เรื่องและภาพ : ทีม Samosa ค่ายนักเล่าความสุข
“ถ้าคุณเหลือเวลาชีวิตอีกเพียง 3 วันสุดท้าย คุณอยากจะทำอะไรมากที่สุด”
นี่คือ คำถามเริ่มต้นของกิจกรรม “คำถามทรงพลัง”
หนึ่งในกระบวนการเรียนรู้เชิงประยุกต์เรื่องความตาย ภายใต้เวิร์กช็อป “ความตายออกแบบได้” ที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมหลากวัยหลายอาชีพกว่า 50 ชีวิต มาร่วมเป็น “ผู้ถาม” ส่งพลังงานผ่านคำถามให้กับคู่สนทนาต่างวัยตรงหน้า และสลับมาเป็น “ผู้ตอบ” ที่ใช้เวลาสั้นๆ เพื่อตระหนักและค้นหาคำตอบในใจว่า
หากอีกไม่นานความตายกำลังเดินเข้ามาเคาะประตูอยู่หน้าบ้าน
เราจะให้คุณค่าอะไรกับชีวิตจริงๆ กันแน่…
ก่อนก้าวสู่ความตาย
77.74 คือตัวเลขแสดงค่าเฉลี่ยอายุขัย (ปี) ของประชากรไทยที่บันทึกไว้โดยรายงานล่าสุดของ United Nations
ช่างเป็นตัวเลขที่สูงและยาวนาน จนทำให้รู้สึกว่าความตายยังคงอยู่แสนไกลจากชีวิตของหลายๆ คนโดยเฉพาะวัยรุ่นอย่างเรา
ทว่าความสงสัยกับความหมายของชีวิตและความสุขที่เกิดขึ้น กลับชวนให้นึกถึงคู่ตรงข้ามของความสุขอย่างความทุกข์ และหันไปมองความทุกข์สุดท้ายในชีวิตอย่าง “ความตาย” เพราะเชื่อว่าชีวิตที่เข้าใจและไม่ละเลยสัจธรรมอันเที่ยงแท้นี้ จะทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีความสุขที่แท้จริงได้ ก่อนวันตายจะมาถึง
ด้วยเหตุนี้เราจึงเดินทางมาที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ในบ่ายวันเสาร์ และตัดสินใจลงทะเบียนเรียนวิชาชีวิต ว่าด้วยเรื่องความตายฉบับมือใหม่กับกิจกรรม “ความตายออกแบบได้” พร้อมเริ่มเปิดบทเรียน เปิดตา เปิดใจกับบทเรียนใหม่ที่สำคัญกับชีวิต
1: ความตายออกแบบได้
เดินเข้ามาภายในห้อง “นิพพานชิมลอง” ห้องขนาดกลางที่ใช้เป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมตลอด 4 ชั่วโมงแห่งการเรียนรู้ พร้อมบรรยากาศชวนอบอุ่นและสงบใจจากแสงไฟสีเหลืองนวลสลัว และความตื่นเต้นที่ได้สัมผัสผู้ร่วมกิจกรรมต่างวัยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 20 ต้นไปจนถึง 80 ปลาย นับเป็นความหลากหลายที่หาได้ยากในกิจกรรมอื่นๆ มากเลยทีเดียว
ทว่าเวลายังไม่ทันเริ่มหมุน คำถามแรกก็ผุดขึ้นในใจทันที ชื่อ “ความตายออกแบบได้” จริงๆ แล้วเราจะมาออกแบบอะไรกัน?
