เรื่อง / ภาพ สายพร อัสนีจันทรา
บ้านป่าชาวดอย
ฉันเป็นเด็กชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคิดถึง หนึ่งในหมู่บ้านบนดอย ในเขตป่าสาละวินติดตะเข็บชายแดนไทย-พม่า บนพิกัดหมู่ที่ 7 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียงแห่งเมืองสามหมอก
ทุกชีวิตในชุมชนของฉันกินอยู่พึ่งพาผืนป่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเงาโควิดมาถึงจึงไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก จะมีก็แต่ความกังวลใจที่เกิดมาจากข่าวสารและมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัว
คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็เห็นจะเป็นสองสามคนที่เปิดร้านขายของชำ เพราะไม่สามารถเดินทางขนส่งสินค้าได้ กับอีกกลุ่มคือคนที่เข้าเมืองกรุงเพื่อเรียนหนังสือบ้าง เป็นแรงงานบ้าง ซึ่งยังติดค้างกักตัวอยู่ในเมืองเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหยุดการระบาดของเชื้อโรคที่เกิดขึ้น
ทันทีที่ข่าวส่งมาถึงพื้นที่ ผู้นำชุมชนและผู้นำทางจิตวิญญาณก็เร่งพาลูกบ้านทำพิธีตามความเชื่อตามศาสนาของตัวเอง โดยหนึ่งในนั้นคือพิธีกรรมโบราณที่เรียกในภาษาปกาเกอะญอว่า “เกราะหญี่” ซึ่งเป็นการปิดเส้นทางและปิดหมู่บ้านเพื่อการสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน ต้านและป้องกันไวรัสโควิด ห้ามคนในออกและห้ามคนนอกเข้าเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นก็ทำการปิดหมู่บ้านยาว แต่เปิดทางให้ผู้คนหมู่บ้านอื่นสัญจรผ่านไปมาได้ตามความจำเป็น โดยไร้ซึ่งการทักทายหรือหยุดพักพูดคุยกันตามประสาคนรู้จักคุ้นเคยเหมือนครั้งที่โควิดยังไม่มา
ความติดขัดที่เกิดขึ้นทำให้คนไกลบ้านอย่างฉันต้องตัดขาดการติดต่อกับครอบครัวที่อาศัยอยู่บนดอยไปชั่วคราว เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือคนเดินทางส่งข่าวให้เราติดต่อกัน จนมาถึงเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่สถานการณ์มีทิศทางคลี่คลายลง พี่สาวท้องแก่จึงตัดสินใจลงดอยเข้าพบหมอในเมือง โดยคุณพ่อผู้มีอายุเข้าเลข 7 ตามมาด้วย เพื่อมาติดต่อถามไถ่ข่าวคราวความเป็นอยู่ของเหล่าลูกๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดให้พอบรรเทาความกังวลข้างในได้บ้าง
“อยู่บ้านดอยมันรู้สึกปลอดภัย สบายใจ มีความสุขกับการใช้ชีวิต แต่ในเมืองนี่มันช่างแตกต่าง หายใจแทบไม่ทั่วท้องเลยอะ นี่ถ้าหมอไม่นัดนะก็คงไม่ลงมาหรอก…” พี่สาวของฉัน อาภรณ์ ไม่มีชื่อสกุล สาธยายเรื่อยเปื่อยให้ฉันฟังขณะนั่งรอคิวเข้าห้องตรวจ
