อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี : เรื่อง
เพจ Beach for life : ภาพ
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ชาวบ้านชุมชนม่วงงาม รวมตัวกันที่ชายหาดม่วงงามมากกว่าร้อยคน เพื่อคัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น หลังจากวันที่ 27 เมษายน ได้ยื่นหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อหาทางพูดคุยและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่ชาวบ้านพบว่าโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปพร้อมกับเริ่มปักเสาเข็มแรกลงไปยังชายหาดม่วงงามเป็นที่เรียบร้อย
การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยจรดหาดม่วงงาม
ประเทศไทยเผชิญภัยจากการกัดเซาะริมชายฝั่งมาอย่างยาวนาน ข้อมูลจากการเสวนา “การจัดทำรายงานสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง” กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า สถานภาพชายฝั่งทะเลประเทศไทย ปี 2561 จากทั้งหมด 3,151.13 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งทั้งหมด 726.72 กิโลเมตร รวม 23 จังหวัด โดยมีสาเหตุมาจากกระบวนการธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์เอง ซึ่งมีการดำเนินการแก้ไขไปแล้วทั้งหมด 637.44 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่จัดการปัญหาการกัดเซาะชายหาดโดยสร้างกำแพงกันคลื่น ตลอดช่วงปี 2557 ถึง 2562 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นบนชายหาดในประเทศไทย จำนวน 74 โครงการ รวมระยะทางกว่า 34,875 เมตร ตลอดแนวชายฝั่งประเทศไทย
ชายหาดม่วงงาม ตั้งอยู่ใน ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีความยาวรวมทั้งสิ้น 7.2 กิโลเมตร เป็นหาดติดชุมชน ซึ่งชาวม่วงงามใช้หาดเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นพื้นที่เลี้ยงปากท้องไปในตัว หากใครได้ไปย่อมเห็นภาพของชาวเลกำลังถอดแหจับปลา หรือการนำเรือขึ้นมาจอดริมหาดในช่วงเย็นของวัน ภาพเหล่านี้เป็นวิธีชีวิตของชาวบ้านชุมชนม่วงงามในปัจจุบัน
จากข้อมูลของ กรมโยธาธิการและผังเมืองผู้รับผิดชอบ โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ก่อสร้างขึ้นเพราะประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน ถนนเลียบชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะจนเกือบจะใช้การไม่ได้ โดยการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น พบว่า การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณชายหาดม่วงงามในพื้นที่โครงการนั้น มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่ง 0.56-1.49 เมตรต่อปี และก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างมีการจัดทำรับฟังความคิดเห็นภายในชุมชน จัดทำไปทั้งหมด 3 ครั้ง ผลปรากฏว่า ผู้มาเข้าร่วมส่วนมากสนับสนุนในการสร้างโครงการ โดยกำแพงกันคลื่นมีลักษณะเป็นขั้นบันได พร้อมการปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดแนวชายฝั่ง โดยโครงการระยะแรก ยาว 710 เมตร สร้างในพื้นที่หมู่ที่ 7 ใช้งบประมาณ 87 ล้านบาท เมื่อเสร็จจะดำเนินระยะต่อไปต่อไปในพื้นที่หมู่ 8 และ 9 ซึ่งมีพื้นที่ติดกันความยาวทั้งสิ้น 1,995 เมตร หากช่วงฤดูมรสุมคลื่นจะนำทรายมาและทรายจะตกตะกอน หาดจะเกิดการฟื้นฟู โครงสร้างคอนกรีตจะพยุงเพื่อป้องกันตลิ่งเอาไว้พร้อมกับภูมิทัศน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่จอดเรือให้ชุมชนในหมู่บ้าน