“สิ่งที่เราออกแบบได้ผ่านความตาย คือการออกแบบทางเดินของจิตใจ” น้ำเสียงเย็นสงบของวิทยากรกล่าวขึ้นเมื่อกิจกรรมเริ่มต้น
ครูดล-ธนวัชร์ เกตน์วิมุต วิทยากรผู้นำกระบวนการ ผู้ควบบทบาทประธานเครือข่ายชีวิตสิกขา และอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาตลอดหลาย 10 ปี เล่าประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถพูดได้และนอนติดเตียง ทว่ายังมีความกังวลอยู่ในใจ เกิดเป็นความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ส่งผลให้จากไปอย่างไม่สงบ
“สมัยก่อนความตายเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะมองผ่านผี ผ่านวิญญาณ แต่ก็ชอบรายการผีนะ ชอบสัมผัส แต่ตอนนั้นยังไม่ได้น้อมเข้ามาว่าเราจะตาย” ครูดลเล่าเมื่อเราถามถึงมุมมองต่อความตายในอดีตก่อนที่จะได้ฝึกปฏิบัติธรรม
คล้ายดั่งคำที่ว่า ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ความกลัวตาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์มักกลัวในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ
ดังนั้นการระลึกถึงความตาย เพื่อเข้าใจความทุกข์และปล่อยวางตามหลักมรณสติ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความกลัว ที่ทุกคนสามารถฝึกได้
มรณสติ หรือมรณานุสติ มาจากคำว่า มรณะ ที่แปลว่าตาย ผสมกับคำว่า สติ ที่หมายถึงการระลึกรู้ เมื่อนำมารวมกัน มรณสติ จึงมีความหมายตรงตัวซึ่งหมายถึง การระลึกถึงความตาย (Death Awareness)
“อธิบายง่ายๆ คือ การมีสติอาจจะมาได้หลายทาง แต่มรณานุสติคือ การมีสติที่ตระหนักขึ้นจากการได้พิจารณาเรื่องความตาย” ครูดลอธิบายเบื้องต้น ก่อนจะชวนให้ตอบคำถามว่า ความปรารถนาใน 3 วันสุดท้ายของชีวิตคืออะไร
เพราะขณะที่เรานึกถึงสัจธรรมว่าต้องตาย และเมื่อเดดไลน์ไม่เคยแน่นอน ความไม่มั่นคงในใจก็ปรากฏขึ้นชัดเจน
ดังที่พระไพศาล วิสาโล กล่าวไว้ในหนังสือมรณสติว่า
“มรณสติมีสองส่วน ส่วนแรก คือการระลึกถึงความจริงว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องระลึกต่อไปด้วยว่า เราสามารถจะตายได้ทุกโอกาส สามารถจะตายได้ทุกเมื่อ แม้ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็ตาม”
ทว่าการระลึกถึงความตายของตนเองอาจยังไม่เพียงพอให้เราตายอย่างสงบ เพราะเมื่อมองชีวิตในภาพใหญ่และผูกโยงถึงความสัมพันธ์รอบกาย เรากลับพบว่า ความตายของผู้อื่นก็หล่อหลอมตัวตนของเราที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปเสมอ
2: ความตายที่ไม่ใช่ของฉัน
“หยิบก้อนหินขึ้นมา 3 ก้อน แต่ละก้อนแทนคนสำคัญในชีวิต ตั้งใจเลือกและวางไว้ตรงหน้า”
กิจกรรม “ก้อนหินภาวนา” เริ่มต้นดำเนินขึ้นถัดมา เพื่อเชิญชวนให้นึกถึงความตายของคนสำคัญ
ภายในไม่กี่นาที ทุกคนต่างเดินไปหยิบก้อนหินสีขาวขรุขระรอบห้องขึ้นมา ก่อนจะพิจารณาและแทนตัวตนของคนสำคัญในชีวิตลงในหินแต่ละก้อน และบอกเล่าให้คู่สนทนาตรงหน้าฟังอย่างตั้งใจ
แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่การเล่าขานถึงผู้คนสำคัญที่ยังมีชีวิตอยู่ถึง 3 คนกลับทำให้หัวใจสั่นไหว ชวนให้รู้สึกไม่มั่นคงอีกต่อไป พร้อมกับความเสียใจที่ปรากฎขึ้น
ทว่าในกระบวนการต่อมา ก้อนหินแต่ละก้อนต่างถูกพรากไป ทั้งในรูปแบบที่เราเลือกหยิบได้ว่าจะให้ใครจากไป และในแบบที่หายไปโดยไม่ทันตั้งตัว คล้ายกับการสื่อว่า การพลัดพรากมักไม่มีกำหนด กฎเกณฑ์ ลำดับใดๆ และคนสำคัญอาจเสียชีวิตได้ในทุกเมื่อ
เกิดคำถามเตือนใจว่าหากเสียพวกเขาไปในวันพรุ่งนี้ เราจะรู้สึกยังไง และได้ทำสิ่งที่อยากทำให้พวกเขาพอแล้วหรือยังในปัจจุบัน
“อธิบายไม่ได้เหมือนกัน มันยากกว่าที่คิด ถ้าหากกลับบ้านไปแล้วไม่เจอพ่อแม่อีกตลอดไป”
ชายหนุ่มคู่สนทนาของเราบอก เมื่อต้องสะท้อนความรู้สึกสูญเสียให้คนตรงหน้าฟัง คล้ายกับผู้เข้าร่วมอีกหลายท่านที่เริ่มมีน้ำตา
ครูดลเสริมว่า “บางคนปฏิบัติธรรมมาแล้วชอบมาบอกพี่ว่า เฮ้ย ลืมคิดด้านนี้เลย คิดแต่ว่าตัวเองจะตายแต่ไม่เคยคิดว่าลูกเขาอาจจะตายก่อน แล้วเขาเลยเห็นว่า เขายังมีส่วนที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่เยอะ”
3: เรียนรู้ความตายผ่านกระบวนการ
หลังเสร็จเวิร์กช็อปแล้วได้มีโอกาสสนทนา เราถามถึงที่มาและวัตถุประสงค์ที่ครูดลเชิญชวนให้ผู้คนมาเรียนรู้เรื่องความตาย
“สำหรับกิจกรรมที่สวนโมกข์วันนี้ เราทำเรื่องการปลูกฝังทัศนคติ แต่ยังไม่ถึงการภาวนาจิต เพราะเป็นบันไดขั้นต้น อย่างน้อยคนที่มาก็ได้ประโยชน์กับพลังที่มีอยู่ในช่วงหนึ่ง แม้ไม่ใช่ตลอดชีวิต เพราะต้องยอมรับว่าถ้าไม่ได้ทำต่อเนื่อง พลังก็จะสลายไป นี่คือสภาวธรรม ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ ความรู้และปัญญาของคนอบรมก็เช่นกัน
“ถ้าเขาทำต่อ บางคนก็ไปขอโทษ ขออโหสิกรรม ทำให้เขาไม่ต้องหย่ากับสามี บางคนกำลังจะหย่าขาดกัน พอมาเรียนเรื่องความตาย ก็เอ้า! ไม่เคยเห็นเลยว่าตัวเองเป็นเหตุปัจจัย เขาก็ได้มุมว่า เรียนความตายแล้วกลับไปบริหารชีวิตที่เหลืออยู่ บริหารความสัมพันธ์ที่หลืออยู่ และเป็นลูกที่กลับไปกตัญญูกับแม่มากขึ้น”
ครูดลอธิบายพร้อมรอยยิ้ม
นี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไมคนเราถึงควรฝึกระลึกถึงความตาย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนก็ตาม
และเมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างคนที่ฝึกและไม่ฝึกมรณสติ
ครูดลกลับเล่าว่า จริงๆ แล้วทุกคนต่างกำลังออกแบบความตายอยู่ทั้งนั้น แต่เหตุปัจจัยหรือต้นทุนของคนบางคนที่มากกว่า ทำให้ได้ฝึกระลึกถึงความตายและจากไปอย่างสงบ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะก้าวเข้าหาการเรียนรู้เรื่องความตาย เพียงแต่คนที่สนใจอาจใช้ชีวิตในแบบที่มีความหมายโดยไม่หลงไปในโลกที่รวดเร็วมากกว่า
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ได้สนใจศาสนา การระลึกถึงความตายควรเริ่มตอนไหนกันแน่
“อย่าว่าแต่เด็กรุ่นใหม่เลยที่ไม่สนใจ เราเคยเจอคุณป้าอายุ 80 เข้ามาแล้วบอกว่า ที่จริงไม่ได้อยากเข้ามาในกิจกรรม ไม่รู้ทำไมต้องเตรียมตัวตาย เพราะยังไม่ถึงเวลาเตรียม เมื่อพี่ถามกลับว่า คิดว่าจะเตรียมเมื่อไหร่? กลับได้คำตอบว่าที่บ้านป้ากว่าจะตายก็อายุ 100 ปีกัน 90 แล้วค่อยเตรียม”
เสียงหัวเราะดังขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
4: ขั้นตอนสู่วาระสุดท้าย
หากเรามองมรณสติเป็นเครื่องมือช่วยเตรียมใจที่สามารถฝึกได้ตั้งแต่ปัจจุบัน การเตรียมขั้นตอนก่อนถึงวาระสุดท้ายผ่านทั้งงานศพและความป่วยไข้ก็เป็นหนึ่งวิธีที่ทำให้คนไปสู่เป้าหมายการตายดีได้โดยไม่ทรมาน
