จักษุแพทย์: รักษากาย รักษาใจ รักษาสังคม
เรื่องและภาพ : ทีมม้าน้ำ ค่ายนักเล่าความสุข
เมื่อแสงสว่างได้ลาลับจากฉันไปตลอดกาล
หัวใจที่เคยมีพลัง ก็พลันหม่นหมองเศร้า ชีวิตเหมือนรัตติกาลมาเยือน ไร้ซึ่งดวงจันทร์และดวงดาว ระทมทุกข์จนหมดหนทาง หมดแรงก้าวเดิน น้ำตานองหน้า เสียงพูดสั่นเครือ
ถ้อยคำพรั่งพรู บอกเล่าความอัดอั้นตันใจ ให้กับคุณหมอที่นั่งอยู่เบื้องหน้าได้รับฟัง
“ผมเข้าใจ ในสิ่งที่คุณเผชิญอยู่” คุณหมอกล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เปี่ยมความเมตตา
“มีคนไข้ของผม เคยมีความรู้สึกเหมือนคุณ แต่เขาก็ปรับตัว จนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และมีความสุขกับชีวิตใหม่”
ฉันฟัง และสนใจในคำพูดของคุณหมอ มีคนเคยทุกข์ตรมเหมือนฉัน และก้าวผ่านทุกอย่างไปได้
“ผมหวังว่า คุณจะพบหนทางของตัวเอง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อีกครั้ง”
คุณหมอพูดให้กำลังใจฉัน สายธารแห่งความปรารถนาดีที่มีต่อผู้ป่วยอย่างฉัน
รับรู้ได้ถึงความตั้งใจ เอาใจใส่ของคุณหมอ ที่อยากให้ผู้ป่วยเข้มแข็งกลับมาใช้ชีวิตให้เหมือนเดิมมากที่สุด จากพลังใจที่ได้รับ
“เราต้องลุกขึ้นมา ปรับตัว ก้าวเดินเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไม่มีดวงตานำทาง” ฉันคิด
๑.
นอกจากจะดูแล รักษาผู้ป่วยทางกาย เกี่ยวกับโรคตา จอประสาทตาเสื่อมแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ณัฐพล วงษ์คำช้าง หน่วยจอประสาทตาและสายตาเลือนลาง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังสนใจความรู้สึกทางใจของผู้ป่วยด้วย
คนที่ป่วยจนตาบอด หรือสายตาเลือนลาง ย่อมมีผลกระทบด้านจิตใจอย่างมาก เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป
ขาดความมั่นใจในตัวเอง หดหู่ และซึมเศร้า
ฉันป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จนตาบอดกลายเป็นผู้พิการ
วันนั้นฉันได้มาพบนายแพทย์ณัฐพลที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ด้วยความรู้สึกสิ้นหวังในการใช้ชีวิต
เพราะฉันไม่กล้าเดินทางคนเดียว ทำให้ไปไหนไม่ได้ รู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว เหมือนเจอทางตัน
คุณหมอตรวจเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ออกไปรอหน้าห้องตรวจ สักครู่มีผู้ช่วยคุณหมอมาบอกกับฉันว่า
“คุณหมอให้เข้าไปพบอีกครั้ง”
ฉันเดินไปนั่งตรงหน้าคุณหมอ คุณหมอพูดกับฉันว่า “มีอะไรอยากจะเล่าให้หมอฟังไหม”
ทุกอย่างในความรู้สึก ปัญหาที่พบเจอ หลั่งไหลออกมาดั่งสายน้ำ
คำพูดปลอบประโลม ความเห็นใจ เข้าใจ การให้กำลังใจ ความเมตตาที่สัมผัสได้ เสมือนคุณหมอได้ยื่นมือมาฉุดดึงฉันขึ้นมาจากหลุมดำที่มืดมิด พยุงฉันให้ยืนขึ้น
เพียงคำพูดไม่กี่คำของคุณหมอ มอบแรงบันดาลใจให้ฉันปรับตัว กล้าที่จะเด้งหัวใจ ออกจากความคิดว่า “ทำไม่ได้”
ความมั่นใจในตัวเองที่หวนคืน ทำให้โลกใบเดิม ชีวิตเดิม ความสุขเดิมที่เคยได้รับ กลับมาอยู่กับฉัน เดินทางกับเส้นทางใหม่ไปด้วยกัน
๒.
