สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยออกมาตรการควบคุมโรคติดต่ออันตรายอย่างเข้มข้น หนึ่งในนั้นคือการประกาศปิดชุมชนชนิด “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า”
บ้านคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในชุมชนที่ดำเนินมาตรการตามแนวทางดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการหมู่บ้านหมู่ ๔ ทั้งคลิตี้บนและคลิตี้ล่างได้ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งเสือโทน ออกประกาศเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี โดยขอความร่วมมือดังนี้
1) สำหรับบุคคลภายนอก งดการเดินทางเข้า-ออก พื้นที่หมู่ ๔ บ้านคลิตี้
2) สำหรับบุคคลภายในหมู่บ้าน งดการเดินทางเข้า-ออก พื้นที่หมู่ ๔ บ้านคลิตี้ หากมีเหตุจำเป็น สำคัญเร่งด่วน ให้ออกในช่วงเวลา ๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. และแจ้งการเดินทางเข้า-ออก ณ ด่านตรวจ กจ.๘
3) บุคคลภายในหมู่บ้านที่เดินทางกลับมาจาก กทม.และปริมณฑล ให้แจ้ง อสม. และกักบริเวณสังเกตอาการ ๑๔ วัน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ จนกระทั่งสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปรกติ
การประกาศปิดตัวเองของชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่บนยอดดอยหรือป่าเขา ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนความสามารถในการพึ่งพาตนเองยามเผชิญสถานการณ์วิกฤติ แม้ปิดชุมชนชาวบ้านก็สามารถอาศัยแหล่งน้ำแหล่งอาหารจากผืนป่า แม่น้ำลำธาร ในการดำรงชีวิต หากแต่สำหรับชุมชนคลิตี้ที่ตั้งอยู่กลางป่าลึกในอำเภอทองผาภูมิแล้วหาเป็นเช่นนั้น
นับตั้งแต่เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ห้วยคลิตี้ ทำให้ลำห้วยสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้านกลายเป็น “สายน้ำอาบยาพิษ” มีรายงานว่าการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้จากการรั่วไหลของหางแร่ปนเปื้อนตะกั่วความเข้มข้นสูงมีค่าสูงถึง ๒๐๐,๐๐๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะที่ค่าการปนเปื้อนตะกั่วตามธรรมชาตินั้นอยู่แค่ประมาณ ๕๖๓ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
จึงทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดื่มกิน หรือจับสัตว์น้ำในลำห้วยมาประกอบอาหารตามที่เคยเป็นมา นับตั้งแต่นั้นชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตมาพึ่งพิงอาหารจากโลกภายนอก ไม่ว่าการออกมาหาซื้ออาหารที่ตลาดทองผาภูมิ หรือรอซื้อสินค้าจาก “รถพุ่มพวง” ที่ขนอาหารเข้าไปขายในหมู่บ้าน
เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส ตามมาด้วยประกาศปิดหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านก็ยอมรับและปฏิบัติตาม จึงแทบไม่มีใครออกไปซื้อหาอาหารจากตลาดข้างนอก ไม่มีรถพุ่มพวงวิ่งเข้ามาขายอาหารในหมู่บ้าน หากจะมีคนออกมาสู่โลกภายนอกบ้างก็เพียงเจ้าของร้านค้าในหมู่บ้านที่ออกไปซื้ออาหารกลับมาขาย
ในสถานการณ์เช่นนี้แทนที่ชาวบ้านจะสามารถพึ่งพาอาหารธรรมชาติจากลำห้วยคลิตี้ไม่ว่าจับสัตว์น้ำ หรือเก็บผักตามริมห้วยก็กลับไม่สามารถทำได้
การปิดหมู่บ้านอันเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่กำลังมีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้หลังสายน้ำปนเปื้อนสารพิษมานานกว่าสองทศวรรษ
สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำขุ่นข้นและกากแร่ดีบุกจากบ่อกักตะกอนลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้เกิดการสะสมของสารตะกั่วในดิน แหล่งน้ำ และสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวชุมชนคลิตี้ ที่ผ่านมา ชุมชนได้ต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบมานาน จนกระทั่งนำมาสู่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในปี ๒๕๕๖ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าค่าสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามค่ามาตรฐาน และชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์จากสายน้ำได้อย่างปลอดภัยดังเดิม
