เรื่องและภาพ : ทีม Booklook ค่ายนักเล่าความสุข
“หากว่าเรากำลังสบาย จงปรบมือพลัน”
เสียงทักทายเปิดตัวอันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเริ่มต้นโชว์ “เดี่ยวไมโครโฟน” ของ โน้ส อุดม แต้พานิช สแตนด์อัปคอเมเดียนชื่อดังที่ไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก
เมื่อ ๒๐ ปีก่อนเขาคือผู้บุกเบิกวัฒนธรรมสแตนด์อัปคอเมดีในเมืองไทย มีแฟนคลับมากมายติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในประเทศไทยยังมีเหล่าสแตนด์อัปคอเมเดียนอีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขากำลังสร้างวัฒนธรรมสแตนด์อัปคอเมดีให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะกระจายรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไปสู่ทุกคน
๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ หากไม่รู้มาก่อนแล้วเดินเข้าไปในซอยลาดพร้าว ๑๘ เราอาจหาสตูดิโอเล็กๆ ไม่พบ เพราะดูเหมือนบ้านพักอาศัยธรรมดาๆ
จนกระทั่งสองขาพาเราก้าวข้ามประตูรั้ว
ด้านหลังประตูบานใหญ่เราเห็นผู้ผ่านการคัดเลือกออนไลน์ในโปรเจกต์ “ยืนเดี่ยว One Punch Down” กำลังนั่งรอคิวเพื่อให้กรรมการคัดสรรนักเล่าเรื่องตลกจำนวนหกคนไปแข่งขันรอบสุดท้ายในงาน “ยืนเดี่ยว” ครั้งที่ ๕ ต่อหน้าผู้ชม
และผู้ชนะหนึ่งเดียวในโปรเจกต์นี้จะได้แจ้งเกิดเป็นสแตนด์อัปคอเมเดียนคนใหม่ของวงการ
แม้เหล่าสแตนด์อัปคอเมเดียนจะต้องมาเล่าเรื่องตลก เล่นตลก แต่ในห้องก็มีไอความเครียด ความกดดัน และความกังวลลอยฟุ้ง
=รันวงการ=
การจัด “เดี่ยวไมโครโฟน” หลายต่อหลายครั้งของโน้ส อุดม ทำให้เราได้รู้จักกับสแตนด์อัปคอเมดีบ้างแล้ว แต่สแตนด์อัปคอเมเดียนในเมืองไทยยังมีอยู่น้อยมาก ชนิดที่ว่าถ้าถามเพื่อนข้างๆ ว่ารู้จักคนไหนบ้าง คำตอบคงนับได้ไม่เกินจำนวนนิ้วมือ
การจัดสแตนด์อัปคอเมดีแต่ละครั้งยังคงเป็นเรื่องน่ากลัวของทั้งตัวผู้จัดและสแตนด์อัปคอเมเดียนเอง
แต่ความกลัวหนักหนาของทั้งหน้าเก่าและใหม่คือ กลัวไม่มีคนฟัง
เราได้คุยกับ ยู-กตัญญู สว่างศรี หนึ่งในผู้รันวงการสแตนด์อัปคอเมดีของไทย เขาเล่าให้ฟังว่า
“เมื่อสัก ๓-๔ ปีที่แล้ว สแตนด์อัปคอเมเดียนเป็นเรื่องน่ากลัวมาก ใครรู้ว่าเราจะมีงานก็ถามว่าจะทำได้เหรอ มันจะดีเหรอ แน่ใจเหรอ พอไปชวนใครมาพูด มาทำ ‘ยืนเดี่ยว’ ด้วยกันก็ถูกปฏิเสธหมด เพราะทุกคนไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรบ้าง มันไม่มีคู่มือ”
กตัญญูเริ่มทำสแตนด์อัปคอเมดีครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๙ ในชื่อ “A- Katanyu 2016: ๓๐ ปี ชีวิตห่วยสัส”
ความตั้งใจคืออยากเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นฟัง ครั้งนั้นเป็นเวทีที่สร้างความฮือฮาและได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจากนั้นเขายังคงจัดสแตนด์อัปคอเมดีของตัวเองเรื่อยมา
จนกระทั่งกตัญญูได้รู้จักกับ แก๊ป-คณีณัฐ เรืองรุจิระ หัวหอกผู้ริเริ่มงาน “ยืนเดี่ยว” ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๒ จนถึงครั้งที่ ๕ ในเดือนมกราคม ๒๕๖๓