ไม่ว่าจะเป็นการขอไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ปั๊มหัวใจ ไม่ยื้อร่างกาย เมื่อเจ็บป่วยระยะสุดท้ายจนสื่อสารไม่ได้ ไปจนถึงการขอบริจาคร่างกาย และแสดงความประสงค์ในการจัดงานศพ
ทั้งหมดต่างทำได้ผ่าน Living Will (ชีวเจตน์) หรือพินัยกรรมชีวิต ซึ่งเป็นหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 โดยผู้ทำมีสิทธิเลือกตาย ผ่านการระบุความประสงค์ที่จะจากไปเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้แพทย์และญาติผู้ดูแลเข้าใจ พร้อมปฏิบัติตามความต้องการ
ในขณะเดียวกัน กระแสการออกแบบงานศพเริ่มเข้ามา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจการออกแบบงานศพที่ไร้กรอบพิธีกรรมที่บังคับให้ใส่ชุดสีดำ พิธีสวด หรือจัดที่วัดเท่านั้น
เห็นได้จากหลายธุรกิจ Afterlife ออกแบบวาระสุดท้ายผ่านงานศพ หลายเจ้าเริ่มจัด Funeral Plan ให้ลูกค้าออกแบบงานศพเองได้ทั้งหมดตามต้องการ เช่น สุริยาหีบศพ กิจการดูแลงานศพชื่อดัง และกระแสความนิยมงานศพแปลกใหม่ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น
แต่ในอีกมุมหนึ่ง การออกแบบงานศพอาจต้องมีขอบเขตที่เหมาะสมสำหรับคนจัดงานอย่างผู้มีชีวิตอยู่หลังคนตาย
ครูดลอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเคยช่วยออกแบบงานศพให้คนที่ต้องการ
“เคยมีน้องคนหนึ่งออกแบบงานศพไว้แล้วระบุว่าให้ทำที่บ้าน ไม่เอาพิธีกรรม เมื่อพี่ได้ไปร่วมงานก็สังเกตได้ว่าญาติผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานหน้าตาไม่สบายใจ รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เขาไม่คุ้นชิน พี่จึงรู้สึกว่า งานศพที่ตอบใจตัวเอง แต่ไม่ได้ดูแลความรู้สึกของคนที่มาร่วม พี่คงไม่เอา”
เพราะการจัดการกับการตาย อาจไม่ใช่การทำตามใจตัวเอง 100% แต่เป็นการจัดการเพื่อให้ชีวิตคนที่ยังอยู่ง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระ และจากลากันอย่างสบายใจทั้งสองฝ่าย
สุดท้าย สิ่งสำคัญอาจเป็นการถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่จำเป็น
5: สื่อสารความตายจากบ้านสู่สังคม
10 ปีที่ผ่านมานับจากอายุ 12 ปีของเครือข่ายชีวิตสิกขา เรื่องของความตายกลายมาเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในสังคม จากทั้งหน่วยงานเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาล เกิดเครือข่ายธรรมะ โรงพยาบาล สถานพยาบาลดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไปจนถึงคาเฟ่ที่ชวนคนรุ่นใหม่ให้มาทดลอง สร้างความตระหนักถึงเรื่องความตายในยุค 4.0 ผ่านสื่อประยุกต์อย่าง Kid-Mai Death Café หรือ “มรณานุสติ คาเฟ่”
“10 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงเยอะ เมื่อก่อนนี้ศพจะตั้งสวดที่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ผลักไปที่โรงพยาบาล ที่วัด จิตที่จะระลึกหรือสำนึกถึงความตายจึงถูกปิดกั้น เกิดระยะห่าง จึงมีหลายหน่วยงานเห็นประเด็นนี้แล้วก็มาช่วยกัน”
ครูดลบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความตาย ในมุมมองการแพทย์และความเชื่อสากลมากขึ้น
เมื่อความตายถูกปิดกั้น ผลที่ตามมาคือผู้คนไม่คุ้นชินกับความตาย เกิดเป็นความกลัวตายกันมากขึ้น ประกอบกับสังคมที่มองความตายผ่านวิทยาศาสตร์ ยิ่งทำให้การตายกลายเป็นมิติทางกายภาพที่ขาดการดูแลจิตใจ โดยเฉพาะในโรงพยาบาล รวมถึงความเชื่อสากลและตะวันตกที่เข้ามาผสม ความตายจึงยิ่งไกลตัวคน…
ทว่าหากการสื่อสารในระดับสังคมยังไม่ทั่วถึง คำถามคือเราสามารถเป็นผู้เริ่มสื่อสารด้วยตัวเองก่อนได้ไหม เริ่มในระดับครอบครัวเป็นพื้นฐานจุดเริ่มต้น
ครูดลตอบด้วยการเล่าประสบการณ์การเป็นลูกในครอบครัวคนจีน ที่ถูกมองว่าความตายเป็นเรื่องอัปมงคล ไม่พูดคุยในบ้าน
แต่การจากไปของคุณพ่อกลับทำให้ต้องพยายามสื่อสารกับแม่ โดยมองข้ามความอัปมงคล
“เราคุยความตายกับแม่ไม่ได้ เพราะแม่จะต่อว่า กลับมาปวดหัวและเครียด เลยลองเปลี่ยนเป็นคุยเรื่องความป่วย เพื่อค่อยๆ นำไปสู่ความตาย พอคุยความป่วยแม่ยอมคุยด้วย แต่ความป่วยมีหลายระยะ พอถึงความป่วยระยะสุดท้ายเราก็ตั้งคำถามว่าถ้าแม่เป็นคนป่วยคนนั้น แม่อยากให้ดลทำยังไง จนกระทั่งวันหนึ่ง แม่ก็พูดเรื่องความตายเองว่า ถ้าแม่ตายให้ทำศพที่วัดนี้ ถ้าก่อนตายเข้าโรงพยาบาลอย่ายื้อ
“เพราะว่าการ เกิด แก่ เจ็บ แล้วตาย เป็นขั้นตอนที่ต่อกัน หรืออาจเอาความพลัดพรากที่เราเห็นในสื่อ เห็นในข่าว มาใช้เป็นคำถามก็ได้ โดยเราจะสะท้อนว่า อุ้ย! ดีเนอะ ไม่เกิดขึ้นกับคนที่บ้านเรา แต่ถ้าเกิดขึ้นล่ะ จะต้องทำยังไงกันบ้าง”
จริงๆ แล้วการระลึกถึงความตาย ไม่จำเป็นต้องรอให้มีเหตุปัจจัยอย่าง คนรอบตัวสูญเสีย หรือเจอภาวะใกล้ตาย แต่สามารถระลึกในชีวิตประจำวันได้จากการรับรู้ข่าวสาร จากงานศพ การเจอผู้ป่วย หรือการสูญเสียทรัพย์ โดยการตั้งคำถามว่าหากเหตุร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นกับเราหรือคนรอบตัว เราจะเตรียมพร้อมอย่างไร
ชวนให้ทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมจากไปได้มากยิ่งขึ้น
ออกแบบความสุข
มาถึงตอนนี้ หลายๆ คนอาจยังรู้สึกว่าในเมื่อความตายยังห่างไกล เหตุใดจึงต้องให้ความสำคัญ
นี่คือความคิดของเราเหมือนกันในวันที่ยังไม่ได้เจอเหตุการณ์เข้าใกล้ความตาย แต่หลังเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 3 วัน พ่อผู้เขียนกลับป่วยเข้าโรงพยาบาลกระทันหันด้วยโรคที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ความจริงที่ว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราพร้อมจะตั้งรับ กลับเตือนใจให้สงสัยว่า ณ เวลานี้ เราเตรียมตัวกับความตายของคนสำคัญ และตัวเองมากพอแล้วหรือยัง?
และเมื่อคำถามเดิมกลับมาในใจอีกครั้ง
“หากเหลือเวลาชีวิตอีกเพียง 3 วันสุดท้าย คุณปรารถนาจะทำสิ่งใดมากที่สุด”
สำหรับเราที่เผชิญความสั่นไหวในจิตใจ คำตอบที่ได้เริ่มแน่ชัด และการเริ่มดูแลความสัมพันธ์อย่างใส่ใจก่อนจะสายเกินไป กลับทำให้เรามีความสุขกับเหล่าคนสำคัญอย่างชัดเจน
แต่สำหรับหลายคนที่ความตายยังไกลตัว…
หากวันหนึ่งเส้นตายเดินทางมาถึงโดยไม่เหลือเวลาให้คุณคิดถึง 3 วัน
จะดีกว่าไหมที่จะลองใช้เวลาออกแบบความตาย เพื่อไม่เสียใจกับสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ผ่านการระลึกความตายและใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วัน