เรื่อง/ภาพ นายเดนนี่
ใต้ละอองหิมะและไวรัส
ต้นเดือนเมษายน เมืองออโรรา รัฐโคโลราโด แม้แดดจะเริ่มมา แต่อากาศยังหนาวอยู่ บางวันมีหิมะโรยลงมาปกคลุมทุกอย่างจนขาวโพลน ถนนหนทางที่เบาบางด้วยรถราอยู่แล้วยิ่งหงอยเหงาลงไปอีก สวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแต่พุ่งปรู๊ดขึ้นทุกวัน จนอเมริกาขึ้นชาร์ตเป็นอันดับ 1 ของโลก แซงทุกชาติไปไกลลิบ
ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่พำนักพักพิงอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ เมืองไม่เล็กไม่ใหญ่อย่างออโรรา รัฐโคโลราโด ซึ่งผมทำงานอยู่นี้ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ
ที่ทำงานของผมเป็นร้านยางร้านเล็กๆ มีคนไทยเป็นเจ้าของ ทุกวันผมกับพี่อีกสองคนจะออกจากบ้านไปทำงานด้วยรถคันเดียวกัน ผมนั่งเบาะหลัง ระหว่างทางผมชอบนั่งมองทิวทัศน์ที่เป็นแนวเทือกเขาร็อกกี นอกจากผ่อนคลายสายตาแล้วยังรู้สึกว่าได้รับพลังงานบางอย่างจากเส้นขอบฟ้าตามแนวภูเขาที่มองเห็น
กระนั้น เมื่อสัก 10 วันมานี้ การระบาดหนักของไวรัสโคโรนา โควิด-19 ทำให้รัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ห้ามคนที่ไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันนั่งรถออกไปไหนมาไหนด้วยกันเกินสองคน!
บ้าน-ร้านยางรถยนต์
ทำไงได้ล่ะครับ งานก็ต้องทำ รถไปทำงานก็มีอยู่คันเดียว คนนั่งเบาะหลังอย่างผมจึงต้องเปลี่ยนเป็นตีตั๋วนอนแทน โดยนอนราบไปกับเบาะหลัง เป็นการป้องกันไม่ให้ตำรวจเห็น (ห้ามไปบอกตำรวจนะครับ เราไม่ได้ฝ่าฝืน เพราะผมนอน ไม่ได้นั่ง! ฮา) การนอนขดบนเบาะหลังจึงทำให้ผมไม่สามารถชมวิวทิวทัศน์บนรายทางได้อีกต่อไป พอถึงที่ทำงานก็ดีดตัวเองออกจากรถ ลุยงานทั้งวัน ตกเย็นค่ำมืด มุดเข้ารถ นอนขดตัวเหมือนขามา
เป็นการกลับบ้านที่ไม่ได้เห็นแนวภูเขา ไม่เห็นเส้นขอบฟ้า ไม่เห็นดวงไฟระยิบระยับตามแนวเทือกเขา จึงรู้สึกอุดอู้และเฉาไปพอสมควร ไม่รู้อีกกี่วันจะพ้นมาตรการอันลักลั่นนี้ (ผมแอบเห็นรถหลายๆ คันก็ยังนั่งกันสามคนสี่คนอยู่เลย มีทุกวันด้วย แต่ก็ไม่รู้ว่าคันไหนจะซวยไปจ๊ะเอ๋กับคุณตำรวจเข้าให้นะ)
แรกเริ่มเดิมทีที่ข่าวไวรัสโคโรนาเข้ามาบนแผ่นดินแห่งเสรีภาพเมื่อปลายกุมภาพันธ์ ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะระบาดรุนแรงหรอก ประเทศอภิมหาอำนาจ เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าในแทบทุกด้านต้องสกัดเชื้อโรคกระจิ๋วหลิวได้แน่ๆ แต่พอเผลอแผล็บเดียว ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนแผ่นดินอเมริกากลับพลิกเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็น ซึ่งก็รวมทั้งคนไทยที่มาอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกานี้ด้วย
วันนี้ผมจึงขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพี่น้องคนไทยบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์โคโรนาครั้งนี้ รวมทั้งมุมมอง ความคิดเห็นต่อมาตรการของภาครัฐบาลด้วย
