ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ให้ตัวเลขระยะทางไว้ว่า สวรรค์กามาพจรทั้งหกชั้นที่กล่าวถึงมาแล้ว อยู่สูงต่ำกว่ากันเพียงไร
“แต่ภูมิพื้นชมภูทวีปขึ้นไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกานั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงดาวดึงส์นั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่ดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามา สูงได้ ๔๓๔,๔๐๐ โยชน์ แต่ยามาขึ้นไปถึงชั้นดุสิต สูงได้ ๗๘๔,๘๐๐ โยชน์ แต่ชั้นดุสิตขึ้นไปถึงชั้นนิมมานรดี สูงได้ ๑,๐๓๔,๒๐๐ โยชน์ แต่ชั้นนิมมานรดีขึ้นไปถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้น สูงได้ ๑,๔๘๙,๖๐๐ โยชน์ แท้จริง แต่มนุษย์โลกขึ้นไปถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด ชั้นฉกามาพรจรสวรรค์ ๖ ชั้นนั้น สูงได้ ๓,๘๒๔,๐๐๐ โยชน์”
แต่นอกจากการบอกระยะด้วยมาตราวัดระยะทางเช่นนี้แล้ว ยังมีการระบุระยะห่างระหว่างสวรรค์แต่ละชั้นด้วย “ตัวชี้วัด” อีกแบบหนึ่งด้วย
ในสมุดภาพไตรภูมิพรรณนาระยะห่างระหว่างสวรรค์แต่ละชั้นไว้ด้วยการตกของ “แผ่นหิน” หรือ “ก้อนหิน” โดย “สมมติว่า” ถ้ามีก้อนหินตกลงจากสวรรค์ชั้นหนึ่ง จะร่วงหล่นไปถึงสวรรค์ชั้นถัดลงไปภายในเวลาเท่าใด
แต่เพราะเหตุใดถึงจะมีเทวดาผู้อุตสาหะเหาะแบกเอาก้อนหินขึ้นไปทิ้งลงมา แบบเดียวกับที่กาลิเลโอเอาลูกปืนใหญ่ขึ้นไปโยนจากยอดหอเอนเมืองปิซา คัมภีร์ไม่ยักอธิบายไว้
ผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ขั้นเทพองค์นั้นพบว่าจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี หินต้องใช้เวลาตกลงมาถึง ๑ เดือน ๕๗ นาที จึงหล่นตุ๊บลง ณ สวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ในวิชาฟิสิกส์ มีการคำนวณ “การตกอย่างอิสระ” (free falling) โดยมีทิศทางพุ่งลงสู่จุดศูนย์กลางของโลก ได้ค่าประมาณ ๙.๘ เมตร ต่อวินาที เราไม่แน่ใจว่าในกรณี “หินหล่น” แบบนี้จะสามารถใช้สูตรเดียวกันได้หรือไม่ หรือฟิสิกส์ของมนุษย์จะเป็นหลักการสากลที่ประยุกต์ใช้กับเทวดาได้ด้วยหรือเปล่า แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักการคำนวณอย่างอื่นจึงขอ “สมมติ” ให้หินตกลงมาด้วยแรงโน้มถ่วง ณ ตีนเขาพระสุเมรุแกนกลางจักรวาล โดยความเร็วเดียวกันนี้
ระยะเวลาการตกของหินจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ไปถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ๑ เดือน ๕๗ นาที คำนวณได้ว่า
ค่าเฉลี่ยที่หินตกเป็นเวลา ๑ เดือน เท่ากับ ๖๐ (วินาที) x ๖๐ (นาที) x ๒๔ (ชั่วโมง) x ๓๐ (วัน) เท่ากับ ๒,๕๙๒,๐๐๐ วินาที
เศษ ๕๗ นาที เท่ากับ ๖๐ x ๕๗ คือ ๓,๔๒๐ วินาที
เอาตัวเลขสองตัวนี้มารวมกัน แล้วคูณด้วย ๙.๘ ได้ออกมาเป็นระยะทาง ๒๕,๔๐๕,๐๒๐ เมตร หรือกว่า ๒.๕ หมื่นกิโลเมตร
ในสมุดภาพไตรภูมิยังให้ตัวเลขหินตกนี้ไว้อีกหลายระยะ เช่นจากสวรรค์ชั้นนิมานรดี เอาก้อนหินหย่อนตุ๋มลงไป กว่าจะถึงชั้นดุสิต ต้องใช้เวลา ๑ เดือน ๒๓ วัน ๓๙ นาที จากสวรรค์ชั้นดุสิต ปล่อยหินตกลงไปจะถึงสวรรค์ชั้นยามาในเวลา ๑๖ วัน ๒๑ นาที ส่วนจากยามาถึงสวรรค์ดาวดึงส์ของพระอินทร์ ใช้เวลา ๑๕ วัน ๓ นาที
ใครอยากรู้ว่าจะเป็นระยะทางเท่าไร ก็ลองไปคำนวณกันเอาเองแล้วกัน
ที่ดูแล้วรู้สึกว่าน่าเอ็นดูเป็นที่สุดคือในสมุดภาพไตรภูมิตรงหน้าซึ่งบรรยายถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ และระยะห่างตามเวลาหินตกนี้ ท่านคงกลัวจะไม่สมจริง เลยต้องวาดก้อนหินเล็กๆ ไว้ตรงมุมแต่ละหน้าให้เห็นว่า “อุ๊ย! หินหล่น”