เรื่องและภาพ : ทีมสุขสร้างได้ ค่ายนักเล่าความสุข

อังกะลุงเสียงความสุข

การซ้อมจนพร้อมนำไปสู่ความสำเร็จเสมอ

แม้จะยังไม่รู้ว่ารางวัลชีวิตที่แท้จริงคืออะไร แต่เราสามารถเป็นชีวิตที่สร้างสุขได้

สุขจากตัวเราก่อน ความสุขจะมีให้ผู้อื่นได้ต่อเมื่อความสุขจากข้างในมากพอ และอาจเพียงพอกับคนทั้งโลก

ให้ความสุขหล่อหลอมตัวเรา และเราจะหล่อหลอมทุกอย่าง

ได้ยินเหมือนเราไหม เสียงแห่งความสุข

ได้ยินเหมือนเราไหม เสียงแห่งความสุข

เสียงทุกเสียงมาจากมือ สร้างเสียงแห่งความสุข

เสียงทุกเสียงมาจากมือ สร้างเสียงแห่งความสุข

ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็สุขใจที่ได้ลงมือทำ

ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็สุขใจที่ได้ลงมือทำ

ที่ที่เราจะไป

หน้าหนาวเดือนธันวา อากาศอ้าวราวหนาวหนีหายไป เป็นปีที่ ๓ ที่ฉันมอบชีวิตในวันเสาร์-อาทิตย์ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมให้พวกเขา บนชั้นสองของตึกสีขาวขนาดใหญ่เป็นห้องดนตรีไทย มีห้องซอยเล็กย่อยอีกสองห้อง นักเรียนทั้ง ๒๐ ชีวิตรอคอยอยู่ในนั้น

ฉันเรียกพวกเขาว่า “น้องๆ” ทั้งหมดเป็นนักดนตรีของโรงเรียนกาญจนาภิเษก วิทยาลัยนครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) ลูกศิษย์ของอาจารย์ชัชวัสส์ วกสุดจิต รุ่นพี่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่ฉันรับคำนัดหมายเข้าไปช่วยปรับวง น้องๆ เล่นเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด รวมถึงอังกะลุงที่จะประกวดในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนด้วย

อังกะลุง เสียงความสุข คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเจอกัน

แม้งานประจำของฉันจะไม่ใช้ความสามารถด้านนี้แล้วก็ตาม แต่หากประสบการณ์ยังเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอนาคตของชาติ ฉันเต็มใจทุกเมื่อ คิดว่าอย่างน้อยความรู้ที่มีก็ไม่สูญเปล่า

ที่หมู่เกาะชวาในอินโดนีเซีย “อุงคลุง” เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง ทำด้วยไม้ไผ่ มีรูปร่างประหลาด มีเสาไว้ถือ ปล้องไม้ไผ่ส่วนบนคว้านโค้งลงมา ตัวกระบอกแขวนอยู่บนราว ผู้เล่นถือคนละเสียง มือซ้ายถืออังกะลุง มือขวาไกวให้เกิดเสียง

คราวสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดชเสด็จประพาสชวา ชาวชวาบรรเลงเพลงต้อนรับด้วยเครื่องดนตรีชนิดนี้ ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ผู้โดยเสด็จครั้งนั้นได้นำกลับมาปรับปรุงให้แปลกใหม่และแตกต่าง โดยถือได้คนละสองตับ (สองเสียง) เพิ่มไม้ไผ่จากสองเป็นสามกระบอก เปลี่ยนเป็นเขย่า และเพิ่มจากห้าเสียงเป็นเจ็ดเสียง เรียกว่า “อังกะลุง”

ความตื่นเต้นของฉันในปีนี้ไม่ต่างจากปีก่อนๆ เพราะมีเด็กใหม่ถึงค่อนวง วันนี้เสียงดนตรีดังมาแต่ไกล ฉันโบกมือทักทายขณะที่พวกเขากำลังซ้อมเพลงรอ วางสัมภาระแล้วฉันหยิบกระดาษเปล่าจดบันทึกจุดที่ควรปรับปรุงทันทีเหมือนทุกครั้ง

