อมรกิตติยา สิทธิชัย นักศึกษาฝึกงานนิตยสารสารคดี : เรื่องและภาพ
“ความตาย” เป็นเรื่องคาดไม่ถึง คาดเดาไม่ได้ว่ามันจะมาหาเราเร็วหรือช้า ไม่เลือกหน้าว่าจะเป็นคนหนุ่มคนสาวหรือคนแก่ แต่เราทุกคนต่างรู้ว่าสักวัน “ความตาย” นั้นจะมาถึง
ส่วนตัวเราทำได้แค่เตรียมตัวเตรียมใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่จะดีไหมหากครอบครัวจะเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเราหลังจากที่เราจากไป
ในวงกิจกรรม “สมุดเบาใจ : รูปแบบหนึ่งของการแสดงเจตนาล่วงหน้าในวาระสุดท้ายของชีวิต” โครงการสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ ๓ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ฉันเป็นเด็กสาวเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมกิจกรรม ท่ามกลางชายหญิงมีอายุร่วมร้อยคน แต่ละคนส่งเจตนารมณ์แน่วแน่ผ่านดวงตา อาจหลากหลายที่มา แต่มีเหตุผลเดียวกันคือ ใช้สมุดเบาใจเพื่อแสดงเจตนารมณ์ครั้งสุดท้ายให้ลูกหลานที่อยู่ภายหลังให้ได้รับรู้ เช่นเดียวกับฉันที่นั่งอยู่ในวงกิจกรรมนี้
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๒ บัญญัติว่า “บุคคลมีสิทธิทําหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
“การดําเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
“เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือวาการกระทํานั้น เป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
ถึงแม้ว่าฉันยังเด็ก แต่คิดว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่รู้เลยว่าชะตาจะถึงฆาตเมื่อไร ฉันจึงสนใจในการเวิร์คช็อปสมุดเบาใจอย่างมาก เพราะสมุดเบาใจจะเป็นสิ่งที่ใช้แสดงเจตนารมณ์ ความต้องการของฉันให้ครอบครัวรู้ในอนาคต อนาคตที่ไม่แน่นอนในภายภาคหน้า
เริ่มจากการแนะนำตัวของวิทยากรสองคนคือ ตูน ศศิวิมล วงษ์สวัสดิ์ และ ออด วรรณวิภา มาลัยนวล จากกลุ่ม Peaceful Death ที่มาให้ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมุดเบาใจ
ตามด้วยกิจกรรมละลายพฤติกรรมของทุกคนในห้อง ด้วยการเดินไปรอบๆ เพื่อให้เราครุ่นคิด อยู่กับตัวเอง เมื่อพี่ตูนสั่นกระดิ่ง ทุกคนหยุดเดิน หันหน้าเข้าหากัน แนะนำตัว ทำความรู้จักกัน
“กริ๊ง กริ๊ง”
เสียงกระดิ่งดังขึ้นอีกครั้ง เราจับกลุ่ม ๓ คน รอบต่อมาจับกลุ่ม ๔ คนเพื่อเล่าปัญหาชีวิตของแต่ละคนในขอบเขตที่เล่าได้
วงสนทนาเปลี่ยนหัวข้ออีกครั้งเป็น “การตายดีในความคิดของฉัน” ทุกคนคิดใคร่ครวญคำตอบ ไล่ตอบมาทีละคน “ไม่ทุรนทุรายทั้งกายและจิตใจ” “ปราศจากการยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือแพทย์” “ยกทรัพย์สินเงินทองให้ลูกหลาน” “จัดการศพตามพิธีทางศาสนา” นี่ล้วนเป็นความต้องการของลุงๆ ป้าๆ หลายคนที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดี
ส่วนฉันกลับพูดไปเพียงแค่คำเดียวว่า “ปล่อยวาง”
สำหรับฉันก่อนจะตายด้วยวิธีใดก็ตาม จะยื้อชีวิตฉันคนนี้ไว้หรือไม่ สุดท้ายนอกจากสิ่งที่ฉันฝากไว้ในสมุดเบาใจแล้ว ก่อนสิ้นลมหายใจการปล่อยวางคงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ฉันทำได้ในขณะเวลานั้น
ทุกคนพยักหน้าเข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่ฉันพูด ราวกับว่าตัวพวกเขาเองก็มีคำตอบนี้อยู่ในใจ แต่เพียงแค่ไม่พูดออกมาเท่านั้นเอง
กิจกรรมดำเนินมาจนถึงช่วงสุดท้ายคือการแจกสมุดเบาใจให้กับผู้เข้าร่วมทุกคน
ผู้ร่วมกิจกรรมตั้งใจฟังเรื่องราวชีวิต ความรู้สึกนึกคิดตามแต่ละโจทย์ที่ได้รับ (ภาพ : อมรกิตติยา สิทธิชัย)
“สมุดเบาใจ คือ เครื่องมือช่วยทบทวนชีวิต วางแผนชีวิต และสื่อสารเจตนาล่วงหน้า เพื่อที่ครอบครัวจะได้เข้าใจเจตนาของตัวเรา” พี่ออด วรรณวิภา มาลัยนวล อธิบายถึงจุดประสงค์ของสมุดเบาใจ พร้อมกับเดินแจกสมุดเบาใจให้แก่ทุกคนในห้อง
ทุกคนกางหน้าสมุดเบาใจเล่มสีฟ้าปกอ่อนออก เพื่ออ่านรายละเอียดที่ต้องกรอกลงไปในสมุด พี่ออดถามทุกคนว่า “จะแนะนำสมุดเล่มนี้ให้ใครบ้าง”
คำตอบออกมาเป็นแทบจะเสียงเดียวกันคือ “ครอบครัว” รองลงมาก็เป็นญาติพี่น้องเพื่อนสนิท ซึ่งไม่ใช่เพียงการให้อ่านสมุดเบาใจเพื่อเจตนารมณ์ของเรา แต่ยังต้องอธิบายกับครอบครัวถึงเหตุและผลที่เลือกจะกระทำแบบนี้ต่อไปในอนาคต และเมื่อเราตายไป คนที่อยู่ข้างหลังจะสานต่อเจตนารมณ์ของเรา
งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกฉันใด วงกิจกรรมก็หมดเวลาแล้วเช่นกัน ทีมงานกล่าวขอบคุณคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน พร้อมกับสมุดเบาใจในมือ พร้อมจะไปบอกเล่า และส่งต่อเจตนาให้คนรอบข้างได้รับรู้
ช้าหรือเร็วไม่สำคัญ แต่รู้แน่ๆ ว่าต้องมา แม้ไม่ได้นัดหมาย ความตายก็จะมาหา เราทำได้เพียงวางแผนล่วงหน้า ว่าจะทำให้การตาย เป็นการตายที่ดี ตามที่เราเขียนไว้ในสมุดได้อย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลาก็ไม่มีใครอยากจากโลกใบนี้ไปอย่างแน่นอน พวกเราทำได้เพียง “ปล่อยวาง” ปิดเปลือกตาอันหนักอึ้ง แล้วพักผ่อนไปตลอดกาล