การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๒ ต่อต้นปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา จากจุดกำเนิดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังประเทศต่างๆ ถึงเวลานี้เชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปยังทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่าสามแสนคน ตายมากกว่าหนึ่งหมื่นคน และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงจุดไหน
ท่ามกลางความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ล้มตาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) และองค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงกับชั้นบรรยากาศของโลก ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยพบว่าความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ เป็นสารตั้งต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า ๒.๕ ไมครอน หรือ PM2.5 ที่นำมาสู่โรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มีที่มาจากการเผาไหม้ในภาคคมนาคม ขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ การทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เครื่องทำความร้อนเครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน
โดยปรกติแล้วก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จะลอยอยู่ในบรรยากาศได้ไม่เกิน ๑ วัน หลังจากนั้นจะตกลงมาสะสมหรือทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นๆ
ภาพถ่ายดาวเทียมประมวลผลจากเครื่องมือ The Tropospheric Monitoring Instrument ที่ติดอยู่บนดาวเทียม Sentinel-5 ขององค์การ ESA ร่วมด้วยเซ็นเซอร์ Ozone Monitoring Instrument บนดาวเทียม Aura ขององค์การ NASA ได้รับการเผยแพร่ออกมา ๒ ชุด
ชุดแรกแสดงความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ช่วงก่อนและหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น ทั้งด้านการคมนาคมและภาคธุรกิจเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓ คือช่วงระหว่างวันที่ ๑-๑๐ มกราคม ๒๕๖๓ และวันที่ ๑๐-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
ภาพชุดต่อมาแสดงความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ใน ๓ ช่วงเวลาของปี ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๓ คือ ก่อนเทศกาลตรุษจีน วันที่ ๑-๒๐ มกราคม ระหว่างเทศกาลตรุษจีน วันที่ ๒๘ มกราคม-๙ กุมภาพันธ์ และหลังเทศกาลตรุษจีน วันที่ ๑๐-๒๕ กุมภาพันธ์ ตามลำดับ
ภาพทั้งสองชุดแสดงผลไปในทิศทางเดียวกันว่า ค่าความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าเกิดจากสาเหตุสำคัญสองประการ
หนึ่ง การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ของจีนที่เพิ่งประกาศเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา
สอง การหยุดชะงักของภาคธุรกิจ คมนาคม ขนส่ง การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ฯลฯ อันเป็นผลจากปิดเมืองอู่ฮั่นและเมืองอื่นๆ ทั้งนี้ มีรายงานว่าการลดลงของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เกิดขึ้นใกล้เมืองอู่ฮั่นก่อนแล้วขยายไปยังพื้นที่โดยรอบ รวมถึงกรุงปักกิ่งที่ตั้งอยู่ทางเหนือขึ้นไป
ขณะที่ภาพแผนที่เปรียบเทียบความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ช่วง ก่อน-ระหว่าง-หลัง เทศกาลตรุษจีน นักวิทยาศาสตร์ชี้แจงว่าตามปรกติแล้วเทศกาลตรุษจีนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดลงของมลพิษในอากาศ เนื่องจากภาคธุรกิจและโรงงานปิดทำการนานหลายวัน แต่ค่ามลพิษทางอากาศจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังสิ้นสุดเทศกาลตรุษจีน คล้ายการลดลงของมลพิษรอบกรุงปักกิ่งในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกปี ๒๕๕๑ ค่ามลพิษจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหลังจบมหกรรมกีฬา แตกต่างจากปีนี้แม้ผ่านเทศกาลตรุษจีนไปแล้วแต่ค่ามลพิษทางอากาศยังคงอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์แล้วก๊าซก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก็ลดลงเช่นกัน ศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาดระบุว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของจีนลดลงร้อยละ ๑๕-๔๐ ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนหายไปมากกว่า ๑ ใน ๔ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่เริ่มมีการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส
นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในอิตาลีซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มากที่สุดของทวีปยุโรป รัฐบาลประกาศปิดแคว้นลอมบาร์เดียซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือ มีเมืองสำคัญอย่างมิลาน เบรสชา โคโม่ แล้วสั่งปิดทั้งประเทศตามมา กำหนดมาตรการกักกันให้คนอิตาลีกว่าหกสิบล้านคนอยู่ในที่พำนัก หากไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ไม่ให้ออกจากบ้าน จนทำให้ท้องถนนและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เคยมีผู้คนพลุกพล่านแทบกลายเป็นเมืองร้าง
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๓ หลังคำสั่งยุติกิจกรรมต่างๆ องค์การ ESA วิเคราะห์ผลการติดตามปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ตามโครงการ Copernicus Atmosphere Monitoring Service พบว่า ความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์ทางตอนเหนือของอิตาลีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ต่อมามีการเผยแพร่คลิปและภาพถ่ายคลองเมืองเวนิสสถานีท่องเที่ยวดัง นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนิยมมานั่งเรือกอนโดลาชมสถาปัตยกรรมบ้านเรือน วิถีริมน้ำ คลองเมืองเวนิสกลับมามีน้ำใสสะอาด มองเห็นฝูงปลาแหวกว่ายใต้ผืนน้ำซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว
การลดเที่ยวบินและหยุดให้บริการของสายการบินต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดยังทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง
ทุกวันนี้การเดินทางด้วยเครื่องบินได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ประเมินว่าในแต่ละปีมีผู้เดินทางด้วยเครื่องบินมากกว่า ๔ พันล้านคน ขณะเดียวกันการเดินทางทางอากาศก็สร้างมลพิษ เนื่องจากไอเสียที่เครื่องบินปล่อยออกมาส่วนใหญ่ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน
ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะมนตรีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) เคยพยายามกำหนดมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากสายการบิน หรืออย่างในพิธีสารเกียวโต การลงนามสนธิสัญญาแก้ปัญหาโลกร้อน ณ กรุงปารีส เมื่อปี ๒๕๕๘ ในช่วงการประชุมลงนามร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นักวิชาการบางสำนักก็เสนอว่าควรลดการเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ไม่มีใครคิดว่าการลดเที่ยวบินจะเกิดขึ้นหลังการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
.
