ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
“ชุมชนบ้านกลอเซโลปิดชุมชนป้องกันโควิด-19 ห้ามบุคคลภายนอกเข้า”
“STOP COVID.19 ห้ามเข้านะโควิดสิบเก้า ข่อบือคี”
“ห้ามเข้า คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า Don’t Enter”
ป้ายห้ามเข้าหมู่บ้านต่างๆ กลางขุนเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนถูกสร้างขึ้นจากกระดาษลัง ตัวป้ายติดตั้งอยู่บนแนวรั้วไม้ไผ่ที่ชาวบ้านสร้างขวางถนนไม่ให้ผู้คนสัญจรผ่าน บางหมู่บ้านนำหอก ดาบ หลาวปลายแหลมมาประดับตามแนวรั้ว ข้อความบนป้ายมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาปกากะญอ
นับตั้งแต่ COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก ข่าวความน่าสะพรึงกลัวของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมายก็เดินทางมาถึงดินแดนห่างไกลกลางดงดอยหุบเขา
มัลลิกา สิริโสภาวัฒนา ชาวสบแม่คะ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วัย ๒๕ ปี เล่าถึงการขึ้นป้ายประกาศห้ามผู้คนเข้าออกหมู่บ้านสบแม่คะเป็นการชั่วคราวเมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธี “เกราะ” หรือ “เกร๊าะหญี” ของชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
มัลลิกาอธิบายว่า “เกราะ” ซึ่งออกเสียงคล้ายคำว่า เคราะห์ เป็นคำเรียกกันในกลุ่มกะเหรี่ยงโปว์
ส่วนคำว่า “เกร๊าะหญี” หรือ “เกราะหยี่” นิยมใช้ในกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอ มาจากคำว่า “เกร๊าะ” แปลว่า ปิด หรือ กั้น รวมกับคำว่า “หญี” หรือ “หยี่” ที่แปลว่า หมู่บ้าน
แม้เขียนและเรียกแตกต่าง แต่มัลลิกาอธิบายว่าทั้งสองคำหมายถึงพิธี “ปิดชุมชน” หรือ “ปิดหมู่บ้าน” เหมือนกัน
“เริ่มแรกผู้นำชุมชนจะเรียกทุกคนมาหารือกัน” เธอเล่า “เพื่อประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ อย่างครั้งนี้เราประชุมกันตั้งแต่เย็นวันที่ ๒๒ ตกลงว่าจะทำพิธีเกราะ และปิดหมู่บ้าน ๑ วัน”
ชุมชนที่เธออาศัยอยู่เป็นหย่อมบ้านที่มีอยู่ราว ๔๐ หลังคาเรือน เมื่อรวมกับหย่อมบ้านอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง จึงเรียกรวมกันว่าหมู่บ้านสบแม่คะ
การปิดหมู่บ้าน คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ถือเป็นพิธีโบราณที่ชาวหมู่บ้านแม่คะประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำทุกปี ไม่จำเป็นว่าต้องมีโรคระบาดหรือเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นก่อน และไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันทุกหมู่บ้าน
“อย่างปีนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนของเราติดตามข่าว เห็นว่าทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤติโรคระบาดจากเชื้อไวรัส COVID-19 จึงเรียกประชุมชาวบ้านแล้วตกลงกันว่าจะทำพิธี
ข้าวของที่ต้องตระเตรียมมีตระกร้าสานจากไม้ไผ่ ทุกครอบครัวต้องสานขึ้นมาใหม่ครอบครัวละ ๒ ใบ เพื่อใช้สำหรับใส่ข้าว เศษผ้าไหม รวมทั้งสิ่งของอื่นๆ ที่ใช้มี พริก เกลือ ยาสูบ ส้มป่อย ขมิ้น และใบตองกงครอบครัวละ ๕ ต้น
เมื่อกำหนดว่าจะปิดหมู่บ้าน วันรุ่งขึ้นชาวบ้านจะมาร่วมประกอบพิธีร่วมกัน มีผู้นำชุมชนบอกกล่าวร้องขอต่อเจ้าป่าเจ้าเขา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยปกปักษ์คุ้มครองคนในหมู่บ้านให้อยู่รอดปลอดภัย ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย จากนั้นจึงส่งตัวแทนซึ่งเป็นผู้ชายแยกย้ายกันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก นำตระกร้าสานบรรจุเครื่องเซ่นไปวางไว้ตรงตำแหน่งที่เหมือนกับเป็นทางเข้าและออกของชุมชน สร้างแนวรั้วไม้ไผ่กั้นถนนและติดประกาศปิดชุมชนเป็นการชั่วคราว
จากตัวแทนชาวบ้านจะกลับมายังจุดทำพีธี ร้องถามคนอื่นๆ ว่าสิ่งสกปรก สิ่งไม่ดี ออกจากหมู่บ้านไปหรือยัง ทุกๆ คนจะตะโกนตอบพร้อมๆ กันว่าออกไปหมดแล้ว
ระยะปิดหมู่บ้านว่าจะยาวนานกี่วันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การลงความเห็นของคนในชุมชน ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับตายตัว เธอยกตัวอย่างหย่อมบ้านหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไป
“เขาปิดชุมชนนานสามวัน ไม่ออกไปไหน ส่วนหย่อมบ้านของเราเป็นทางผ่านเข้าออกของคนด้านใน ลึกเข้าไปยังมีอีกหลายหย่อมบ้านต้องใช้เส้นทางนี้ พวกเราจึงตกลงกันว่าปิดวันเดียวเหมือนปีที่ผ่านๆ มา แล้วไม่ใช่ว่าไม่ให้ใครผ่านทาง แต่เราเน้นจัดการคนภายนอกที่เราไม่คุ้นเคย ไม่ให้เขาขึ้นบ้าน ไม่ให้เข้าห้องน้ำ ไม่ให้จอดรถแวะในหย่อมบ้านของเรา”
เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (IMN : Indigenous Media Network) ระบุว่า การประกอบพิธีปิดหมู่บ้านลักษณะนี้มีเกิดขึ้นใน ๒ กรณี คือ เป็นพิธีประจำปี เรียกอีกอย่างว่า “บัวหยี่ บัวฆอ” เป็นการสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน โดยกำหนดปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเป็นระยะเวลา ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๙ วัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำแต่ละชุมชน ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่บ้างที่ชุมชนกะเหรี่ยงทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำพิธีในช่วงเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติ ระหว่างที่ปิดหมู่บ้านหากมีคนนอกเผลอเข้าไป ก็จะต้องอยู่ในชุมชนจนกว่าจะครบกำหนด
ส่วนพิธีปิดหมู่บ้านที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่เวลานี้ เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองระบุว่าเป็นพิธีใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก มักใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น มีคนเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันหลายคน เกิดโรคระบาดที่รักษาไม่ได้ แต่ละชุมชนก็จะทำพิธีปิดหมู่บ้าน ห้ามไปมาหาสู่กัน พบว่าเคยมีการประกอบพิธีเช่นนี้เมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่แล้ว สมัยที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ระดับความตึงเครียดของพิธีปิดหมู่บ้านจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดไว้ตรงรั้วกั้นทางเข้าหมู่บ้าน หากติดแค่ตะแหลวหรือไม่ไผ่สานหกเหลี่ยมยังไม่ถือว่าเหตุการณ์รุนแรงนัก แต่กรณีที่มีหอก ดาบ หรือหลาวปลายแหลมประดับไว้ด้วย นั่นหมายถึงสถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด
ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมืองรวบรวมรายชื่อชุมชนบนดอยที่ปิดหมู่บ้านเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ พบว่ามีหลายแห่ง แต่ละหมู่บ้านมีรายละเอียดแตกต่างกันไป อาทิ บ้านแม่ตอละ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ปิดหมู่บ้านวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๓
บ้านเซโดซา ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ปิดหมู่บ้าน ๒๔ ชั่วโมง เพราะเส้นทางเป็นทางผ่านไปยังหมู่บ้านอื่น แต่ยังคงมาตรการตรวจคัดกรอง และให้ลูกหลานที่กลับมาจากในเมืองกักตัวเองเป็นเวลา ๑๔ วัน
ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำพิธีร่วมกันทั้งตำบล
บ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ปิดชุมชน แต่คัดกรองทุกคนที่ผ่านเข้าออกหมู่บ้าน
หากประดับรั้วด้วยตะแหลวหรือไม่ไผ่สานหกเหลี่ยมยังถือว่าเหตุการณ์ไม่รุนแรงนัก แต่ถ้าติดหอก ดาบ หลาวปลายแหลม หรือปืนหมายถึงสถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด
การ “ปิดบ้าน ป้องเมือง” ห้ามคนในออก ห้ามคนนอกเข้า ของชาวเชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเป็นพิธีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
พฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาดในชุมชนกะเหรี่ยงว่า “เรามีคำว่า ‘ต่าชาบะห่า’ มาจากคำว่า ‘ต่า’ แปลว่า สิ่ง ‘ชา’ แปลว่า โรค ‘บะ’ แปลว่า ถูก หรือเป็น ‘ห่า’ ไม่มีคำแปลตรงตัว สิ่งนี้ชาวบ้านเข้าใจร่วมกันว่าถ้าเป็นแล้วมันจะติดต่อกันไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ เมื่อเป็นแล้วจะทะยอยตายเรื่อยๆ จนหมด เช่น ไก่ อาจหมดทั้งหมู่บ้านหรือเหลือรอดแค่ไม่กี่ตัว กรณีอย่างนี้หากชาวบ้านรู้ว่าเชื้อโรคเข้ามาจะรีบเอาไก่ไปซ่อน นำออกไปเลี้ยงไว้ในทุ่งนาหรือในไร่ แยกออกไปจากชุมชน แต่ก็อาจมีบ้างที่ไม่รอดเพราะเจ้าของเอาออกไปช้า ส่วนคนก็ต้องอยู่แยกกันเป็นจุดๆ กระจายตามป่า หรือครอบครัวใครครอบครัวมัน หากสถานการณ์ดีขึ้น โรคหายแล้วค่อยมาเจอกัน”
การปิดหมู่บ้านของชุมชนบนขุนเขา ถึงแม้เป็นขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับการปิดประเทศหรือแคว้นทั้งแคว้นอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีนหรืออิตาลี แต่ในเชิงลึกแล้วก็น่าจะหมายถึงการตัดเส้นทางการแพร่ของเชื้อไวรัสจากคนสู่คนไม่ต่างกัน
นับเป็นภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคนจากบรรพชนกะเหรี่ยงมาจนถึงคนรุ่นใหม่
การประชุมร่วมกันของชาวหมู่บ้านสบแม่คะก่อนจัดพิธีเกราะในวันรุ่งขึ้น (ภาพ : มัลลิกา สิริโสภาวัฒนา)
หลังทำพิธีปิดหมู่บ้าน นอกจากชาวสบแม่คะจะพยายามไม่ออกจากบ้านไปไหน ไม่ออกไปที่อำเภอ ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคซึ่งน่าจะได้ผลในแง่การระงับโรคระบาด ในอีกแง่หนึ่งแล้วพีธีเกราะที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยทำให้ชาวคนได้รับการเยียวยาทางจิตใจ
“เราอาจยังไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะป้องกันได้จริงมั๊ย แต่เราทำแล้วสบายใจ นี่คือพิธีดั้งเดิมทีเราเคยเห็นและทำกันมา ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อธิษฐานจิตเผื่อลูกหลาน ทันทำให้เราอุ่นใจ” มัลลิกาบอกว่าเกราะเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการลดความวิตกกังวล สร้างขวัญกำลังใจ ให้ยืนหยัดก้าวเดินไปในสถานการณ์ที่ต้องร่วมกันฝ่าวิกฤต