เรื่องและภาพ สุเจน กรรพฤทธิ์

“น่านฟ้าสหรัฐฯ อาจถูกปิด หากสถานการณ์ระบาดยังคงรุนแรง”

Chloe Taylor, CNBC.com (๒๘ ก.พ.๒๐๒๐)

ย่านชานเมืองใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่รี่แลนด์ ศูนย์กลางชุมชนจะมีกลุ่มร้านสะดวกซื้อตั้งรวมกันเป็นหย่อมๆ พร้อมกับธนาคารและบริการอื่นๆ

ย่านชานเมืองใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่รี่แลนด์ ศูนย์กลางชุมชนจะมีกลุ่มร้านสะดวกซื้อตั้งรวมกันเป็นหย่อมๆ พร้อมกับธนาคารและบริการอื่นๆ

เจลล้างมือ “หายวับ” ไปจากชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตย่านชานเมือง หลังมีรายงานว่ากรุงวอชิงตันดีซี มีผู้ติดเชื้อรายแรก

เจลล้างมือ “หายวับ” ไปจากชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตย่านชานเมือง หลังมีรายงานว่ากรุงวอชิงตันดีซี มีผู้ติดเชื้อรายแรก

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๒๐

ผมมาปักหลักอยู่ย่านถนน Adelphi มลรัฐแมรีแลนด์ ห่างชานกรุงวอชิงตันดีซีไม่มากนัก และอยู่ห่างจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข ๒ ของสหรัฐฯ ภายในระยะเวลานั่งรถยนต์ ๑๕ นาทีถึง (เทียบได้กับย่านบางบัวทองหากเดินทางจากกรุงเทพฯ)

ข่าวที่โผล่มาบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กสร้างความกังวลใจให้กับผมไม่น้อย ลางสังหรณ์บางอย่างบอกผมว่า การระบาดในย่านชายฝั่งภาคตะวันตกอาจจะข้ามมาตะวันออกเมื่อใดก็ได้

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ระหว่างอยู่ใน Union Station รอขบวนรถไฟ Amtrax ไปนิวยอร์ก ผมก็ได้อ่านข่าวว่านครนิวยอร์กได้ค้นพบผู้ป่วยรายแรก โดยเป็นคนที่กลับมาจากอิตาลี ที่ว่ากันว่าเชื้อโคโรนาจากที่นั่นเป็นสายพันธุ์ที่ “ดุ” เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก

สัญญาณแรกที่แรงมากว่าคนอเมริกันเริ่มตื่นตัว (เสียที) คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ที่พักที่ผมไปเช่าอยู่นั้น ในชั้นวางเจล วางสบู่ล้างมือ “หายเกลี้ยง”

ชั้นวางกระดาษชำระสำหรับใช้ในห้องน้ำในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งซึ่งอยู่นอกเมืองอิธากะ มลรัฐนิวยอร์ก ของแทบหายไปหมดทุกชั้น หลังจากคนอเมริกันเริ่มกักตุนกระดาษชำระเมื่อข่าวการระบาดของโคโรนาไวรัสมีมากขึ้น

ชั้นวางกระดาษชำระสำหรับใช้ในห้องน้ำในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งซึ่งอยู่นอกเมืองอิธากะ มลรัฐนิวยอร์ก ของแทบหายไปหมดทุกชั้น หลังจากคนอเมริกันเริ่มกักตุนกระดาษชำระเมื่อข่าวการระบาดของโคโรนาไวรัสมีมากขึ้น

ปรากฎการณ์ “กระดาษชำระ” หายไปจากชั้นวางนี้เห็นได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในสหรัฐฯ

ปรากฎการณ์ “กระดาษชำระ” หายไปจากชั้นวางนี้เห็นได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในสหรัฐฯ

Union Station ศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟในกรุงวอชิงตันดีซี หน้าตาคล้ายหัวลำโพงแต่อัพเกรดขึ้นไปอีกสามเท่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงต้นเดือนมีนาคม การเดินทางระหว่างเมืองของคนอเมริกันยังคงหนาแน่น แต่ไม่นานหลังจากนั้นภาพนี้ก็หายไป

Union Station ศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟในกรุงวอชิงตันดีซี หน้าตาคล้ายหัวลำโพงแต่อัพเกรดขึ้นไปอีกสามเท่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงต้นเดือนมีนาคม การเดินทางระหว่างเมืองของคนอเมริกันยังคงหนาแน่น แต่ไม่นานหลังจากนั้นภาพนี้ก็หายไป

เรื่องของ “เจล” และ “กระดาษชำระ”

“เขาเพิ่งมากวาดไปเมื่อวานนี้เองค่ะ”

เจ้าหน้าที่แคชเชียร์บอกเราระหว่างคิดเงินค่ายา (ที่นี่เวลาซื้อยาต้องแสดงบัตรประจำตัวที่ทางการออกให้หรือกรณีนักท่องเที่ยวต้องแสดงหนังสือเดินทาง) เรื่องนี้เป็น “สัญญาณแรก” ที่เตือนผมระหว่างอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา ด้วยก่อนหน้านี้ ข่าวไวรัสในต่างประเทศจะมาแรงแค่ไหน

คนอเมริกันในกรุงวอชิงตันดูจะไม่สนใจ และใช้ชีวิตไปตามปรกติ

เซเว่นอีเลฟเว่นยังคงมีเจลล้างมืออยู่เต็มทุกชั้น สบู่ล้างมือหาได้ทั่วไป แต่ยิ่งเข้าใกล้ต้นเดือนมีนาคม ๒๐๒๐ ข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงในมลรัฐชายฝั่งตะวันตก รายงานการค้นพบผู้ติดเชื้อที่เริ่มลามลงมาทางใต้ (มลรัฐแคลิฟอร์เนีย) ก็เริ่มทำให้คนในเมืองหลวงของสหรัฐฯ เริ่มหวั่นไหว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวแบบแผ่นเสียงตกร่องตลอดเวลาว่าโคโรนาไวรัสจะทำอะไรอเมริกาไม่ได้มาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๐๒๐ เช่น

“เราควบคุมมันได้…มันจะไม่เกิดปัญหาอะไร” (๒๒ มกราคม ๒๐๒๐)

“อยู่ในความควบคุม เรามีปัญหาน้อยมากในตอนนี้ แค่ ๕ คน และคนพวกนี้กำลังฟื้นตัว เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับจีนและประเทศอื่นๆ เราจะจบปัญหานี้ด้วยดี ผมรับรอง” (๓๐ มกราคม ๒๐๒๐)
พอรายงานการติดเชื้อกันเองในประเทศพุ่งขึ้น​ ทรัมป์ยังยืนยันว่า “ทุกอย่างอยู่ในความควบคุม ตลาดหุ้นก็ดูดีมาก” (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐) จนปลายเดือนกุมภาพันธ์ เขาก็บอกว่า “มันจะหายไปเองอย่างมหัศจรรย์ มันจะหายไป” (๒๘​ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐)

อเมริกันที่เชียร์เดโมแครตบ่นว่าทรัมป์ทำตัวน่าอายและไม่มีวุฒิภาวะเป็นประธานาธิบดี ส่วนที่เชียร์รีพับลิกันก็จะเงียบๆ หรือไม่ก็ตามน้ำไป

แต่พอถึงต้นเดือนมีนาคม คนอเมริกันเชื้อสายสเปน (Hispanic) ในชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ระหว่างมาค้นเอกสารจดหมายเหตุดูเหมือนจะไม่เชื่อท่านประธานาธิบดีอีกแล้ว

ด้วยนอกจากเจลล้างมือจะหมด สบู่ล้างมือก็หายเรียบไปจากชั้นวางเสียด้วย

อีกอย่างที่หายไปคือ “กระดาษชำระ”

คนเอเชียอย่างผมงงมาก เพราะคนที่นี่ไล่ซื้อกันจนถึงขนาดที่ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งต้องออกมาตรการจำกัดจำนวนการซื้อต่อคน สื่อมวลชนอเมริกันเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะหาคำตอบ

คำตอบด้านจิตวิทยาระบุว่าเมื่อมีคนกว้านซื้อกระดาษชำระ คนอื่นก็ต้องกว้านซื้อไปกักตุนบ้างเพื่อให้รู้สึกปลอดภัยว่าได้สำรองสิ่งของไว้และรู้สึกดีเมื่อ “ควบคุมบางอย่างได้บ้าง” (CNN,๙ ​มีนาคม ๒๐๒๐) แต่ก็ยังไม่ตอบอยู่ดีว่าทำไมต้องเป็นกระดาษชำระ โดยเฉพาะที่ใช้ในห้องน้ำ (paper toilet)

ร้านขายของที่ระลึกในยูเนี่ยนสเตชั่น ไม่มีเจลล้างมือ แต่มีของที่แดกดันประธานาธิบดีทรัปม์ขายอย่างเปิดเผย เช่น แปรงขัดส้วมด้วยส่วนศีรษะของทรัมป์ เสื้อประธานาธิบดีตัวจริงของอเมริกา (ปูติน)

