ในเพจ Tik Jesdaporn Pholdee บนเฟซบุ๊กเป็นหลักควบคู่ไปกับการทำงานด้านกระบอกเสียงเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“ก่อนหน้านี้ผมไม่มีความรู้เรื่องสื่อโซเชียลเลย ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่แฟนคลับทำให้เพื่อรวบรวมผลงานและข่าวต่างๆ ของผม จนวันหนึ่งเขาบอกว่าดูแลเพจให้ไม่ไหวเพราะติดภารกิจ อยากส่งไม้ให้ผมดูแลต่อเพราะเป็นสิ่งที่เขาตั้งใจทำให้มานานจนมีคนติดตามอยู่ราวสองล้านคน เป็นจุดเริ่มให้ผมต้องสนใจเทคโนโลยีในโซเชียลมีเดียต่างๆ หาทีมงานมาช่วย ผมก็ค่อยๆ ทำความรู้จักไปด้วยจนเห็นว่าในโลกของโซเชียลมีเดียมันมีรูปแบบหลากหลายมาก รายการ ‘เจ้าป่าเข้าเมือง’ ทางยูทูปและเฟซบุ๊กก็เกิดขึ้นจากที่ทีมงานเห็นว่าที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับป่า แฟนคลับก็อยากเห็นว่าถ้าไม่ได้เข้าป่าแล้วชีวิตในเมืองผมทำอะไรบ้าง ทำงานอะไร อยู่กับครอบครัวเป็นอย่างไร ผมเองก็อยากลองหาคอนเท้นต์ในเมืองทำ เป็นรายการที่เน้นไลฟ์สไตล์สนุกๆ ไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
ถึงอย่างนั้นภาพของเจษฎาภรณ์ ผลดี ก็ยังหนีไม่พ้นผู้ส่งสารเรื่องภัยธรรมชาติ
EP. หนึ่งของ เจ้าป่าเข้าเมือง จึงปรากฏเรื่องของเด็กๆ ประสบภัยพายุไซโคลน
เหตุจากเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ เกิดพายุไซโคลนอิดาอีขนาดใหญ่พัดถล่มหลายประเทศในแอฟริกาตอนใต้ อย่างประเทศโมซัมบิก ประเทศมาลาวี และประเทศซิมบับเว ซ้ำเติมด้วยพายุไซโคลนเคนเนธขนาดใหญ่ลูกที่สองถล่มเมืองกาโบ เดลกาโด ทางตอนเหนือของประเทศโมซัมบิก จนเกิดน้ำท่วมหนัก ดินถล่ม สร้างความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตร และสาธารณูปโภค แม้ผ่านเหตุการณ์ ๓ เดือน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า ๓ ล้านคน และเด็กอีกกว่า ๑.๖ ล้านคน ก็ยังเป็นอยู่ลำบาก ขาดอาหาร น้ำสะอาด และสุขอนามัย ยูนิเซฟ ประเทศไทย จึงเปิดโครงการ #ไทยช่วยภัยไซโคลน หาบุคคลมีชื่อเสียงเป็นตัวแทนเดินทางไปให้กำลังใจเด็กที่เดือดร้อนเพื่อนำเรื่องราวกลับมาถ่ายทอดให้สังคมรู้ถึงวิกฤตภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ หวังระดมกำลังคนไทยร่วมสมทบทุนช่วยเหลือให้เด็กๆ ที่รอดชีวิตได้มีสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ครั้งนั้น ออร์แลนโด โจนาธาน บลานชาร์ด บลูม นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษชื่อดัง-ทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ เดินทางไปโมซัมบิกก่อนแล้ว เพื่อรอส่งไม้ต่อให้เจษฎาภรณ์-ตัวแทนประเทศไทย ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการนั้น รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้เหตุผลหนึ่งที่เลือกเขา
“เพราะเป็นศิลปินที่มีภาพลักษณ์ด้านจิตสาธารณะและรักธรรมชาติด้วยใจจริง”
หน้าที่ของสื่อมวลชนคือสื่อสารสิ่งที่สังคมควรรู้ ในเรื่องของมนุษยธรรมการจะทำให้คนภายนอกมองเห็นคุณค่าของคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง จึงต้องนำเสนอให้พวกเขาเห็นมูลค่าของชีวิตมนุษย์ด้วยกัน
เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ปากจะบอกยุติรายการ เนวิเกเตอร์ แต่พอรับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจพิเศษก็คล้ายจิตวิญญาณของผู้ดำเนินรายการถูกกระตุ้นอีกครั้ง เกิดเป็นการถ่ายทอดเรื่องของผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผสมผสานความสนุกสดใสของเด็กๆ ผ่านรายการ เจ้าป่าเข้าเมือง
“แต่ความจริงทีมงานไม่ได้อยากให้ผมเป็น เนวิเกเตอร์ บ่อยครั้งที่ผมลืมตัวจนพวกเขาต้องเบรก มีครั้งหนึ่ง เจ้าป่าเข้าเมือง ใช้บริการเรือในคลองแสนแสบ ระหว่างสัญจรทางน้ำจากท่าเรือทองหล่อไปผ่านฟ้าลีลาศผมก็พูดถึงปัญหาการจัดการในแบบความคิดของผมตามที่เห็นสองข้างทาง สุดท้ายก็ต้องตัดต่อทิ้งไปตั้งเยอะ เพราะไม่อยากให้รายการวาไรตี้ออกมาซีเรียส”
เหมือนเป็นโอกาสดีที่วันนี้เราได้พบกันอีกบนพื้นที่เหมาะสม
เขาจึงพรั่งพรูเรื่องไฟป่าและ PM 2.5 คล้ายหาคนฟังมานาน
“ทุกปีที่เข้าสู่ฤดูแล้งจะเกิดเหตุการณ์นี้ ต้นไม้ถึงเวลาผลัดใบจะแห้งพร้อมเป็นเชื้อเพลิงทุกเมื่อ มันลุกลามง่ายเพราะไม่มีน้ำฝนช่วยดับ แต่คุณก็รู้ว่าใช่ไหมว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นฝีมือมนุษย์ ทั้งเผาแปลงเกษตรแล้วเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ลุกลามป่า แคมป์ปิ้งอย่างไร้สำนึก เผาป่าเพื่อจะถือครองพื้นที่ หรือแม้แต่เผาป่าล่าสัตว์-หาพืช มุมหนึ่งอาจบอกว่ามันเป็นการยังชีพ ป่าคือธนาคารธรรมชาติของคนที่อยู่รอบป่า มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์หากินจากป่าได้ ผมก็ว่าจำเป็นถ้ามื้อนั้นคุณไม่มีโปรตีนกินก็หาจับสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย หนู กบ เขียด ปลา มากินสักหน่อย แล้วเหลือปล่อยให้มันขยายพันธุ์ต่อ แต่ไม่ใช่เผาเพื่อหวังจะเอาหมดป่า”
เลวร้ายกว่านั้นคือไฟในใจคน
ช่วงเดียวกับที่เขาออกเดินทางขึ้นภาคเหนือเพื่อบันทึก เนวิเกเตอร์ ตอนสุดท้ายแล้วพบสถานการณ์ไฟป่า เราเองก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสถานการณ์ไฟป่าที่เชียงดาว-เชียงใหม่ ชาวบ้านหลายคนคิดเห็นพ้องกันว่าสิ่งน่าสนใจคือความสัมพันธ์ของคนกับป่า พวกเขาชวนสังเกตว่าป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลใช้ประโยชน์มักไม่เกิดไฟป่า แต่จะเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดูแล
ในอดีตไฟป่าอาจเกิดจากความร้อน ใบไม้เสียดสี แต่ปัจจุบันเกิดจากไฟแช็ก
กลไกที่ทำให้เกิดประกายไฟมีทั้งปมขัดแย้งจากองค์กรท้องถิ่นและเรื่องส่วนตัว บางครั้งชาวบ้านทำผิดจริงพอถูกดำเนินคดีกลับเกิดความคับแค้นใจในกฎหมายแล้วไปเผาป่า บางทีเป็นความไม่พึงใจที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางคนใช้กฎหมายเข้มงวด อย่างเวลาชาวบ้านขออนุญาตขุดบ่อ ขอตัดไม้ใช้สอย หรือเก็บเห็ดเก็บหน่อไม้ประสาคนกินอยู่กับป่าก็ถูกจับปรับ ถึงคราวป่าอุทยานเกิดเพลิงจึงไม่ได้รับน้ำใจช่วยดับไฟ
“แล้ววิธีป้องกันการเกิดไฟป่าที่ทำอยู่เวลานี้ก็คือกิจกรรมแนวกันไฟ”
เจ้าป่าถอนใจแล้วตั้งคำถาม “เราต้องยอมรับให้มันเกิดขึ้นทุกปีหรือ”
