เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
โรงเรียนปิดเทอมในช่วงที่โควิด-๑๙ กำลังระบาดในเมืองไทย และหน้ากากแบบกระจังหน้าที่เรียกว่า face shield กำลังเป็นที่ต้องการและขาดแคลนในหมู่บุคลากรทางการแพทย์
คุณแม่คนหนึ่งที่เป็นคุณหมอจึงชักชวนเพื่อนผู้ปกครองบางคนให้ทำหน้ากากเฟซชิลด์ (face shield) บริจาคให้โรงพยาบาล
จากนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ของห้อง ขยายไปสู่เพื่อนๆ และพี่น้องในครอบครัว กระทั่งในช่วง ๒ สัปดาห์ที่ผ่าน นักเรียนชั้น ป.๒ ห้อง พสวค. โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทำหน้ากากเฟซชิลด์ส่งมอบให้โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ กว่าครึ่งค่อนประเทศ จำนวนมากกว่า ๑ หมื่นชิ้น
จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กิจกรรมเล็กๆ ง่ายๆ ของเด็กชายชั้นประถมฯ ต้นกลุ่มนี้ นับเป็นหนึ่งในรูปธรรมด้านดีงามในห้วงยามวิกฤต รวมทั้งคำกล่าวที่ว่า-คนไทยไม่ทิ้งกัน เป็นประกายความหวังแสนงามว่า สุดท้ายเราจะผ่านโควิด-๑๙ ไปด้วยกัน
……
“แม่เก๋ ซึ่งเป็นหมออยู่ที่ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ส่งรูปภาพและคลิปสอนวิธีการทำเฟซชิลด์มาที่ไลน์ห้อง ป.๒/๙ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม เชิญชวนให้เด็กๆ ร่วมกันทำจิตอาสาระหว่างปิดภาคเรียน ซึ่งโรงพยาบาลมีความต้องการ เพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์เริ่มมีไม่เพียงพอ” ศิริวรรณ ทองสุวรรณ หรือแม่หนิง เล่าจุดเริ่มต้นของโครงการเด็กๆ จิตอาสาทำหน้ากากเฟซชิลด์ให้โรงพยาบาล
“ตอนเริ่มต้นเราคนธรรมดาไม่รู้จักเลยค่ะ หมอมาบอกว่าช่วยทำเฟซชิลด์ให้หน่อย เพราะหมอไม่มีใช้แล้ว หนิงยังต้องไปเปิดอินเทอร์เน็ตหาเลยค่ะว่ามันคืออะไร คือหน้ากากกันกระเด็นที่หมอเอาไว้ใส่ป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดทางตา ทางจมูก เพราะเชื้อโรคโควิด-๑๙ สามารถเข้าทางดวงตาได้ นอกจากน้ำลาย”
“ทางการแพทย์มีกระจังหน้าที่เรียกว่าเฟซชิลด์ ถ้าซื้ออันหนึ่งเป็นร้อย ในโรงพยาบาลเราจึงหาวัสดุมาประยุกต์ทำใช้กันเองทุกแผนก ตามที่มีคนนำมาลงยูทูบ เราทำใช้มาเดือนกว่าแล้ว”
แพทย์หญิงกิจจาวรรณ ฮงคราวิทย์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ และประธานคณะกรรมการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล เล่าบรรยากาศในศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อโควิด-๑๙ มาเยือน และเล่าถึงบรรยากาศที่บ้าน
“ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีโรคระบาด คุณแม่ซึ่งเป็นคุณหมอโรคติดเชื้อจึงต้องทำงานหนักกว่าปรกติหลายเท่า อีกทั้งเพิ่งมารับตำแหน่งเป็นประธานงานควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จึงต้องดูทั้งโรงพยาบาลเลย งานจึงหนักเป็นหลายเท่า ไม่ได้มีเวลาจะได้ดูลูกๆ อย่างใกล้ชิด กิจกรรมและการเรียนช่วงปิดเทอมก็ถูกงดหมด ทำให้เด็กๆ แก้เบื่อด้วยเครื่องเล่นไอทีอย่างหลีกเลียงไม่ได้ จริงๆ ยุ่งมาก่อนจะปิดเทอมเป็นเดือนแล้วด้วยซ้ำค่ะ เพราะต้องเตรียมรับโรคระบาด ไม่ว่าจะต้องเตรียมระบบคัดกรอง เตรียมสถานที่ เตรียมความรู้ขององค์กร และที่สำคัญที่สุดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้เจ้าหน้าที่ในสภาวะที่กำลังขาดแคลน คือทางโรงพยาบาลมีการสั่งของเยอะเลยค่ะ แต่ไม่มีของจะส่ง ซึ่งนี่ขนาดเราเตรียมพร้อมพอควรแล้ว แต่พอมีเคสเข้ามาจริงๆ ทุกอย่างวุ่นวายมาก ไม่ได้เป็นตามแผน อุปกรณ์ไม่พอ และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความกังวลใจ กรรมการทำงานจำเป็นต้องจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ให้เพียงพอเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้เจ้าหน้าที่ ของบางอย่างที่ไม่สามารถจัดซื้อให้เพียงพอได้ เราจำเป็นต้องประยุกต์ของต่างๆ รอบตัวมาใช้ค่ะ และมีอุปกรณ์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งคือเฟซชิลด์ หรือกระจังหน้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเจ้าหน้าที่ให้ปลอดภัยจากสารคัดหลั่งต่างๆ ที่เกิดจากการไอจามของผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้เยอะมาก จึงชักชวนให้ทำกันนี่แหละค่ะ”
ความจริงทางโรงพยาบาลเรามีการทำเฟซชิลด์กันเองอยู่แล้ว พญ.กิจจาวรรณ หรือแม่เก๋เห็นว่าไม่ได้ทำยากอะไร วัสดุก็หาได้ไม่ยากนัก และถ้าให้ลูกๆ ช่วยทำก็จะได้ใช้เวลาเป็นประโยชน์ ทั้งยังเป็นการสอนเด็กๆ ถึงการได้รับรู้สถานการณ์สังคมไปด้วยโดยปริยาย ได้รู้ว่าสิ่งที่เขาร่วมลงมือทำเป็นการได้ช่วยเหลือหมอ เป็นการฝึกจิตใจที่จะช่วยเหลือคนอื่น
“เด็กๆ ไม่ต้องไปอยู่กับทีวีหรือไอทีมากเกินไป แม่ลูกได้ร่วมกันทำงานและก่อให้เกิดประโยชน์ด้วย ได้ฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ คุณแม่ให้ลูกทำก่อน แล้วก็คิดได้ว่าบ้านเพื่อนลูกก็คงตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน (คือค่ายและ การเรียนในช่วงปิดเทอมถูกงดหมด เด็กๆ มีเวลาว่าเยอะ) จึงอยากเผื่อแผ่ให้คนอื่นทำด้วย และหากมีเฟซชิลด์เพียงพอแล้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ทำงานนี้ก็จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่สำคัญๆ กว่าในการดูแลผู้ป่วย”
ผู้ปกครองหลายบ้านขานรับ เพราะคงคิดและอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน อยากให้ลูกเอาเวลามาทำประโยชน์
“ผู้ปกครองในห้องกลุ่มหนึ่งเริ่มจากแม่ลักษณ์ แม่เมย์ แม่กิ๊ฟ แม่เบ๊นซ์ ช่วยกันจัดหาอุปกรณ์และช่วยกันทำส่งให้โรงพยาบาลชลประทานได้วันนั้นเลย ๑๐๐ ชิ้น เหมือนเสกได้จริงๆ” แม่หนิงผู้เป็นกำลังหลักคนหนึ่งในกิจกรรมนี้ เล่าย้อนถึงวันแรกของกิจกรรม
