เหนือขึ้นไปอีกจากสวรรค์ชั้นดุสิตจะถึงสวรรค์ชั้น “นิมมานรดี” ซึ่งมีเทวบุตรชื่อนิมมานรดีเทวราชเป็นผู้ปกครอง

ที่นี่ก็มีอะไรต่อมิอะไรคล้ายๆ กับสวรรค์ชั้นล่างๆ แต่วิจิตรพิสดารหนักข้อขึ้นเรี่อยๆ เทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ หากปรารถนาสิ่งใด ย่อมเนรมิตได้เองดังใจปรารถนา

ชื่อสวรรค์ชั้นนี้ยังเอาไปตั้งเป็นชื่อวัดก็มี เช่นวัดนิมมานรดีย่านบางแคในกรุงเทพฯ

สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี คือสวรรค์ชั้น “ปรนิมมิตวสวัตดี” ที่นี่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ หากปรารถนาสิ่งใดก็ถึงขั้นไม่ต้องเนรมิตเอง เพราะย่อมมีเทวดาชั้นล่างๆ มารับใช้คอยเนรมิตให้ทุกสิ่งอัน

ยิ่งไปกว่านั้น สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนี้ แบ่งการปกครองออกเป็นสองโซน คือมีฟากฝั่งเทพและฝั่งมาร แยกขาด ไม่ข้องเกี่ยวกัน (คงคล้ายๆ เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้)

ฝั่งเทพ มี “ปรนิมมิตวสวัตดีเทวราช” เป็นหัวหน้า

ส่วนเขตมารควบคุมโดย “พระยามาราธิราช” ทั้งสององค์นี้เป็นใหญ่เสมอกัน

ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะพระยามาราธิราชจากสวรรค์ชั้นนี้เองที่รับหน้าที่ลงไปทดสอบบารมีของพระโพธิสัตว์ หรือเป็น “พญามาร” ที่มาคอยตรวจเช็คบารมีของพระพุทธเจ้า

พญามารเคยมาขวางหน้าห้ามไว้เมื่อตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกบวช) ซึ่งก็ห้ามไม่สำเร็จ

จากนั้นพญามารก็ส่งธิดาสามนาง คือนางราคา ตัณหา และอรดี ไปยั่วยวนพระโพธิสัตว์ที่กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งก็ล้มเหลวอีก ทั้งสามนางกลายร่างเป็นคนแก่คนชรา กลับขึ้นไปฟ้องพระบิดา

เมื่อมาถึงขั้นนั้นแล้ว พญามารจึงตัดสินใจเป็นผู้นำทัพ ขึ้นประทับเหนือช้างพาหนะที่ชื่อ “คีรีเมขล์” ยกไพร่พลมารมาขับไล่พระโพธิสัตว์ให้ลุกไปจากโพธิบัลลังก์เมื่อคืนก่อนตรัสรู้ แล้วก็ต้องแตกพ่ายไปเมื่อขณะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในคืนวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือที่ภายหลังนับกันว่าตรงกับวันวิสาขบูชานั่นเอง

ภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้ ที่เรียกกันว่า “มารผจญ” มีเขียนไว้ตามพระอุโบสถหลายแห่ง โดยมากมักอยู่ด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธาน โดยนิยมเขียนให้พญามารมีรูปร่าง “เป็นยักษ์เป็นมาร” คือมีรูปกายเสื้อผ้าอาภรณ์เป็นพระยายักษ์ แบบภาพทศกัณฐ์ มีหลายหน้าหลายมือด้วยเสียเลย

ส่วนพระพุทธรูปปางที่แสดงอาการเมื่อทรงตรัสรู้ จึงเรียกกันในภาษาไทยว่า “ปางมารวิชัย” คือมีชัยชนะเหนือมาร

นับจากคืนวันตรัสรู้ไปอีก ๔๕ พรรษา (พรรษา แปลว่าฤดูฝน ในที่นี้ใช้หมายถึงปี) ในวันเพ็ญ เดือน ๓ พญามารก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระชนมายุ ๘๐ ปี อีกครั้ง พร้อมกับทูลเตือนให้เสด็จปรินิพพาน

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา แล้วทรง “ปลงอายุสังขาร” คือทรงกำหนดล่วงหน้าว่าสามเดือนนับแต่นี้ พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ วันเพ็ญ เดือน ๖ ที่เมืองกุสินารา

ดูๆ ไปแล้ว “มาร” ในพุทธศาสนา มิได้เป็นปีศาจร้ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับความดี ทว่ากลับเป็นเทวดาชั้นสูง เพียงแต่ท่านรับเป็นธุระไปตามหน้าที่ ครั้นเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละอย่างแล้ว พญามาร หรือ “พระยามาราธิราช” ก็กลับคืนไปประทับยังวิมานของท่านบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีตามเดิมต่อไป

ยิ่งกว่านั้น ในคัมภีร์ยังเล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เคยประทานพยากรณ์ด้วยว่า ในภายภาคหน้าจะมีพระสาวกรูปหนึ่งคือพระอุปคุต มา “ทรมาน” พญามารผู้นี้ให้ละเสียจากพยศ แล้วจะได้ตั้งความปรารถนาอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งในอนาคตบ้าง

นั่นคือแม้แต่พญามารก็ยังมีศักยภาพเต็มเปี่ยม พร้อมที่จะก้าวผ่านเข้าสู่พระโพธิญาณ