เทวดาจตุโลกบาลผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกายังมีภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการพิทักษ์รักษาดาวดึงส์

เมืองสุทัสสนะนครบนยอดเขาพระสุเมรุนั้น ที่จริงก็มีกำแพงล้อมรอบ มีช่องประตูเข้าได้เป็นแห่งๆ แบบป้อมปราการในโลกยุคโบราณอยู่แล้ว ดังที่ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายว่ามีประตูเมืองถึง ๑,๐๐๐ ประตู

“ภายนอกกูฎาคารพิมานที่เป็นซุ้มพระทวารแห่งสุทัสสนะมหานครนั้น ประกอบด้วยเสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาบทจรเดินเท้า ล้วนประดับด้วยสรรพาภรณ์อลังการอันพิจิตร สวมสอดเครื่องสรรพยุทธ์ศาสตราวุธต่างๆ พิทักษ์รักษาอยู่เป็นนิจนิรันดร์ นักปราชญ์ถึงรู้ว่าในสวรรค์นั้น หามีสัตว์ดิรัจฉานไม่ เสนาช้างและเสนาม้าทั้งหลายนั้น ล้วนแล้วด้วยเทพบุตรสร้างสรรค์นฤมิตจำแลงแปลงกาย…”

คือแต่ละประตูเมืองมีทหารเทวดาสี่เหล่า ต้องตามตำรับพิไชยสงครามอินเดียโบราณที่เรียกว่า “จตุรงคเสนา” คือมีพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า เฝ้าพิทักษ์รักษาอยู่ (น่าสงสารนิดหน่อยว่า มีเทวดาที่ต้องแปลงตัวเป็นช้างเป็นม้าเพื่อให้ครบตามตำราด้วย) แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะพระอินทร์เองก็ยังทรงหวาดหวั่นอยู่ว่า บรรดา “อสูร” คือเทวดารุ่นเก่าที่ “คณะสามสิบสาม” (คสส.) ช่วยกันจับโยนลงไปจากวิมานยอดเขาพระสุเมรุ จะจัดทัพยกมารบอีกเมื่อไรก็ไม่รู้ จึงให้ตั้งค่ายเตรียมทัพรับอสูรไว้เป็นชั้นๆ ได้แก่

ชั้นที่ ๕ ด้านล่างสุด หรือด่านชั้นนอกสุดเชิงเขาพระสุเมรุ เป็นหน้าที่ของฝูงนาค เผ่าพันธุ์ผู้ “มีกำลังในน้ำ”
ชั้นที่ ๔ สูงขึ้นไปเป็นพื้นที่ดูแลของเหล่าครุฑ “อันบริบูรณ์ด้วยกำลังกายแลกำลังฤทธิ์”
ชั้นที่ ๓ รักษาด่านโดยเหล่ากุมภัณฑ์ “ผู้มีมหิทธิฤทธิ์ เชี่ยวแรงแข็งขยัน”
ชั้นที่ ๒ ฝูงยักษ์ “อันตัวกล้าตัวหาญ ยั่งยืนในการศึกสงคราม” ตั้งกองสกัดกั้นไว้
ส่วนชั้นในสุดบัญชาการโดยท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวัณ

กองทัพเหล่านี้ตั้งล้อมรอบดาวดึงส์เป็นชั้นๆ ไว้ ป้องกันมิให้เผ่าอสูรบุกขึ้นมาถึงเทพนครได้

แต่ในคัมภีร์เล่มเดียวกัน คือ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” อีกแห่งหนึ่ง เล่าไว้ต่างออกไปนิดหน่อยว่า เมื่อท้าวจาตุมหาราชผู้เป็นเทพยดารักษาทิศทั้งสี่จะลงจากสวรรค์มาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ (อาจเป็นครั้งเดียวกับที่เป็นต้นเรื่องของ “อาฏานาฏิยปริตร”) เกิด “มีความปริวิตกกลัวอสูรสงครามจะเกิดการกำเริบ รุกโรมกระโจมจู่ เข้าปล้นเข้าตีพิภพดาวดึงส์ ตัวไปข้างโน้นจะกลับมามิทัน ทีจะเสียราชการ…จึงตั้งพวกพลทหารเป็น ๔ กอง พิทักษ์รักษาอยู่ในทิศทั้ง ๔”

โดยท้าวจตุโลกบาลแต่ละองค์ ก็ตั้งกองทหารในบังคับบัญชาของตนอย่างละ ๑ แสนนาย ประจำทิศต่างๆ คอยรักษาดาวดึงส์ไว้ในทิศของตน คือท้าวธตรฐให้กองกำลังคนธรรพ์ ๑ แสน พิทักษ์รักษาด้านตะวันออก ท้าววิรุฬหกตั้งกองกุมภัณฑเสนาอีก ๑ แสน ป้องกันด้านทิศใต้ ส่วนทิศตะวันตก ท้าววิรูปักข์ตั้งนาคเสนาอีก ๑ แสนไว้คอยรับศึก ส่วนทิศเหนือ ท้าวเวสสุวัณให้ยักขเสนาอีก ๑ แสน คอยควบคุมดูแลไม่ให้หมู่อสูรทั้งหลายมาแผ้วพาน เมื่อจัดตั้งกองพลพิทักษ์ดาวดึงส์เรียบร้อยแล้ว ท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่จึงลงมาเฝ้าพระพุทธองค์กันได้อย่างโล่งใจ

ในพระวิหารน้อยวัดอรุณราชวราราม มีพระจุฬามณีเจดีย์ (จำลอง) ประดิษฐานไว้ และที่มุมทั้งสี่ก็ทำเป็นรูปจตุโลกบาลยืนพิทักษ์รักษาไว้โดยรอบ ซึ่งก็อาจนับเนื่องว่าเป็นคติเดียวกันที่ถือเอาเทพผู้รักษาทิศมาคุ้มครองป้องกันภัยแก่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เมื่อคราวงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ช่วงปลายปี ๒๕๖๐ ณ พระเมรุมาศ มีการสร้างประติมากรรมรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ สูง ๒ เมตร ตั้งประจำชาลาชั้นที่ ๑ หันหน้าเข้าหาพระเมรุมาศ อันนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการตั้งแต่งรูปเทวดาจตุโลกบาลประดับในงานพระเมรุ

รูปท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสุวัณ ณ พระเมรุมาศนั้น คงสร้างขึ้นตามคติที่ว่า จตุโลกบาลมีหน้าที่เฝ้าคอยดูแลรักษาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ผู้เป็นจอมราชาแห่งเทพ บนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งก็แทนที่ด้วยสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศนั่นเอง