แม้ส่วนตัวจะมีโอกาสรู้เห็นวิธีป้องกันปัญหาในหลายพื้นที่ว่าน่าชื่นชม อย่างชุมชนปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่สองร้อยกว่าครัวเรือนบนพื้นที่สองหมื่นกว่าไร่ของบ้านป่าแป๋ในจังหวัดลำพูน หมู่บ้านที่ล้อมด้วยหุบเขาบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ๑,๓๐๐ เมตร ซึ่งยังไม่มีพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเข้าถึงเพราะพวกเขามีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ปลูก และไม่เพียงร่วมทำแนวกันไฟทุกปี ยังหมั่นทำทั้งฤดูร้อนและฤดูฝน เนื่องจากบนดอยสูงไม่มีแม่น้ำ แต่การดับไฟไม่อาจใช้เพียงการตบใบไม้ขอนไม้เพราะจะดับได้เพียงชั้นบนส่วนชั้นล่างยังคงมีเชื้อไฟอยู่ จำเป็นต้องใช้น้ำจึงดับสนิท เมื่อถึงฤดูฝนพวกเขาจึงนำถังขนาด ๕ ลิตร ไปวางเรียงตามร่องน้ำบนภูเขาเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ดับไฟในหน้าแล้ง น้ำที่รองไว้ยังช่วยชะลอการลุกลามให้ช้าลง และช่วยผ่อนแรงให้ชาวบ้านได้เยอะมาก แต่เอาเข้าจริงพวกเขาก็ยอมรับว่าแนวกันไฟป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่ง เมื่อเกิดไฟไหม้แล้วพวกเขาไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด และตราบที่คนพื้นที่ราบยังจุดไฟเผาไร่ เมื่อลมพัดทีสะเก็ดไฟที่ติดมากับกิ่งไม้ขนาดเท่านิ้วมือนิ้วเท้าก็ยังคงปลิวขึ้นไปลุกไหม้ผืนป่าบนดอย
แม้จะดับไฟได้แต่หมอกควันก็ยังมี คำถามของนายผลดีจึงชวนสำลักควันไม่น้อย
“เราสูญเสียงบประมาณที่จะนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นไปกับการเยียวยาและทำแนวกันไฟซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจากปัญหาทางเดินหายใจ ทั้งที่มีทางออกดีกว่าคือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเมื่อเราต่างรู้อยู่แล้วว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่ามาจากอะไรบ้าง”
อดีตผู้ผลิตรายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศยกตัวอย่างวิธีจัดการพื้นที่เกษตรกรรม
“ที่ผ่านมาหลังเก็บเกี่ยว การเผาเพื่อกำจัดวัชพืชและเศษซากอาจเป็นวิธีง่ายและประหยัดต้นทุนสุด แต่ตอนนี้เราต้องหาวิธีให้เกิดการเผาน้อยที่สุดหรือทำให้เป็นศูนย์ ซึ่งคงไม่ใช่แค่ให้ประชาชนรับรู้ผลเสียหรือโทษของการเผา และไม่จำเป็นต้องเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด ทุกภาคส่วนร่วมมือกันได้ บ้านเรามีนักวิชาการเก่งๆ มากมายที่สามารถนำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมจากต่างประเทศมาช่วยปรับสภาพนำเศษซากต่างๆ ออกจากพื้นที่เกษตร โดยมีเอกชนที่มีศักยภาพทางการเงินพร้อมสนับสนุนทุนวิจัยและการผลิตถ้ามันเป็นประโยชน์และควรค่าต่อการลงทุน อาจเป็นเตาเผาที่มีประสิทธิภาพในการก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุดก็ได้ ผมว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทุกชุมชนควรมีได้แล้ว มันควรทำให้เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตในประเทศกสิกรรมสิ เหมือนที่เราต้องมีน้ำสะอาด มีถนน มีไฟฟ้าใช้ และต้องตอบโจทย์การใช้งานจริงของแต่ละพื้นที่ด้วย มีคนคอยดูแลให้พร้อมใช้งานเสมอ ไม่ใช่มีแล้วปล่อยให้ใช้งานไม่ได้เหมือนที่หลายชุมชนมีเครื่องสีข้าวแต่พอใช้ไปสักพักเครื่องพังทุกอย่างก็จบ หรือบางชุมชนมีเครื่องสีข้าวที่ต้องใช้ไฟ ๓ เฟส แต่ชุมชนนั้นมีพลังงานไฟฟ้าให้ใช้แค่ ๑ เฟส เครื่องสีข้าวนั้นจึงทำหน้าที่เพียงตั้งไว้เฉยๆ”
