ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๓ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ หรือ COVID-19 ทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๒๐๑,๙๖๔ คน เสียชีวิต ๖๔,๗๒๗ ราย ในวันเดียวกัน สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society – WCS) รายงานการตรวจพบผลบวกของเชื้อไวรัส COVID-19 ในเสือโคร่งมลายูที่ถูกเลี้ยงในสวนสัตว์บรองซ์ (Bronx) กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่าติดเชื้อจากพนักงานในสวนสัตว์ นับเป็นกรณีแรกของโลกที่พบเชื้อไวรัส COVID-19 ถ่ายทอดจากคนสู่สัตว์ป่าก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านหลายสายพันธุ์แสดงผลบวกของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์ปอมเปอเรเนียนและพันธุ์เยอรมันเชเพิร์ดในฮ่องกง แมวในประเทศเบลเยียม แต่คราวนี้เป็นกรณีแรกสำหรับเสือซึ่งเป็นสัตว์ป่า แม้ว่าจะถูกเลี้ยงอยู่ในสวนสัตว์ก็ตาม
เสือตัวที่ตกเป็นข่าวมีชื่อว่า “นาเดีย” (Nadia) เป็นเสือโคร่งพันธุ์มลายูหรือมาลายัน เพศเมีย อายุประมาณ ๔ ปี นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์แห่งชาติ กระทรวงการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตรวจพบผลบวกของเชื้อ COVID-19 ครั้งนี้ หลังเก็บตัวอย่างเลือดของนาเดียไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการตรวจโรคนิวยอร์อกสเตต มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และห้องปฏิบัติการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยทดสอบในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการทดสอบมนุษย์
“เสือในสวนสัตว์บรองซ์ถูกเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจสอบ ผลออกมาเป็นบวกสำหรับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เชื่อกันว่านี่คือติดเชื้อจากคนครั้งแรกของเสือในสหรัฐอเมริกาและในโลก” โฆษกประจำสวนสัตว์บรองซ์กล่าว
ทั้งนี้ สวนสัตว์บรองซ์ปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ขณะที่นาเดียเริ่มมีอาการไอแห้งๆ ราววันที่ ๒๗ มีนาคม ก่อนที่จะมีการตรวจเลือดจะผลออกมาเป็นบวก สันนิษฐานว่าเสือโคร่งเพศเมียตัวนี้ติดเชื้อจากผู้เลี้ยงหรือพนักงานในสวนสัตว์ที่ร่างกายมีเชื้อไวรัสแต่ไม่แสดงอาการ
ดร.พอล แคลล์ (Dr.Paul Calle) หัวหน้าทีมสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์บรองซ์ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “นี่คือครั้งแรกที่พวกเราพบว่ามีสัตว์ป่าติดเชื้อจากมนุษย์และมันมีอาการป่วย”
นอกจากนาเดียซึ่งเป็นเสือโคร่งพันธุ์มลายู สายพันธุ์เดียวกับที่พบในป่าเมืองไทยแล้ว ยังพบว่ามีเสือและสิงโตในสวนสัตว์บรองซ์อีกประมาณ ๖ ตัวที่แสดงอาการไอแห้ง หายใจติดขัด และเบื่ออาหาร คาดว่าอาจเป็นอาการเบื้องต้นของการติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่ เสือโคร่งมลายูพี่น้องครอกเดียวกับนาเดียชื่อ “อะซูล” (Azul) เสืออามูร์ไซบีเรียจำนวน ๒ ตัว และสิงโตสายพันธุ์แอฟริกันจำนวน ๓ ตัว คาดว่าทั้งหมดได้รับเชื้อไวรัสจากผู้เลี้ยงหรือพนักงานในสวนสัตว์เช่นกัน อย่างไรก็ดี มีเพียงนาเดียเท่านั้นที่ถูกเก็บเลือดไปตรวจเพราะเจ้าหน้าที่ต้องใช้ยาสลบเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด
ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนการขยายตัวของเชื้อไวรัสในร่างกายสัตว์ป่าตระกูลแมวใหญ่เหล่านี้ เนื่องจากองค์ความรู้เท่าที่มีคือสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์มีปฏิกิริยาต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ต่างกัน อย่างไรก็ตามสัตว์แต่ละตัวจะถูกติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ด้วยความคาดหวังว่าจะฟื้นตัว
ทั้งนี้ นักระบาดวิทยาชี้ว่าสัตว์ป่าที่ถูกจับมาอยู่ในสวนสัตว์ หากมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก สถานที่ไม่สะอาด ต้องอยู่อย่างแออัด หรือไม่ได้ใช้ชีวิตอิสระในป่าตามธรรมชาติ มีโอกาสที่จะมีอาการเครียด ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ จะเสี่ยงติดโรคระบาดได้ง่าย ยังมีคำถามอีกมากมายรอคอยคำตอบ อาทิ สัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่นๆ เช่น เสือดาวหิมะ เสือชีตาห์ เสือลายเมฆ ฯลฯ จะติดเชื้อเดียวกันหรือไม่
ทุกวันนี้สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ โดยเฉพาะเสือและสิงโตมีประชากรน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกคุกคามโดยมนุษย์ ทั้งการล่าสัตว์ บุกรุกป่า ถ้าหากเชื้อไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดจากมนุษย์ไปสู่สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ ไม่ว่ากลุ่มที่ถูกเลี้ยงอยู่ภายในสวนสัตว์หรืออาศัยในป่าธรรมชาติก็ตามจนเป็นเหตุทำให้พวกมันล้มตาย ก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการอยู่รอดของสัตว์สายพันธุ์นี้
อ้างอิง :
- https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-usa-zoo/tiger-at-new-yorks-bronx-zoo-tests-positive-for-coronavirus-idUSKBN21N0WV
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-52177586
- https://www.abc.net.au/news/2020-04-06/tiger-at-new-yorks-bronx-zoo-tests-positive-for-coronavirus/12124410?fbclid=IwAR0UK3axvA3L1lzFSGtXI3TvCiieVsjpG9mc9Sn4YJ2gvgYHUqWvD3lcqL0
- https://www.theguardian.com/world/2020/apr/06/bronx-zoo-tiger-tests-positive-for-coronavirus?fbclid=IwAR2mT7k5xueYIe5vh15IhK5FWQd1YB4MdZpbYB5Izgz-6lSo1oyhyfjCSA4
- https://greennews.agency/?p=20854&fbclid=IwAR36WkB6TuCDBWClQhjOnxyWyPdfcEqYYgy1i-mGHTnD35ZJwyOO8orj8Ig