คำว่า “NAP” (อ่านว่า-แนป) ซึ่งย่อมาจาก “National Action Plan on Business and Human Rights” หรือ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” คงเป็นคำไม่คุ้นหูผู้คนในวงกว้าง แต่สำหรับผู้ที่ทำงานด้านการเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องให้ภาคธุรกิจทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐดำเนินกิจการต่างๆ อย่างชอบธรรม คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การเกิดขึ้นและปฏิบัติตามแผน NAP นับว่ามีความสำคัญยิ่ง
แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ NAP ในประเทศไทยเริ่มจัดทำขึ้นหลังจากรัฐบาลรับเอาหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGP – UN Guiding Principle on Business and Human Rights) มาปรับใช้เมื่อปี ๒๕๕๙ โดยมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปกป้องสิทธิมนุษยชนตามหลักการ ๓ เสาหลัก ได้แก่ คุ้มครอง (Protect) เคารพ (Respect) และเยียวยา (Remedy) ใช้เวลาดำเนินกระบวนการจัดทำนานกว่า ๓ ปี
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการฯ นี้ ต่อมาวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒ รัฐบาลจัดงานประกาศแผนปฏิบัติการฯ ณ ห้องประชุมอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร แม้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่สมบูรณ์แบบ” และ “ไม่เป็นไปตามข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคมทั้งหมด” แต่ถ้าดำเนินมาตรการตามที่กำหนด และแผนถูกนำมาพัฒนาต่อ ก็น่าจะก่อให้เกิดการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านการประกอบธุรกิจมากขึ้น
ทุกวันนี้ แผน NAP ได้รับการประกาศใช้ใน ๒๓ ประเทศทั่วโลก แต่ละประเทศมีรายละเอียดของแผนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบริบทสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ประกาศใช้ ในแผนบรรจุ ๔ ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติและให้ความสำคัญ คือ ๑. แรงงาน ๒.ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๓. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ ๔. การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ
เพื่อผลักดันให้เกิดการนำแผนปฏิบัติการระดับชาตินี้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs watch Coalition) และเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมติดตามสถานการณ์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (CCBHR) จัดเสวนาหัวข้อ “ความคาดหวังของภาคประชาสังคม ต่อการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ลองฟังความคาดหวังและข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคม ผู้ที่ต้องการเห็นแผน NAP ถูกนำมาปฏิบัติจริง ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษ
“ยิ่งให้สิทธิแรงงานรวมตัวต่อรองน้อย ยิ่งทำให้ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนที่ครอบครองทรัพย์สินหรือกลุ่มทุนใหญ่”
ปีย์ กฤตยากีรณ
Solidarity Center
“เมื่อประเทศพัฒนาเศรษฐกิจพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยหลักทุนนิยม คุณต้องให้อำนาจต่อรองกับคนทำงาน ไม่เช่นนั้นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจจะกระจุกอยู่ที่คนรวยที่สุดเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“รายงานของเวิลด์แบงค์ระบุว่าสหภาพแรงงานช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ และช่วยแรงงานในกลุ่มบอบบาง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสตรี แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานผู้ทุพพลภาพ ทำให้เกิดองค์กรของแรงงานที่ช่วยเจรจาต่อรอง ดูแลปกป้องคุ้มครองสิทธิ
“หลายคนตั้งคำถามว่าการตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองที่เป็นหลักการสากล มันจำเป็นรึเปล่า การที่ข้าราชการ ลูกจ้าง ภาครัฐ ภาคการเกษตร แรงงานนอกระบบไม่มีสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงาน ไม่มีเจรจาต่อรองร่วมกันมันส่งผลกระทบต่อประเทศมั๊ย ตอนนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ที่ ๑.๕ เปอร์เซ็นต์ หรือกำลังแรงงานหลัก ๔๐ ล้านคนมีสมาชิกสหภาพอยู่เพียง ๕ แสนคน น่าจะน้อยที่สุดในโลก ยิ่งให้สิทธิแรงงานรวมตัวต่อรองน้อย ยิ่งทำให้ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนที่ครอบครองทรัพย์สินหรือกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งประเทศไทยคนรวยที่สุด ๑เปอร์เซ็นต์ถือครองทรัพย์สินเกือบร้อยละ ๗๐ ถือว่าเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก อยากให้พิจารณาดูว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีกรณีละเมิดสิทธิเยอะ มันน่าจะเป็นคำตอบได้มั๊ยว่าสหภาพสำคัญรึเปล่า
“กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และรัฐวิสาหนกิจสัมพันธ์ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานหลักของ International Labour Organization (ILO) แรงงานหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง ภาครัฐ ภาคการเกษตร แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ถูกจำกัดสิทธิของ Freedom of Association (FOA)หรือเสรีภาพในการสมาคมจัดตั้งสหภาพแรงงานและ Collective bargaining (CB) หรือ สิทธิการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งเป็นมาตรฐานแรงงานหลักตามหลักการของ ILO มีการจ้าง out source หรือเหมาค่าแรง เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสหภาพแรงงาน มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อเลิกจ้างผู้นำ และทำลายสหภาพแรงงาน รัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองแรงงานจากการเลือกปฏิบัติ ถ้า NAP ยังไม่ไปแตะจุดที่เป็นโครงสร้างของปัญหามันจะแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้รึเปล่า”
“รัฐบาล คสช. ออกประกาศและคำสั่งเพื่อยึดที่ดิน เกิดคดีความมากมายกับคนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบ”
แววรินทร์ บัวเงิน
กลุ่มรักษ์บ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง
“ประเด็นที่ดิน ทรัพยากร ตอนนี้ร้อนระอุ เพราะการจัดสรรทรัพยากรไม่เป็นธรรม มีความพยายามบีบบังคับเอากับคนเล็กคนน้อย
“ที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมให้กับประชาชน ทุกคนต้องแผ้วถางเองเพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน พอแผ้วถางแล้ว ความที่หน่วยงานรัฐไม่ทำงานร่วมกันจริง กระทรวงเกษตรไปอย่าง กระทรวงทรัพยากรไปอย่าง กรมป่าไม้ไปอย่าง ทำให้เกิดข้อขัดแย้งมากมาย ทำให้เกิดประเด็นที่รัฐมาทวงที่ดินเอาจากราษฎร
“หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ รัฐบาล คสช. ออกประกาศและคำสั่งเพื่อยึดที่ดิน เกิดคดีความมากมายกับคนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบ กับพี่น้องประชากรบนภูเขา ภาคต่างๆ เป็นคดีความเกี่ยวกับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเรื่องเหมืองแร่ ที่ทำกิน ป่าไม้ ทุกอย่างมากองรวมกันกลายเป็นคดีที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาสู้ ขบวนการในการต่อสู้ก็ยากลำบากในการเข้าถึงความยุติธรรม
“เราเห็นว่าควรยกเลิกคำสั่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อน ถ้าคำสั่งยังอยู่ ชาวบ้านก็อาจถูกเล่นงานด้วยการใช้อำนาจตามคำสั่งเหล่านั้น และคดีก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ บอกเลยว่าถ้ายังไม่แก้กฎหมายให้ชัดเจน กระบวนการต่อสู้ทั้งในทางการเมืองและในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ยาก และถือเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นคดีก็จะเพิ่มขึ้นแล้วแต่ว่าจะไปจบที่หย่อมย่านไหน ใครถึงความยุติธรรมก็รอดไป ใครไม่ถึงความยุติธรรมก็ติดคุก พี่น้องชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องนี้ติดคุกเยอะมาก ที่จะดำเนินคดี ที่รอลงอาญาก็เยอะ”
“Stakeholders ที่เราไม่ค่อยนึกถึง แต่สำคัญมากคือธนาคาร”
ชนาง อำภารักษ์
คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน หรือ ETOs Watch Coalition
“National Action Plan ฉบับนี้ มันอาจะไม่ค่อยมี Action Plan จริงๆ เท่าไหร่ เพราะระยะเฟสของมันคือปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕ แต่แผนออกมาปี ๒๕๖๓ เราเสียเวลาไป ๑ ปี
“ประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดน เราพบว่ายังต้องมาหารือ หากลไกทำความเข้าใจตั้งแต่องค์กร บุคคลากรในหน่วยงานรัฐ ทั้งๆ ที่ตอนนี้ปัญหาข้ามพรมแดนมันเร่งด่วนมาก แทบจะมามัวทำความเข้าใจกันอยู่ไม่ได้ เราเจอในหลายๆ กรณี ตั้งแต่ประเด็นร้อนๆ อย่างเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยซึ่งตอนนี้กระบวนการชดเชยเยียวยายังไม่ไปถึงไหน หรือในประเทศพม่า ล่าสุดกรณีเหมืองเฮงดา บริษัทไทยไปลงทุนแล้วชุมชนฟ้องร้องจนชนะคดีที่พม่า แต่ว่าในประเทศไทยเราจะเกิดกระบวนการอะไรขึ้นมาเมื่อเจ้าของกิจการเป็นของไทย หรือแม้แต่ในกรณีอื่นๆ เช่น สัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาลในกัมพูชา จังหวัดโอดอร์เมียนเจยก็มีการฟ้องร้องถึงศาลไทย มองเผินๆ เราอาจจะมีกลไกรองรับในด้านกระบวนการยุติธรรม แต่มันไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ ไม่ได้สนับสนุนชุมชนจริงๆ อย่างล่าสุดชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลมาฟ้องคดีแบบกลุ่มที่ประเทศไทยศาลก็ไม่รับฟ้องคดีแบบกลุ่ม ถึงที่สุดแล้วมันจะใช้ได้จริงหรือไม่
“Stakeholders ที่เราไม่ค่อยนึกถึง แต่สำคัญมากคือธนาคาร เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกโครงการขนาดใหญ่ผ่านการให้สินเชื่อ ธนาคารได้กำไรจากการพัฒนาแต่ว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน รายงานของ Fair Finance จัดอันดับธนาคารที่คำนึงเรื่องสิทธิ ระบุเลยว่าธนาคารของประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนเท่าไหร่นัก ฉะนั้นทำยังไงให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดันหรือออกไกด์ไลน์ ดิฉันทราบว่าช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกไกด์ไลด์เพื่อกำกับ ควบคุมการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธนาคารพาณิชย์เข้าไปเป็นสมาชิกแล้ว ๑๕ ธนาคาร แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีกลไกที่กำกับหรือตรวจสอบว่ารับข้อเสนอแนะนี้ไปแล้วจะปฏิบัติตาม เห็นผลหรือไม่เห็นผลอย่างไรบ้าง มันเหมือนเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับ
“บทบาทของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เองก็ตาม ควรมีแอคชั่นในการสร้างหรือบังคับ กำกับการประกอบธุรกิจ กิจการ การลงทุนของไทยข้ามพรมแดนให้มากขึ้นและบังคับใช้ได้จริงๆ”
“ตัวดิฉันเองเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิที่โดนละเมิด โดนคุกคาม เจอหลายรูปแบบ”
พรทิพย์ หงชัย
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ๖ หมู่บ้าน ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
“ในฐานะนักปกป้องสิทธิ เรามีข้อเสนอดังต่อไปนี้ ๑. เรียกร้องให้หยุดฟ้องคดีปิดปากและคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ๒. ให้แก้ไขเรื่องกองทุนยุติธรรมให้ได้เข้าถึงได้โดยง่าย ๓. ต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาการคุ้มครองบุคคลว่าด้วยการบังคับสูญหาย ๔. เร่งออกกฎหมายการป้องกัน ปราบปราม และการทำให้บุคคลสูญหาย ๕. เร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและภาคธุรกิจ ๖. จัดทำบัญชีทนายความที่มีความเชี่ยวชาญในการทำคดีสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนไว้ใจได้ว่าจะได้รับความเป็นธรรม ๗. ออกมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงไม่ให้ถูกคุกคามไม่ว่าประการใด
“จริงๆ แล้วมีอีกหลายข้อ แต่เราขอให้รัฐบาลทำ ๗ ข้อหลักให้ได้ภายในปีนี้ ทุกข้อมีความสำคัญทั้งนั้น
“ด้วยตัวดิฉันเองเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิที่โดนละเมิด โดนคุกคาม เจอหลายรูปแบบ เราเป็นห่วงเพื่อนๆ ทั้งหมดที่เป็นนักปกป้องสิทธิกันทุกคน ไม่ว่าชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย หรือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับองค์กรต่างๆ”
หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ เสวนา “ความคาดหวังของภาคประชาสังคม ต่อการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ โดยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs watch Coalition) และเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมติดตามสถานการณ์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (CCBHR)