เราท่านอาจคุ้นหูกับ “สวรรค์ชั้น ๗” แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำนั้นคงแปลมาจาก seventh heaven ในภาษาอังกฤษ อันเป็นจินตภาพของสวรรค์ตามแนวทางศาสนายิว/คริสต์มากกว่า เพราะถ้าว่าตามคติพุทธศาสนาหินยาน สวรรค์ในกามภูมิมีอยู่หกชั้น เรียกรวมๆ ว่าเป็น “ฉกามาพจร” หมายถึงสวรรค์หกชั้น (ฉ คือหก) ที่ยังข้องเกี่ยวในกาม ไล่ขึ้นไปตั้งแต่จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี

สวรรค์ชั้นแรกคือจาตุมหาราชิกา และชั้นที่ ๒ คือดาวดึงส์นั้น เคยกล่าวถึงไปบ้างแล้ว

ลำดับต่อไปจะเปิดตำราเล่าเรื่องว่าด้วยสวรรค์ชั้นบนๆ บ้าง

เหนือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป คือสวรรค์ชั้น “ยามา” มีท้าวสุยามเทวราชเป็นหัวหน้า

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายที่ตั้งของสวรรค์ชั้นนี้ไว้ว่า

“แต่ภูมิพื้นชมพูทวีปขึ้นไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกานั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงดาวดึงส์นั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่ดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามา สูงได้ ๔๓๔,๔๐๐ โยชน์”

สวรรค์ชั้นนี้นับเป็นสวรรค์ “ชั้นฟ้า” อันดับแรกจริงๆ เพราะมิได้ “ยึดโยง” กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์อย่างสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาที่ยังอยู่ในแนวยอดเขายุคันธร หรือสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งวางแปะไว้บนยอดเขาพระสุเมรุ ส่วนสวรรค์ชั้นยามานั้น ยกระดับขึ้น “ลอยตัว” อยู่กลางหาวเฉยๆ

คัมภีร์อธิบายว่าวิมานของเทวดาชั้นนี้

“ประดิษฐานอยู่เหนือพื้นแล้วด้วยแก้ว แผ่นแก้วนั้นประดิษฐานอยู่ในอากาศ ด้วยอำนาจวาโยธาตุ…ทิพยวิมานนั้นสูง ๑๒ โยชน์บ้าง ๓๐ โยชน์บ้าง เรียงรายเป็นระเบียบเนื่องๆ กันออกไป…ตลอดถึงเขาขอบกำแพงจักรวาล”

อ่านดูแล้ว นึกภาพตาม ว่ามีวิมานสูงๆ ต่ำๆ ตั้งเรียงกันไปยาวเหยียดทุกทิศทุกทางจนถึงกำแพงจักรวาล ทำไมดูเป็น “ชุมชนแออัด” หลังกำแพง อย่างไรก็ไม่รู้

ตามคติสุเมรุจักรวาล เส้นทางเดินรถของพระอาทิตย์พระจันทร์สูงเสมอแค่เพียงระดับเขายุคันธร คือสูงเท่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือแค่ครึ่งเดียวของเขาพระสุเมรุเท่านั้น แต่สวรรค์ชั้นยามาลอยเท้งเต้งอยู่สูงเหนือขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุขึ้นไปอีกกว่า ๑๐ เท่า เมื่อเป็นดังนั้น พระอาทิตย์ย่อมส่องแสงขึ้นไปไม่ถึง

อย่างไรก็ดี ที่นั่นยังคงสว่างไสวตลอดเวลา (คล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดไฟสว่างจ้าขาวโพลนทั้งวันทั้งคืน) ด้วยอานุภาพแห่ง “รัศมีแก้วทั้งหลาย และรัศมีจากกายเทพยดาทั้งหลาย”

“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เสริมด้วยว่าเทพเจ้าในชั้นยามามีรัศมีส่องสว่างในตัวเอง (แบบหิ่งห้อยกระมัง ?) เป็นปริมณฑลรอบตัวได้ ๑๒ โยชน์

ขณะเดียวกัน พอสว่างทั้งสวรรค์ ทั้งจากรัศมีแก้วและรัศมีกายจากผิวเนื้อเทวดาโดยไม่หยุดหย่อน จึงทำให้เกิดภาวะ “ไม่รู้คืนรู้วันเวลา”

เทวดาบนสวรรค์ชั้นยามาจึงต้องอาศัย “เครื่องบอกเวลา” อันมีรูปลักษณ์เป็น “ดอกไม้ทิพย์”

ทุกเวลาที่ “สมมติ” ให้เป็นตอนเช้า ดอกไม้ทิพย์ที่ว่านี้จะเบ่งบานเผยอกลีบ

เสร็จแล้ว พอถึงเวลาที่ควรจะต้องเป็นตอนค่ำ ดอกไม้ทิพย์ก็จะหุบกลีบห่อเกสร กลับเข้าสู่สภาวะดอกตูมใหม่อีกครั้ง

เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดกาลจนกว่าจะสิ้นกัปป์