ลาสเวกัส เมืองพนันในวันหลับใหล
เริ่มกันที่รัฐเนวาดา มหานครอย่างลาสเวกัสอันเป็นเมืองกาสิโนที่เต็มด้วยสีสันและไม่เคยหลับใหลมาก่อน มีคนไทยเข้าไปทำงานหาเงินเป็นจำนวนมาก แม้งานหนักแต่รายได้ก็ดี ทว่าวันนี้บ่อนกาสิโนถูกสั่งปิดเพื่อสกัดเชื้อไวรัสโคโรนา พนักงานที่เป็นคนไทยตามโรงแรมต่างๆ จะเจออะไรบ้างในสถานการณ์แบบนี้ ลองไปฟังคุณนิรัตน์ ศะศิรัตน์ ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 2001 โดยปัจจุบันเป็นพนักงานในตำแหน่ง In Suite Dining Server ของโรงแรม Venetian ซึ่งวันนี้ได้สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ให้เราฟัง
“ลาสเวกัสเป็นเมืองที่เสี่ยงมากๆ เพราะมีนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก จำได้ว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บางคนยังคิดว่าไม่ได้ร้ายแรงอะไร น่าจะเป็นเพียงไข้หวัดชนิดหนึ่ง คุยเรื่องนี้กับเพื่อนๆ ยังขำๆ กันอยู่เลย พอเดือนมีนาคมเริ่มไม่ขำ เข้าเมษาฯ นี่เริ่มหนาว ทั้งที่อากาศเริ่มร้อน” คุณนิรัตน์กล่าวแล้วหัวเราะ
“ตั้งแต่ไวรัสโคโรนาระบาดได้สักพัก ก็รู้สึกกลัวเหมือนกันตอนไปทำงาน เพราะต้องเจอกับลูกค้าจำนวนมากต่อวัน และช่วงหลังก็มีข่าวว่ามีพนักงานในโรงแรมติดแล้ว ยิ่งทำให้หนาวเข้าไปอีก คิดว่าถ้าทำต่อไปเรื่อยๆ อาจจะแจ็กพอตเข้าสักวัน โชคดีที่โรงแรมตัดสินใจปิดให้บริการ เป็นจังหวะเดียวกับผู้ว่าการรัฐสั่งให้ปิดก่อนรัฐอื่นๆ ด้วย ซึ่งถือว่าดีมากๆ แม้ผลกระทบที่ได้รับโดยตรงเลยคือตกงานทันที แต่ก็รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น โชคยังดีที่ทางโรงแรมยังจ่ายเงินอยู่จนถึงสิ้นเดือนเมษายน”
พนักงานโรงแรมที่ทำงานบนแผ่นดินอเมริกามาร่วม 20 ปีกล่าวต่อว่า “การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ปรกติทำงานรอบเช้า ตี 4 ก็ต้องตื่นแล้ว แต่ตอนนี้ตื่นเมื่อลืมตา ไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกอีกต่อไป ช่วงอาทิตย์แรกจะรู้สึกเบื่อ หดหู่มาก เลยต้องจัดตารางการออกกำลังกายในแต่ละวัน ซึ่งช่วยได้เยอะ ทำให้เราไม่หมกมุ่น พยายามมองโลกในแง่ดี เพราะหลายๆ ประเทศก็ประสบความสำเร็จในการจัดการ และในอดีตเรื่องโรคระบาดก็เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว อย่างไข้หวัดสเปน ก็มีคนตายไป 50 ล้าน แต่มันก็ผ่านไปได้ ข้อสำคัญคือเราต้องดูแลตัวเองให้ดี ไม่ประมาท การรับมือกับไวรัสก็แค่อยู่บ้าน พยายามหากิจกรรมทำ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นเน็ต วนๆ ไป ไม่ออกไปข้างนอกถ้าไม่จำเป็น”
พี่น้องคนไทยในโคโลราโด
ที่รัฐโคโลราโด คุณนริศรา แสงนาค สาวพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง บอกว่าหลังจากรัฐบาลเริ่มมีมาตรการปิดร้านอาหาร ปิดผับบาร์ต่างๆ เพื่อป้องกันการรวมตัวของคนจำนวนมากที่อาจเป็นจุดระบาดของไวรัส ตอนนี้ร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่จึงต้องปิดร้านชั่วคราว ถึงจะอนุญาตให้เปิดแบบมารับอาหาร หรือออนไลน์ออร์เดอร์ แต่พนักงานทุกคนก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกจากบ้าน จึงต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