มาตรการปิดเมือง ลดการเคลื่อนย้าย จำกัดการใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นมาตรการสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด
อังเกลา แมร์เคิล สมุหนายกแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แถลงข่าวทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๓ (สำนวนแปล ธีรภัทร เจริญสุข) ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าทราบดีว่ามาตรการนี้ยากลำบากเพียงใด ไม่มีงานกิจกรรม ไม่มีงานออกร้านค้าขาย ไม่มีคอนเสิร์ต และในตอนนี้ ไม่มีการไปโรงเรียน ไม่มีการไปมหาวิทยาลัย ไม่มีการไปสถานอนุบาล ไม่มีการละเล่นในสนามเด็กเล่น ข้าพเจ้าทราบว่าการปิดทุกอย่างดังกล่าวมาซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลแคว้นเห็นพ้องต้องกันนั้น ได้แทรกแซงชีวิตและความเป็นประชาธิปไตยของเรา เป็นการจำกัดเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในสาธารณรัฐของเรา แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันกับท่านทั้งหลายว่า สำหรับข้าพเจ้าที่ได้ต่อสู้อย่างหนักหน่วงมายาวนาน เพื่อให้ได้เสรีภาพในการเดินทางและเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ การจำกัดสิทธินี้เป็นเพียงมาตรการในสถานการณ์จำเพาะอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยที่เราไม่พึงกระทำการตามอำเภอใจและจะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น เพราะในเวลานี้ เป็นวิธีที่ขาดไม่ได้ในการรักษาชีวิตคน”
สมุหนายกหญิงเยอรมนีชี้ว่าสถานการณ์ตอนนี้หนักหนา แต่โอกาสยังเปิดกว้าง หมายความว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับวินัยของทุกคนที่จะปฏิบัติตามกฎและดำเนินการให้สอดคล้องกัน
ในประเทศไทยสถาบันการศึกษาเกือบทุกแห่งประกาศปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์
เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลรณรงค์ผ่านข้อความ “หมอทำงานหนักที่โรงพยาบาลเพื่อคุณ ขอคุณพักอยู่บ้านเพื่อพวกเรา”
บริษัท ห้างร้าน ภาคธุรกิจ ประกาศให้พนักงานทำงานจากบ้าน (Work from home) รัฐบาลประกาศเลื่อนวันหยุดราชกาลเทศกาลสงกรานต์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยรายงานว่าตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา มีเที่ยวบินถูกยกเลิกแล้ว ๙,๗๙๗ เที่ยวบิน
การเดินทาง การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เป็นภัยต่อผู้คนต้องลดลงตั้งแต่บัดนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหม่ และเป็นความจำเป็นที่ทุกคนต้องปรับตัว
แม้การวิจัยเพื่อคิดค้นยารักษาโรคจะกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาใดจะเอาชนะเชื้อไวรัส COVID-19 ได้
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแพร่การระบาด สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นอย่างเชื้อไวรัสทำให้เราเห็นว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง ถึงวันนี้ประชากรโลกคงต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองว่าอะไรคือสิ่งมีค่ามากที่สุด
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ผู้คนหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หันมาลดใช้พลาสติก คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นกันมากขึ้น แต่ใครจะคาดคิดว่าวิกฤติโรคระบาดได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตชนิดคาดไม่ถึง จนทำให้โลกใบนี้สะอาดขึ้น
นั่นอาจเป็นข้อดีเพียงหนึ่งเดียวที่เราได้รับจากไวรัสล้างโลก