ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
พระจุฬามณีเจดีย์นั้นประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงไม่มีมนุษย์ที่มีชีวิตคนใด (ยกเว้นพระมาลัยในนิทาน) ที่เคยได้ไปสักการะ แต่ก็ใช่ว่าคนเราจะไม่สามารถมองเห็นพระจุฬามณีด้วยตาเปล่าได้
บนท้องฟ้ายามค่ำคืนปรากฏดาวดวงหนึ่งที่มีแสงสุกสว่างวาววาม ชื่อทางไทยเรียกกันว่า “ดาวยอดมหาจุฬามณี” ด้วยเชื่อกันว่าแสงที่เห็นมาจากยอดพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ดาวดึงส์ ฝรั่งเรียกชื่อดาวดวงนี้ว่า “อาร์กทูรัส” (Arcturus) และอธิบายว่าวิธีหาดาวยอดมหาจุฬามณี ให้มองหาดาวจระเข้ (หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่ของฝรั่ง) ก่อน จากนั้นให้ลากเส้นต่อตรงหางยาวไปเรื่อยๆ ก็จะพบ
ใน “พระอภัยมณี” สุนทรภู่จึงให้นางสุวรรณมาลีสอนสินสมุทและอรุณรัศมีดูดาวชุดนี้ต่อเนื่องกันไป
“นั่นแน่แม่ดูดาวจระเข้ ศีรษะเหหกหางขึ้นกลางหาว
ดาวนิดทิศพายัพดูวับวาว เขาเรียกดาวยอดมหาจุฬามณี”
ตามธรรมเนียมในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนิยมการ “จำลอง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสร้างขึ้นใหม่ ทั้งพระพุทธรูปและปูชนียสถาน โดยเชื่อว่าถ้าทำอย่างถูกต้อง จะสามารถถ่ายทอดพลังความศักดิ์สิทธิ์นั้นจากต้นแบบมาได้ด้วย ดังนั้น พระจุฬามณีเจดีย์ก็ถูกจำลองมาไว้บนโลกมนุษย์ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างรุ่นเก่าของไทยคือพระปรางค์ที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก ซึ่งมีประวัติว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา
รวมถึงวัดอีกหลายแห่งที่ใช้ชื่อทำนองนั้น อย่างวัดแก้วฟ้า วัดแก้วแจ่มฟ้า วัดแก้วฟ้าจุฬามณี ซึ่งมีอยู่ในหลายจังหวัด ก็คงหมายความถึงการจำลององค์พระจุฬามณีเจดีย์มาสร้างไว้ในมนุษยโลกนั่นเอง
บางแห่งก็สร้างเป็นปูชนียสถานขึ้นมาเลย เช่นที่วัดท่าพูด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ส่วนการจำลองเฉพาะองค์พระจุฬามณีเจดีย์ก็มีหลายแห่ง เช่นที่ประดิษฐานในพระวิหาร วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ รวมถึงเคยเห็นตั้งไว้ในพระระเบียงที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
หรือในเมืองพม่าก็มี เช่นเจดีย์ชินบูเมพยาที่เมืองสะกาย สร้างสมัยเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน สร้างเป็นรูปจำลองของ “สุเมรุจักรวาล” มีฐานกลมขนาดใหญ่ซ้อนกันเจ็ดชั้นอันมีความหมายถึงสัตตบริภัณฑ์ ภูเขาวงแหวนที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ตรงกลางตั้งเป็นแท่นฐานสูงขึ้นมา หมายเอาเป็นเขาพระสุเมรุ เหนือฐานนั้นขึ้นไปก็มีเจดีย์อย่างพม่าอีกองค์หนึ่ง ซึ่งก็ต้องตั้งใจให้เป็นรูปจำลองของพระจุฬามณีเจดีย์แน่นอน
น่าทึ่งว่าเมืองไทยเราเอง คตินี้ยังปรากฏให้เห็นในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยด้วย อย่างเช่น “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย ที่มีแกนกลางเป็นประดุจเขาพระสุเมรุ ห้องประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เรียกว่าห้องสุริยันและห้องจันทรา แทนพระอาทิตย์พระจันทร์ที่โคจรรอบเขาพระสุเมรุ
โดยนัยนี้ ยอดเจดีย์ด้านบนสุดจึงไม่อาจตีความเป็นสิ่งอื่นใดได้ นอกจากพระจุฬามณีเจดีย์
ซึ่งว่าที่จริง ก็ดูเข้ากันดีกับวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ปากคลองบางซื่อ ที่อยู่ติดๆ กัน
แต่รัฐสภาที่จำลองคติจักรวาลแบบพุทธศาสนาเถรวาทจะเข้ากันได้อย่างไรกับแนวคิดของระบอบประชาธิปไตยในโลกเสรีนิยมยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ อาจไม่ใช่ประเด็นที่สถาปนิกผู้ออกแบบจะใยดี