นริศรากล่าวอีกว่า “อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ได้รับเงินทิปจากการบริการลูกค้า รวมกับค่าชั่วโมง ถือว่ารายได้ไม่เลวเลยทีเดียว แต่พอเกิดโรคระบาดครั้งนี้มันส่งผลกระทบกับอาชีพนี้เป็นอย่างมาก เพราะเราไม่ทำเราก็ไม่ได้เงิน
“การใช้ชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมค่ะ เปลี่ยนไปมาก ออกไปไหนก็มีความกลัวและหวาดระแวงอย่างมาก ไม่ไปในสถานที่ที่มีคนเยอะ ถ้าจะไปซูเปอร์มาร์เกตก็จะเลือกไปตอนค่ำๆ หรือช่วงเวลาใกล้จะปิด สังเกตว่าถ้ามีรถจอดเยอะก็จะไม่เข้าไปใช้บริการค่ะ” พนักงานสาวกล่าว
“ส่วนมาตรการของรัฐที่ขอความร่วมมือประชาชนไม่ออกจากบ้านหากไม่จำเป็นนั้น ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ถูกต้องแล้ว แต่มันเป็นแค่มาตรการเบื้องต้น ซึ่งดิฉันคิดว่าหลังจากมาตรการนี้ออกมาแล้ว ผู้ติดเชื้อจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ยอดพุ่งแบบก้าวกระโดด ดิฉันได้แต่หวังว่ารัฐจะมีมาตรการที่เด็ดขาดแล้วสามารถลดจำนวนการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ รวมถึงประชากรในรัฐที่ต้องให้ความร่วมมือและช่วยกันมากกว่าเดิมด้วยค่ะ”
คุณ Wannee Carasik ซึ่งอาศัยอยู่ที่รัฐโคโลราโดมา 18 ปี มีกิจการร้านเสริมสวยเป็นของตัวเอง มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอยู่เรื่อยๆ แต่พอเกิดวิกฤตโคโรนา โควิด-19 ทำให้ร้านได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะทางรัฐสั่งให้ปิดร้านจนถึงสิ้นเดือนเมษายน
คุณวรรณีบอกด้วยน้ำเสียงอ่อนล้าว่า “แย่ งานไม่มี เงินไม่เข้า ค่าใช้จ่ายไม่ลด ต้องอาศัยแฟนช่วยเรื่องค่าอาหาร เป็นช่วงที่ใช้ชีวิตลำบาก ออกบ้านได้อาทิตย์ละครั้งสองครั้งตามที่รัฐบาลสั่ง อยู่อเมริกามา 18 ปี ไม่เคยเจอ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นถึงขนาดนี้”
คนไทยที่อยู่ในหัวเมืองใหญ่อย่างเดนเวอร์ ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอันดับต้นๆ ของรัฐโคโลราโด อย่างคุณวรีรัตน์ ดวงบุบผา บอกตรงไปตรงมาว่า เธอทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทยมา 4 ปี และตอนนี้ไวรัสทำให้เธอตกงาน
“ขาดรายได้ค่ะ ช่วงนี้ต้องพยายามรักษาสุขภาพตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งสุขภาพกายและจิตใจค่ะ เนื่องจากมีประกาศของเมืองเดนเวอร์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการออกนอกที่พักอาศัย การดำเนินชีวิตส่วนใหญ่จึงต้องถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน การรับมือก็คงต้องดำเนินการตามที่ทางการกำหนดไว้ ซึ่งให้ประชาชนอาศัยอยู่แต่ในที่พัก ไม่ออกข้างนอกถ้าไม่จำเป็น มองว่ารัฐดำเนินการรับมือค่อนข้างล่าช้านะคะ โรคถึงได้ระบาดไปรวดเร็วอย่างทุกวันนี้”
ที่เมืองโกลเดน รัฐโคโลราโด คุณรถ จิวะพงศ์ ซึ่งอยู่อเมริกามากว่า 6 ปี ตอนนี้ทำงานเป็น Food Service Management ได้สะท้อนปรากฏการณ์ไวรัสโคโรนาครั้งนี้อย่างน่าสนใจ
“ในช่วงแรกคนอเมริกันไม่มีการตื่นตัวมากนัก คิดว่าโควิด-19 เป็นเพียงไข้หวัดตัวหนึ่ง ไม่ต้องวิตกกังวล และกว่าจะมีแผนการจัดการหยุดการระบาด ประชากรก็ติดเชื้อไวรัสไปเป็นจำนวนมากเกือบทุกรัฐ เครื่องมือในการตรวจก็ไม่พอในช่วงแรก ประชาชนจึงต้องใช้ชีวิตด้วยความกังวล เพราะแผนการตั้งรับกับสถานการณ์ของรัฐตอบสนองในเรื่องการแพทย์ไม่เร็วเท่าที่ควร เมื่อรัฐโคโลราโดเริ่มมีคนติดเชื้อ คนในชุมชนกักตุนอาหารและของใช้จำพวกยาแก้ไข้ กระดาษชำระ สบู่ น้ำ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ กันทันที เพราะไม่อยากจะออกมาซื้อและเดินปะปนในที่สาธารณะ นอกจากนี้ห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็ปิดเพราะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค”
การใช้ชีวิตในช่วงนี้ คุณรถบอกว่า “ยังคงไปทำงานตามปรกติ แต่ต้องวางแผนกระบวนการทำงานมากขึ้นและรัดกุม รวมถึงเตรียมพนักงานให้เพียงพอแต่ละวัน การจัดซื้ออาหารของใช้ในครัวล่วงหน้าให้เพียงพอในการประกอบอาหารขั้นต่ำ 3 สัปดาห์ หากเกิดสถานการณ์เลวร้าย ครัวจะสามารถทำอาหารเสิร์ฟแก่เด็กได้อย่างเพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังต้องตามข่าวสถานการณ์ความคืบหน้าของการแพร่เชื้อทุกวัน เนื่องจากอยู่ในส่วนงานของการบริการเรื่องอาหาร ดังนั้นพนักงานที่มาทำงานจะมีการวัดไข้ หากมีอาการไม่สบาย พนักงานจะต้องหยุดงานหรือกักตัวหากอาการเข้าข่ายเป็นโควิด-19”
โดยส่วนตัวเขาก็ต้องทำตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ล้างมือ พกเจลฆ่าเชื้อโรคติดตัวตลอดเวลา และใช้ในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือได้
“ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ต้องระวังและใส่ใจเรื่องความสะอาด ล้างมือหลังจากที่สัมผัสสิ่งของต่างๆ ในทันที เวลาหมดไปกับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค และจากการที่รัฐออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน ช่วงนี้เราไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมในวันหยุดกับครอบครัวและเพื่อนฝูง”
คุณรถยังกล่าวถึงเพื่อนๆ ชาวไทยในอเมริกาด้วยว่า “เนื่องจากโควิด-19 เป็นไวรัสตัวใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและยังไม่สามารถผลิตวัคซีนในการป้องกันได้ รัฐก็ยังไม่มีนโยบายในการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะออกกฎให้คนอยู่บ้านและแนะนำให้ประชาชนทำ social distancing ก็ยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ระบบการแพทย์ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ดังนั้นจึงต้องระวังตัวเอง ไม่ไปในที่ชุมชนหรือที่มีอากาศแออัด งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทั้งสิ้น”
คนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตในอเมริกามาอย่างโชกโชน อย่างคุณดุลยรัตน์ ภูกำเหนิด ซึ่งอยู่ที่เมืองออโรรา รัฐโคโลราโด มานานถึง 35 ปี ปัจจุบันมีอาชีพเป็นผู้ตรวจสอบการจ่ายเงินประกันสุขภาพ บริษัท CIGNA และเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยชื่อ Pearl of Siam ในเมืองออโรรา ปรากฏการณ์ไวรัสโคโรนา โควิด-19 ครั้งนี้ แม้ไม่มีผลกระทบต่องานประจำที่ทำกับบริษัท เพราะสามารถทำงานที่บ้านได้ ทว่าได้สะเทือนถึงกิจการร้านอาหารอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน
“จากที่เคยเปิดให้ลูกค้านั่งทาน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการขาย to go อย่างเดียว ต้องวางแผน เตรียมการให้เหมาะสมและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า และเพื่อดำรงสถานะของร้านและพนักงานให้อยู่รอดและผ่านพ้นไปให้ได้”
พนักงานระดับอาวุโสและเจ้าของร้านอาหารไทยเลื่องชื่อกล่าวต่อถึงชีวิตในช่วงวิกฤตนี้ว่า “ชีวิตอยู่ลำบากขึ้นมาก สมองกังวล เครียดมาก กลัวไปหมด ห่วงตัวเอง ห่วงครอบครัว ห่วงพนักงาน ห่วงเพื่อนและญาติมิตรทุกคน ต่อมาก็ตั้งสติ เตรียมพร้อมและปฏิบัติให้เต็มที่ การออกนอกบ้านต้องออกเมื่อจำเป็นเท่านั้น หน้ากาก ถุงมือ เจลล้างมือ และผ้าฆ่าเชื้อผสมแอลกอฮอล์พร้อมเสมอทั้งในกระเป๋าและในรถ ก่อนไปซื้อของก็ต้องวางแผนก่อนว่าจะซื้ออะไร ไปถึงก็ต้องรีบๆ หยิบ ไม่ยืนใกล้ใคร ไม่จำเป็นไม่พูดเลย อยากแต่จะรีบกลับ กลับถึงบ้านต้องกองของไว้ในโรงรถ และฉีดสเปรย์ไว้รอบๆ ถุง รองเท้า และตะกร้าที่ใส่ของมา จากนั้นจะรีบไปอาบน้ำ สระผม เอาเสื้อผ้าลงเครื่อง แล้วถึงจะมาใส่ถุงมืออีกครั้งเพื่อไปเอาข้าวของในโรงรถมาทำความสะอาดอีกครั้งและแยกเก็บ”
ในร้านอาหารก็เพิ่มความสะอาดมากขึ้น เตรียมเจลล้างมือไว้ตรงทางเข้าที่ลูกค้าจะมารับของ พนักงานใส่หน้ากากและถุงมือ ทำความสะอาดและพ่นสเปรย์ทุก 2 ชั่วโมง พูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานในการรักษาความสะอาด และการป้องกันตัวเองสำหรับเชื้อโรคโควิด-19
“นอกจากดูแลตัวเองอย่างดี เราต้องการให้ทุกคนดูแลตัวเองไปในทางเดียวกันด้วยเพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน” คุณดุลยรัตน์ยืนยัน
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า แต่ในวันนี้ขณะยังมีลมหายใจอยู่ เราคนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ต้องสู้กันต่อไป และขอร่วมเป็นพลังใจให้พี่น้องคนไทยทุกคนที่อยู่ในทุกมุมโลก ผ่านพ้นวันคืนอันหนักหนาสาหัสทั้งหลายไปด้วยกัน
ความสุขสดชื่น คืนวันที่สดใสสวยงาม กำลังรอพวกเราอยู่…อีกไม่นาน
- *ขอบคุณ คุณเกศรา หอมเดชนะกุล ที่ช่วยประสานงานเรื่องการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล