เรื่อง : born to be nurse : ฝน อ้อย กุ้ง ปาน

ค่ายบางระจันในอดีตที่มีชาวบ้านจากสี่จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองและสุพรรณบุรี รวมตัวกันสู้ศึกพม่าในอดีตกาลฉันใด ยามนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ปิดล้อมสามจังหวัดสุดท้ายของภาคกลางเช่นกัน

ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง คือจังหวัดในภาคกลางที่ยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อ

วันนี้เราได้รับข้อมูลข่าวสารการทำงานของลูกศิษย์และทีมพยาบาลที่ทำงานในสามจังหวัดนี้

เขาสู้ศึกกันอย่างไร…มาดูการทำงานของพวกเธอกัน

พยาบาลเมืองวีรชนตำบลบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี

ดาราวรรณ ศรีใสดี “หมออ้อย” ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นแม่ของลูกศิษย์ที่เราเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หมออ้อยยิ้มแย้ม มนุษยสัมพันธ์ดี ทำงานอยู่กับชาวบ้านเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกน้อง เป็นผู้ตั้งใจทำงานและเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำหน้าที่เป็นทัพหน้าของด่านสกัดคัดกรองโควิด-19 สิงห์บุรี

……………

ภาวะวิกฤตของความแห้งแล้งช่วงฤดูร้อนของเมืองสิงห์บุรี เมืองอู่ข้าว อู่น้ำ ไข้เลือดออกก็แวะเวียนมาเป็นพักๆ พอให้หมออนามัยได้ออกแรงนิด ๆ หน่อยๆ แต่จู่ ๆโควิด-19 ก็บุกกทม. พวกเราก็เฉยๆ กัน
พอเริ่มพบโควิด-19 ลามออกไปปริมณฑล เราเข้า กทม. ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยไปด้วย กลายเป็นตัวประหลาดของคนกรุง

สักเดือนเดียว กทม. แตก สถานบันเทิง บริษัท ห้างร้านปิด คนแห่กลับบ้าน ทีนี้ล่ะ เหมือนผึ้งแตกรัง พี่ น้องคนทำงานจาก กทม. และปริมณฑลทุกคนกลับสู่ภูมิลำเนาบ้านเกิดของเราจากการปิดสถานศึกษาสถานบันเทิง บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ

“กลับบ้านเราค่ะพี่น้อง ทางตำบลบ้านแป้ง มีความยินดีที่จะต้อนรับทุกท่านค่ะ”

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นสถานีอนามัยที่ยกระดับเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลพี่น้องที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพราะอาจนำเชื้อโรคโควิด-19 มาด้วย จึงขอความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน ร่วมวางแผนการทำงาน

ขุมพลังของเราคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คำถามแรกที่ท่านกำนันถามเราในฐานะ ผอ.รพ.สต. ว่า

“ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายที่สุดครับ หมอ”

เราจึงบอกว่า “เดี๋ยวหมอทำแผ่นพับให้พี่น้องเข้าใจง่ายๆ”

ความร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย แม้แต่ท่านเจ้าคณะตำบลบ้านแป้งก็ทำหน้ากากผ้าแจกทั้งตำบลคนละ 2 อัน เอาไว้ผลัดเปลี่ยน และพี่น้องชาวบ้านแป้งก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการกักตัว 14 วัน `เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

“หมอครับผมออกไปเดินสูดอากาศหน้าเขื่อนบ้างได้ไหมครับ” ชาวบ้านท่านหนึ่งถาม
“ได้ค่ะ ไม่มีคนเลย หน้าเขื่อน อากาศก็เย็นสบาย ถ้ามีคนก็ใส่แมส ที่ อบต. แจก และทิ้งระยะห่าง 1-2 เมตรค่ะ”

การทำงานท่ามกลางการประหยัดสุดๆ สำหรับหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และถุงมือ เราได้รับสนับสนุนจากโรงพยาบาลพรหมบุรี แมส 1 กล่อง (50 ชิ้น) เจลล้างมือ 2 ขวด ต่อ 1 เดือน ใช้งานท่ามกลางเจ้าหน้าที่ 5 ท่าน แต่ก็มีเพื่อนพ้องน้องพี่ อบต. วัด มาบริจาคเพิ่ม

ช่วยกันค่ะ เพื่อพื้นที่ของเรา

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการ ไม่ให้พื้นที่จัดงานทุกอย่าง ถ้าต้องจัด ให้สาธารณสุขเข้าไปพูดคุยให้ความรู้ ต่อมาให้ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข ตั้งด่านชุมชน ตรวจคนเข้าออกจังหวัดสิงห์บุรีของเรา สามเวร เช้า บ่าย ดึก พร้อมปฏิบัติ

คำสั่งจากผู้บริหาร เปลี่ยนแปลงตลอด เราเจ้าหน้าที่น้อย อุปกรณ์ป้องกันตัวจำกัด สุขภาพจะเป็นอย่างไร แต่จะไม่หยุดงาน ทิ้งลูกน้องสักวัน

ในฐานะ ผอ.รพ.สต. คนทำงานตำบล ต้องปรับตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะเราเป็น “ข้าราชการของพระราชา”

คำนี้ผุดมาในสมองครั้งใด หัวใจเราพองโต ความภูมิใจในชุดสีกากี สีของดิน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงบอกอยู่เสมอ

ประเทศไทยที่กว้างใหญ่ไพศาล มดงานเล็กๆ ช่วยกันทำงาน เราคิดกันแบบลูกหลานวีรชน

“ข้าศึกล้อมไว้หมดแล้ว เราอาวุธก็น้อย แต่ต้องสู้แบบ ปู่ ย่า ตา ยายบ้านระจัน” (ฟังแค่นี้ก็ปลุกใจลูกหลานวีรชนคนเมืองสิงห์ได้ดีจริงๆ)

“เราจะผ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน”