ผลงานของกลุ่มนักเขียน-ช่างภาพรุ่นใหม่จากค่ายสารคดีครั้งที่ ๙
เรื่อง : ชนาธิป ไชยเหล็ก
ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา, ชนาธิป ไชยเหล็ก, ภคณัฐ ทาริยะวงศ์, สราวุธ ม่อมละมูล

ถ้ามีใครสักคนถามว่า “กรุงเทพฯ ที่คุณรู้จักหน้าตาเป็นอย่างไร อ้วนหรือผอม ?”

ผมอาจตอบไม่ตรงคำถามนักว่า “ดิ่ง” แล้วใครคนนั้นก็ชะงักกับคำตอบ ก่อนจะกำหมัดแน่นถามต่ออย่างสุภาพว่า “ดิ่งยังไง ?” ซึ่งผมคงไม่มีคำตอบใดนอกเสียจาก “๖๙-๑-๔๗”

แต่ใครคนนั้นอาจหมดความอดทน “วืด !”

“ช้าก่อน” ผมเอี้ยวตัวหลบทัน ยอมขยายความต่อก็ได้ว่า ตัวเลขทั้งสามตัวเป็นสัดส่วนอก-เอว-สะโพกของกรุงเทพฯ ในความตั้งใจของผมเอง โดยเมื่อจัดอันดับจังหวัดในประเทศไทยตามขนาดของพื้นที่ กรุงเทพฯ รั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ ๖๙ แต่กลับขึ้นนำเป็นจ่าฝูงลำดับที่ ๑ เมื่อจัดเรียงตามขนาดของประชากร ซึ่งความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่คิดเป็น ๕,๖๓๔ คนต่อตารางกิโลเมตร หรือประมาณทีมฟุตบอลสองคู่ลงปะทะแข้งในสนามมาตรฐานเดียวกัน

นั่นคือหน้าตาของกรุงเทพ “มหา” นคร

“ส่วน ๔๗ ?” ผมขออนุญาตให้ใครสักคนคาดเดากันไปพลางก่อน


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๐๘.๑๔ กรุงเทพฯ ยามเช้าวันอาทิตย์ ตึกแนวดิ่งคละความสูงเก็บกักฝุ่นละอองและความชื้นจากพายุฤดูร้อนไว้อย่างแน่นหนาต่างจากทางฝั่งธนบุรีที่ถูกแสงอาทิตย์เข้าสลายจนเบาบางแล้ว


ภาพ : ชนาธิป ไชยเหล็ก
๐๘.๓๘ เช้าวันหยุดราชการครึ้มฟ้าครึ้มฝนแต่โครงการก่อสร้างตึกสูง ๕๑ ชั้น ใกล้กับแยกเพลินจิตไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตามไปด้วย
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่โล่งนี้จะรองรับอาคารชุดอยู่อาศัยอาคารชุดร้านค้าและพาณิชย์ลานจอดรถยนต์ และสระว่ายน้ำ


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๒.๐๓ เที่ยงวันเสาร์ภายในห้างฯ เซ็นทรัลพระราม ๙ บันไดเลื่อนที่ซ้อนชั้นขึ้นลงเป็นสถาปัตยกรรมที่แปลกตาแต่ผู้คนยังบางตามากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ๆ เพราะฝนที่ตกหนักเมื่อเช้าทั้งที่ไม่มีทีท่าว่าจะตกมาก่อน


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๕.๕๘ ตอนบ่ายคนงานโรยนั่งร้านลงจากชั้นดาดฟ้าเพื่อทำความสะอาดตึกสำนักงานย่านสีลม


ภาพ : ชนาธิป ไชยเหล็ก
๑๖.๒๒ พื้นที่สีเขียวส่วนตัวในกรุงเทพฯพบเห็นได้ไม่บ่อยนักภาพซุ้มต้นไม้สีเขียวสดที่ระเบียงตากผ้าคอนโดฯ ห้องหนึ่ง
กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมไปในทันทีสำหรับป่าคอนกรีตย่านราชเทวี