ตลอด 2 วันที่ฉันอยู่กับพ่อและพี่สาว ทั้งสองดูแลตัวเองดีมากจนฉันต้องอึ้ง ทั้งที่เพิ่งออกมาจากดอย แต่หน้ากากและเจลล้างมือนั้นมีพร้อมตลอด แถมเวลาเดินทางไม่เคยแวะไหนเลยนอกจากโรงพยาบาลซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการลงดอย ทั้งคู่ทำทุกอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำที่ออกมา และฉันเองก็โดนดุทันทีทุกครั้งที่ละเลยแม้กระทั่งในเวลาที่ฉันเผลอถอดหน้ากากมีความสุขกับอากาศสดใสยามเช้าของแม่สะเรียงเวียงงาม จนบางครั้งฉันเริ่มไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความหวาดผวาหรือความใสซื่อของพ่อกับพี่สาวกันแน่
พ่อบอกว่า “มาในเมืองช่วงนี้ก็เหมือนมาเดินในสมรภูมิสงคราม อยู่ในเมืองน่ะห้ามเด็ดขาดเลยนะ ห้ามไว้ใจอะไรเด็ดขาดเลยนะ…” แกย้ำการปฏิบัติตัวต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนฉันจำขึ้นใจ แม้ไม่ค่อยอยากฟังเรื่องนี้แล้ว แต่ฉันก็นั่งฟัง เพราะก็รู้ดีว่าแกปรารถนาดีและเป็นห่วงฉันขนาดไหน ยิ่งช่วงที่ขาดการติดต่อกันแกคงอึดอัดกังวลและทรมานใจไม่น้อย
แต่ไม่ว่าอย่างไรในแง่ภาพรวมการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ของชุมชนบ้านฉันและละแวกใกล้เคียงก็ยังค่อนข้างปรกติเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านยังคงไปมาหาสู่ระหว่างบ้านภายในหมู่บ้าน ยังคงออกไปทำงานตามที่ทำกินที่มีอยู่ในพื้นที่ ยังคงเข้าป่าเก็บพืชผักของป่ามาปรุงอาหาร ยังคงตระเตรียมเมล็ดพืชพรรณรอคอยฤดูฝน ยังคงพึ่งพาตัวเองได้ และยังคงทำเกือบทุกอย่างเหมือนเช่นที่ผ่านมา
แม้มีปัญหาเรื่องข้าวสารขาดแคลนเกิดขึ้นบ้าง แต่น้ำใจของคนบ้านใกล้เรือนเคียงก็บรรเทาปัญหาที่เกิดได้ภายในไม่กี่นาที แต่หากพูดถึงเรื่องการเยียวยาจากทางการนั้นไม่มีใครหวังอยู่แล้ว “ได้ก็ดี ไม่ได้ก็แล้วแต่เขา” ลุงวัย 40 คนหนึ่งบอกกับฉัน แกเป็นหนึ่งในชาวบ้านบนดอยส่วนใหญ่ที่ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ามีโครงการเยียวยาใดเกิดขึ้นบ้าง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ หมู่บ้านที่ซ่อนตัวอยู่ในผืนป่าสาละวินฝั่งแดนไทยก็ล้วนเป็นเช่นนี้ไม่ต่างกัน
หากว่ากันตามตรงก็สามารถพูดได้ว่าคนสาละวินที่อาศัยอยู่ในผืนป่าของไทยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยมาก ซึ่งต่างจากคนสาละวินพี่น้องปกาเกอะญอที่อาศัยริมน้ำสาละวิน ที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากกว่าหลายเท่า เพราะมาตรการปิดเส้นทางเดินเรือที่เกิดขึ้นตามนโยบายการปิดประเทศของไทย
กินอยู่กับน้ำ
ถัดจากบ้านฉัน เดินเท้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะประจบกับแม่น้ำสาละวิน เส้นเลือดใหญ่คนริมน้ำที่หล่อเลี้ยงหลายร้อยครัวเรือนตลอดสองข้างทางที่อาศัยอยู่ริมฝั่งให้มีอาหาร มีอาชีพ มีรายได้ และมีลมหายใจ
คนริมน้ำทั้งสองฝั่งมักไปมาหาสู่พึ่งพาซึ่งกันและกันมานาน บางคนอยู่ฝั่งไทยแต่มีที่ทำกินชั่วคราวอยู่ฝั่งพม่า และเช่นเดียวกันบางคนอยู่ฝั่งพม่าแต่ก็มีพื้นที่ทำกินชั่วคราวริมน้ำสาละวินฝั่งไทย คนทั้งสองฝั่งที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-พม่าริมน้ำสาละวินนี้เป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยฝั่งไทยส่วนใหญ่เป็นคนไทย ส่วนฝั่งพม่าส่วนใหญ่เป็นคนของรัฐกะเหรี่ยงซึ่งขึ้นกับเคเอ็นยู (KNU)
