ณ ที่แห่งหนึ่งซึ่งผืนป่าต้นน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นหนึ่งในที่อยู่อาศัยของกวางผา สัตว์ป่าสงวนหายากของไทย มีพืชพรรณมากมายรวมถึงพื้นที่ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ที่หาได้ยากในระดับความสูง ๒,๐๐๐ เมตรจากระดับทะเล อีกทั้งมีระบบนิเวศป่าเมฆหนึ่งในสามของไทยที่สมบูรณ์และสวยงาม…ที่แห่งนี้ก็คือ กิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

จนวันนี้เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ที่กิ่วแม่ปานเปิดให้เยาวชน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้สัมผัส “เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน” ซึ่งสร้างความประทับใจให้ใครหลาย ๆ คน เมื่อมนุษย์เรานั้นได้พึ่งพาใช้สอยประโยชน์จากธรรมชาติ ธรรมชาติเองก็ต้องการการดูแลรักษาจากเราเช่นกัน จึงถึงเวลาร่วมฟื้นฟู ร่วมดูแลกิ่วแม่ปาน

เป็นที่มาของความร่วมมือครั้งสำคัญอีกครั้งที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ประสานความร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกลุ่มมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หลังเปิดให้บริการมากว่า ๒๐ ปี

“ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และกำหนดให้การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในพันธกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการในปี ๒๕๓๕  โดยอนุรักษ์ดูแลป่าต้นน้ำ ตลอดจนส่งเสริมจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตลอด  สำหรับการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้สานต่อการดำเนินงานจากเอ็กโก กรุ๊ป มาอย่างต่อเนื่อง” นายธงชัย โชติขจรเกียรติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป และกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวถึงภารกิจของเอ็กโก กรุ๊ป

“กิ่วแม่ปาน เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งแรกที่เอ็กโก กรุ๊ป ร่วมกับกรมป่าไม้ บุกเบิกขึ้นในปี ๒๕๔๐ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าต้นน้ำ จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ที่เส้นทางฯ กิ่วแม่ปานได้ทำหน้าที่ห้องเรียนธรรมชาติ ส่งผลให้สภาพเส้นทางฯ และระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากสภาพภูมิอากาศและการรองรับนักท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงเส้นทางฯ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ภายใต้แนวคิด ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยยังคงความกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน และส่งเสริมการเรียนรู้” นายธงชัยเล่าถึงที่มาและแนวคิดของการปรับปรุงเส้นทางฯ

น้ำตกลานเสด็จ จุดเริ่มต้นสายน้ำ (แม่น้ำปิง)

อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญคือ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งเป็นผู้ประสานความร่วมมือกับคณะทำงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บริษัท ป่าเหนือ สตูดิโอ โดยอาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกนักอนุรักษ์ และชุมชนมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อหาจุดร่วมแนวคิดการออกแบบปรับปรุงเส้นทางฯ ตามเป้าหมายสูงสุดเพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

“การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นเสมือนห้องเรียนที่มีชีวิตนั้น ความกลมกลืนและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ความปลอดภัย มีมาตรฐานตามระเบียบของอุทยานฯ เป็นสิ่งที่มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด”

นางสาวมานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล่าจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงเส้นทาง


บอร์ดวอล์ค ตัวช่วยลดผลกระทบระบบนิเวศ

คณะทำงานได้ร่วมสำรวจระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และสรุปร่วมกันทำทางเดินยกระดับ (บอร์ดวอล์ค) โดยใช้เข็มเหล็กเจาะเฉพาะจุดเป็นฐานราก ซึ่งวิธีนี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยสุด รวมถึงใช้แผ่นไม้เนื้อแข็งเป็นทางเดิน เพื่อความกลมกลืนกับธรรมชาติ ช่วยลดการเดินบนพื้นดินโดยตรง แก้ปัญหาหน้าดินแน่นแข็งอันเป็นสาเหตุของน้ำท่วมขังและการชะล้างหน้าดินซึ่งมีแร่ธาตุต่าง ๆ เมื่อฝนตก นอกจากนั้นยังช่วยเปิดพื้นที่ให้พืชพรรณเติบโตปกคลุมดิน และเป็นทางผ่านสำหรับสัตว์ขนาดเล็กด้วย

“นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติใหม่ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่การทบทวนประเด็นและข้อความสื่อความหมาย การเปลี่ยนวัสดุของป้ายให้ทนทานต่อสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงมากขึ้น ตลอดจนร่วมกับอุทยานฯ พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการลงทะเบียนจองคิวและเดินในเส้นทาง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ลดความแออัดในการรอคอยเข้าเส้นทางบริเวณหน้ากิ่วแม่ปาน อีกทั้งสอดคล้องกับการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันอีกด้วย” เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวทิ้งท้าย

 

แอปพลิเคชันรักษ์ป่าสำหรับจองคิวเดินในเส้นทาง
พร้อมป้ายสื่อความหมายที่ปรับปรุงใหม่ตลอดเส้นทาง

กิ่วแม่ปานเป็นห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้สิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเยาวชนที่จะได้รับประสบการณ์และความคิดเชื่อมโยงตัวเองในฐานะมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว สู่ปลายทางแห่งการปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ เพราะการอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะร่วมกันรักษาคุณค่าของป่าเมฆและห้องเรียนธรรมชาติป่าต้นน้ำแห่งนี้ ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติที่ยังคงอยู่เพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์อันเลื่องชื่อแห่งกิ่วแม่ปาน

กุหลาบพันปี สัญลักษณ์แห่งกิ่วแม่ปาน