อังกะลุงมีลักษณนามเป็นตับ ตับหนึ่งมีหนึ่งเสียง หนึ่งคนจะถืออังกะลุงสองตับ พวกเขาจัดรูปแบบวงดนตรีเป็นครึ่งวงกลม แบ่งฝั่งกระบอกขนาดเล็กและกระบอกขนาดใหญ่อย่างละเจ็ดคน ถือเสียง โด-เร, เร-มี, มี-ฟา, ฟา-ซอล, ซอล-ลา, ลา-ที, ที-โด คนกลองสองคน คนฉิ่ง กรับ โหม่งอย่างละหนึ่งคน และสำรองหนึ่งคน

เมื่อเพลงจบ ทุกคนวางอังกะลุง ไข่ดาว-วิชญ์รัตน์ สร้อยฉวี นักเรียนชั้น ม. ๕ บอกนักเรียนกราบเหมือนทุกครั้งที่เจอหน้า เสียงทักทายสวัสดีครับ/ค่ะ พร้อมเพรียง การกราบเป็นวัฒนธรรมของเด็กดนตรีไทยปฏิบัติกันมาช้านาน

ฉันขัดเขินเหมือนทุกครั้งที่ทักทาย ไม่รู้จะยิ้มหรือวางท่าดี เคยบอกน้องๆ อยู่เสมอว่า “สำหรับพี่ ไหว้ก็พอ”

 ฝันของเธอ คือ ฝันของครู เรามีความฝันเดียวกัน

ฝันของเธอ คือ ฝันของครู เรามีความฝันเดียวกัน

ความหวังฉายชัดเจนทางแววตา

ความหวังฉายชัดเจนทางแววตา

ความสุขอันยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็กๆ มีคุณค่าเสมอ

ความสุขอันยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็กๆ มีคุณค่าเสมอ

จากจุดเริ่มต้นจนกว่าจะเป็นเสียง: เสียงของเด็กและเสียงดนตรี

“แก้วจักรพรรดิ์” เป็นชื่อวงดนตรีไทยและวงอังกะลุงที่สายพิณ มณีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนขณะนั้นตั้งให้ในปี ๒๕๓๘

นักเรียนแต่ละรุ่นเข้ามาเป็นสมาชิกชุมนุมดนตรีไทยด้วยจุดเริ่มต้นแตกต่างกัน เช่น น้องเฟิร์น ด.ญ. ตรีชฎา พึ่งพร นักเรียนชั้น ม. ๑ มีเพื่อนดึงเข้ามา น้องต้า ด.ช. ศิวัจน์ พิศาลดำรงสิทธิ์ ม. ๒ สนใจดนตรีไทยตั้งแต่ประถมฯ น้องนิ้ง น.ส. ปภาสินี เต็งทอง ม. ๕ ต้องเลือกชุมนุมก่อนหมดเวลาและแม่ไม่อยากให้ทิ้งดนตรีไทย น้องฟิชโช นายกิตติภูมิ ประสิทธิ์ชัยพันธ์ ม. ๖ เห็นที่บ้านมีขลุ่ยเพียงออเลยอยากให้อาจารย์สอนเป่าขลุ่ย ฯลฯ

นั่นเป็นเพียงด่านแรกของบททดสอบตัวเอง พวกเขาต้องซ้อมดนตรีไทยเช้าและเย็น กลับบ้านช้ากว่านักเรียนคนอื่นๆ บางครั้งนอนค้างที่โรงเรียน เรียนรู้การอยู่ร่วมกันขณะเตรียมประกวดแข่งขัน ต้องต่อสู้กับตนเองเพื่อเป้าหมายของกลุ่ม

น้องไข่มุก น.ส. กนกพร แสงใส นักเรียนชั้น ม. ๕ เคยเล่าว่า “เข้ามาเล่นอังกะลุงเพราะเห็นพี่สาวเคยอยู่วงดนตรีไทย ดูสนุกและมีความสุขมาก แต่เมื่อเริ่มจับอังกะลุงเองรู้สึกยากและหนัก”

เธอทำการบ้านหนักมาก ยังท่องโน้ตไม่ได้ ต้องกลับไปฝึก

“พี่ให้ท่องโน้ตให้ได้ภายใน ๑ อาทิตย์ ต้องใช้ความพยายามสูง พอท่องโน้ตได้ก็เขย่าเข้าเพลงไม่ทันอีก เครียดที่ทำไม่ได้ ทั้งเหนื่อยและหนัก แต่ใจอยากทำให้ดีที่สุด”

ปัญหาของแต่ละคนแตกต่างกัน ฉันดีใจที่ทุกคนไม่ท้อ ไม่หนี ไม่บ่น ไม่งอแง และเชื่อฟังจนน่าทึ่ง พวกเขาแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของตัวเอง ทำให้การแนะนำเพื่อพัฒนาต่อเป็นไปได้โดยง่าย

เมื่อพวกเขาบรรเลงจบ ฉันถามถึงบทเพลงนี้ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ว่า “เพลงนี้ชื่ออะไร”

น้องๆ ตอบ “เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง”

“แล้วเรารู้สึกอย่างไรเวลาเล่นเพลงนี้” คำตอบคือสนุก รู้สึกเหมือนอยู่ในทะเล เห็นคลื่น
“ใกล้เคียงบทเพลง แต่ยังไม่ใช่”

ฉันขอให้พวกเขาลองเปลี่ยนความรู้สึกเมื่อบรรเลงเพลง จากเหมือนอยู่ในทะเล เห็นคลื่น เป็นรู้สึกว่าตนเองเป็นทะเล เป็นคลื่นใหญ่ น้อย ทุกครั้งอังกะลุงกระบอกเล็กนำก่อน จังหวะ “ล้อ” กระบอกใหญ่ตามด้วยทำนองเดียวกัน จังหวะ “ขัด” กระบอกใหญ่ตามด้วยทำนองขัด จังหวะ “เหลื่อม” กระบอกใหญ่เล่นทำนองเดียวกัน ซ้อนจังหวะเข้าไป เสมือนคลื่นหยอกล้อกันจนถึงฝั่ง กลับสู่ทะเล แล้วซัดเข้าหาฝั่งใหม่อย่างนี้เรื่อยๆ

เราร่วมกันมองหาข้อดี ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้หน้าที่ของตัวเอง แม่นเพลง มีทักษะมากขึ้น แต่สิ่งที่ควรปรับปรุงนั้นคือบางเสียงเขย่ายาวเกินไปทำให้ทับเสียงโน้ตตัวอื่น ยังไม่มีเทคนิคการบรรเลงอื่น จังหวะเพลงไม่กระชับ

ฉันปรับแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้หยุดเล่นทุกครั้งเมื่อเขย่าเสียงไม่ชัด เทคนิคที่เพิ่มบรรเลงร่วมกันแล้วฟังไม่รู้เรื่อง ปรับการจับอังกะลุงของบางคนให้ยกสูงระดับอกตั้งฉากกับพื้น และเขย่าให้กระบอกไม้ไผ่ในรางกระทบทั้งสามกระบอก ขอให้บรรเลงเพลงไม่ช้าหรือเร็วเกินไป โดยอยู่ในช่วง ๑๒–๑๓ นาที เราจึงซ้อมชั่วโมงละสามรอบ พักครั้งละ ๑๕-๒๐ นาที ตลอดทั้งเช้าและบ่าย

เด็กใหม่ค่อนวงกับเวลาที่มีจำกัดเป็นสิ่งท้าทาย คล้ายๆ ว่าฉันไม่ได้สอนอะไรมากมายนัก แต่มาเพียงเพื่อสร้างความมั่นใจ เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาแสดงศักยภาพมากขึ้น

ให้กำลังใจเด็กๆ ก่อนการแข่งขัน ใจสู่ใจ

ให้กำลังใจเด็กๆ ก่อนการแข่งขัน ใจสู่ใจ

พวกเราทำเต็มที่...สุดกำลังความสามารถ ทำด้วยความสุข

พวกเราทำเต็มที่…สุดกำลังความสามารถ ทำด้วยความสุข

บนเวทีคือมือแห่งหน้าที่ มือแห่งความพยายาม และความรักในเสียงดนตรี

บนเวทีคือมือแห่งหน้าที่ มือแห่งความพยายาม และความรักในเสียงดนตรี

อาจเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

ฉันตั้งใจจะมาให้ความสุข เป็นบันไดแห่งความหวังให้พวกเขาได้รางวัล

พวกเขารู้ว่านครปฐมไกลสำหรับฉันมาก ไม่ใช่ทุกสัปดาห์ที่จะว่างมาได้จึงตั้งใจเป็นพิเศษ ปฏิบัติต่อฉันเป็นอย่างดี ตั้งแต่การดูแลหาน้ำเย็นๆ ขนมอร่อยๆ มาให้ กราบอย่างนอบน้อมแม้ว่าขอให้เปลี่ยนเป็นไหว้ก็ไม่ยอม เมื่อถึงเวลาพักก็ร่วมนั่งล้อมวงฟังทุกข์ สุขตามประสาเด็กของพวกเขา บางมื้ออาหารกลางวันเสียงกีตาร์และเหล่านักร้องประสานเสียงก็ตามมาขับกล่อมให้การรับประทานอาหารอร่อยขึ้นอย่างวิเศษ