แรกเริ่มการจัด “ยืนเดี่ยว” เกิดจากยูคุยกับแก๊ปแล้วชักชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เคยขึ้นสแตนด์อัปคอมมเมดีแล้วมารวมตัวกัน
“ครั้งแรกยากที่สุด เพราะสแตนด์อัปคอเมดียังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ แถมยังไม่เคยมีที่ไหนจัดแบบมีหกคนมาก่อน พอครั้งต่อๆ ไปเราก็เอาคลิปวิดีโอครั้งก่อนหน้าส่งให้คนอื่นๆ ดู ว่างานจะเป็นแบบนี้ บรรยากาศประมาณนี้ คนอื่นก็เข้าใจได้ง่าย สนใจมากันเยอะขึ้น
“เราเรียกตัวเองว่า สตาร์ตอัปของคนที่อยากเล่นเดี่ยว ให้ได้ลองเล่นเวทีเล็กๆ ก่อนที่จะขยายเวทีใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือน ‘ยืนเดี่ยว’ เป็นบันไดขั้นแรกของสแตนด์อัปคอเมดี”
แก๊ปบอกความตั้งใจของตัวเองให้ฟังว่า หลายๆ คนรู้จัก “เดี่ยวไมโครโฟน” ของโน้ส อุดม ฝันอยากจะได้พูดเหมือนพี่โน้ส แต่ฝันนั้นเกิดขึ้นได้ยากเพราะไม่มีใครสนับสนุนวัฒนธรรมสแตนด์อัปคอเมดีโดยเฉพาะ ทั้งๆ ที่เรื่องตลกอยู่คู่กันกับคนไทย ในทุกกลุ่มเพื่อนอย่างน้อยๆ ต้องมีคนหนึ่งเป็นคนตลก แล้วทำไมคนคนนั้นจะพูดในงานสแตนด์อัปคอเมดีไม่ได้
นอกจากงาน “ยืนเดี่ยว” ที่ชักชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายมาร่วม ยังมีโปรเจกต์เล็กๆ อย่าง “One Punch Down” เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ที่มีความฝันอยากเป็นสแตนด์อัปคอเมดีมาโชว์บนเวที “ยืนเดี่ยว” อีกด้วย
หลังเสร็จจากการออดิชัน One Punch Down ผู้เข้าร่วมแข่งขันค่อยๆ ทยอยกลับบ้าน บางส่วนถ้าไม่รีบกลับก็พูดคุยกัน เสียงหัวเราะดังขึ้นบ้างประปราย บรรยากาศผ่อนคลายลงกว่าช่วงแรก
=งานนี้ต้องแมส=
สแตนด์อัปคอเมเดียนจะไม่ได้เล่าเรื่องตลกด้วยกันอย่างคณะตลก แต่จะต้องขึ้นเวทีทีละคนไปถือไมโครโฟนพูดต่อหน้าผู้ชมเป็นร้อยๆ คน
ถึงอย่างนั้นวงการนี้ก็ไม่ได้โดดเดี่ยว เดียวดาย ต่างช่วยเหลือและคอยผลักดันกันและกันอยู่เสมอ
กตัญญู สว่างศรี เล่าเพิ่มเติมว่า
“มันอุ่นใจ ชวนเพื่อนๆ ให้มาอยู่เวทีเดียวกัน ต่อให้วันนี้ไม่ได้ขึ้นโชว์แต่ระหว่างที่เพื่อนอยู่บนเวทีก็มีลุ้นแทน เอาใจช่วยกันเพราะรู้ว่ามันเจ็บปวดเหมือนกันมั้ง
“จะคุยกันเยอะมาก อย่างก่อนเล่นก็จะคุยปรับอารมณ์ หลังเล่นก็จะคอมเมนต์แลกเปลี่ยนกัน พี่น่าจะโชว์อย่างนี้นะ น่าจะเล่นแบบนี้นะ มันเป็นรูปแบบที่ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ อยากส่งเสริมกัน ไม่มีแบบที่กลัวว่าคนนี้จะแย่งงานไป”
“วันนี้เกือบทุกคนมาเพราะว่าตัวเองมีเรื่องอยากเล่า แค่นั้นเลย ก็มา อยากลอง บางคนพอเล่าแล้ว เราเหมือนมีเสาอากาศอยู่บนหัวเลยนะ จะมองแล้วคิดว่าไอ้คนนี้ได้ ไอ้คนนี้ดี คนนี้น่าลอง”
โน๊ะ นนทบุเรี่ยน สแตนด์อัปคอเมดีคนใหม่ล่าสุดที่กำลังเป็นที่จับตามองบอกเล่าให้เราฟัง แม้วันนี้เขามาในฐานะกรรมการตัดสิน แต่โน๊ะยังแนะนำเทคนิคกลเม็ดต่างๆ ให้ผู้เข้าแข่งขันฟังแบบไม่มีกั๊ก
ในต่างประเทศอย่างอเมริกา มีสแตนด์อัปคอเมดีอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเองอย่างจริงจัง มีคลับเฉพาะ
แน่นอนว่าแหล่งความรู้ของสแตนด์อัปคอเมเดียนก็คือคลิปวิดีโอบันทึกการแสดงจากทั่วโลก ดูเพื่อวิเคราะห์เทคนิค รูปแบบการเล่า แล้วนำมาปรับใช้
เตย ดอนเมือง สแตนด์อัปคอเมเดียนหน้าใหม่อีกคนที่แจ้งเกิดจากเวที “ยืนเดี่ยว” เล่าให้เราฟังถึงการเขียนบทของเขา ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่การนึกอยากจะเล่าเรื่องก็แค่เล่า แต่ต้องมีเทคนิค วิธีการเรียบเรียง จังหวะการผ่อนเสียงเพิ่มเสียง จุดที่ควรขยี้ให้ขำ จุดที่ควรเว้นจังหวะ ฯลฯ
เทคนิคเหล่านี้เตยแนะนำให้เหล่าผู้สมัครได้รู้และนำไปปรับใช้ด้วย
“ตอนเราเขียนบทเรื่องริดสีดวง เรื่องก็ตลกนะ แต่เล่าไปตอนที่ ๑ ถึง ๑๐ มันไปฮาตอนที่ ๙ ที่๑๐ พอเราไปดูคนอื่นๆ อย่างใน Netflix เนี่ย เราก็เห็นจังหวะ เทคนิคการเล่าที่ทำให้เรื่องเฉียบ คมขึ้น เราก็เอามาปรับ ทำให้ขำได้ตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึง ๑๐”
“พี่ๆ พี่ใช่คนที่เป็นริดสีดวงไหม”
ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกคนแปลกหน้าทักด้วยประโยคนี้ จากจังหวะลีลาการเล่าประสบการณ์ชีวิตตอนเป็นริดสีดวงที่ทำให้ผู้ชมระเบิดเสียงฮากระหึ่มในวันนั้น ส่งผลให้มียอดวิวบนยูทูบกว่าแสนวิวในวันนี้ มีคนเข้ามาทักทายขอถ่ายรูปมากขึ้น หรือบางคนมาคอมเมนต์ใต้คลิป แนะนำให้ใช้ว่านหางจระเข้ในการรักษา
ในขณะที่โน๊ะเริ่มมีคนชื่อแปลกๆ ส่งคำขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กมากขึ้น บางคนถึงขนาดส่งข้อความให้รับแอดเฟรนด์ พอรับแล้วเขาก็เล่าว่าตอนแรกเครียดมาก แต่พอได้เห็นได้ฟังเรื่องของโน๊ะก็ทำให้เขายิ้มออก
มีคนรัก ย่อมมีคนเกลียด มีคนขำ ย่อมมีคนไม่ขำด้วย
ในความไม่ตลกของผู้เล่าเรื่องตลกคือ นอกจากจะมีฟีดแบ็กดี ก็ย่อมมีฟีดแบ็คที่ไม่ดี
ยู-กตัญญู เล่าว่ามักเจอข้อความใจร้าย อย่าง “ไม่เห็นตลกเลย” “ตลกตรงไหนวะ” ถึงยูจะทำสแตนด์อัปฯ มาสี่ปีแล้ว แต่การเห็นข้อความแบบนี้ก็ยังคงเจ็บปวดเสมอ
=มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า=
๒๕ มกราคม เราเดินทางมาถึง Circus Studio สถานที่จัดงานแสดง “ยืนเดี่ยว” พระอาทิตย์เริ่มโบกมือลาด้วยแสงสีส้ม แม้ว่าจะมาก่อนงานเริ่มกว่าชั่วโมงแต่ก็พบคนที่มารอรับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะต่อแถวเข้างานอยู่ไม่น้อย
ก่อนงานเริ่มเรามีโอกาสคุยกับสแตนด์อัปคอเมเดียนที่จะต้องขึ้นโชว์ในวันนี้
หลายคนยอมรับด้วยรอยยิ้มว่ากดดันมาก ทั้งจากคนดูที่เตรียมมาขำตั้งแต่ออกจากบ้าน กังวลว่าเรื่องที่เตรียมมาจะตลกแล้วกระแทกใจคนดูหรือเปล่า ไหนจะถูกกดดันจากความสำเร็จของเพื่อนพ้องชั้นเซียนที่เคยโชว์ในครั้งก่อนๆ
เมื่อพิธีกรประกาศว่าถึงเวลาแห่งเสียงหัวเราะ เราเดินเข้าไปในงาน สถานที่จัดงานครั้งนี้ต่างจากครั้งแรกที่เคยมา จากห้องเล็กๆ กลายเป็นสตูดิโอที่ใหญ่กว่าเดิมถึงเท่าตัว รองรับผู้ชมได้มากขึ้น ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมสแตนด์อัปคอเมดีกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