เขาเสนออีกกรณีที่หากบางชุมชนอยู่ไกลความเจริญมากจนเครื่องจักรหนักไม่อาจเข้าถึง
“ก็ต้องส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากเศษซากต่างๆ เหล่านั้นทำเป็นปุ๋ย แถวบ้านผมก็มีคนเผาวัชพืชเสมอ เกิดเป็นมลพิษฝุ่นควันทางอากาศลอยคลุ้งมารบกวนเพื่อนบ้านในละแวก แล้วผมกับคนอื่นๆ ต้องทำอย่างไรหรือ ช่วงกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เนวิเกเตอร์ เคยนำเสนอตอน ‘สิ่งแวดล้อมรอบตัว…PM 2.5’ ทำให้ผมได้คุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติหนึ่งของต้นไม้บางชนิดที่มีใบช่วยดักฝุ่น แต่ว่าฝุ่นต่างๆ มันลอยอยู่ในอากาศนี่ และจุดประสงค์หลักของการปลูกต้นไม้ก็ไม่ใช่เพื่อนำมาดักฝุ่น PM 2.5 ในบ้าน กลายเป็นว่าผมก็ต้องใส่หน้ากากป้องกันตลอดเวลาหรือซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาแพงใช้หรือ ไม่ยุติธรรมเลย ทั้งที่อากาศหายใจเป็นของทุกคน เรามีสิทธิ์ที่จะสูดอากาศดีและไม่ควรมีใครถือสิทธิ์มาทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ วิกฤตที่เกิดอยู่ตอนนี้มันถูกปล่อยปะละเลยมานานเกินไปแล้ว”
อย่างที่รู้กันว่าถ้าปอดของมนุษย์สูดดมควันเหล่านั้นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ป่วย เด็ก คนชรา จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เด็กบางคนอาจมีเลือดกำเดาไหล เป็นภูมิแพ้ หรือแม้บางคนอาจยังไม่แสดงอาการในวันนี้แต่ในอนาคตอีก ๕-๑๐ ปี ย่อมส่งผลกระทบ
“พวกขยะวัชพืชที่บ้านผมจะใช้วิธีฝังกลบ มีพื้นดินปลูกต้นไม้ตรงไหนก็ขุดหลุมทำได้หมด นอกจากลดภาระให้เทศบาลผมเองก็ได้ปุ๋ย เข้าใจนะว่าพื้นที่เกษตรกรรมมันมีเยอะ จะให้เขาไถหรือฝังกลบเป็นปุ๋ยมันทำให้ระยะการทำเกษตรครั้งต่อไปช้าลง เมื่อเงินทองเป็นปัจจัยสำคัญต่อปากท้อง แต่มันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำควบคู่กับการเกษตรนี่เมื่อคุณยังแบ่งพื้นที่ขุดบ่อเก็บน้ำได้ พื้นที่ฝังกลบก็ควรเป็นความรับผิดชอบบนที่ดินที่ตนถือครองด้วย รัฐบาลก็ต้องช่วยจูงใจให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ พบคนละครึ่งทางก็ได้ ชาวบ้านไถเสร็จรัฐก็ช่วยอำนวยความสะดวกนำเศษซากเหล่านั้นออกมากำจัดให้ถูกวิธี ถ้าจำเป็นต้องเผาก็ให้น้อยที่สุดและไม่เผารวดเดียว ปลายทางของการเผาต้องมีนวัตกรรมรองรับให้นำไปใช้ประโยชน์สูงสุดด้วย ใครไม่รักษากติกาต้องมีกฎลงโทษหากพิสูจน์ทราบว่าการเผานั้นเกิดจากแปลงของใคร”