ฉันเป็นนักดำน้ำ คิดถึงทะเล เราจากกันเนิ่นนาน ๑๐ กว่าปี เพราะคิดว่า ตาบอดแล้วคงไปดำน้ำไม่ได้
แต่ฉันคนใหม่ ใช้หัวใจนำทาง พาฉันก้าวผ่านขีดจำกัด ลงดำน้ำลึก สู่โลกสีครามอีกครั้ง
ขอบคุณโครงการ Wheelchair Scuba Thailand – ใจบันดาลแรง ที่ให้โอกาสผู้พิการด้านต่างๆ ได้สัมผัสโลกใต้ทะเล
นอกจากจะทำให้ผู้พิการได้ก้าวสู่อ้อมกอดของผืนน้ำแล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับการดำน้ำยังได้เปิดรับผู้พิการเข้าสู่ใจของพวกเขาอีกด้วย
จากนั้นเชื้อไฟแห่งชีวิตก็ลุกโชนขึ้นมา ท้าทายวัดใจ ไปขึ้นภูกระดึง
ฉันเคยมาที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะไม่มีดวงตามาด้วย
เราควรเตรียมกายให้พร้อมสำหรับขึ้นภู แต่สิ่งที่สำคัญต้องเอาไป คือหัวใจที่ไม่ยอมแพ้
สามคืนสี่วันที่ฉันเดินและเดิน พิชิตยอดภู พิชิตใจตัวเอง ทำให้พบเจอความสุข ที่มาพร้อมกับคำว่า “ฉันทำได้”
และจะทำต่อไป
๓.
หลังจากนั้น ๑ ปี ฉันไปพบคุณหมอ บอกเล่าเรื่องราวที่กล้าข้ามขวากหนาม ความกลัวของตัวเอง ฉันฝึกเดินทางโดยมีไม้เท้าขาวเป็นดวงตา มีอิสระในการใช้ชีวิต ทำกิจกรรมที่อยาก ลงดำน้ำลึก ขึ้นภูกระดึง
ฉันกล่าวขอบคุณคุณหมอที่เป็นแรงส่งให้ฉันกล้าที่จะก้าว จนได้เดินมาพบกับความสุข และมีชีวิตใหม่
“สิ่งที่ผมเห็น ตอนคนไข้เดินออกจากห้อง เหมือนคนที่มีความทุกข์อยู่เต็มหัว สีหน้าแววตา ลักษณะหลายๆ อย่าง คนไข้ไม่ได้พูดออกมา แต่บอกได้ว่ากำลังมีความทุกข์อยู่มาก เหมือนคนไข้อยากจะพูดอะไรแต่ยังไม่ได้พูด ผมเลยคิดว่าต้องคุยกับเขาสักหน่อยไหม เผื่อเขาจะได้พูด ได้ระบาย อย่างน้อยความอึดอัดที่มีอยู่ อาจลดน้อยลง ก็เลยบอกผู้ช่วย ให้เชิญคนไข้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง จะได้คุยกัน”
คุณหมอณัฐพล อธิบายด้วยความเมตตาว่า จอประสาทตาเสื่อมมีหลายแบบ บางชนิดก็สัมพันธ์กับโรคทางกรรมพันธุ์ บางคนสายตาก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ บางชนิดก็ยังไม่มีวิธีรักษา แต่ก็มีการคิดวิธีรักษาอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ได้ผลดี
มีจอประสาทตาเสื่อมอีกแบบ เป็นการเสื่อมตามวัย ใช้สายตามามากแล้วเสื่อม ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุ มีหลายแบบเช่นกัน บางชนิดรักษาได้ มีการทำเลเซอร์ การฉีดยา แต่บางแบบก็รักษาไม่ได้เหมือนกัน
จอประสาทตาเสื่อมชนิดเดียวกันมีความแตกต่างกันในบางคน เช่น คนที่เป็นน้อยๆ ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แค่มีปัญหาการมองเห็นในที่มืด บางคนเป็นกลางๆ ที่เรียกว่าสายตาเลือนลาง ก็ยังพอจะมองเห็นได้ แต่หลายคนก็มองไม่เห็น กลายเป็นคนพิการตาบอด
คุณหมอมีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยมามากมาย ได้พบเห็นคนไข้หลากหลายวัยทั้งหญิงชาย ส่วนใหญ่จะมีความทุกข์ใจถ้าสายตาเสื่อมลงและรักษาไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการดำเนินชีวิต
อีกกลุ่มหนึ่งสายตาเสื่อมลง แต่ยังใช้ชีวิตได้เกือบปกติ ช่วยเหลือตัวเองได้ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ไม่ได้ ก็ทุกข์ใจเช่นกัน เพราะมีปัญหาการปรับตัวกับชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ดั่งคลื่นชีวิตถาโถม ซัดเส้นทางที่เคยก้าวเดิน ให้หักเหเปลี่ยนทิศ สู่หนทางที่ไม่เคยรู้จัก
ความรู้สึกที่บอบช้ำทั้งกายใจ รอการเยียวยาและฟื้นฟู คุณหมอตระหนักดีและเห็นความสำคัญ
๔.