โดยคนละแวกลุ่มน้ำนี้ใช้การเดินเรือเป็นวิธีหลักในการเดินทาง โดยเฉพาะพี่น้องปกาเกอะญอที่อยู่ในพื้นที่พม่านั้นการเดินเรือเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น เพราะไม่มีถนนตัดผ่าน หรือจะมีบ้างก็เฉพาะตามท่าเรือสำคัญที่เป็นด่านตรวจเพื่อความมั่นคงเท่านั้น
ในวันนี้เงาโควิดเคลื่อนเข้ามาครอบคลุมพื้นที่นี้ ลาหมื่อพอ ดั่งแดนวิมาน หนึ่งในเยาวชนอาสาสมัครสาววัย 23 แห่งบ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านริมน้ำฝั่งไทยเล่าว่า โดยส่วนตัวผลกระทบก็เกิดขึ้นกับเขาเพราะเดินทางไม่ได้ ทำให้การทำงานไม่สะดวกมากกว่าเดิม แต่ผลกระทบก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับผลกระทบที่พี่น้องฝั่งตรงข้ามต้องแบกรับกันตามลำพัง
ผลผูกพันที่มาพร้อมกับมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคคือการปิดทางและปิดประเทศ โดยเส้นทางเดินเรือสาละวินคือหนึ่งในเส้นทางที่ถูกสั่งปิดชั่วคราว ทำให้หลายอาชีพได้รับผลกระทบ ทั้งคนขับเรือ คนแบกของลงเรือ คนทำประมง คนค้าขาย รวมไปถึงชาวบ้านธรรมดาที่ยึดอาชีพหาของป่าตามฤดูกาลมาขายแลกข้าวปลาอาหารเลี้ยงครอบครัว โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเยียวยาจากทางการ ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตามอย่างน้อยที่สุดพี่น้องชายแดนฝั่งไทยก็มีเรื่องความปลอดภัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อโควิดมาอาจจะถูกเลิกจ้าง ไม่ได้จับปลาขาย ไม่ได้ขายของป่า ไม่ได้เดินทางค้าขาย แต่เขาก็ยังสามารถใช้ชีวิตพึ่งพาป่าเอาตัวรอดได้ ยังมีพื้นที่ทางการเกษตรให้ทำกินเป็นหลักแหล่ง เวลาออกไปนอกบ้านก็ไม่ต้องพะวงเรื่องกับระเบิด อีกทั้งถนนหนทางก็เข้าถึงในระดับหนึ่ง แต่กับพี่น้องชายแดนอีกฝั่งที่หนีความตายจากสงครามภายในมาจนสุดแผ่นดินนั้นแทบไม่มีวี่แววตัวเลือกให้เลย นอกจากจำใจก้มหน้ายอมรับแล้วพยายามหายใจต่อไปภายใต้เงาหนาทึบที่เข้าปกคลุม
กินอยู่กับโชคชะตา
ฉันมองไปข้างหน้ามองภาพเด็กๆ วิ่งเฮฮาเล่นเกมแลกขนมบนลานทรายกว้างริมหาดสาละวินอย่างสนุกสนาน โดยเด็กหญิงและเด็กเล็กส่วนใหญ่เล่นเกมพื้นบ้าน แก๊งเด็กชายจับกลุ่มกันเล่นฟุตบอล โตมาอีกหน่อยก็เล่นตะกร้อ เสียงเชียร์ดังก้องทั่วร่องน้ำสาละวินแข่งกับเสียงเรือที่แล่นผ่านไปมา นี่คือภาพที่เกิดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ปกาเกอะญอที่บ้านแมหนึถ่าช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
บ้านแมหนึถ่าเป็นหนึ่งในหมู่บ้านปกาเกอะญอของรัฐกะเหรี่ยงในพม่าอยู่ติดท่าเรือริมแม่น้ำสาละวิน คนส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขาย โดยการนำสินค้าจากแม่สามแลบฝั่งไทยขนส่งทางเรือไปจำหน่ายสร้างรายได้เลี้ยงชีวิต ครั้งล่าสุดที่ฉันไปเยือนคือช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ทางการจีนได้ประกาศเปิดตัวไวรัสโคโรนาแล้ว แต่ทุกอย่างที่แมหนึถ่าก็ยังดูปรกติ ไม่ได้รับผลกระทบอะไร
จนเข้าสู่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 เชื้อโรคระบาดมากขึ้นและรวดเร็วขึ้นจนนำไปสู่การปิดการเดินทางและปิดประเทศของหลายประเทศรวมถึงไทยและพม่าด้วย ทำให้พี่น้องคนชายขอบชายแดนกลุ่มนี้ถูกลืมทิ้งไว้ข้างหลัง พี่สาวของฉันที่ทำอาชีพค้าขายใกล้ชายแดนไทยเล่าว่า สถานการณ์ของเพื่อนฝั่งตรงข้ามที่ฉันยืนอยู่นั้นตึงเครียดมาก ทุกอย่างติดขัดชะงัก ข้าวสาร น้ำมัน อาหารแห้งร่อยหรอลงทุกวัน
“โธ่!!! แมหนึที่รัก ถ้าปลากระป๋องหมดจะอยู่ต่อกันอย่างไรเนี่ย” ฉันอุทานปนเศร้าในใจ เพราะครั้งก่อนที่ไปเยือนนั้นดำรงอยู่ได้เพราะปลากระป๋องจากแม่สามแลบอย่างเดียวเลยก็ว่าได้
ชาวบ้านธรรมดาที่ลงหลักปักฐานริมน้ำก้มหน้ารับชะตากรรมอย่างไร้ทางเลือก พวกเขาไม่สามารถเดินเข้าด้านในได้เพราะเส้นทางหลักถูกปิดถาวรไม่ต่างจากที่อื่น จะไปตามเส้นทางธรรมชาติก็เสี่ยงกับกับระเบิดที่ไม่รู้ว่าจะดังขึ้นตอนไหน ข้าวปลาอาหารก็น้อยลงทุกวัน โดยเฉพาะศูนย์พักพิง IDP ค่ายลี้ภัยแห่งหนึ่งริมสาละวินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหลายร้อยชีวิต รวมไปถึงหย่อมเล็กหย่อมน้อยที่กระจายซ่อนตัวตลอดริมฝั่งชายแดนพม่า
คนเปราะบางพิเศษกลุ่มนี้ถูกผลักไสเนรเทศให้ออกจากถิ่นฐานดั้งเดิม จำเป็นต้องทิ้งที่ทำกินและวิถีชีวิตไว้กับความทรงจำ พอมาอยู่ชายแดนก็อาศัยพึ่งพาปัจจัยการดำรงชีวิตจากฝั่งไทยเป็นหลักแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการหาของป่าขายให้กับพ่อค้าคนไทยที่นั่งเรือไปรับซื้อ ซึ่งรายได้ไม่มากนัก แต่ก็พอให้มีชีวิตอยู่ได้วันต่อวัน แต่เมื่อมีการปิดการเดินเรือซึ่งเริ่มเมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็เดินทางเข้าเดือนที่ 2 แล้ว ทำให้คนริมสาละวินกลุ่มนี้ขาดรายได้อันน้อยนิดที่เคยมี แถมข้าวปลาอาหารก็ไม่มีเหลือให้กิน ได้แต่นั่งรอความหวังที่เหมือนจะไม่มีอยู่จริงว่าจะมีเรือสักลำวิ่งผ่านมาทักทาย
สัมพันธ์ฉันพี่น้อง
จนมาถึงที่สุดที่มั่นใจว่าไม่มีใครเหลียวแลใส่ใจแน่นอน ผู้นำริมฝั่งก็ร่างจดหมายขอความช่วยเหลือไปยังองค์กรอิสระฝั่งไทย จนทำให้เกิดสายธารน้ำใจหลั่งไหลจากทุกทิศทางไปสู่พี่น้องริมฝั่งให้พอบรรเทาความเดือดร้อนลง ทั้งข้าวสารจากทุ่งกุลาฯ รวมถึงสินน้ำใจเล็กๆ จากชาวบ้านคนธรรมดาฝั่งไทย ที่ส่งต่อเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกินต่อชีวิตให้พวกเขากลับมาลืมตาอ้าปากได้บ้าง
หนึ่งในองค์กรที่ยื่นมือเข้าช่วยเป็นสะพานหลักให้เกิดการแบ่งปันน้ำใจครั้งนี้ก็คือ “ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่มีการทำงานสัมพันธ์เชิงพื้นที่กับชายแดนทั้งสองฝั่งมานานหลายสิบปี โดยพี่หลวง หรือสันติพงษ์ มูลฟอง ชายวัยกลางคนร่างท้วมผู้เป็นหัวหน้าประสานงานศูนย์เล่าว่า “โดยพื้นฐานตามระบบวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแล้วคนริมน้ำสาละวินทั้งสองฝั่งเป็นสังคมเดียวกัน ไปมาหาสู่พึ่งพากันมานาน เพียงแต่คนข้างนอกมองไม่เห็น เพราะมีเส้นแบ่งเขตแดนและมีสถานะแบ่งแยก”
สถานการณ์ภายใต้เงาโควิดนี้พี่หลวงให้ความสนใจเป็นห่วงหลายกลุ่มคนที่เปราะบางพิเศษอย่างคนชายขอบที่แทบไม่มีตัวตนอยู่ในสังคมใดเลย โดยกลุ่มแรกคือพี่น้องบนพื้นที่สูงรวมถึงคนไร้รัฐ และคนถือบัตรประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์หรือเลขหก ซึ่งหลายคนออกจากหมู่บ้านไปเป็นแรงงานในเมือง ถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง
เมื่อถึงวันที่มีแรงแต่ไม่มีงาน คนกลุ่มนี้ก็ต้องกลับภูมิลำเนาบนดอย ซึ่งมีการปฏิบัติที่ไม่ค่อยถูกต้องนักเกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ เช่น บางที่ไม่ยอมให้เข้าหมู่บ้าน หรือบางที่ยอมให้เข้า แต่บังคับให้กักตัวเองตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบซ้ำเติมในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้หญิง
กลุ่มต่อมาคือกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะแรงงานไร้รัฐผิดกฎหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการเยียวยากับพวกเขาเลย และกลุ่มสุดท้ายก็คือกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายระหว่างชายแดน ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทิ้งลืมสูง
ก่อนจบการสนทนาพี่หลวงบอกกับฉันว่า แม้ไม่มีกฎหมายใดรองรับคนกลุ่มนี้ แต่โดยหลักการสิทธิมนุษยชนแล้วคนกลุ่มนี้เป็นมนุษย์เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่มาแต่เกิด ควรได้รับความคุ้มครองเยียวยาและดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้ดิ้นรนกันเองตามมีตามเกิดเหมือนที่เป็นอยู่
ในฐานะที่ฉันเป็นอดีตเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ ด้วยประสบการณ์ตรงที่เคยผ่านมาฉันเข้าใจดีว่าสิ่งที่พี่หลวงพูดนั้นเป็นความจริงทั้งหมด ฉันใช้เวลากว่า 20 ปีในการเรียกร้องขอสถานะเพื่อให้มีสิทธิเหมือนพลเมืองทั่วไป ภายใต้ความช่วยเหลือจากคนที่มีอำนาจหน้าที่ยื่นมือเข้าช่วยมาตลอด แต่ก็ยังใช้เวลาไม่น้อยเลยที่จะสำเร็จได้
วันนี้เงาโควิดจางลงแต่ยังไม่จางหาย การปิดทางยังคงดำเนินต่อไป ผู้คนต้องดิ้นรนกันต่อไป ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป เป็นกำลังใจให้เหล่าเจ้าหน้าที่คนทำงานรวมถึงคนธรรมดาที่ต้องดำเนินชีวิตต่อไปทุกคน
ไม่ว่าผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจะหยั่งรากลงลึกแค่ไหน หรือจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นอีกบ้าง ฉันเชื่อว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างจะผ่านไป แล้วโควิดจะผ่านไป แล้วเงาโควิดจะหายไป