เรื่องและภาพ: 700 Km.
“ลวดลายแต่ละชิ้นมีความหมายในตัวของมัน การทำเครื่องเงินคือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ” แม่ครูอำภา สงจันทร์ ครูภูมิปัญญาเครื่องเงิน ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนา วัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
เริ่มต้นจากความหลงใหลในงานหัตถศิลป์เครื่องเงินล้านนาที่ทุกชิ้นมีเอกลักษณ์ จนเราแอบนิยามว่า เครื่องเงินทุกชิ้นสามารถบ่งบอกอัตลักษณ์ของสล่าเงิน (ช่างทำเครื่องเงิน) แต่ละคนได้ มองยามใดก็เผลอยิ้มชื่นชมในความงดงามนั้นทุกครา นี่เรียกว่าความสุขได้ไหมนะ…
ด้วยความอยากตอบคำถามในใจ ในยามพระอาทิตย์ลอยตั้งฉากเหนือศีรษะเราจึงเดินทางไปยังจุดเริ่มต้นความสุขที่คลางแคลงใจ
“ต๊อก ต๊อก ต๊อก” เสียงเหล็กกระทบเครื่องเงินดังเป็นจังหวะตามท่วงท่าลีลาการตีของแต่ละบุคคลที่ดังอยู่อย่างไม่ขาดสายเป็นสัญญะว่า นี่แหละ “หมู่บ้านหัตถศิลป์ ถิ่นวัวลาย” แห่งชุมชนวัดศรีสุพรรณ ที่มีอุโบสถเงินหลังแรกในโลกเป็นที่ประจักษ์ฝีมือของเหล่าสล่าชั้นครู
ในห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีอุณภูมิห้องสูงกว่าอุณหภูมิภายนอก ด้วยมีเตาเผาหรือเตาหลอมเครื่องเงินตั้งตระหง่านมุมห้อง สล่าเงินสองคนพ่อลูกที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นกำลังขับร้องเพลงแข่งกับเสียง ต๊อก…ต๊อก…ต๊อก…แข่งอวดฝีมือผ่านการดุนลาย “เข้ามาเลยครับ มีข้อสงสัยอะไรถามได้เลย” เสียงกล่าวทัก หลังจากที่เห็นเรามีท่าทีเคอะเขินไม่กล้าเข้าไปขัดจังหวะ”
“ลวดลาย” เรื่องราวบนเครื่องเงินของ “สล่าใหญ่” อาจารย์สมชาย ใจคำบุญเรือง จึงพรั่งพรูพร้อมกับรอยยิ้มแต้มใบหน้า ที่เด่นชัดคือลวดลายความสุข ความภูมิใจในอาชีพร่วม ๔๐ ปี มือที่จับค้อน ทั่ง คือมือที่สืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนา
เสียงค้อนกระทบเครื่องเงินเปรียบเสมือนเสียงเต้นของหัวใจ เครื่องเงินล้านนายังมีลมหายใจ ไม่สูญหาย
“ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ถ่ายทอดความรู้และอธิบายให้ภิกษุ สามเณร และคนที่สนใจ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือคนไทยที่มาดูแล้วเกิดข้อสงสัย อย่างน้อยก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่” อาจารย์สมชายกล่าวพร้อมกับหยิบเครื่องเงินที่ผ่านการวาดลวดลายมาให้เชยชมต่อเนื่อง
งานทุกชิ้น ทุกลาย ที่ผู้สร้างสรรรค์ทำด้วยความตั้งใจ รักในงานที่ทำอย่างแท้จริง พาให้พลังความสุขในการทำงานส่งมอบมาถึงผู้สัมผัสอย่างเต็มเปี่ยม
นี่สินะจุดเริ่มต้นของความ “สุข” แบบสืบสาน
สุขแรก เกิดเมื่อสล่าเงินมีความ “สุข” ในการทำเครื่องเงิน ความสุขถูกส่งมอบมายังมือผู้รับให้ได้ชื่นชม ความประณีต ความตั้งใจ พร้อมการเล่าเรื่องผ่านลวดลายแต่ละชิ้น
สุขต่อมาคือ “สุข” ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเยี่ยมชมฝีมือการดุนลายเครื่องเงิน
“สุข” สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เราหวังว่าความสุขที่เราแบ่งปันให้ผู้อ่านได้รับรู้ จะเป็น “สุข” หนึ่งที่กระตุ้นให้ทุกคนมองหาความสุขรอบกาย
ความสุขเล็กๆ อยู่รอบตัวคุณ เพียงแค่คุณมอง…แล้วมาแบ่งปันความสุขกันนะ
#นักเล่าความสุข