ส่งหน้ากากกระจังหน้าชุดแรกไปแล้ว ทีมจิตอาสาจัดหาอุปกรณ์เตรียมทำเพิ่มอีก โดยนัดจะไปนั่งทำด้วยกันที่สวนสาธารณะในวันรุ่งขึ้น
“แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องล้มอย่างกะทันหัน เพราะคุณหมอออกมาขอร้องให้ประชาชนช่วยกันอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ เราก็ต้องถอยมาตั้งหลักกันใหม่ ให้แต่ละบ้านที่พอจะมีเวลาช่วยทำเฟซชิลด์ มารับอุปกรณ์ไปทำกันที่บ้านของตัวเอง แต่ช่วยในสถานที่ที่ใกล้และเดินทางสะดวก”
ตัวแทนของบ้านที่มารับอุปกรณ์ เรียนรู้วิธีการและทดลองทำด้วยกันหลายชั่วโมง ได้ประมาณ ๑๕๐ ชิ้น
“โห! ทำกันตั้งนาน ได้เท่านี้เองเหรอ แอบมีท้อเหมือนกันนะคะ เราแยกย้ายกัน เริ่มกระจายของไป ให้เด็กๆ ช่วยกันทำที่บ้าน”
กำลังใจจากการได้ทำร่วมกับเด็กๆ ที่บ้าน และมีเวลาทำจริงจัง ทำให้ในวันต่อมาเธอทำได้ครบ ๑๐๐ ชิ้นในเวลาไม่นาน
“เฮ้ย! มันก็ไม่ได้ยากนี่ ก็เริ่มหาอุปกรณ์เพิ่มเติมกันอีกเรื่อยๆ ซื้อฟองน้ำกันหลากหลายราคามาก ตั้งแต่ ๔๕๐/๕๐๐/๕๕๐ จนปัจจุบันนี้ได้ในราคา ๒๕๐ บาท แผ่นใสเริ่มต้นตั้งแต่ ๑๒๕/๑๘๐/๒๕๐/๓๐๐ ต่อแพ็ก คือ ๑๐๐ แผ่น จนปัจจุบันเราได้แผ่นใสในราคา ๑.๑๐-๑.๒๐ บาทต่อแผ่น เทปกาวราคา ๒๐๐/๓๐๐ บาท เราก็โดนมาหมดแล้ว จนตอนนี้เราซื้อได้ในราคา ๒๖-๓๐ บาทต่อม้วน อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในการทำเฟซชิลด์คือยางยืด เราซื้อกันตั้งแต่ ๔๐๐/๔๕๐/๕๐๐ ต่อม้วน สุดท้ายเรามาจบกันกับ ๕๐ บาทต่อม้วน ทุกอย่างเริ่มต้นจากราคาแพงมากๆ แต่เราก็เรียนรู้และพยายามหาแหล่งที่ถูกที่สุดให้ได้ แต่ละแหล่งสินค้าที่เราได้ก็มาจากการสอบถามและช่วยเหลือกัน”
จากนั้นงานจิตอาสาเพื่อบุคลากรการแพทย์ก็ขยายวงความร่วมมือออกไปเรื่อยๆ ใน ๕๖ บ้าน ห้อง ป.๒ พสวค. ผู้ปกครองแต่ละบ้านแจ้งความต้องการจะช่วยทำเฟซชิลด์ บางบ้านที่ไม่มีเวลาในการช่วยทำในส่วนแรงงานได้ ก็ขอร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยซื้ออุปกรณ์
“ความตั้งใจแรกไม่ได้คิดว่าจะทำเยอะขนาดนี้ เริ่มต้นจะส่งให้กับสามโรงพยาบาลหลักๆ ได้แก่ โรงพยาบาลชลประทาน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลศิริราช เพราะมีเพื่อนผู้ปกครองเป็นหมออยู่สามโรงพยาบาลนี้ และคุณหมอแต่ละท่านก็ยืนยันถึงความไม่เพียงพอของเฟซชิลด์ที่ต้องใช้จริงๆ เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด-๑๙ เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเราเริ่มส่งไปที่สามโรงพยาบาล เพื่อนหมอต่างแจ้งความต้องการมาเรื่อยๆ ว่ามีเหลือไหม อยากขอให้ส่งไปที่โรงพยาบาลนั้นบ้าง ไล่มาเรื่อยๆ เป็นหลายสิบโรงพยาบาล นั่นเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้เราก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้น เวลามีโรงพยาบาลไหนโพสต์ความต้องการเฟซชิลด์ เพื่อนๆ ก็จะช่วยกันจัดส่งไปให้ตามที่ต้องการ เราจะมานั่งไล่กันในไลน์กรุ๊ปว่ามีที่ไหนขอมา บ้านไหนเสร็จเท่าไหร่ ก็จัดส่งไปให้”
