เรื่อง : สุชาดา ลิมป์, พระสร้อย ชยานนฺโท
ภาพ : กลุ่มชาวบ้านดาราอาง (ปะหล่อง) จากรัฐฉาน เมียนมา

ไม่นานมานี้คนไทยมีกิจกรรมสวดมนต์ไล่ Covid-19

เวลานี้ชาวดาราอางในรัฐฉานก็มีทำหุ่นไล่ Covid-19

เป็นปรกติที่ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตความเชื่อจะกลายเป็นทางเลือกสำคัญ

๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓ กระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า) ประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ จำนวน ๒ รายแรกของประเทศ เป็นชายวัย ๓๖ ปี ที่กลับมาจากสหรัฐอเมริกา และชายวัย ๒๖ ปี ที่เดินทางกลับจากสหราชอาณาจักรในทวีปยุโรป

แต่รู้กัน พม่าเป็นประเทศใหญ่อันดับที่ ๔๐ ของโลก ใหญ่เป็นอันดับ ๒ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากชาวพม่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมอาศัยและมีการต่อสู้อย่างรุนแรงเสมอ ชาวชาติพันธุ์จำนวนมากยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง หลายรัฐในประเทศจึงห่างไกลสิทธิสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน

ไม่กี่วันหลังมีประกาศ กลุ่มพยาบาลในรัฐฉาน (ไทใหญ่) ทางภาคกลาง-ตะวันออกของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่มีชาวชาติพันธุ์เกือบ ๖ ล้านคนอาศัย อย่างไทใหญ่ จีน ว้า ลีซอ ดะนุ อินทา มูเซอ ปะหล่อง ปะโอ ตองโย อินเดีย กูรข่า ฯลฯ จึงออกหน่วยคลุกฝุ่นให้ความรู้ชาวชุมชนเกี่ยวกับความสะอาดเพื่อปลอดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เป็นภาพน่ารักของชุมชนห่างไกลความเจริญ ด้วยอย่างน้อยสุดอาชีพของบุรุษ-สตรีชุดขาวก็รู้ว่าพวกตนมีฐานะเป็น “ยาใจ” สำคัญให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจได้ เป็นหนึ่งในภาพเสียสละเดียวกับที่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกลุกขึ้นมาทำหน้าที่แนวหน้าของแผ่นดิน

แต่เมื่อสิทธิด้านสุขภาพยังไม่ทั่วถึง ชนกลุ่มน้อยจึงถือ “ขวัญ-กำลังใจ” เป็นใหญ่

อะไรที่เชื่อว่าทำแล้วเป็นมงคล สบายใจ ชาวบ้านจึงไม่รอช้าแม้เป็นสิ่งไม่มีตัวตน

หนึ่งในนั้นคือการแสดงวิถีบูชาผีเทวดาผ่าน “หุ่นไล่ Covid-19”

ที่ชาวชนเผ่าดาราอาง (ปะหล่อง) ในหมู่บ้านหมากโมงลอ รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกันทำตั้งไว้ที่ประตูเข้า-ออกของหมู่บ้าน ตามความเชื่อดั้งเดิม

ลักษณะเป็นตุ๊กตาที่ประกอบขึ้นจากไม้ไผ่ วัสดุเดียวกับบ้านเรือนส่วนใหญ่ของชาวดาราอาง นำมาขึ้นโครงเลียนแบบร่างกายและส่วนสูงของมนุษย์ ใช้กะลามะพร้าวมาวาด-ระบายสีแบบง่ายๆ ไม่จัดจ้านเป็นหน้าตา แล้วนำเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ตนที่สวมประจำวันในท้องถิ่นมาสวมใส่ให้หุ่น อุปโลกน์เป็นชาวบ้านชาย-หญิงดาราอาง บ้างสวมเสื้อกั๊กทับด้านนอก ตกแต่งด้วยแถบกำมะหยี่หลากสี และนุ่งผ้าถุง บ้างสวมกางเกงขายาว ขาบาน โพกศีรษะด้วยผ้าขาว

ผิวเผินก็เพียงหุ่นประดิษฐ์ง่ายๆ แต่สะกดความรู้สึกเราด้วยแนวคิดคติชน

แต่ไหนแต่ไรชนเผ่าดาราอางนับถือพุทธศาสนาควบคู่ศรัทธาเรื่องวิญญาณ

พวกเขาแบ่งวิญญาณเป็น ๓ ระดับ คือ “กา-เปรา” (วิญญาณสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์)

“กา-นำ” (วิญญาณที่สิงสถิตในธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ลม ฯลฯ)

และ “กา-ฌา” (วิญญาณที่ปกปักษ์ในวิถีทำมาหากิน เช่น สวน ไร่ ข้าว ฯลฯ)

แล้วเมื่อเกิดโรคภัยหรือเหตุผิดปรกติที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับวิญญาณที่สิงสถิตในธรรมชาติ ชาวบ้านจะจัดพิธีทำหุ่นเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ ตั้งไว้ตรงทางเข้า-ออกของประตูหมู่บ้าน บวงสรวงวิญญาณให้ปกป้องคุ้มครอง
พวกตน โดยมี “ดา-บู-เมิง” ผู้นำพิธีกรรมในหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธีทางศาสนา

สถานการณ์วิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ไม่รู้แน่ว่าอะไรบันดาลให้เกิดเหตุ

แต่การได้ทำอะไรบ้าง อย่างเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจารีตเดิมก็ช่วยเสริมพลังใจ

เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจคุ้มครองชีวิตได้ทั่วถึง การสวดมนต์ของไทยหรือทำหุ่นไล่โควิดก็ไม่ควรถูกปฏิเสธหากมีส่วนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยผู้ที่ศรัทธาก็ย่อมมีความสงบเกิดขึ้นในจิตใจตน

เมื่อ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ยังใช้ได้ผลมาแล้วหลายกรณี

และทุกชีวิตพึงมีสิทธิ์ได้รับความอุ่นใจขณะดำรงชีพในบ้านตน