“ยืนเดี่ยว” ครั้งที่ ๕ ตรงกับวันตรุษจีนพอดี บรรยากาศจึงเป็นไปตามเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟจีนสีแดงที่ห้อยลงมาบนเวที เพลงจีนที่เปิดคลอเบาๆ ผู้ชมเริ่มเข้าสู่ที่นั่ง เราสังเกตเห็นโน๊ะอยู่ด้านหลังสุดของห้อง แม้ว่าวันนี้เขาจะไม่ได้ขึ้นโชว์ แต่แน่ใจว่าเป้าหมายคือการมาให้กำลังใจเหล่าเพื่อนพ้อง
บนเวที สแตนด์อัปคอเมเดียนกำลังเล่าเรื่องเล่าประสบการณ์ที่น่าอายของตัวเองแต่กลับสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผู้ชมไม่ขาดสาย
เรื่องที่นำมาเล่ามีหลายเรื่องหลากแนว ทั้งการจีบสาวสมัย ม. ปลาย ปัญหาการคุยกันในไลน์กลุ่ม ประสบการณ์บริจาคเลือด การโทรศัพท์ไปให้เพื่อนร้องเพลงให้ผู้ชมฟัง ฯลฯ
แม้ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเมื่อเริ่มจับไมค์ว่าตื่นเต้น แต่ทุกเรื่องราวกลับลื่นไหลจนแทบไม่เห็นวี่แววความตื่นเต้นอย่างที่ออกตัว
ขณะเรื่องเล่าดำเนินไปบางครั้งเราได้ยินเสียงจากผู้ชมรอบข้างว่า “เหมือนแกตอนนั้นเลย” “ฉันเคยทำแบบนี้” “จริงด้วย คิดแบบนี้เหมือนกัน” ฯลฯ
แม้จะเคยดู “ยืนเดี่ยว” ผ่านคลิปวิดีโอในอินเทอร์เน็ตมาบ้าง แต่เรายอมรับอย่างที่แก๊ปบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า
“บางคนเลือกที่จะไม่เสียค่าบัตรมาดูโชว์ที่งาน เลือกดูในคลิปที่เผยแพร่ทางออนไลน์ ก็ไม่เป็นไร แต่การซื้อบัตรเพื่อมาดู ‘ยืนเดี่ยว’ ที่หน้าเวที และได้ดูไปพร้อมกับเพื่อนๆ กับผู้ชมคนอื่นๆ ด้วยบรรยากาศต่างๆ ทำให้เราหัวเราะออกมาได้มากกว่านั่งดูผ่านจอคอมฯ หรือโทรศัพท์มือถือ”
หลังจากหมดเวลาพักเบรก ๑๕ นาที ก็ถึงเวลาที่เหล่าผู้ร่วมแข่งขัน “One Punch Down” ต้องขึ้นสังเวียนชก เอ้ย! ต้องขึ้นเวทีเพื่อเล่าเรื่องตลกของตัวเองภายใน ๒ นาที หากเรื่องไหนได้รับเสียงฮาจากผู้ชมมากที่สุดก็จะได้รับรางวัล และเป็นโอกาสก้าวข้ามบันไดขั้นแรกของการเป็นสแตนด์อัปคอเมเดียน
จบจากช่วง One Punch Down ก็ถึงคิวของสแตนด์อัปคอเมเดียนที่เหลือ และแต่ละคนก็มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจและสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้ไม่แพ้คนก่อนหน้า
ฟังเพลินจนโชว์สุดท้ายจบลง รู้ตัวอีกทีเกือบห้าทุ่มแล้ว แม้ว่างานวันนี้จะจบช้ากว่ากำหนด แต่ผู้ชมต่างเดินทางกลับพร้อมกับใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม
สำหรับเรา นอกจากจะได้ผ่อนคลายความตึงเครียดของชีวิตด้วยเรื่องตลกเหล่านี้แล้ว ยังได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมสแตนด์อัปคอเมดีอย่างที่ชาวสแตนด์อัปคอเมเดียนและผู้อยู่เบื้องหลังเคยพูดไว้
ความกังวลหมดไปจากใบหน้าของพวกเขา ที่เหลือคือการพูดคุยอย่างสนุกสนาน หลายคนร่วมวงสนทนาเล็กๆ คอมเมนต์สิ่งที่ผ่านมาในโชว์เมื่อครู่
เราได้เห็นความมุ่งมั่นของคนกลุ่มเล็กๆ ที่กำลังขับเคลื่อนวงการนี้อยู่ เห็นความหวังดีที่เพื่อนร่วมวงการต่างช่วยหยิบยื่นให้แก่กัน
ถ้ามีหน่วยวัดปริมาณของความสุข ในคืนนั้นค่าความสุขของเราคงจะขึ้นสูงพอๆ กับระดับเดซิเบลเสียงหัวเราะของผู้ชมในงาน