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๖.๕๑ พนักงานออฟฟิซบนตึกสูงย่านสีลมเลือกที่จะนั่งอ่านหนังสือพิมพ์หลังเลิกงานแทนการฝ่าการจราจรที่ติดชะงักบนเส้นทางกลับบ้าน


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๗.๐๔ พื้นที่แนวราบในกรุงเทพฯ ถูกใช้เพียงเพื่อการเดินทางคมนาคมเชื่อมต่อจากตึกสูงหนึ่งไปยังตึกสูงอีกแห่งหนึ่ง


ภาพ : สราวุธ ม่อมละมูล
๑๗.๒๕ ภาพมุมสูงย่านสุขุมวิทเห็นคอนโดฯ จำนวนมากคล้ายยื้อแย่งกันพุ่งขึ้นสู่ฟ้า


ภาพ : สราวุธ ม่อมละมูล
๑๘.๐๕ ชาวไทยและชาวต่างชาติกำลังเข้าคอร์สออกกำลังกายบนดาดฟ้าฟิตเนสย่านอโศก


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๘.๑๙ หญิงสาวบนคอนโดฯ ย่านอุดมสุขเลือกใช้เวลาหลังเลิกงานอยู่กับตัวเองด้วยการอ่านหนังสือริมหน้าต่าง


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๘.๓๙ แม้การทำงานในออฟฟิซบนตึกสูงย่านสีลมจะมีตึกสูงด้านข้างบดบังทัศนียภาพแต่ก็ไม่ทั้งหมด ทำให้พนักงานได้พักสายตาด้วยการมองทิวทัศน์ที่อยู่ไกลออกไป


ภาพ : ชนาธิป ไชยเหล็ก
๑๘.๔๐ ชั้นดาดฟ้าถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ย่านราชเทวีรวมถึงการออกกำลังกายลงว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสีฟ้าตัดกับท้องฟ้าสีหม่นยามเย็นและยอดตึกสูงที่ตั้งอยู่ถัดออกไปไม่ไกล


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๑๙.๐๓ ผู้คนเดินเท้าบนสกายวอล์กทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำให้เท้าของใครสักคนอาจไม่จำเป็นต้องสัมผัสพื้นดินไปตลอดทั้งวัน


ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
๒๐.๑๓ ลิฟต์ในห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์ช่วยให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตในแนวดิ่งสะดวกสบายขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกแรงเดินขึ้นลงระหว่างชั้น


ภาพ : ชนาธิป ไชยเหล็ก
๒๐.๒๑ ชีวิตในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันทุกสิ่งในแนวดิ่งต่างแย่งชิงความสนใจจากสายตาของผู้พบเห็นในห้างฯ เทอร์มินัล ๒๑


ภาพ : ชนาธิป ไชยเหล็ก
๒๑.๓๑ ร้านอาหารถูกยกจากพื้นราบขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าของคอนโดฯ สูง ๑๒ ชั้น ลึกเข้าไปในซอยพหลโยธิน ๒๔ เมื่อมองออกไปจะเห็นตึกที่สูงกว่ารายล้อมเป็นบรรยากาศที่แปลกใหม่ของการรับประทานอาหารมื้อค่ำโดยมีกระแสลมพัดผ่านและเสียงดนตรีสดเป็นกับแกล้ม

บทส่งท้าย

“สี่-เจ็ด” ไม่ใช่เลขท้ายสองตัวในงวดถัดไปอย่างแน่นอน แต่ ๔๗ เป็นจำนวนชั้นเฉลี่ยของตึกสูง ๕๐ ลำดับแรกที่สูงลดหลั่นลงมาจากท้องฟ้าเหนือกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา  ด้วยพื้นที่ที่ถูกบีบอัดในแนวราบ การเติบโตของเมืองจึงเกิดขึ้นในแนวตั้งฉากกับพื้นผิวโลกแทน จนชวนให้ใครสักคนสงสัยว่าพวกเขาต้องเสียพื้นที่สำหรับบางสิ่งแลกกับพื้นที่ว่างสำหรับใช้สอยที่เพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือมีแต่ได้กับได้ ?  “ชีวิตแนวดิ่ง” พยายามถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น