กลางปี 2562 คุณหมอจัดโครงการให้ผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็น ทั้งผู้ป่วยที่ตาบอดสองข้างและสายตาเลือนลาง เป็นโครงการที่สร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตให้กับผู้พิการทางตา กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการมองเห็นและยังปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือมีความทุกข์มากๆ
ทุนที่ได้มาจัดโครงการมาจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพราะโรงพยาบาลมีโครงการบริการสังคม
“ผมเขียนเสนอโครงการไปทางผู้อำนวยการโรงพยาบาล และท่านก็อนุมัติให้ โครงการใช้เงินทุนไม่มาก สถานที่ก็จัดที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร วิทยากรที่เชิญมาสองท่าน ก็เมตตาคิดในราคาราชการ”
ในโครงการมีผู้เข้าร่วม 30 คน เป็นคุณหมอ 4 ท่าน วิทยากรรับเชิญ 2 ท่าน นอกจากจะเป็นผู้ป่วยแล้ว ยังมีผู้ดูแลผู้ป่วย
การชักชวนให้ผู้ป่วยเข้ามาร่วมโครงการตอนแรกมีมากกว่านี้ ทุกๆ ครั้งที่ตรวจคนไข้ คุณหมอในโครงการทุกคน จะเชิญคนไข้ที่มีปัญหาการปรับตัวให้มาร่วมกิจกรรม แต่ส่วนใหญ่คนไข้ที่ตาบอดสองข้างก็จะติดปัญหา คือไม่มีใครพามา หรือถ้าพามาได้ก็จะมาได้แค่ครึ่งวัน บางทีก็มาได้บางส่วน ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการที่จัดหนึ่งวัน มีกิจกรรมทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย
กิจกรรมช่วงเช้า วิทยากรซึ่งเป็นกระบวนกรจะนำกลุ่มผู้ป่วยเปิดมุมมองเชิงบวก ปลดปล่อยผู้ป่วยจากการหมกมุ่นคิดแต่เรื่องการป่วยและความคิดด้านลบ ฝึกให้ผู้ป่วยมองเห็นความสุขเล็กๆ ที่อยู่รอบตัว พบมุมมองเชิงบวก และไม่จมอยู่กับสิ่งลบ ระหว่างการพูดคุยให้มองเห็นความสุขใกล้ตัว ก็จะสอดแทรกเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจของแต่ละคน
ในช่วงบ่าย เป็นการบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาว่าทำอย่างไรถึงจะออกมาพบกับความสุข ปรับตัว และกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง
การพลิกผันชีวิตเป็นคนพิการทางสายตา ไม่ง่ายเลยที่จะตั้งรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หลายคนเวียนว่ายอยู่กับวังวนความคิด ถามซ้ำไปซ้ำมากับตัวเองว่า “ทำไมต้องเป็นเรา”
ระยะเวลาทำใจ ปรับตัว ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ผู้ป่วยที่มาร่วมกิจกรรมในโครงการ มีรูปแบบชีวิตหลากหลาย บางคนมีทัศนคติมองโลกในแง่ดี ก็จะยิ้มรับกับปัญหาได้เร็ว
คุณหมอได้เห็นสีหน้าแววตาหลายคนที่ตอนเช้ามีความทุกข์อยู่เยอะ แต่เมื่อช่วงเย็นหลังจบโครงการ คนไข้ออกจากห้อง ทุกคนที่มีความทุกข์เดียวกัน เดินเข้าไปกอดกัน พูดคุยรู้จักกัน สีหน้าปลื้มปิติ มีความสุขมากขึ้น หลายคนมีสีหน้าแววตาเปลี่ยนไป
หลังจากวันนั้นเมื่อมาตรวจกับคุณหมอ ผู้ป่วยก็มีสีหน้าแววตาดีขึ้น
๕.
