เหนือจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไปอีกจะถึงชั้น “ดุสิต”
คัมภีร์พรรณนาว่าที่นั่นก็มีสวนสวย มีปราสาทราชมณเฑียรอันวิจิตร คล้ายที่มีบนสวรรค์ชั้นยามา แต่งดงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ส่วนเทวดาชั้นนี้ก็มีรัศมีกายแผ่ไปได้ร้อยโยชน์พันโยชน์ ส่องสว่างไกลกว่าแสงของเทพชาวยามาเช่นกัน
สวรรค์ชั้นนี้มีท้าวสันดุสิตเทวราชเป็นใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นที่ประทับของเทพสำคัญอีกสององค์
หนึ่งคือ “พระสิริมหามายาเทวบุตร” หรืออดีตพระพุทธมารดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปภายหลังประสูติพระพุทธเจ้าได้เพียง ๗ วัน แล้วด้วยกุศลกรรมจึงได้มาเสวยเพศเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นนี้
ส่วนอีกหนึ่งก็คือ “พระศรีอาริยเมตไตรย์เทวบุตร” พระโพธิสัตว์ผู้จะมาบังเกิดเป็น“พระอนาคตพุทธเจ้า” หรือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
แม้จะมีถิ่นพำนักในเขตดุสิต ทว่าทั้งสององค์ก็มีเหตุให้ต้องเสด็จลงไปยังสวรรค์ชั้นล่างๆ เป็นครั้งคราว เช่นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นมาเทศนาโปรดพระพุทธมารดา พระสิริมหามายาเทวบุตรก็ต้องเสด็จลงไปสดับพระอภิธรรมยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนพระศรีอาริยเมตไตรย์เทวบุตรนั้น ก็ดูเหมือนจะมีตารางกิจกรรมที่ต้องลงไปสักการะพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นประจำ จึงเป็นเหตุให้ได้พบกับพระมาลัยเถระ แล้วเลยมีโอกาสสนทนาธรรมกันว่าด้วยเรื่องโลกยุคพระศรีอาริย์ฯ อย่างที่เคยเล่าไปแล้ว
คัมภีร์อธิบายว่าพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เมื่อถึงพระชาติสุดท้ายก่อนจะจุติลงไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าจักต้องมาบังเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดุสิตเหมือนๆ กันทุกพระองค์ แม้แต่พระพุทธเจ้าองค์ที่แล้ว หลังจากพระชาติที่เป็นพระมหาเวสสันดร ก็มาเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ก่อน รวมถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ขณะนี้ก็ยังประทับรอเวลาที่จะลงมาเกิดเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย์พุทธเจ้า อยู่ ณ สวรรค์ชั้นนี้
โดยเหตุนั้น นาม “ดุสิต” จึงไปปรากฏเป็นชื่อพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง คือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งใช้เป็นทั้งที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพ คงด้วยนัยความหมายที่ถือเสมือนว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญธรรม สถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต รอคอยเวลาที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลอนาคตข้างหน้า
รวมถึงตราสัญลักษณ์ประจำพระราชวังดุสิต พระราชวังแห่งใหม่ทางทิศเหนือของพระบรมมหาราชวังในยุครัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกใช้เป็นภาพพระโพธิสัตว์ประทับนั่งห้อยพระบาทบนบัลลังก์ดอกบัว ด้านหลังมีประภามณฑล ตามประติมาณวิทยาอย่างชวาโบราณ ในนัยความหมายทำนองเดียวกัน และจากพระราชวังดุสิต ก็กลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อ “อำเภอดุสิต” และ “เขตดุสิต” กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน
ชื่อ “ดุสิต” ของสวรรค์ชั้นนี้ ยังถูกนำไปใช้อีกหลายครั้ง เช่น “ดุสิตธานี” เมืองจำลองขนาดจิ๋วของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่าอาจเพราะแต่แรกสร้างขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต ต่อมาเมื่อขยายโครงการใหญ่โต เพิ่มจำนวนบ้านเรือนมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปยังพื้นที่ของพระราชวังพญาไทแทน
อีกแห่งหนึ่งก็คือโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่หัวถนนสีลม ในบริเวณที่เคยเป็นบ้านเดิมของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ แล้วต่อมากลายเป็น “บ้านศาลาแดง” ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กระทั่งกลายเป็น “โรงแรมดุสิตธานี” โรงแรมหรู แลนด์มาร์คใหม่ และตึกสูงที่สุดของกรุงเทพฯ ยุคทศวรรษ ๒๕๑๐
ตัวตึกยอดแหลมเปี๊ยบของโรงแรมดุสิตธานีเพิ่งถูกรื้อลงเมื่อไม่นานมานี้คือต้นทศวรรษ ๒๕๖๐ นี่เอง