แต่อีกด้านหนึ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง Beach for life เล่าให้ฟังว่า หาดม่วงงามในพื้นที่หมู่ที่ 7 ไม่มีความจำเป็นต้องมีแนวเขื่อนป้องกันคลื่น เพราะไม่ได้มีการกัดเซาะที่รุนแรง ตามในรายงานการศึกษาของกรมโยธาธิการเองก็ระบุตัวเลขการกัดเซาะสูงสุดเพียง 1.49 เมตร ในช่วงฤดูมรสุม เมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์การกัดเซาะชายฝั่งของกรมการป้องทะเลและชายฝั่งการจัดการป้องกัน พบว่ามีอัตราการกัดเซาะในระดับที่ต่ำมาก หลังผ่านฤดูมรสุมชายหาดค่อย ๆ คืนสภาพกลับสู่ปกติไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติการฟื้นฟูของชายหาดเอง
กำแพงกันคลื่น ปกป้องหรือฝันร้ายของชายหาด
กำเเพงกันคลื่น เป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมป้องกันชายฝั่งรูปเเบบหนึ่งมีหน้าที่ตรึงเเผ่นดินด้านหลังกำเเพงไม่ให้มีการเปลี่ยนเเปลงจากอิทธิพลของคลื่นที่เข้ามาปะทะ ซึ่งกำเเพงกันคลื่นนั้นอาจก่อสร้างได้หลายรูปเเบบ ตามการออกเเบบของพื้นที่นั้น ๆ เช่น หินทิ้ง กำแพงคอนกรีต ไม้ กระสอบทราย เป็นต้น
อภิศักดิ์เล่าให้ฟังว่า กำแพงกันคลื่นจะมีหน้าที่ป้องกันชายฝั่ง เเต่กำเเพงกันคลื่นเองก็มีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งใกล้เคียงเช่นกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะชายหาด คือเมื่อหาดทรายถูกกีดขว้างโดยกำเเพงกันคลื่น แรงคลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะกับกำเเพงกันคลื่น จะเปลี่ยนระดับความแรงไปจากเดิม คลื่นจะตะกุยทรายด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไปนอกชายฝั่งมากขึ้นจากปกติ และปลายสุดของกำแพงกันคลื่นจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะกับกำเเพงกันคลื่น ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ด้านท้ายน้ำของกำเเพงกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง
“ชายหาดม่วงงาม มีการสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะ บริเวณแรกเหนือพื้นที่ก่อตั้งโครงการ มีสะพานปลาซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งที่ยื่นลงไปในทะเล ตรงพื้นที่ด้านล่างดักทรายเอาไว้ ทำให้ใต้สะพานมีพื้นดินงอกออกไป ส่วนทางด้านเหนือที่เป็นหมู่บ้านจึงเกิดการกัดเซาะ เนื่องจากทรายไม่สามารถเคลื่อนที่มาได้ และอีกบริเวณคือ ระหว่างหมู่ 7 และ 8 มีหินใส่ตะแกรงกั้นคลื่น(gabion) ของกรมทางหลวง ซึ่งสร้างไว้นานแล้วยาวเป็นกิโล เมื่อคลื่นมาปะทะก็กระชากทรายออกไป เลยเห็นว่าในบริเวณนี้เริ่มมีการกัดเซาะเพราะว่าสร้างมานาน เมื่อดินชั้นล่างไม่มีทรายมาพยุงก็เกิดการทรุดตัว หินพวกนี้ก็ไม่สามารถกันคลื่นไว้ได้ คลื่นกระโจนข้ามเข้าไปกัดเซาะพื้นที่ด้านหลังตะแกรงหินทำให้ปรากฎร่องรอยความเสียหายเกิดขึ้น เช่น ขอบถนนชำรุดและพัง หรือมีรากต้นสนโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน แต่ในส่วนพื้นที่เหนือกองหินขึ้นไปนั้น ชายหาดมีสภาพเป็นปกติตามธรรมชาติ กว้างยาวไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด อีกส่วนคือเป็นปกติที่สุดปลายกำแพงกั้นคลื่นจะเกิดการกัดเซาะ เพราะการเลี้ยวเบนของคลื่น ยิ่งหากมีการก่อตั้งกำแพงกันคลื่นด้านหนึ่ง อีกด้านที่ไม่มีก็จะถูกกัดเซาะมากขึ้น เท่ากับว่าต้องสร้างกำแพงไปเรื่อย ๆ ตลอดแนวชายฝั่ง”
กลุ่ม beach for life และชาวบ้าน ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการดังกล่าวว่า คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ในเมื่อหาดม่วงงามไม่ได้มีการกัดเซาะที่รุนแรง การสร้างกำแพงกันคลื่นเช่นนี้ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง แต่เป็นการย้ายปัญหา และสร้างปัญหาใหม่ให้พื้นที่ชายฝั่งด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งระบบ ทำให้โครงการนี้ไม่น่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้
อภิศักดิ์ทิ้งท้ายว่า การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดม่วงงาม ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่เป็นมิตรต่อชายหาดและยังคงรักษาหาดทรายของชุมชนไว้ได้ อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ปฏิเสธการสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหัวชนฝา หากในพื้นที่ที่จำเป็นจริง ๆ ก็ต้องสร้าง เพียงแต่ต้องพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไป ซึ่งการสร้างต้องคำนึงถึงผลดีและผลเสีย รวมถึงความคุ้มค่าอย่างดีที่สุด รวมถึงเรียกร้องให้โครงการทุกโครงการของรัฐต้องประเมินสิ่งแวดล้อมและให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
“รัฐต้องถอดมายาคติที่จะสร้างกำแพงออกไปก่อน มันจะมีทางเลือกอื่นอีกเยอะเลยที่ลงทุนน้อยกว่าและคุ้มค่ากว่า แล้วตอบโจทย์มากกว่าเช่น ถ้ากัดเซาะเฉพาะช่วงมรสุม สร้างโครงสร้างแบบชั่วคราว หรือทุ่นสลายพลังงานคลื่นนอกชายฝั่ง หรือในเมื่อทรายไปกองอยู่ที่สะพานปลาเราก็ดูดทรายตรงนั้นมาเพิ่มชายหาดดีไหม มีมาตรการณ์อีกเยอะมากที่รัฐสามารถทำได้ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะต้องทำบ่อยครั้งแต่อย่างไรก็ตามสามารถรักษาสมดุลและธรรมชาติของชายหาดไว้ได้ ซึ่งหากบางพื้นที่มีความจำเป็น ต้องสร้างกำแพง รัฐต้องเยียวยาผลกระทบที่สร้างขึ้นจากตรงท้ายน้ำด้วย ไม่ใช่ว่าการเยียวยาคือสร้างกำแพงเพิ่มไม่รู้จบแบบนี้จะเป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด”
บทเรียนจากจะนะ ชลาทัศน์ถึงหาดม่วงงาม
นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ประชาชนชาวสงขลา ออกมาเรียกร้องกับหน่วยงานราชการ ถึงปัญหากำแพงกันคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายหาด
ในปี 2541 หาดสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา กรมเจ้าท่าอนุมัติให้สร้างเขื่อนกันคลื่นและทราย เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะในช่วงฤดูมรสุมพร้อมกับแก้ปัญหาสันดอยทรายขวางปากเข้าออกเรือประมง ซึ่งอีก 10 ปีต่อมา ชาวบ้านใน ต.สะกอม รวมตัวกันที่ศาล ปกครองจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นคำร้อง ฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ให้ใช้ชดเชยค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงินร่วม 200 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้รับคำร้องไว้พิจารณาหมายเลขที่ 16/2551 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องทั้งสองเป็นผู้ทำให้ชายหาดบริเวณตำบลสะกอมพังเสียหาย เนื่องจากการดำเนินการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากบางสะกอม ซึ่งการก่อสร้างเกิดขึ้นโดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ จนปี 2554 ศาลสั่งให้กรมเจ้าท่าเริ่มศึกษาผลกระทบ (EIA) โดยทันที
ต่อมาสำนักงานนโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการประกาศเพิกถอนการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ออกจากโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งหมด ซึ่งให้เหตุผลว่า กระบวนการทำ EIA เป็นกระบวนที่ล่าช้าไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันท่วงที
การนำกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA ส่งผลกระทบตามมาในทันที มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายฝั่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวทั่วทั้งประเทศไทย และกรณีหาดชลาทัศน์เป็นหนึ่งในนั้น หาดชลาทัศน์ เป็นหาดกลางเมือง ในจังหวัดสงขลา ในปี 2558 มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น อ้างว่าเป็นโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ มีโดยรูปแบบเป็นการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง และเสริมทรายชายหาด ทำให้โครงการนี้ไม่ต้องดำเนินการทำ EIA ตามกฎหมาย แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบ พบว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ นั้น เป็นการก่อสร้างรอดักทราย และเสริมทรายชายฝั่ง ไม่ใช่การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นตามที่มีการติดประกาศประชาสัมพันธ์โครงการตั้งแต่แรกสุดท้ายแล้วการก่อสร้างจึงยุติลงในทันที และต่อมามีการจัดทำ EIA อย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป
ส่วนหาดม่วงงามมีการทำประชาพิจารณ์ไป 3 ครั้ง เป็นไปตามกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างน้อยหากเทียบกับ EIA และครั้งล่าสุดคือวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการได้เข้าร่วมพูดคุย
ชาวบ้านในชุมชนม่วงงามผู้ได้รับผลกระทบเล่าให้ว่า การพูดคุยครั้งแรก ทางหน่วยงานราชการทำเอกสารผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่ง และการแก้ไขปัญหา โดยนำมาให้เลือกมีทั้งหมด 5 รูปแบบ แต่ทั้งหมดเป็นการสร้างก่อโครงสร้างกำแพงป้องกันชายหาดทั้งหมด เพียงแต่หลายรูปแบบ เช่น โครงสร้างบันได กองแนวหิน และแบบอื่น ๆ ตามด้วยการเติมทรายในขั้นสุดท้ายสุดท้าย
ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่า ทางหน่วยงานราชการ ต้องการปักธงในการสร้างกำแพงกันคลื่นมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ต้องทำ EIA และกระบวนการมีส่วนร่วมที่หน่วยงานราชการจัดขึ้นเอง เป็นระบบที่มีปัญหา เพราะหน่วยงานราชการเพียงแต่แสดงรูปความสวยงามของกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันไดแต่ไม่บอกรายละเอียดถึงผลกระทบที่ตามมาของการสร้างกำแพงกันคลื่น ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่รับรู้ถึงการพูดคุยและผลกระทบ
“รัฐอย่าเพิ่งมองเราเป็นศัตรู พวกเราต่างรักชายหาดม่วงงามร่วมกัน พวกเรามีบทเรียนจากที่จะนะ ที่หาดสมิหลา-ชลาทัศน์ และอีกมากมายทั่วประเทศไทย การสร้างกำแพงกันคลื่นส่งผลกระทบโดยตรงต่อธรรมชาติชายหาด เราจึงอยากให้เข้ามาพูดคุยกันก่อนให้เกิดความเข้าใจ เรียนรู้ผลได้ผลเสียให้ครอบคลุมทุกด้าน เราเชื่อว่าการพูดคุยด้วยเหตุและผลเป็นทางออกที่ดีที่สุด ”
ชาวม่วงงามได้ลุกขึ้นและเรียกร้องชายหาดเพื่อฟื้นคืนให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจพร้อมเป็นแหล่งอู้ข้าวอู้น้ำ ภายใต้แคมเปญ #Saveหาดม่วงงาม ซึ่งอนาคตของหาดทรายชุมชนม่วงงามให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นคนเลือกเองจะดีกว่าไหม
อ้างอิง
- ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งการเสวนา “การจัดทำรายงานสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง”
- รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซค์ประกาศจัดซื้อจัดจ้างกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่า ปี 2557-2562 โดยกลุ่ม beach for life
- บทความวิชาการ “กำแพงกันคลื่น โรคระบาดบนหาดทรายไทย” นายอภิศักดิ์ ทัศนี ชมรม Beach for life
คนจะนะฟ้องศาลปกครอง เรียก200ล้าน กรมเจ้าท่าทำชายหาดพัง - นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 358 เดือนธันวาคม ปี 2557 เรื่อง อนาคตจะนะ ขอชาวจะนะเลือกบ้าง (ได้ไหม?)
- เจรจาไกล่เกลี่ยโครงการป้องกันคลื่นกัดเซาะหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ไม่ได้ข้ยุติ
- รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2560