ปัจจุบันช่วยกันทำอยู่ ๓๐ กว่าบ้าน นับถึงสิ้นมีนาคม จัดส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ๙๖ แห่ง จำนวนกว่า ๑.๕หมื่นชิ้น
……
“เฟซชิลด์จากเด็กๆ และผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.๓/๙ SG 109 (Saint Gabriel) ถือว่าเป็น super power barrier สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาลจริงๆ ใช้ได้ทั้งป้องกันและเสริมสร้างกำลังใจ power charge มาเต็มๆ”
เสียงจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับเฟซชิลด์ไปใช้สะท้อนผ่านเฟซบุ๊ก Took Kosit
“เป็นสิ่งที่ดี ที่ทุกคนร่วมใจส่งความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้แก่บุคลากรที่ต้องต่อสู้กับ Covid-19 ของที่ส่งมามีประโยชน์ ใช้ได้จริง และยังเป็นการมอบขวัญกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นสิ่งเล็กๆ ที่มีคุณค่า”
ผศ.พญ.พรรณพัชร พิริยะนนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับ face shield DIY จากฝีมือนักเรียนไปใช้งาน
“ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลมีความต้องการในการใช้มาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สิ้นเปลือง เราจะใช้เพียงครั้งเดียว เพราะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อ การใช้ซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อบุคลากรในโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่คัดกรอง และเจ้าหน้าที่อื่นๆ จะใช้เฟซชิลด์ในกรณีที่ต้องพูดคุยหรือดูแลผู้ป่วย ในขณะนี้แต่ละโรงพยาบาลมีเจ้าหน้าที่ผลิตกันเอง แต่ก็ยังไม่พอเพียง”
“หน้ากากอนามัยกันเข้าปากจมูก แต่ยังเข้าตาได้ สวมแว่นกันตา แต่ยังโดนแก้ม ไรผม กระจังหน้าจึงดีกว่า ป้องกันละอองฝอยจากไอจามได้ทั้งหน้า” พญ.กิจจาวรรณกล่าวถึงประโยชน์และความจำเป็นของเฟซชิลด์ ผ่านสถานการณ์จริงในโรงพยาบาล
“ตอนแรกเราเลือกใช้เฉพาะบางแผนก แต่เราเจอคนไข้ที่มีความเสี่ยงแต่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคระบาด ไม่กักตัวเอง หรือไม่บอกความจริงในครั้งแรกที่มารับบริการ ซึ่งจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ก็สร้างปัญหาให้ทางโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก เช่น คนไข้ในหอผู้ป่วยหนึ่งคน อาจทำให้เจ้าหน้าที่มากกว่า ๕๐ คนเลยที่ต้องถูกสอบสวนโรค ส่วนหนึ่งต้องถูกตรวจหาเชื้อไม่ต่างจากผู้ป่วยและถูกกักตัวไม่สามารถปฏิบัติงานได้ถึง ๑๔ วัน บางคนไม่สามารถกลับบ้านได้จนกว่าผลจะออก