หลังจากใช้เวลาในการศึกษาวิธีการฟื้นฟูและจัดหาบริษัทผู้รับเหมาร่วม ๖ ปี นับจากมีคำพิพากษา ปัจจุบันการฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษดำเนินมาถึงขั้นตอนปฏิบัติจริง นั่นคือ การเริ่มดูดตะกอนท้องน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วออกจากลำห้วยมาบรรจุกระสอบ และขนย้ายไปฝังกลบที่หลุมฝังกลบบนภูเขา
ผลจากกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยด้วยการดูดตะกอนทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเม็ดตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่วที่เคยจมอยู่ก้นน้ำ จนอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชาวบ้านที่จำเป็นต้องใช้น้ำจากลำห้วยเพื่ออุปโภคและการทำไร่ทำนา
ธนกฤต โต้งฟ้า สมาชิกกลุ่มเยาวชนจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ให้รายละเอียดว่า
“การเดินทางเข้าชุมชนตอนนี้จะต้องมีหนังสือรับรองเฉพาะที่ด่าน กจ.๘ คือด่านของป่าไม้ ต้องมีลายเซ็นว่าจะเข้าไปทำอะไร ออกไปทำอะไร ถ้าไม่ใช่เหตุจำเป็นจริงๆ ก็ไม่สามารถเข้าหรือออกได้
“ชุมชนอื่นๆ ปิดหมู่บ้าน ยังมีข้าวปลาอาหารอยู่ในชุมชน ยังสามารถเอาตัวรอดเรื่องอาหารการกิน มีความอุมดมสมบุรณ์อยู่ แต่คลิตี้มีปัญหาคือลำห้วยไม่สามารถใช้น้ำได้ ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ พอห้ามคนออกจากชุมชน ห้ามรถพุ่มพวงเข้ามาขายสินค้า ก็เลยมีปัญหาเรื่องการหาอาหาร”
ทายาทกะเหรี่ยงแห่งบ้านคลิตี้ล่างให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า
“ช่วงหลังชาวบ้านอาศัยการอยู่การกินจากตู้แช่หมู ปลา ไก่ ข้าวของเครื่องใช้พวกน้ำมัน น้ำปลา สิ่งที่เป็นความจำเป็นที่ชาวบ้านต้องใช้ก็ต้องซื้อจากข้างนอกทั้งหมด
“ถ้าเป็นช่วงที่ไม่ใช่การฟื้นฟูลำห้วย ผมเข้าใจว่าชาวบ้านยังยืดหยุ่นคือบางคนยังตกปลา ดักปลา ยังออกไปหาเห็ดหาพืชตามริมห้วยคลิตี้ ถึงแม้รู้ว่ามีสารตะกั่วอยู่ในห้วย แต่อย่างน้อยๆ ก็คิดว่ามันไม่ได้ถูกทำให้ฟุ้งกระจาย คราวนี้การฟื้นฟูมาในช่วงนี้จังหวะที่โควิดมาพอดี ตรงกับช่วงจังหวะที่มีการดูดตะกอนของน้ำ การดูดตะกอนของบริษัททำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่ว ทำให้ลำห้วยขุ่น จนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำห้วยได้เลยแม้แต่นิดเดียว
“ชาวบ้านก็รู้ว่ามันมีความเสี่ยงมากๆ แต่เมื่อก่อนเราเข้าใจว่ามันอยู่ใต้น้ำ แต่ตอนนี้มันไม่ได้อยู่ที่ก้นแล้ว มันขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องพูดเรื่องอาหาร แค่ชาวบ้านอยากพาเด็กๆ ไปเล่นน้ำ หรือไปตักน้ำมารดน้ำเนี่ยก็ไม่ได้” ธนกฤตบอกเล่าความเป็นไป ในสถานการณ์ที่วิกฤติไวรัสระบาด และการฟื้นฟูลำห้วยมาพร้อมกัน
จากปัญหาสายน้ำอาบยาพิษที่ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ต้องเผชิญมานานกว่าสองทศวรรษ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู มาจนถึงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระบาด ไม่มีใครรู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าจะได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสายน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุขสงบ
หมายเหตุ
ร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนติดตั้งอุปกรณ์ติดตามการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จำนวน ๑๘๐,๘๒๖ บาท ได้ทางชื่อบัญชีร่วม : น.ส.ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือนายธนกฤต โต้งฟ้า เลขที่บัญชี : 960-0-46991-1 ธ.กรุงไทย (ออมทรัพย์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง น้ำ 083-315-9553, มิ๊ก 087-808-7764