หลายปีที่ผ่านมาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า กฎหมายไทยใช้มาตรการ “ห้ามเผาเด็ดขาด ๖๐ วัน” ในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เพื่อลดจำนวนชิงเผาในช่วงหน้าแล้งให้ทันก่อนเข้าหน้าฝน ผลคือชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมปฏิบัติตามแม้ไม่เต็มใจ แล้วเมื่อครบกำหนดก็เร่งเผาให้เสร็จสิ้นเพราะไม่รู้ว่าเดี๋ยวฝนจะตกคราใดและเดือนพฤษภาคมก็ถึงเวลาต้องเพาะปลูก ที่ผ่านมาเมื่อเข้าฤดูฝน หมอกควันจะสงบเป็นปรกติ แต่หลายปีมานี้กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั่วโลกทำให้โลกร้อนขึ้นจนอากาศปรวนแปร ฝนที่เคยตกก็ไม่ตกตามฤดูอีก กลายเป็นว่าสถานการณ์หมอกควันที่เริ่มคลี่คลายก็กลับมาครึ้มควัน
“ผมไม่ได้รู้เรื่องกฎหมายนัก บอกไม่ได้ว่าต้องมีอะไรเพิ่มไหม แต่เอาแค่ในสิ่งที่เรามีวันนี้ถ้าได้บังคับใช้ให้ครบถ้วนอย่างตรงไปตรงมาก็อาจไม่ต้องสูญเสียอะไรมากเกินไป อย่างเรื่องที่ดินเกษตรขยายใหญ่โตจนนับวันพื้นที่ป่ายิ่งสูญเสีย ผมว่าต้องจริงจังกับการจัดการผังสิ พื้นที่สีเขียวที่หลวงกำหนดให้ชาวบ้านอยู่อาศัยหรือทำกินการเกษตร ต่อให้มีการซื้อขายเจ้าของรายใหม่ก็ต้องใช้สอยที่ตรงนั้นต่อตามวัตถุประสงค์เดิม จะเปลี่ยนเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นไม่ได้ กฎหมายตรงไหนที่คลุมเครือก็ต้องแก้ไขให้เกิดความยุติธรรมในสังคม เอาเข้าจริงก่อนจะไปแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่น เราต้องยกมาตรฐานตรงนี้ให้ได้ก่อน”
ย้อนไปปลายธันวาคม ๒๕๕๓ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยมีคำสั่งให้ทุกอุทยานดำเนินการมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ๒๕๐๔ ว่าด้วยกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติและมีสิ่งปลูกสร้างหรือทำให้พื้นที่ต่างไปจากเดิม หัวหน้าอุทยานฯ สามารถใช้คำสั่งทางการปกครองให้ผู้กระทำผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากเดิมออกไปให้พ้น ถ้าหัวหน้าอุทยานแห่งชาติรายใดไม่ทำอาจถูกพิจารณาเป็นรายกรณีว่ามีพฤติกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่วงนั้นเราจึงได้ยินข่าวดำเนินการรื้อคดีและตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่ากันอย่างเข้มข้น แต่ในมุมของเจ้าป่าปัญหาที่ดินคงไม่ใช่เฉพาะที่ติดป่าอุทยานแห่งชาติซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ. เท่านั้น คงหมายรวมถึงที่ดินในความดูแลของกรมป่าไม้ในฐานะเป็นผู้ใช้กฎหมายป่าสงวน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งรับมอบที่ดินป่าสงวนจากกรมป่าไม้ด้วย และก็เป็นความคารังคาซังมาตั้งแต่เกิดมติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ให้กรมป่าไม้จัดทำแนวเขตป่าให้ชัดเจนและพิสูจน์การถือครองทำกินของราษฎร หากมีมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ก็ให้จัดทำเป็นขอบเขตที่ทำกินไว้โดยห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมเด็ดขาด แต่ในมุมหนึ่งกลายเป็นว่าอนุญาตให้คนที่บุกรุกแล้วอยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีการกำหนดแนวเขตป่าที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้จริงว่าอยู่มาก่อน แล้วปรากฏว่าทุกวันนี้เรื่องแนวเขตใหม่ในหลายพื้นที่ก็ยังไม่มีอธิบดีท่านใดลงนามอนุมัติ คิวที่รอการพิสูจน์จึงยังได้อยู่แบบถาวร พอชาวบ้านอยู่จนเข้าใจว่าที่เป็นของเขาก็เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือ นักธุรกิจต่างถิ่นได้ที่ดินก็นำไปลงทุน ส่วนเกษตรกรพื้นที่เมื่อใช้เงินหมดก็รุกป่าใหม่
“ในความคิดของผม ปัญหาหมอกควันไฟป่ายังแก้ได้ แต่การปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่าบ้านเรามีประสิทธิภาพพอแล้วหรือ เราอยู่ในประเทศที่คนมีรายได้ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลนำไปบริหารจัดการเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้ดีขึ้น การรับข้าราชการมาดูแลป่าให้เพียงพอก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะทุกวันนี้ก็ยังคงมีพื้นที่ป่าสูญเสียไป ซ้ำเติมด้วยไฟไหม้ป่าทุกปี”
อาจเพราะที่ผ่านมาเรามองหาความมั่นคงก่อนความเป็นคน
“คนมักพูดว่าต้องรักษาธรรมชาติ ป่า ทะเล เพื่อลูกหลานในอนาคต นอกจากทรัพยากรธรรมชาติผมอยากให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ด้วย เพราะต่อให้มีเทคโนโลยีมากมายแต่ถ้าไม่พัฒนาคนให้มีคุณภาพ ผู้คนไร้จริยธรรมทางสังคม ประเทศก็ไม่พัฒนาอยู่ดี ในส่วนที่ผมพอจะทำได้แม้ไม่มี เนวิเกเตอร์ แล้วก็จะพยายามเป็นกระบอกเสียงย้ำเรื่องจิตสำนึกผ่านทุกช่องทางสื่อสารให้มากที่สุด”
แม้ไม่อาจทำได้เต็มที่นักใน เจ้าป่าเข้าเมือง
แต่ไม่เคยลืมว่า Jungle is my home town
:: Navigator Nature Club ::
ยังมีน้อยคนที่รู้ว่าเขาสามารถนำหน้านามได้ด้วย ดร.เจษฎาภรณ์ ผลดี
แม้ไม่ได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแต่ผลผลิตจากรายการ เนวิเกเตอร์ รวมถึงอุทิศตนทำงานสาธารณะด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องก็เป็นคุณค่าที่ส่งผลให้ปี ๒๕๕๗ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
“งานวิทยากรบรรยายเป็นสิ่งที่ผมทำควบคู่ตั้งแต่ตอนมีรายการ เนวิเกเตอร์ โดยเฉพาะงานรำลึกสืบ นาคะเสถียร ของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะมีการจัดเสวนาทุกปีและผมก็ได้เข้าร่วมอยู่หลายปี ที่อื่นๆ มีบ้างประปราย ถ้าใครเชิญมาและผมสะดวกก็ยังตอบรับทำอยู่”
ด้วยรู้ เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้นไม้ที่รวมกันเป็นป่าดงย่อมช่วยปะทะลมพายุให้แก่กัน
ต้นไม้ที่อยู่โดดเดี่ยว แม้สูงใหญ่แค่ไหนหากโต้พายุตามลำพัง ไม่นานก็คงหักโค่นลง
จะขับเคลื่อนเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงต้องอาศัยมวลชน ต่อให้ทุ่มเทสุดกำลังมนุษย์ก็ไม่อาจเปลี่ยนสภาวะอากาศให้กลับไปเหมือนเดิม แต่การตื่นลืมตาแต่ละวันด้วยสำนึกว่าควรรับผิดชอบอะไรบางอย่างเพื่อโลก แล้วลงมือทำเท่าที่ทำได้ทันทีก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่านิ่งเฉย-เร่งวันให้โลกไปสู่จุดจบ
ซึ่งสิ่งสำคัญของการ “อนุรักษ์” ก็คือการปลูกฝังจิตสำนึก
“ผมจึงต้องพูดซ้ำในเรื่องเดิมๆ เพราะต้องนึกถึงว่าบางคนเป็นกลุ่มใหม่ บางครั้งผู้ฟังก็ตั้งคำถามให้ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องที่แตกต่าง ล่าสุดมีนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาถามว่าเวลาเข้าป่าผมป้องกันทากอย่างไร ซึ่งไม่เคยมีใครถาม และผมก็มองข้ามไปแล้วว่าควรเล่า แต่สำหรับคนที่ประสบการณ์ชีวิตยังน้อยก็เป็นเรื่องที่เขาสนใจอยากรู้ ทำให้ผมได้แบ่งปันวิธีที่น่าจะเป็นมิตรกับธรรมชาติที่สุดไป”
แม้ความรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่อาจเล่าจบวันเดียว และไม่ง่ายจะถ่ายทอดตั้งแต่เรื่องดินครอบคลุมไปถึงเรื่องโลกได้ แต่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้สักคนที่ฟังแล้วสนใจแสวงหาข้อมูลต่อ อย่างน้อยที่สุดการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์บนดินที่ดีย่อมส่งผลโดยตรงกับพืชพรรณ
ครึ่งปีมานี้จึงเกิด Navigator Nature Club บนเพจ-เฟซบุ๊กอีกช่องทางรองรับตัวตน
“คอนเซ็ปต์คือ ‘แหล่งซ่องสุมของคนรักธรรมชาติ’ เพราะผมหวังให้เป็นพื้นที่สื่อสารสองทาง ไม่ใช่มีแต่ตัวผมที่นำเสนอออกไปเหมือนรายการ เนวิเกเตอร์ ผมอยากรู้เรื่องราวจากคนอื่นบ้าง อีกอย่างที่ผ่านมาเวลาได้รับเชิญไปพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในองค์กรต่างๆ ก็ไม่เคยนำมาเผยแพร่เลย นี่จะได้เป็นพื้นที่หนึ่งในการถ่ายทอด และสามารถอัพเดทสถานการณ์ได้รวดเร็ว”
เพราะแง่หนึ่ง เจษฏาภรณ์ ผลดี ย่อมถือเป็น “สื่อมวลชน” ที่มีหน้าที่ในหลักการ “สื่อสาร” สู่สังคม เมื่อยุคสมัยแห่งการรับสารของมวลชนเปลี่ยน หากมีช่องทางอื่นที่จะ “สื่อถึงกัน” ได้ดี ชัดเจน และรวดเร็วกว่า ก็ไม่แปลกที่เขาจะปรับตนเรียนรู้วิธีใหม่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไป
สี่ทุ่มกว่า เราแยกย้ายกันที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอ่อนนุช
หลังส่งเจ้าป่า (ขับรถ) เข้าเมือง ขณะเดินขึ้นสะพานลอยยังทันเห็นสภาพจราจรบนถนนที่ยังไม่มีทีท่ารถราจะพร่อง นึกถึงข่าวต้นเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ในการประชุมติดตามความก้าวหน้า “การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษสรุปปัจจัยที่ทำให้กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังต้องเสี่ยงต่อสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ว่ามาจากแหล่งต้นกำเนิด ๓ ส่วน คือ สภาพความกดอากาศต่ำ การเผาในที่โล่งแจ้ง และรถยนต์
น่าสนใจในข้อมูลว่ากรมควบคุมมลพิษจ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียวิจัยและพบว่า “รถยนต์” ก่อให้เกิดฝุ่นพิษมากสุดร้อยละ ๗๕.๔ โดยแต่ละวันกรุงเทพฯ มีรถสัญจรกว่าวันละ ๑๐ ล้านคัน เมื่อรวมกับฝุ่นที่สะสมในอากาศนิ่งยิ่งกลายเป็นวิกฤตเมื่อปลายปี กรมควบคุมมลพิษจึงร่วมกับหลายหน่วยงานออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงขอความร่วมมือให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จ
“ถ้าอยากรณรงค์ให้ลดใช้รถส่วนตัวก็ต้องมีระบบเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะที่เพียงพอมารองรับสิ ในประเทศที่มีการจัดการที่ดีประชาชนเดินไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ถึงระบบขนส่งสาธารณะแบบใดแบบหนึ่งแล้ว”
เจ้าป่าสะท้อนไว้ ตอนที่เราแลกเปลี่ยนกันเรื่องปัญหาฝุ่นควันของคนเมือง