และอีกจำนวนมากที่ต้องเฝ้าระวังตัวต่อไปอีก ๑๔ วันหลังสัมผัส เจ้าหน้าที่ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่แต่แพทย์และพยาบาลเท่านั้น มีตั้งแต่คนเข็นเปล แม่บ้าน เวชระเบียนแม้กระทั่งการเงิน ถ้าบุคลากรทางการแพทย์หายไป บางครั้งต้องปิดหอผู้ป่วยไปเลย น่าเสียดายไหม แถมยังมีโอกาสแพร่เชื้อต่อไปถึงคนในครอบครัวด้วย คนไข้คนเดียวส่งผลเป็นลูกโซ่เลย แต่ถ้าผู้ป่วยแจ้งความจริงทางโรงพยาบาลจะมีการดูแลที่เป็นระบบอยู่แล้วค่ะ ซึ่งจะทำให้บุคลากรต่างๆ ลดความเสี่ยงของการติดโรคค่ะ”
เฟซชิลด์จึงยิ่งมีความจำเป็น
“บุคลากรทางการแพทย์แจ้งความต้องการอะไรที่ทางภาคประชาชนสามารถช่วยเหลือได้ เรายินดีช่วยเต็มที่ อยากให้ห้อง ป.๒/พสวค. ที่เทอมหน้าเราจะกลายเป็น ป.๓/๙ ในรั้วโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เป็นหนึ่งกำลังใจเล็กๆ ให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ให้ทำงานอย่างเต็มที่ สู้ๆ ไปด้วยกัน และเราจะรอดไปด้วยกันค่ะ”
เป็นเสียงจากตัวแทนคุณแม่ของเด็กๆ นักเรียนจิตอาสา
……
เฟซชิลด์ป้องกันการแพร่ของไวรัสได้ทั้งใบหน้า หากใครจะทำใช้ หรือทำมอบให้คนอื่น เปิดยูทูบดูก็ได้ แต่ถ้าอยากเรียนรู้จากคนที่เคยทำใช้โดยตรง ก็ลองทำไปพร้อมกับคำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ จากแม่หนิง ดังนี้
เริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
- ฟองน้ำหนา ๑ นิ้ว หรือ ๓/๔ นิ้ว ก็สามารถทำได้
- แผ่นพลาสติกใสทำปกรายงานขนาด A4
- ยางยืด ขนาดความยาว ๑๓.๕๐ นิ้ว
- ลวดเย็บกระดาษ
- เทปกาวสองหน้าแบบบาง หน้ากว้าง ๓/๔ นิ้ว หรือ ๑ นิ้ว
- กรรไกร
พร้อมแล้วก็ลงมือทำ
- ตัดฟองน้ำให้ได้ขนาด ๑ x ๑๐ x ๑ นิ้ว หรือตอนซื้อมาเป็นก้อนใหญ่ ๑ ก้อน สามารถแบ่งเป็น ๔ ชิ้น หรือกรีดตามหน้ากว้างของไม้บรรทัดเลยก็ได้ เพื่อง่ายและสะดวกต่อการทำ
- ติดเทปกาวสองหน้าลงบนฟองน้ำให้ได้ความยาวพอดี หรือบางคนอาจจะติดเทปกาวลงบนแผ่นใสให้ได้ความยาวพอดีก็ได้ แล้วแต่ความถนัด
- ดึงเทปกาวออก นำฟองน้ำไปติดกับแผ่นใสขนาด A4 ตามแนวนอน
- นำปลายของยางยืดประมาณ ๐.๕ นิ้ว มาติดกับแผ่นใสของทั้งซ้ายและขวา
- นำลวดเย็บกระดาษมาเย็บบริเวณปลายของแผ่นพลาสติกที่มียางยืดและฟองน้ำ
- ได้กระจังหน้าที่สมบูรณ์ชิ้นหนึ่ง ต้นทุนต่อชิ้นไม่เกิน ๖ บาท ประหยัดกว่าราคาซื้อจากร้านเวชภัณฑ์เกือบ ๒๐ เท่า
หากลองเทียบว่ากระจังหน้าทั้งหมดที่ใช้ รัฐต้องจ่ายเงินซื้อให้กับโรงพยาบาล ก็นับว่างานจิตอาสาจากมือน้อยๆ ช่วยประหยัดเงินแผ่นดินได้ไม่น้อยเลย
ในสถานการณ์โควิด-๑๙ แพร่ระบาด แค่หยุดอยู่บ้านเฉยๆ ก็นับเป็นการช่วยชาติแล้ว แต่เด็กชายกลุ่มหนึ่งทำมากกว่านั้น
ระหว่างปิดเทอมอยู่บ้านช่วยชาติ พวกเขายังเป็นกองหลังตัวน้อยที่คอยช่วยหนุนเสริมแนวหน้าอย่างน่ารัก