กรณีคนไข้ที่คุณหมอประทับใจมากๆ มีสองราย
หญิงสาวอายุ ๒๐ กว่าคนหนึ่ง หลังจากที่รักษามาหลายปี แต่รักษาไม่ได้จนตาบอดทั้งสองข้าง เธอปรับตัว ปรับมุมมองในชีวิตของตนเองได้ กลายเป็นฝ่ายให้กำลังใจคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ดูแล
เธอบอกแม่ว่า “แม่ไม่ต้องเป็นห่วงหนู หนูดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องห่วงเราทำอะไรได้อีกหลายอย่าง”
ตอนทำกิจกรรมเธอจะยิ้มอยู่ตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับแม่ที่คอยดูแล ที่มักจะน้ำตาซึม นั่งร้องไห้มองหน้าลูกแล้วมีแต่ความทุกข์
อีกรายจมอยู่กับความทุกข์ ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เคยพูดถึงขั้นว่าอยากทำร้ายตัวเอง
หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมจนมาถึงช่วงบ่าย แม้ว่าความทุกข์ของเขาจะไม่มลายลงในทันที แต่ก็เริ่มเปิดใจ พูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น มีสีหน้าแววตาสดใส และมีรอยยิ้ม
“หลังจากผ่านกิจกรรมไปแล้ว เขาก็มาตรวจกับผมเป็นระยะๆ โชคดีที่การผ่าตัดรักษาสามารถทำให้เขามองเห็นดีขึ้นมาระดับหนึ่ง ถึงแม้นจะไม่เห็นดีมากนัก แต่เขาก็สามารถออกไปข้างนอก ไปทำงาน เข้าสังคมได้ ครั้งหลังนี้เขาเดินมาพบผมด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีคนช่วยพาเดิน ปรับตัวได้ มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม รู้สึกว่าเขามีความสุขกับชีวิตของตนเองแล้ว”
๖.
คุณหมอไม่เพียงจะได้เห็นแต่ผู้ป่วยเท่านั้น ยังได้สัมผัสกับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยด้วย
ผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ต้องใช้ความพยายามสูง และเหนื่อยล้ากับการดูแล ทั้งกรณีแม่ดูแลลูกผู้พิการ คู่สามีภรรยาหรือคู่รักที่ดูแลกันอย่างดี
“ในกิจกรรมของโครงการที่จัดขึ้น ผมรู้สึกประทับใจกับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ซึ่งผมไม่เคยเห็นภาพชัดเจนแบบนี้มาก่อน จนต้องกล่าวคำให้กำลังใจแก่พวกเขา”
ส่วนคุณหมอเองที่ต้องรับรู้เรื่องราวความทุกข์ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคตาเป็นประจำ ก็มีวิธีปรับใจด้วยการปรับความคิดของคุณหมอเช่นกัน
“ไม่ใช่เรื่องคนป่วยมองไม่เห็นอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องการผ่าตัดที่ไม่ได้ผลตามที่คาดหวังด้วย แรกๆ เวลากลับบ้านก็มานั่งซึม จนผมมาคิดว่าเราก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่มามีส่วนร่วมกับชีวิตเขา แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย
“คำพูดที่ผมพูดไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง จะช่วยได้บ้างไม่ได้บ้าง เราทำดีที่สุดแล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของเขา”
การจัดโครงการมีผลตอบรับที่ดี เพราะมีผลชัดเจนในการฟื้นฟูจิตใจคนไข้
การรักษาผู้ป่วยทั้งทางกายและทางใจ ทำให้ผู้ป่วยปรับตัวและใช้ชีวิตเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง
๗.
สำหรับฉัน คุณหมอเปรียบเสมือนแสงที่สาดส่องให้ความสว่างมาสู่ใจของคนไข้
ราวกับต้นไม้ที่อับแสงได้รับพลังจากแสงตะวันยามเช้า
เบ่งบาน หยั่งรากลึกลงดิน แข็งแกร่ง พร้อมจะผลิใบช่อดอก
ยืนหยัดด้วยตนเอง และยังประโยชน์แก่สังคม