“อย่างบ้านเราถ้าใช้การคมนาคมจากแม่น้ำลำคลองที่มีหลายสายให้เต็มศักยภาพจะลดการสัญจรทางบกได้มาก แต่นอกจากเจ้าพระยาและคลองแสนแสบก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงจังจากคลองรังสิตจำนวนหลายสิบคลองเลย ซึ่งยังมีคลองสายย่อยอีกมากที่น่าจะเชื่อมโยงให้ถึงกันได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรือยนต์เสมอไป นำระบบไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีอื่นเข้ามาลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยก็ได้”
บางทีรถยนต์ก็อาจไม่เป็นข้ออ้างก่อให้เกิดฝุ่นพิษหากจัดการดีกว่ารณรงค์
“ผมว่าไหนๆ บนทางด่วน โทลล์เวย์ หรือเส้นทางรถไฟฟ้าก็เป็นทางยกระดับอยู่แล้วน่าจะออกแบบทางคู่ขนานที่ปลอดภัยให้ใช้ควบคู่เส้นทางเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานได้ อาจออกแบบโดยขยายปีกด้านข้างหรือทำแบบสองชั้นให้รถยนต์หรือรถไฟฟ้าวิ่งชั้นบนสุด รองลงมาจึงเป็นเส้นทางจักรยานซึ่งจักรยานจะได้มีพื้นของถนนด้านบนช่วยบังแดดบังฝนในตัว และได้ใช้ประโยชน์จากแต่ละสถานีเป็นจุดพักร่วมกันทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ รวมถึงทางขึ้น-ลง ส่วนใต้ทางด่วนก็ไม่ควรปล่อยเป็นแหล่งเสื่อมโทรม บางแห่งที่มีการพัฒนาเป็นลานกีฬา ตลาดนัด สวนสาธารณะอยู่แล้วยังเพิ่มประโยชน์ให้เป็นที่เช่าจอดรถได้ แม้แต่บนถนนด้านล่างก็ต้อ
แบ่งให้เส้นทางจักรยานจริงๆ ไม่ใช่ตีเส้นแล้วปล่อยให้มีรถยนต์จอดขวาง ต้องทำให้ปลอดภัยและยุติธรรมต่อผู้ใช้งานจริง ถ้ามีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องผจญกับรถติดทำไมประชาชนจะไม่อยากใช้ล่ะ”
เขาเล่าว่าเคยนำเสนอแนวคิดนี้พร้อมรูปวาดประกอบที่ช่วยให้เห็นความจริงชัดเจนขึ้นในเพจ Tik Jesdaporn Pholdee ในวาระที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลกและวันคล้ายวันเกิดตน
แง่มุมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็ประสบความสำเร็จจากการทำให้พลเมืองมีชีวิตดีๆ ด้วยวิธีใช้ประโยชน์สูงสุดจากสิ่งก่อสร้างที่ผ่านกระบวนคิดสร้างสรรค์
เล่าให้เขาฟังขณะเดินทางกลับที่พักย่านรัตนาธิเบศรว่าลงจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิตจะเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร แต่หมดเวลาให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อแล้ว ต้องเดินกลับมาขึ้นรถตู้สาธารณะและจ่ายค่าบริการสูงกว่าปรกติหนึ่งเท่าเพราะเป็นเวลาพิเศษ (กลางคืน)
นี่คือระบบขนส่งสาธารณะในเวลาก่อนห้าทุ่มซึ่งไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตคนกรุงเทพฯ
นึกถึงสิ่งที่เขาชักชวนคนรุ่นใหม่เมื่อเริ่มตั้งเพจ Navigator Nature Club แหล่งซ่องสุมของคนรักธรรมชาติ ที่ตีความไปมากกว่าเรื่องของต้นไม้ สัตว์ คน และสภาพภูมิประเทศ
“เรามาร่วมมือหาทางออกของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข เพื่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่เป็นของพวกเราทุกคน”
ในวัยที่ผ่านความจริงมาเกือบครึ่งชีวิต ความงามในอุดมคติจึงไม่ใช่การถอยกลับไปใช้ชีวิตสมถะ
แต่คือการบ่มเพาะวิธีคิดให้เติบโตสมบูรณ์แล้วใช้ชีวิตในแต่ละเส้นวงปีให้สมดุลไปกับความเจริญ