น่าแปลกที่ฉันคิดว่าจะมาเป็นผู้ให้ความสุข แต่กลับได้รับความสุขเต็มเปี่ยม

การแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ ๖๙ ระดับภาคกลางมีขึ้นที่โรงเรียนบางบ่อวิทยาคม จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ ๗-๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ ก่อนค่ำวันแข่งจริงพวกเราเข้าพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งย่านบางวัว น้องๆ ซ้อมกันหลายรอบด้วยความสุข สุขที่จะมอบเสียงเพลงให้กรรมการ ไม่ใช่ในฐานะนักดนตรีแต่ในฐานะศิลปิน

ก่อนรับประทานอาหารเย็นน้องใหม่ของวงสร้างความบันเทิงด้วยการเต้นโชว์ ห้วงเวลาแห่งเสียงหัวเราะและความสุขรายล้อมจนอยากหยุดเวลาไว้ ผู้ปกครองนักเรียนส่งเสียงหยอกล้อว่า

“เขย่าดีตอนพี่มา”

สร้างรอยยิ้มกว้างอยู่ภายใน

ผสานโน้ตทั้งเจ็ดเสียง เสียงของเด็ก เสียงของครู

ผสานโน้ตทั้งเจ็ดเสียง เสียงของเด็ก เสียงของครู

 เราใช้ดนตรีเชื่อมโยงโลกของเราและโลกของทุกคน

เราใช้ดนตรีเชื่อมโยงโลกของเราและโลกของทุกคน

ความตั้งใจมากบ่งบอกทางสีหน้าและแววตา

ความตั้งใจมากบ่งบอกทางสีหน้าและแววตา

ปีหน้าเราจะกลับมาเจอกันอีก ปันฝัน ปั้นคน คือความสุข

ปีหน้าเราจะกลับมาเจอกันอีก ปันฝัน ปั้นคน คือความสุข

ทุกงานย่อมมีวันเลิกรา

รางวัลระดับเหรียญทองรองชนะเลิศอันดับที่ ๙ เป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ ยังดีใจที่คะแนนไม่ตกไปอยู่ระดับเหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง

สิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่รางวัลในการประกวดดนตรี การกระทำที่เราต่างเป็นผู้มอบให้กันและกันก่อนหน้านี้ยิ่งใหญ่กว่ามากมาย สะท้อนได้จากที่ ไข่ดาว ตำแหน่งคนกลอง เขียนบอกฉันว่า

“อาจมีบางครั้งที่ตีกลองไม่ได้จังหวะ แต่พยายามเต็มที่ เราก็ทำมันได้ เพราะทุกคนเชื่อว่าถ้าพยายามเราสามารถไปให้ถึงเป้าหมายได้ และทุกๆ หน้าที่สำคัญหมด

เพราะถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปจะทำให้องค์ประกอบของวงหาย สิ่งสุดท้าย ‘เล่นดนตรีให้มีความสุข’ คือประโยคที่มีความหมายกับผมและเป็นประโยคที่ทำให้วงมาถึงวันนี้”

ทุกงานย่อมมีวันเลิกรา ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ฉันเรียนรู้ว่าการได้ลงมือทำด้วยหัวใจและความรักจะสร้างความสุข ผลงานที่ได้จะออกมาดี ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยการให้เสียงดนตรี หรือสิ่งอื่นๆ ทุกสิ่งสามารถแปรเป็นพลังบันดาลใจที่มอบให้ใครต่อใครได้อีกหลายคน ความสุขนี้แหละคือพลังขับเคลื่อนโลกของเราสู่โลกของทุกคน

ให้ความสุขหล่อหลอมตัวเรา และเราจะหล่อหลอมทุกอย่าง