ร้านขายของที่ระลึกในยูเนี่ยนสเตชั่น ไม่มีเจลล้างมือ แต่มีของที่แดกดันประธานาธิบดีทรัปม์ขายอย่างเปิดเผย เช่น แปรงขัดส้วมด้วยส่วนศีรษะของทรัมป์ เสื้อประธานาธิบดีตัวจริงของอเมริกา (ปูติน)

ย่านเหนือของเกาะแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ที่อยู่ของชุมชนคนอเมริกันเชื้อสายสเปน (ภาพ : มรกตวงศ์ ภูมิพลับ)

ย่านเหนือของเกาะแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ที่อยู่ของชุมชนคนอเมริกันเชื้อสายสเปน (ภาพ : มรกตวงศ์ ภูมิพลับ)

สายชำระ “สุดยอดนวัตกรรม” ?

บางทีคำตอบของคำถามว่าทำไม “กระดาษชำระ” ถึงเป็นเป้ากักตุนของฝรั่งอาจอยู่ไม่ไกลตัวนัก

จากประสบการณ์การใช้ห้องน้ำของชาวอเมริกัน ผมอยากลองเสนอทฤษฎีว่า เพราะในวัฒนธรรมตะวันตก กระดาษชำระทำหน้าที่เสมือน “สายชำระ” ที่มีใช้แพร่หลายในทวีปเอเชีย

เรื่องหนึ่งที่ผมหงุดหงิดทุกครั้งเวลาออกนอกเอเชีย (ที่มีวัฒนธรรมการใช้น้ำชำระสิ่งสกปรก เวลาทำธุระส่วนตัว) โดยเฉพาะในประเทศที่มีวัฒนธรรมการใช้ห้องน้ำแบบตะวันตกคือ เขาไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สายชำระ” (ภาษาบ้านๆ คือ “สายฉีดก้น” นั่นแหละครับ) ในห้องน้ำ

พูดให้ไม่อุจาดคือ การใช้กระดาษชำระไม่สามารถ “เคลียร์ของ” ได้หมดจดเท่าใช้น้ำล้าง

หลายครั้งผมพบว่าฝรั่งที่รู้จักหลายคนมาเมืองไทย เขาพูดขำๆ ว่าประทับใจกับ “วัฒนธรรมสายฉีดตูด” บ้านเราเป็นยิ่งนัก (ไม่ต้องไปเอ่ยถึงระบบยิงน้ำฉีดก้นอัตโนมัติในญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่เหนือกว่ามาก
)
หลายท่านน่าจะเคยเห็นบล็อกหรือความคิดเห็นชวนขำขันว่า มีฝรั่งซื้อสายชำระจากเมืองไทยกลับไปติดตั้งในบ้านที่ยุโรปแล้วก็สงสัยเป็นกำลังว่าคิดนวัตกรรมได้มากมาย แต่ทำไมเรื่องนี้คิดไม่ออก

ผมมั่นใจในระดับหนึ่งว่า วัฒนธรรมยึดติดกับกระดาษชำระนี่แหละ ทำให้ฝรั่งกลัวเป็นหนักหนาว่ากระดาษชำระจะขาดตลาด ซึ่งถ้าขาดจริง เวลาถ่ายหนักจะเดือดร้อนเป็นอันมาก

ผลก็คือในห้วงคนกลัวไวรัส ชั้นวางกระดาษชำระในซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะในวอชิงตัน นิวยอร์ก กระทั่งในเมืองห่างไกลอย่างอิธากะ (ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่ผมไปใช้เวลาค้นข้อมูลอยู่ราวครึ่งเดือน) ไม่ปรากฏกระดาษชำระประเภทที่ใช้กับการถ่ายหนัก ไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม

ผมสังเกตว่าอเมริกันชนใช้กระดาษชำระในแบบที่เรียกว่า “ล้างผลาญ” ซึ่งเมื่อผมต้องไปใช้ห้องน้ำถ่ายหนักในอเมริกา หากจะทำความสะอาดให้หมดจด ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง “ล้างผลาญ” เช่นกัน

กระดาษชำระในห้องน้ำของชาวอเมริกันและยุโรปจึงเป็นของที่ “ขาดไม่ได้” ในยามฉุกเฉิน

ทำเป็นเล่นไป ภัยในการถ่ายหนักแล้วทำความสะอาดไม่ได้นี่

เป็นทุกข์หนักประเภทหนึ่งเชียวนะครับ