เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓ ท่ามกลางข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สำนักข่าวไทยรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อวิถีชีวิตและธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เชียงใหม่ ซู อควาเลียม (Chiangmai zoo aquarium) ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อาจต้องปิดตัวหลังนักท่องเที่ยวลดลงช่วงที่ผ่านมา กระทั่งภาครัฐมีคำสั่งปิดสวนสัตว์ทั่วประเทศจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ร้าง
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศปิดให้บริการสวนสัตว์ทั้ง ๖ แห่งเป็นการชั่วคราว ประกอบด้วยสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์ขอนแก่น และโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นการปิดสวนสัตว์ชั่วคราวพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ ๖๖ ปี
ทุกวันนี้เมื่อเข้าไปในเว็บไซด์ เชียงใหม่ ซู อควาเลียม หน้าแรกจะพบข้อความว่า
“เชียงใหม่ ซู อควาเลียม แจ้งปิดบริการ ๑๔ วัน ตามมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวัง การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID-19”
เชียงใหม่ ซู อควาเลียม ตั้งอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบนดอย” สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท โดยเอกชนลงทุนร่วมกับองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำครบวงจรแห่งภูมิภาคอาเซียน ผู้สร้างจึงออกแบบอุโมงค์ใต้น้ำความยาว ๑๓๓ เมตร ทำจากอคลิลิกใสหนากว่า ๒.๕ นิ้ว รับแรงดันน้ำได้ระดับความลึก ๕ เมตร เพื่อเก็บรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำจืดจากแถบลุ่มน้ำโขง สัตว์น้ำเค็มจากโลกใต้ทะเล ทั้งแถบเอเชียและแอมะซอน ติดตั้งทางเดินเลื่อนอัตโนมัติเชื่อมอุโมงค์น้ำจืดกับอุโมงค์น้ำทะเลอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมองเห็นการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำน้อยใหญ่
นฤทัติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้บริหารเชียงใหม่ ซู อะควาเลียม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยถึงผลกระทบจากคำสั่งปิดสวนสัตว์ชั่วคราวจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า
“เหมือนตัวผมมีเลือดที่จะต้องหล่อเลี้ยงตัวผม แล้วจะต้องไปเลี้ยงสุนัขเล็กๆ อีกตัวหนึ่ง ตอนนี้ผมจะดูว่าผมจะเลี้ยงสุนัขต่อไปจนเลือดหมดตายไปพร้อมกัน หรือผมจะดึงปลั๊กสุนัขออก แล้วให้ผมเหลือรอด เพราะเราหมดตัวแน่นอน เพราะเราคาดคะเนไม่ได้ แล้วสิบเดือนรับรองว่าตายทั้งคู่ ฉะนั้นผมต้องตัดสินใจแล้วว่า ผมจะทำยังไงกับที่นี่ต่อ”
สัตว์น้ำขึ้นชื่อของเชียงใหม่ ซู อะควาเลียม เช่น ฉลามหูดำ ปลาหมอทะเลยักษ์ ปลาหนวดพราหมณ์ ปลาไหลริบบิ้น ปลานีโม กระเบนชนิดต่างๆ เต่าทะเล และมีสัตว์น้ำอีกนานาชนิดมากกว่า ๒๕๐ สายพันธุ์ จำนวนมากกว่า ๒๐,๐๐๐ ตัว รวมมูลค่าทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท เฉพาะค่าระบบและค่าอาหารสัตว์น้ำประมาณ ๑ ล้านบาทต่อเดือน
กิจกรรมให้อาหารปลา และการแสดงใต้น้ำ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดกิจการอควาเลียมกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (ภาพ : chiangmaiaquarium.com)
“บอกตรงๆ ผมไม่อยากกดปุ่มหรือดึงปลั๊กให้ปลามันตาย” ผู้บริหารเปิดใจกับสำนักข่าวไทย ขณะที่พนักงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าตนเองเห็นสัตว์เหล่านี้ทุกวัน ถ้าต้องปิดตัวลงแล้ว สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน บางตัวอาจจะต้องตายจากไป บางตัวอาจจะต้องไปอยู่ที่อื่น
เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ผู้บริหารจึงออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐยื่นมือช่วยเหลือจนกว่าวิกฤติจะคลี่คลาย พร้อมชี้ว่านี่ไม่ใช่เหตุผลด้านธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการรักษาแหล่งเรียนรู้ใต้น้ำ
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงสวัสดิภาพสัตว์น้ำในอควาเลียมแห่งนี้ ทั้งเรื่องความสะอาดของน้ำ กิจกรรมให้อาหารปลา การแสดงใต้น้ำ รวมถึงข่าวการขาดทุนสะสมกว่า ๒๐๐ ล้านบาท ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี
เมื่อผู้บริหารออกมากล่าวถึงอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ของสัตว์น้ำนานาชนิดหากปิดอควาเรียมจึงมีความเห็นอีกด้านดังขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในพื้นที่ตั้งอยู่ห่างจากทะเลมากๆ อย่างกรณีอควาเลียมริมดอย
ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓ ผ่านทางเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ในช่วงที่วิกฤต COVID-19 กำลังระบาดว่า
“ปิดอะควอเรี่ยมเชียงใหม่ – นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่มาพร้อมกับโควิด เพราะที่นั่นมีสัตว์ทะเลเพียบเลยครับ คำถามสำคัญ หากปิดแล้วจะทำอะไรกับสัตว์น้ำเหล่านั้น ? หากเป็นสัตว์น้ำจืด อาจหาทางไปให้ตามที่เลี้ยงอื่นๆ ที่พอหาได้ แต่ถ้าเป็นสัตว์ทะเล งานนี้ลำบากแน่นอน เพราะคงยากที่จะหาสถานที่เก็บสัตว์ต่อได้ แต่ถ้าไม่ปิด แล้วจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร ?”
แม้ เชียงใหม่ ซู อะควาเลียม จะเริ่มต้นจากการลงทุนร่วมระหว่างเอกชนกับองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่ก็ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้วจะใช้กลไกใด ที่สำคัญคือต้องสนับสนุนยาวนานแค่ไหน เมื่อไม่มีใครทราบบทสรุปของการแพร่ระบาด
การขนส่งสัตว์ทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นฉลามหูดำ กระเบน เต่า จากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทางภาคเหนือของไทยกลับคืนสู่ท้องทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล และอาจมีสัตว์ตาย โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก
ระหว่างปิดกิจการกับให้หน่วยงานยื่นมือเข้ามาสนับสนุน คงยากชี้ชัดว่าทางออกใดเป็นทางเลือกดีที่สุด
สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือการเปิดอควาเลียมขนาดใหญ่ที่นำสัตว์น้ำจากต่างถิ่นมาอาศัยอยู่รวมกันในพื้นที่ห่างไกลทะเลอย่างริมดอยมีความเหมาะสมมากแค่ไหน
แน่นอนว่าการเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำกลับบ้านในสถานการณ์เช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ต่างอะไรจากเมื่อคราวนำพวกมันมาว่ายอยู่ริมดอยในอควาเลียม